Museum Core
เที่ยวพิพิธภัณฑ์เรือนไทยในโรงเรียน
Museum Core
23 พ.ย. 66 2K
ประเทศไทย

ผู้เขียน : ธัญสินี หน่องพงษ์

               พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งต่างบรรจุเรื่องราวหรือสิ่งต่าง ๆ ที่มีความเฉพาะตัว เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2539 เพื่อประกาศเกียรติประวัติของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
และโรงเรียน ด้วยความรัก ความศรัทธา และความภาคภูมิใจของชาวบดินทรเดชา

 

ภาพที่ 1 เรือนพิพิธภัณฑ์

 

               จากปากซอยลาดพร้าว 112 เมื่อเริ่มเข้าใกล้อาณาเขตของโรงเรียนจะมองเห็นอนุสาวรีย์เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เด่นเป็นสง่า มีฉากหลังเป็นอุทยานพืชพรรณไม้แผ่กิ่งก้านร่มครึ้มเขียวชอุ่ม และมีหมู่เรือนไทยที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ตั้งตระหง่านอยู่ใกล้กัน ตัวผู้เขียนที่เรียนที่นี่ก็เดินผ่านทุกวันเวลามาโรงเรียน แต่วันนี้เป็นวันพิเศษที่ผู้เขียนได้ขึ้นไปชมพิพิธภัณฑ์ด้วย ก่อนขึ้นไปยังเรือนพิพิธภัณฑ์ ก็กราบสักการะอนุสาวรีย์เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของนักเรียนในโรงเรียนลานอนุสาวรีย์นี้เป็นสถานที่สำคัญในการประกอบกิจกรรมตั้งแต่ก้าวเข้ามาเป็นนักเรียนที่นี่จนถึงวันที่จบการศึกษาแล้วด้วย

 

เจ้าพระยาบดินทรเดชา คือใคร?

               เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นผู้มีคุณงามความดีอันน่ายกย่องและระลึกถึงในหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง ด้านการปฏิบัติหน้าที่แม่ทัพ ด้านการทำนุบำรุงพุทธศาสนา ผืนดินที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนแต่เดิมก็เป็นที่ดินของท่าน ซึ่งทายาทได้บริจาคให้แก่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อสร้างเป็นโรงเรียน สืบทอดปณิธานที่จะสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง

 

ภาพที่ 2 อนุสาวรีย์เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

 

               ขณะเดินไปยังเรือนพิพิธภัณฑ์ ผู้เขียนสัมผัสได้ถึงความร่มรื่นรอบทางเดินซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้ไทยนานาพันธุ์ บางต้นมีชื่อพ้องกับบุตรธิดาของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) มีต้นไม้สำคัญคือ ต้นแก้ว (สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูก) นอกจากอุทยานพันธุ์ไม้ไทยแห่งนี้จะสร้างบรรยากาศสวยงามร่มรื่นแล้วยังเป็นส่วนหนึ่งของสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนให้นักเรียนทุกคนได้มาศึกษาหาความรู้อีกด้วย

               ราวบันไดกับประตูไม้ที่มีลวดลายรูปสิงห์อันงดงามบอกให้ทราบว่ามาถึงเรือนพิพิธภัณฑ์ หลังจากก้าวผ่านประตูไม้เข้าไปจะพบเรือนท่านเจ้าพระยาอยู่ทางด้านหน้า เรือนรัชดาบดินทรอยู่ทางด้านซ้าย และเรือนศิลปนิทัศน์อยู่ทางด้านขวา

               ณ เรือนที่หนึ่ง “เรือนท่านเจ้าพระยา” เรือนประธานทางด้านหน้าที่มีอีกจุดสังเกตคือมีตราสิงห์ดาบไขว้อันเป็นตราประจำตระกูลสิงหเสนีประดับไว้บนฝาเรือน เมื่อเข้าไปภายในเรือนแล้วผู้เขียนพบกับรูปหล่อของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) อยู่กลางเรือน ตรงข้ามกันนั้นเป็นภาพวาดวีรกรรมของท่านเจ้าพระยาที่ทุ่งบกหวาน ซึ่งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนั้นหลายสำนวน แม้คนรุ่นหลังทำได้เพียงเรียนรู้เรื่องราวในอดีตผ่านเอกสารและคำบอกเล่าที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงแน่ชัด หากแต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือวีรกรรมอันหาญกล้าได้ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าทุกสำนวน เป็นตัวอย่างให้ได้ระลึกถึงความเข้มแข็งและความกล้าหาญในเหตุการณ์วิกฤต หรือช่วงเวลาที่ยากลำบากเพื่อผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นไปได้อย่างดีที่สุด

               ภายในตู้จัดแสดง ผู้เขียนเห็นวัตถุมงคลที่เกี่ยวข้องกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เช่น พระพุทธรูป พระเครื่อง และยังมีอาวุธหอกดาบในสมัยโบราณตั้งเรียงรายอยู่ในตู้ และยังมีสิ่งของเครื่องใช้ประจำตัวท่านเจ้าพระยาที่ผ่านการใช้งานและกาลเวลามาแล้วนับร้อยปี ได้แก่ หมวกลงรักปิดทอง โถบุหงา โถขมิ้น กระเป๋าย่านลิเพา ซองบุหรี่ทองลายสลัก หีบบุหรี่ไม้แกะสลัก อีกทั้งยังมีมีดหมอที่ใช้ต่อสู้กับเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ และดาบ 3 เล่ม ของท่านที่ทำจำลองจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้แก่ ดาบอาญาสิทธิ์ ดาบประจำตัวแม่ทัพ และดาบประจำตัว สิ่งที่กล่าวมานั้นผู้เขียนเคยได้ยินแต่ชื่อหรืออ่านพบในหนังสือ พอได้เห็นของจริงและได้สังเกตรายละเอียดชัดเจน จึงรู้สึกทึ่งกับความประณีตในการออกแบบลวดลายสิ่งของ แม้กระทั่งหมวกและดาบที่ใช้ในการรบก็ยังมีรายละเอียดที่งดงาม แสดงถึงความละเมียดละไมของคนในสมัยก่อน ผู้เขียนจึงชื่นชอบตู้จัดแสดงตู้นี้มากที่สุดด้วยทั้งมีความสวยงามและให้ความรู้สึกขลังในเวลาเดียวกัน

 

ภาพที่ 3 สิ่งของเครื่องใช้ประจำตัวเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในเรือนท่านเจ้าพระยา

 

               จากสิ่งของที่จัดแสดงทั้งหมดจะเห็นได้ว่าเรือนนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ทั้งหมด เมื่อได้มองอาวุธหอกดาบและสิ่งของหลายชิ้นที่ท่านเคยใช้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ปกป้องบ้านเมืองแล้ว ผู้เขียนก็ตระหนักว่า ไม่ว่ายุคสมัยใด เราทุกคนล้วนมีบทบาทและหน้าที่ซึ่งต้องกระทำตามบทบาท ความรับผิดชอบในหน้าที่จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรพึงมี

               เมื่อออกจากเรือนท่านเจ้าพระยา เดินไปทางขวาจะเป็น “เรือนรัชดาบดินทร” อันมีตราพระเกี้ยว เครื่องหมายประจำโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ประดับอยู่ด้านหน้าเรือน เรือนนี้ได้นำมงคลนาม “รัชดา” มาใช้เพื่อระลึกถึงการก่อตั้งครบ 25 ปีของโรงเรียน ดังนั้นสิ่งของทั้งหมดภายในเรือนนี้ล้วนเป็นสิ่งของในช่วง 25 ปีแรกตั้งโรงเรียน ภายในเรือนมีพระเกี้ยวจำลอง ธงประจำโรงเรียน และธงคณะสีทั้ง 5 อยู่ตรงกลาง เมื่อเดินไปยังด้านขวาของเรือนมีตู้จัดแสดงเอกสารเก่าของโรงเรียน เช่น สมุดบันทึกประจำตัวนักเรียน สมุดโรงเรียนสมัยที่ยังใช้ชื่อว่า “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สาขา 1 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)” รูปถ่ายโรงเรียนในอดีต เข็มกรรมการนักเรียนและบัตรนักเรียน เหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ด้านมุมขวาของเรือนมีรูปหล่อของนายเฉลิม สิงหเสนี อาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียน ถัดมามีสิ่งจัดแสดงเป็นหนังสืออนุสรณ์ของโรงเรียน แหวนรุ่น 25 รุ่นแรก เสื้อกีฬาสี และเหรียญกีฬา ส่วนด้านซ้ายของเรือนจัดแสดงโมเดลแผนผังโรงเรียนในสมัยนั้น และมีรูปถ่าย เกียรติบัตร ถ้วยรางวัลทางวิชาการเป็นจำนวนมาก นับเป็นอีกตู้จัดแสดงที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นอย่างมาก

 

ภาพที่ 4 พระเกี้ยวจำลอง ธงประจำโรงเรียนและธงคณะสีทั้ง 5 ในเรือนรัชดาบดินทร

 

ภาพที่ 5 รูปหล่อของนายเฉลิม สิงหเสนี ในเรือนรัชดาบดินทร

 

               สิ่งของส่วนใหญ่ในเรือนรัชดาบดินทรเป็นพวกเกียรติบัตรและถ้วยรางวัลของนักเรียน เรือนหลังนี้จึงเป็นสถานที่รวบรวมความภาคภูมิใจของนักเรียนในช่วง พ.ศ.2514-2539 ผู้เขียนอ่านชื่อรางวัลที่ปรากฏบนโล่และเกียรติบัตรหลายสิบรายการแล้วก็คิดว่า นักเรียนแต่ละคนมีความสนใจและความสามารถแตกต่างกันคนละด้าน ทุกคนล้วนสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตัวเองและโรงเรียนเช่นเดียวกัน อีกอย่างหนึ่งการที่นักเรียนได้รับรางวัลมากมายจนชื่อโรงเรียนเป็นที่รู้จักแพร่หลายนั้น นอกจากมีรากฐานที่ดีแล้ว คณะครูและหน่วยงานที่สนับสนุนโรงเรียนในทุกยุคสมัย รวมทั้งการฝึกฝนพัฒนาตนเองของนักเรียนให้ประพฤติดีและมีความรู้แม่นยำยังมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งไม่เพียงทำให้นักเรียนมีความภาคภูมิใจในตัวเอง แต่ยังสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ที่สนับสนุนและโรงเรียนด้วย

               ในเรือนหลังที่ 3 “เรือนศิลปนิทัศน์" เป็นเรือนที่ฝาเรือนมีไม้แกะสลักรูปปราสาท ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นเรือนนี้จึงมุ่งเน้นการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นหลัก เมื่อเข้าไปในเรือนผู้เขียนเห็นภาพวาดแขวนไว้บนผนังฝั่งประตูแสดงเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองในยุคสมัยนั้นพร้อมกับหุ่นจำลองเรือสำเภา นอกจากนี้ยังมีโถ ชามหิน พานหินอ่อน เงินพดด้วง และถุงแดง (ใช้จ่ายค่าปรับในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112) รวมถึงประเภทของสินค้าไทยที่ส่งออกไปขายในสมัยนั้น ได้แก่ ครั่ง กระวาน กำยาน ไม้ฝาง ข้าวสาร และหอยแมลงภู่ ด้านขวาของเรือนมีโมเดลจำลองโลหะปราสาท หนังสือวรรณคดีสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเฉพาะสมุดไทยที่ผู้เขียนเคยเห็นเพียงรูปถ่ายเท่านั้น วัตถุจำลองต่างๆ ทำให้ผู้เขียนมีความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตได้ชัดเจนขึ้น ยิ่งทำให้สนใจที่จะศึกษาเรื่องราวในยุคสมัยนั้นให้ลึกซึ้งมากขึ้นอีก ทั้งด้านการค้าขายที่รุ่งเรือง และด้านวิถีชีวิตที่ต่างจากยุคสมัยนี้เป็นอย่างมาก

 

ภาพที่ 6 สินค้าไทยที่ส่งไปขายในสมัยนั้น ได้แก่ ครั่ง กระวาน กำยาน ไม้ฝาง ข้าวสาร และหอยแมลงภู่
ในเรือนศิลปนิทัศน์

 

ภาพที่ 7 สมุดไทยและหนังสือเก่าในเรือนศิลปนิทัศน์

 

               การมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ในครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนได้รับความรู้เกี่ยวกับโรงเรียนมากขึ้น และได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งของจัดแสดงที่เป็นประจักษ์พยานถึงความมุ่งมั่นตั้งใจทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ ทั้งจากวีรกรรมของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์  สิงหเสนี) การสร้างโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในช่วง 25 ปีแรก และรางวัลจากการแสดงความสามารถในสาขาต่าง ๆ ของนักเรียน นับเป็นประสบการณ์หนึ่งที่น่าประทับใจก่อให้เกิดแนวคิดและมุมมองใหม่ ๆ ที่กว้างขึ้นดังเช่นทุกครั้งที่ไปเยือนสถานที่ที่ไม่เคยไป หรือได้รับประสบการณ์ที่ไม่เคยได้รับมาก่อน

 

ข้อมูลอ้างอิง

ขุนพลแก้ว พระนั่งเกล้า เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี). (2564). พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : สินธนา

ก๊อปปี้เซ็นเตอร์.

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ