ยามบ่าย ท่ามกลางไอแดดร้อนระอุในเดือนเมษายน ผู้เขียนและผู้ร่วมเดินทางอีกสี่คนปั่นจักรยานเข้ามาจอดหลบร่มใต้ต้นไม้ เบื้องหน้ามีอาคารไม้ขนาดใหญ่ มีมุขยื่นกึ่งกลางอาคารหลังคาทรงจั่วตัดหันหน้าสู่ถนนและแม่น้ำสะแกกรัง มีปีกยื่นออกไปทางซ้ายและขวาอย่างสมมาตร ประเมินด้วยสายตาแล้วคงเป็นอาคารที่มีอายุเก่าแก่พอสมควร แต่ยังดูแข็งแรงแม้จะทรุดโทรมไปบ้างตามกาลเวลา
สำหรับผู้เขียนแล้วไม่เคยทราบว่าในตัวเมืองอุทัยธานีนั้นมีอะไรให้เที่ยวชม จึงเพิ่งทราบจากอาจารย์ในภาควิชาที่เป็นคนในท้องที่และผู้นำการเดินทางในครั้งนี้ว่ามีพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี อาคารไม้เก่าตรงหน้าจึงเป็นภาพแรกที่ผู้เขียนรับรู้ถึงการมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น จังหวัดอุทัยธานี จึงอยากแนะนำสถานที่แห่งนี้ให้ทุกท่านได้รู้จักด้วย
ภาพที่ 1 อาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น จังหวัดอุทัยธานี
แต่เดิมอาคารพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2456 เพื่ออุทิศเป็น
พระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังเมื่อโรงเรียนย้ายออกไปกลายเป็นโรงเรียนอุทัยธานีวิทยาคมในปัจจุบัน และต่อมาพื้นที่นี้อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอุทัยธานี และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์นับตั้งแต่ พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา
เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ได้นำชมห้องจัดแสดงที่มีเก้าห้อง ไล่เรียงตามลำดับ ดังนี้ เบญจมราชูทิศนุสรณ์ มรดกโลกห้วยขาแข้ง อาชีพชาวอุทัย เครื่องมือเครื่องใช้ในอดีต อุทัยธานียุคก่อนประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรมทวารวดี แหล่งท่องเที่ยวเมืองอุทัย อยู่อย่างไทยในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง และพระเกจิเมืองอุทัยฯ โดยแต่ละห้องจัดแสดงเนื้อหาและวัตถุที่เกี่ยวกับหัวข้อของห้องนั้น ๆ อาทิ ห้องแรกสุดของชั้นล่าง “เบญจมราชูทิศนุสรณ์” นำเสนอประวัติโรงเรียนเบญจมราชูทิศ พร้อมภาพถ่ายเก่า ตำราเรียน บันทึกความทรงจำของผู้ที่เคยศึกษาที่นี่ ถือเป็นการเริ่มต้นให้ผู้มาเยือนรู้จักกับอาคารไม้เก่าแก่หลังนี้ ห้องถัดมา “มรดกโลกห้วยขาแข้ง” เริ่มเล่าเรื่องด้วยชีวประวัติของสืบ นาคะเสถียร และข้อมูลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งอย่างคร่าว ซึ่งมีการจัดบรรยากาศในห้องให้รู้สึกถึงพื้นที่ธรรมชาติด้วยต้นไม้และน้ำตกจำลอง โดยเจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่าการจัดแสดงเดิมจะดูเป็น “ป่า” ยิ่งกว่านี้แต่สภาพอาคารไม่เอื้ออำนวยจึงต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดแสดง
ภาพที่ 2 ตำราเรียน สมุด และภาพถ่ายเก่า ในห้องจัดแสดงแรก “เบญจมราชูทิศนุสรณ์”
ภาพที่ 3 ห้องจัดแสดง “มรดกโลกห้วยขาแข้ง”
ชั้นสองเป็นห้องจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องโบราณเก่าแก่แทบทั้งสิ้น ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่างห้องอุทัยธานี
ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรม ทวารวดี แหล่งท่องเที่ยวเมืองอุทัย และอยู่อย่างไทย ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งเป็นหัวข้อที่ตรงกับความสนใจและสิ่งที่ผู้เขียนเรียนมาด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี
ภาพที่ 4 ระเบียงทางเดินบนชั้นสองของอาคารพิพิธภัณฑ์
เรื่องยุคก่อนประวัติศาสตร์จัดแสดงในห้องที่อยู่กึ่งกลางของชั้นสอง ใต้หลังคาทรงจั่วตัดที่มองเห็นจากด้านนอก มีการจัดแสดงภาชนะ ชิ้นส่วนอาวุธ และเครื่องประดับมากมายที่พบจากแหล่งโบราณคดีบ้านหลุมเข้า อำเภอหนองขาหย่าง ไฮไลท์ของห้องนี้เป็นการแสดงโครงกระดูกมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่นอนเหยียดยาวอยู่กลางห้อง (เจ้าหน้าที่บอกว่ามีชื่อเรียกว่า “น้าผี” ) ใกล้ๆ มีเศษภาชนะที่ถูกฝังลงไปด้วยเพื่อเป็นของอุทิศและ
บ่งบอกสถานะผู้วายชนม์ ซึ่งเป็นลักษณะที่พบในวัฒนธรรมการฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคก่อนที่จะมีพิธีการเผาศพแบบพุทธศาสนาที่เป็นวัฒนธรรมจากพื้นที่อื่นเข้ามาแทนที่
สิ่งที่น่าดึงดูดให้คณะของผู้เขียนที่เป็นนักศึกษาคณะโบราณคดีสนอกสนใจเป็นพิเศษอยู่ในห้องโถงขนาดใหญ่ เมื่อเข้าห้องมาก็พบกับฐานพระพุทธรูปยืนศิลปะทวารวดี พบที่ชุมชนบ้านด้ายในอำเภอเมืองอุทัยธานี ส่วนองค์และพระเศียรชำรุดหักหายไปแล้ว หลงเหลือเพียงฐานกลีบบัวและพระบาทของพระพุทธรูป ใกล้กับฐานพระเป็นแท่นจัดแสดงศิลาจารึกสามหลัก พบจากเมืองโบราณบึงคอกช้าง อำเภอสว่างอารมณ์ จารึกอักษรปัลลวะ ภาษามอญ โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นหลักฐานแสดงถึงการเข้ามาของวัฒนธรรมอินเดียที่เป็นรากฐานทางความเชื่อและรูปแบบศิลปะให้กับดินแดนไทยสืบมา ในโถงเดียวกันนั้นมีพระพุทธรูปและชิ้นส่วนใบเสมาที่รวบรวมจากหลายแห่งในจังหวัดอุทัยธานี ก็หลักฐานสำคัญที่ยืนยันถึงการก่อตัวของชุมชนที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และดำเนินสืบต่อมาตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์
ภาพที่ 5 ฐานพระพุทธรูปยืนศิลปะทวารวดี พบที่ชุมชนบ้านด้ายในอำเภอเมืองอุทัยธานี
ภาพที่ 6 ห้องจัดแสดงบนชั้นสอง กลางภาพเป็นศิลาจารึกสามหลักจากเมืองโบราณบึงคอกช้าง
ถัดมาด้านหน้าคือพระพุทธรูปและชิ้นส่วนใบเสมาสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ที่พบในอุทัยธานี
ห้องถัดมาเกี่ยวกับสถานท่องเที่ยวและประเพณีในอุทัยธานี ความน่าสนใจอยู่ที่บอร์ดแสดงภาพถ่ายในอดีตของสถานที่ต่าง ๆ ทำให้ได้เห็นบรรยากาศบ้านเมืองแบบเดิม ซึ่งปัจจุบันมีทั้งยังหลงเหลืออยู่และเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ขณะที่ห้อง “อยู่อย่างไทย ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง” ด้านปลายสุดของโถงยาว จัดพื้นที่เป็นห้องพักในเรือนของขุนนาง พร้อมด้วยข้าวของเครื่องใช้หลายอย่างตั้งแต่ของที่ตกแต่งเรียบง่าย ไปถึงผลงานประณีตสะดุดตา เมื่อจัดแสดงอยู่ในอาคารไม้เก่าก็ยิ่งเสริมบรรยากาศความย้อนยุคขึ้นไปอีก
แม้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะไม่ได้ใหญ่โตจนต้องใช้เวลาเดินชมมากไปกว่าหนึ่งชั่วโมง ไม่ได้มีเทคโนโลยีและสื่อการจัดแสดงทันสมัย แต่สิ่งที่ผู้ชมจะได้รับเป็นการ “ปูพื้นฐาน” ให้รู้จักและเข้าใจในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดอุทัยธานี หรือรู้จักอุทัยฯ ผ่านเรื่องราวกับสิ่งของจากอดีตนั่นเอง
และนี่เป็นเสน่ห์ของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เป็นเหตุผลให้ผู้เขียนมักแนะนำใครต่อใครอยู่เสมอว่าหากไปเที่ยวที่ไหนก็ให้ลองแวะไปพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองนั้น เพื่อทำความรู้จักเบื้องต้นและใช้ข้อมูลที่ได้มาทำให้การเที่ยวไปที่ต่าง ๆ สนุกเพิ่มขึ้น รู้มากขึ้นไปอีก ดังเช่นการได้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อุทัยธานีแล้วไปต่อด้วยการเที่ยวชมวัด
ศาลเจ้า และย่านชุมชนเก่าในเมืองอุทัยฯ ก็ยิ่งทำให้รู้ว่าจังหวัดเล็ก ๆ นี้มีสิ่งน่าดูน่าชมอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น จังหวัดอุทัยธานี อยู่ในความดูแลของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดอุทัยธานี อาณาบริเวณใกล้เคียงกันเป็นที่ตั้งของบ้าน
ขุนกอบกัยกิจ และหอเชิดชูเกียรติบุคคลสำคัญและจดหมายเหตุ จังหวัดอุทัยธานี
พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00-16.30 น. โดยติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้าอย่างน้อย
1 วันได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 056-514525 ในวันและเวลาราชการ (ปกติพิพิธภัณฑ์ปิดวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่หากต้องการเข้าชม สามารถติดต่อสอบถามกับทางเบอร์โทรศัพท์ดังกล่าวได้)