ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีเหตุทำให้ครอบครัวที่ตั้งรกรากอยู่ต่างจังหวัดต้องเดินทางมาพบปะญาติที่อาศัยอยู่ในเมืองที่เต็มไปด้วยมิติที่หลากหลายอย่างกรุงเทพมหานคร และเพื่อให้การเดินทางนั้นคุ้มค่า ครอบครัวที่ชอบความสันโดษตัดสินใจมารับผู้เขียนที่เลือกใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย (ด้วยเหตุผลเรื่องโอกาสการล่าฝันที่เมืองกรุงนั้นมีมากกว่า) ไปเที่ยวด้วยกันทั้งครอบครัว
ครั้งนี้ครอบครัวผู้เขียนเลือกไปเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์เรือรบหลวงแม่กลอง ที่ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ด้วยเหตุผลง่ายๆ แค่สองข้อ คือ สถานที่อยู่ใกล้กับบ้านญาติ และคุณลุงชื่อต้น (ต่อไปผู้เขียนจะเรียกว่า ลุงต้น) ผู้เป็นญาติผู้ใหญ่ของครอบครัว ต้องการรำลึกความหลังและถ่ายทอดความภาคภูมิใจครั้งสมัยที่เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นต้นเรือภายในกองทัพเรือ
เมื่อสิบกว่าปีก่อน
เมื่อเดินทางมาถึงก็เห็นว่ามีผู้คนที่มาเยี่ยมชมเรือรบหลวงอยู่พอสมควร บ้างก็นั่งสนทนาอยู่ใต้ต้นไม้ภายในอุทยาน บ้างก็นั่งรับประทานไอศกรีมมะพร้าว บ้างก็นั่งรับประทานอาหาร
“โอกาสน้อยมากที่เราจะมีโอกาสได้เห็นเรือรบในระยะใกล้ขนาดนี้” เป็นคำพูดแรกของลุงต้นหลังจากได้เห็นเรือหลวงแม่กลองที่สังกัดอยู่ในกองเรือปราบเรือดำน้ำ และที่มาของชื่อเรือนั้นก็ตั้งชื่อตามแม่น้ำนั่นเอง พอได้ฟังคำบอกเล่าของลุงต้นก็กระตุ้นต่อมสงสัยทันทีว่า เอ๊ะ ปราบเรือดำน้ำ เรือลำนี้เหรอ ซึ่งลุงต้นก็ตอบทันทีว่า “ใช่สิ นั่นไงตอปิโดที่ถูกติดตั้ง” พร้อมกับยกมือชี้ไปที่เรือ จากนั้นก็เดินนำทุกคนพาขึ้นไปเยี่ยมชมภายในเรือ
ภาพที่ 1 เรือรบหลวงแม่กลอง
ภาพที่ 2 เสากระโดงเรือ
ตามที่ผู้เขียนเห็นเรือมีสภาพพุงพังหลายส่วนตามกาลเวลา แต่ก็ได้รับการบูรณะให้มีความมั่นคงและปลอดภัยเพียงพอสำหรับการเยี่ยมชมของประชาชนทั่วไป เรือรบหลวงแม่กลอง เป็นเรือรบที่ไทยเราได้รับมอบจากประเทศญี่ปุ่น เริ่มเข้าประจำการตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2480 และปลดประจำการเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2532 (ใช้งานมา 59 ปี) ภายในเรือมีห้องต่างๆ มากมาย เริ่มตั้งแต่ห้องสะพานเดินเรือ (ห้องที่มีพังงาเรือ (ส่วนที่ทำหน้าที่บังคับเรือคล้ายกับพวงมาลัยรถยนต์) ภายในห้องนี้มีแผนที่เดินเรือขนาดใหญ่ที่ถูกเขียนขึ้นโดยกรมอุทกศาสตร์ที่ต้องใช้เวลาในการสำรวจยาวนานนับหลายปี และมีอุปกรณ์สำคัญอย่างเข็มทิศที่มีด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่ แบบใช้ระบบสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของโลก และแบบระบบไยโร (Gyrocompass System) ลุงต้นเล่าเรื่องให้ฟังเพิ่มเติมว่า เข็มทิศแบบไยโรมีความแม่นยำกว่าอีกแบบหนึ่ง เนื่องจากไม่ได้ถูกรบกวนจากสนามแม่เหล็กโลก ด้านข้างเข็มทิศไยโรจะมีวัตถุทรงกลมสีเขียวใช้เป็นสัญลักษณ์แทนกาบเรือฝั่งขวา และสีแดงแทนกาบเรือฝั่งซ้าย ทำหน้าที่เป็นตัวบ่งบอกว่าเรือยังคงแล่นได้สมดุลอยู่หรือไม่
สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกอัศจรรย์ใจภายในห้องนี้มากที่สุดเป็นเรื่องการสื่อสารระหว่างทหารบนดาดฟ้าเรือกับนายทหารที่อยู่ภายในห้องสะพานเดินเรือ โดยพวกเขาสนทนาสื่อสารระหว่างกันผ่านท่อเหล็กขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งเป็นการนำหลักการทางวิทยาศาสตร์ง่ายๆ มาใช้งานจริงบนเรือรบที่ทรงอนุภาพลำนี้ ใครนึกไม่ออกก็ให้นึกถึงประสบการณ์สมัยเป็นนักเรียนทดลองประดิษฐ์โทรศัพท์อย่างง่ายๆ จากแก้วกระดาษเพื่อพิสูจน์เรื่องการเดินทางของเสียงผ่านตัวกลาง ลุงต้นเล่าว่าเสียงที่ได้ยินนั้นมีความชัดเจนไม่แพ้เครื่องมือสื่อสารปัจจุบันเลยทีเดียว
ภาพที่ 3 ท่อสื่อสารภายในเรือรบหลวงแม่กลอง
พื้นที่ต่อมาเป็นห้องพักส่วนตัวที่แบ่งออกเป็นสัดเป็นส่วน ได้แก่ ห้องผู้การเรือ ห้องต้นเรือ ห้องต้นกลห้องนายทหารประจำเรือ ห้องกะลาสีเรือ ห้องพักเหล่านี้มีความคับแคบมาก มีเพียงหน้าต่างเล็กๆ ที่พอบรรเทาความเปล่าเปลี่ยวของคนในห้องได้บ้าง แต่แล้วผู้เขียนก็เกิดความสงสัยว่าถ้าหน้าต่างบานน้อยถูกปิดลงแล้วจะไม่กลายเป็นห้องปิดตายหรือไม่ ซึ่งลุงต้นก็ไขข้อข้องใจว่า บนเรือนี้มีระบบระบายอากาศภายในแต่ไม่ใช่เป็นเครื่องปรับอากาศแบบเรือรบยุคสมัยหลัง แค่ได้ยินเพียงนั้นผู้เขียนก็รู้สึกตาลายขึ้นมาทันที คิดไปพลางว่าคนรุ่นก่อนช่างมีความอดทนเยอะมากจริงๆ
ถัดออกไปไม่ไกลมากนักเป็นห้องโถงนายทหาร และห้องโถงของกะลาสีเรือ พื้นที่ส่วนนี้ใช้เป็นสถานที่สำหรับพักผ่อน พบปะสานสัมพันธไมตรีตลอดจนการรับประทานอาหารของเหล่านายทหารเรือ แต่แล้วผู้เขียนก็เกิดความสงสัยขึ้นอีกว่าทำไมห้องพักถึงมีการแบ่งระดับตามชั้นยศและหน้าที่? ในเรื่องนี้หากมองอย่างเป็นกลางตามมุมมองส่วนตัว ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการและการบังคับบัญชาภายใน ซึ่งบางทีอาจดูไม่ค่อยสอดคล้องกับแนวคิดทันสมัยอย่างปัจจุบันมากนัก แต่นับได้ว่าเรื่องสวัสดิการและสิทธิที่บุคคลพึงได้รับพื้นฐานนั้นมีความเหมาะสมและเพียงพอก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับอนาคตได้
กองทัพเดินด้วยท้องฉันใดเรือรบก็ต้องมีห้องครัวด้วยเช่นกัน ห้องครัวภายในเรือมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่สิ่งที่ผู้เขียนสนใจมากเป็นพิเศษเห็นทีจะเป็นหม้อหุงข้าวที่ทำจากโลหะ ทั้งมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ราวกับสร้างขึ้นเพื่อให้สมศักดิ์ศรีของพ่อครัวทหารเรือที่มีการฝึกความแข็งแกร่งของร่างกายอยู่เป็นประจำ
(ผู้เขียนแอบคิดในใจว่าหม้อหุงข้าว คือ หม้อซุปเกาหลียักษ์ชัดๆ)
ภาพที่ 4 หม้อหุงข้าวยักษ์ติดตั้งอยู่ภายในห้องครัวบนเรือ
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเรือรบของกองเรือปราบเรือดำน้ำย่อมต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์ บริเวณท้ายเรือและข้างเรือรบมีการติดตั้งทั้งตอปิโด (รูปทรงคล้ายจรวด มีลักษณะเป็นทรงกลมมีขนาดใหญ่เทียบได้กับแท็งค์น้ำสำรองที่ใช้ตามบ้านเรือน วิธีการทำงานเปรียบได้กับลูกกระสุนที่เล็งเป้าหมายไว้เพื่อใช้ทำลายล้างเรือดำน้ำของฝ่ายตรงข้าม) และทุ่นระเบิดที่เปรียบเสมือนกับระเบิดที่ลอยทิ้งไว้
นอกจากเที่ยวชมเรือรบหลวงแม่กลองแล้ว ภายในอุทยานป้อมพระจุลจอมเกล้ายังมีส่วนจัดแสดงปืนเสือหมอบภายในป้อมที่มีภารกิจใช้เป็นปืนยิงต่อสู้เพื่อป้องกันการรุกรานของประเทศฝรั่งเศสไม่ให้รุกล้ำเข้าไปยังเมืองหลวงในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติ รวมถึงป้อมปราการอื่นๆ ที่มีภารกิจในลักษณะเดียวกันแต่อาจไม่ได้ติดตั้งปืนแบบปืนเสือหมอบเหมือนป้อมพระจุลจอมเกล้า ป้อมปืนที่เรียงจากชั้นนอกไปชั้นใน ประกอบไปด้วย ป้อมพระจุลจอมเกล้า ป้อมผีเสื้อสมุทร ป้อมแผลงไฟฟ้าและป้อมวิไชยประสิทธิ์ (ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร) เรียงตามลำดับ
จากการสัมผัสกับกลิ่นอายทางประวัติศาสตร์ที่พบเห็นด้วยสายตาตนเองแล้ว สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากการท่องเที่ยวครั้งนี้ คือ การได้รับถ่ายทอดเรื่องราวจากลุงต้น ผู้เปรียบได้กับห้องสมุดมนุษย์ที่มีลมหายใจ ความรู้สึกอิ่มเอมกับวิทยาศาสตร์ที่แฝงอยู่ภายในอุปกรณ์และกลไกต่างๆ ของเรือรบที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน อีกทั้งความคิดที่ตกตะกอนได้และคิดว่าสำคัญมากที่สุด คือ เรือรบลำนี้จะไม่สามารถขับเคลื่อนถึงเป้าหมายได้หากคนบนเรือไม่ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนเอง และเรือลำนี้จะไม่ปลอดภัย หากคนบนเรือไม่เข้าใจถึงความสำคัญของอุปกรณ์ และให้ความสำคัญกับการปฏิบัติหน้าที่ของเพื่อนร่วมเรือ
สุดท้ายนี้ผู้เขียนก็อยากชวนให้ผู้อ่านที่อยากสูดอากาศบริสุทธิ์เยียวยาจิตใจ หรืออยากใช้ประวัติศาสตร์ไทยมาเติมเต็มความรู้สึก เชิญมาเที่ยวป้อมพระจุลจอมเกล้ากันค่ะ ทั้งนี้ หากใครไม่มีรถส่วนตัวก็สามารถใช้ขนส่งสาธารณะอย่าง BTS สายสีเขียวมาลงที่สถานีปากน้ำ แล้วเดินต่อไปยังท่าเรือข้ามฟากข้ามไปยังท่าเรือเจดีย์ จากนั้นขึ้นรถสองแถว (สีฟ้า สายพระสมุทรเจดีย์-ป้อมพระจุลจอมเกล้า) มาลงที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า หรือใครสะดวกก็ขึ้นรถโดยสารประจำทาง ขสมก. สาย 20 (ท่าน้ำดินแดง เสริมป้อมพระจุล) มีให้บริการวันละ 2 รอบ เวลา 6.00 และ 7.00 น. (วันธรรมดา)