เมื่อพูดถึงพิพิธภัณฑ์ในลอนดอน หลายคนคงรู้จัก บริติชมิวเซียม (British Museum) ผ่านการบอกเล่าของสื่อต่างๆ ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา บริติชมิวเซียมได้ปรากฎเป็นฉากหลังของเหตุการณ์สำคัญบางอย่างในภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ของค่ายมาร์เวล ซึ่งนับเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมป๊อปคัลเจอร์
แต่หากใครที่อยากรู้จัก หรือมีประสบการณ์ชวนขนหัวลุกของสหราชอาณาจักรผ่านป๊อปคัลเจอร์อีกแขนงหนึ่ง ผู้เขียนขอแนะนำ The Last Tuesday society ให้เป็นสถานที่ที่ควรมาให้ได้สักครั้งในชีวิตถ้ามีโอกาสและเวลาสักหนึ่งวันในการเดินเที่ยวเมืองลอนดอน ด้วยที่นี่หยิบเอาวัฒนธรรม ความเชื่อและประเพณีปฏิบัติที่เคยเล่าผ่านนิยายและภาพยนตร์อันเต็มไปด้วยกลิ่นอายของเวทมนตร์ ไสยศาสตร์ ผี วิญญาณ ความลึกลับต่างๆ ผสมผสานกับเนื้อเรื่องที่สนุกสนานจนบางครั้งอาจชวนให้ผู้อ่านออกตามหาวัตถุหรือเรื่องราวที่ถูกกล่าวถึงในสื่อดังต่างๆ อาทิ นางเงือก ยูนิคอร์น ยักษ์ไซคลอปมีจริงหรือไม่? ต้นแมนเดรกมีหน้าตาเป็นอย่างไร?
ตึกแถวขนาดหนึ่งห้องตั้งอยู่บนถนนแมร์ (Mare street) ใช้เวลาเดินจากสถานีรถไฟใต้ดินแฮคนี (Hackney) ประมาณ 10 นาที และระหว่างทางก็เดินชมร้านรวงบนถนนแมร์ไปเรื่อย ๆ มีร้านขายต้นไม้และร้านคาเฟ่หน้าตาน่ารักมากมาย โดยจุดหมายปลายทางเป็นตึกที่มีหน้าร้านสีดำที่ตกแต่งด้วยโดมแก้วบรรจุโครงกระดูกทารกวางไว้หลังบานกระจกใส ข้างๆ มีป้ายกระดานดำเขียนด้วยสีชอล์กเป็นคำคมประจำวัน (Quote of the day) และมีพนักงานต้อนรับยืนอยู่หลังค็อกเทลบาร์กับหัวยูนิคอร์นอีกสองสามหัวคอยต้อนรับผู้มาเยือน
ภาพที่ 1 : ประตูทางเข้า The last Tuesday Society และหัวยูนิคอร์นลาย
The Last Tuesday Society มีชื่อเต็มว่า The Last Tuesday Society & Victor Wynd Museum of Curiosities : Fine arts &Unnatural history (The Last Tuesday society และพิพิธภัณฑ์ของวิกเตอร์ วินด์ : ศิลปะและอธรรมชาติวิทยา) ถูกก่อตั้งขึ้นโดยคุณวิกเตอร์ วินด์ภายใต้แนวคิดแบบห้องสารภัณฑ์ของแปลก (Cabinet of Curiosities) ซึ่งถือว่าเป็นบรรพบุรุษของพิพิธภัณฑ์ยุคปัจจุบัน ด้วยคอนเซ็ปต์นี้เอง The Last Tuesday Society จึงให้ความรู้สึกคล้ายกับมาดูห้องเก็บของเจ๋งๆ ที่บ้านเพื่อนมากกว่าการเข้าเยี่ยมชมมิวเซียมที่คุ้นเคย โดยผู้เข้าชมสามารถซื้อตั๋วเข้าชมและเครื่องดื่มเข้าไปดื่มในพื้นที่จัดแสดงได้ด้วย
บันไดวนขนาดแค่พอดีหนึ่งคนเดินพาลงไปสู่ชั้นใต้ดินของอาคารแห่งนี้ แต่ก่อนจะลงไปสู่พื้นที่ด้านล่างตามป้าย Victor Wynd : Wunderkabinett กลิ่นอับคล้ายกลิ่นของร้านขายของมือสองจากญี่ปุ่นในประเทศไทยก็ลอยเข้าแตะจมูก ตามด้วยภาพของรอยยิ้มจากโครงกระดูกทารกแฝดสยามจากตู้กระจกและนางเงือกฟิจิแห้งๆ ที่ถูกแขวนไว้ชิดกับบันไดวนในระยะที่อาจชนเข้ากับศีรษะของเราได้
ภาพที่ 2 บันไดทางลงไปยังพิพิธภัณฑ์ และโครงกระดูกทารกแฝดสยามในตู้กระจกข้างบันได
วัตถุจัดแสดงมีความเบียดเสียดกันไม่น้อยในตู้กระจกที่ถูกตั้งเป็นแนวบังคับแถวทางเดินไปด้วยในตัว แผ่นป้ายบอกเล่าถึงที่มาและข้อมูลถูกเขียนขึ้นด้วยลายมือของคุณวิกเตอร์ วินด์เองด้วยสำนวนการเล่าเรื่องที่เถรตรงและเข้าใจง่าย (บางป้ายมีราคาซื้อขายด้วยหากผู้เยี่ยมชมอยากได้กลับบ้าน)
ลักษณะวัตถุจัดแสดงที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านความเชื่อ คุณไสยอังกฤษและเวทมนตร์มีความน่าสนใจปนความสยดสยองเกินที่คาดหวังไว้สักนิด อย่างต้นแมนเดรกที่มิวเซียมอ้างว่าถูกขุดขึ้นมาจากดินโดยฝีมือของคุณวิกเตอร์กลับมีหน้าตาลักษณะคล้ายกับลูกกรอกตามคติความเชื่อไทยวางอยู่ถัดจากอุปกรณ์การทำนาย หรือสื่อสารกับวิญญาณอย่างโถแก้วบรรจุปัสสาวะของผู้วิเศษและโหลดองตัวตุ่นจำนวนมาก แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับภาพจำห้องปรุงยาหรือเรือนปลูกสมุนไพรพ่อมดแม่มดจากสื่อภาพยนตร์อย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์ ว่าน่าดูน่าไปเยี่ยมเยือนแล้วถ่ายรูปแชร์ลงโซเชียลมีเดียด้วยบรรยากาศของนักเรียนฮอกวอร์ส
เมื่อเดินลึกเข้าไปก็จะพบกับข้าวของที่อาจเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อและวิทยาศาสตร์ อย่างสัตว์สตัฟฟ์ต่างๆ ที่รูปแบบอาจต่างออกไปจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ด้วยซากสิ่งมีชีวิตประหลาดนี้ถูกสร้างขึ้นจากความตลกร้ายของธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ที่ใช้เนื้อหนังของสิ่งมีชีวิตอื่นมาเป็นวัตถุดิบในการเติมเต็มจินตนาการของตนถูกจัดเรียงไว้ในระยะประชิดกับผู้ชม ซึ่งไม่ต่างอะไรจากนางเงือกฟิจิที่ได้เห็น ณ บันไดทางลงที่เป็นงานปะติดปะต่อ (Collage) ระหว่างซากลิงขนาดเล็กเย็บติดเข้ากับลำตัวของปลาทะเล ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตมีนางเงือกแบบเดียวกันนี้ถูกพาออกเดินทางไปโชว์ยังประเทศต่างๆ ในฐานะของหลักฐานยืนยันว่านางเงือกมีอยู่จริง และสร้างรายได้มหาศาลให้กับพี.ที.บาร์นัม (P.T Barnum) นักละครสัตว์ชื่อดัง
ถัดจากหัวมุมของตู้กระจกที่จัดแสดงซากมดชนิดหนึ่ง มีสิ่งที่ดูคล้ายกับโครงกระดูกของมนุษย์ตัวจิ๋ว
มีปีกบางๆ เหมือนแมลงเม่ายืนอยู่บนตัวม้าน้ำขนาดต่างๆ ราวกับเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์ เมื่อหันไปทางขวาก็พบกับโต๊ะเซอองซ์ (Séance table) หรือโต๊ะที่ใช้ทำพิธีกรรมทางจิตวิญญาณตามความเชื่อแบบยุโรปที่ถูกเปลี่ยนมาใช้เป็นที่นั่งพักของผู้เข้าชม โดยมีสิงโตตัวเมียสตัฟฟ์นั่งรออย่างเป็นมิตรใต้แสงสีนวลจากแชนเดอเลียร์ที่ทำจากกระดูกสัตว์ หากใครนั่งพักตรงนี้ก็จะได้เห็นประติมากรรมปาร์ตี้น้ำชาของหนอนใบไม้บนตัวปูยักษ์อลาสก้า เยื้องออกไปอีกนิดก็เป็นมุมนั่งพักอีกมุมหนึ่งที่มีนางเงือกตัวใหญ่ถูกแขวนลงมาจากเพดานในอิริยาบทคล้ายกับว่ากล่าวทักทายคนที่เดินผ่านมา
ภาพที่ 3 (บนซ้าย) ซากมดที่ดูคล้ายโครงกระดูมนุษย์และม้าน้ำตัวจิ๋ว
(บนขวา) นางเงือกฟิจิตัวใหญ่บนเพดานและโครงกระดูกสิงโต
(ล่างซ้าย) สิงโตตัวเมียสตัฟฟ์ แชนเดอเลียร์กระดูกสัตว์ และโต๊ะเซอองซ์
(ล่างขวา) ปาร์ตี้น้ำชาของหนอนใบไม้บนหลังของปูยักษ์แห่งอลาสก้า
มิวเซียมแห่งนี้ยังมีอีกมุมหนึ่งที่เป็นโซนจัดแสดงเรื่องน่ากระอักกระอ่วนใจอย่างหนังสือที่มีเนื้อหาเรื่องรสนิยมทางเพศ ศิลปะแบบอีโรติกจากทั่วทุกมุมโลก สิ่งของที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมบนเตียง ไปจนถึงวัตถุที่มีความเกี่ยวโยงกับชีวิตศิลปินชื่อดังอย่างเส้นผมของเอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) กะโหลกฮิปโปปิดทองของ
ปาโบล เอสโกบาร์ (Pablo Escobar) และอุจจาระของเอมี่ ไวน์เฮ้าส์ (Amy Winehouse) ในโหลแก้วที่ครั้งหนึ่งการครอบครองอุจจาระก้อนนี้ของมิวเซียมเคยเป็นข่าวดังไปทั่วโลกหลังการจากไปของนักร้องผู้เป็นที่รักไม่นานนัก โดยมีข้อเสนอให้สำหรับผู้ที่อยากเปิดโหลนี้ออกเพื่อดมกลิ่นในสนนราคาที่ 5 ปอนด์ และขายขาดในราคา 120 ปอนด์เท่านั้น
นอกจากค็อกเทลบาร์ที่มีแอบแซงธ์ (Absinthe) เครื่องดื่มชูโรงที่นักประพันธ์อย่างเอดการ์ แอลลัน โพ (Edgar Allan Poe) และออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) โปรดปราน มิวเซียมยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจต่างๆ อยู่เป็นประจำ ผู้ชมสามารถเข้าร่วมจากที่ใดก็ได้ผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) และโปรแกรมทัวร์ท่องเที่ยวกับเจ้าของพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งชื่อล้อเลียนภาพยนตร์ชื่อดังว่า “Gone with the Wynd”
สำหรับบางคนการเข้าเยี่ยมชมมิวเซียมแห่งนี้อาจดูเหมือนการเดินเข้าไปในห้องฝันร้าย แต่ก็อาจทำให้บรรยากาศที่อึมทึมของลอนดอนดูสดใสขึ้นมาบ้างหลังจากความรู้สึกขนลุกได้สงบลงไป สิ่งที่ตกตะกอนอยู่ในความคิดของผู้เขียนหลังจากการได้เห็นวัตถุแปลกประหลาดเหล่านี้ คือ ความอัศจรรย์ใจในความเป็นมนุษย์ที่ เป็นนักสร้างสรรค์ที่มีความทะเยอทะยานและนักสะสมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
ผู้สนใจจากทางไกลสามารถเข้าชมวัตถุจัดแสดงบางส่วนและการเสวนาของ The Last Tuesday Society ได้ที่เว็บไซต์ https://www.thelasttuesdaysociety.org