เมื่อพูดถึงอาหารฝรั่ง เมนูแรกที่คนมักนึกถึงน่าจะเวียนวนอยู่กับอาหารอเมริกัน อิตาเลียน หรือฝรั่งเศสเสียมาก แต่หากถามถึงอาหารเยอรมันหลายคนอาจนึกถึงแค่ขาหมู ไส้กรอก เบียร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ยินหรือคุ้นหูที่สุด จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ไปเรียนอยู่ที่เยอรมันนานเกือบหนึ่งปีก็ค้นพบว่า คนเยอรมันเองก็ชอบกินสามเมนูที่เอ่ยมาแล้วกันมากจริง ๆ โดยเฉพาะไส้กรอกกับเบียร์ โดยส่วนตัวผู้เขียนที่เป็นคนรักไส้กรอกก็ยิ่งรู้สึกสนุกเป็นอย่างมากกับการเรียนในประเทศนี้ และเพลิดเพลินกับการตระเวนกินไส้กรอกตามเมืองต่าง ๆ เพราะแม้จะเป็นไส้กรอกเยอรมันเหมือนกัน ทว่า ไส้กรอกแต่ละแห่งก็จะแตกต่างกันออกไป และบางชนิดก็มีวางขายเฉพาะที่เมืองนั้นๆ ด้วยไม่สามารถไปหากินได้จากเมืองอื่น
Currywurst (อ่านว่า เคอร์รี่เวิร์ส หรือเคอรีววสท์) เป็นอาหารแนวสตรีทฟู้ดที่มีชื่อเสียงของเยอรมัน ความโดดเด่นก็คือไส้กรอกที่ย่างจนหนังกรอบ หั่น ราดด้วยซอสมะเขือเทศสูตรหวาน และโรยด้วยผงกะหรี่กับเครื่องเทศ เคอร์รี่เวิร์สเป็นเมนูของกินที่สามารถหาทานได้แทบทุกที่ทั่วเยอรมัน ถือเดินกินได้ และหาซื้อได้ง่ายตามสถานีรถไฟหรือตลาด สามารถกินเป็นของกินเล่นก็ได้ หรือหากอยากให้อิ่มท้องก็กินคู่กันกับขนมปัง ด้วยความสะดวกและหาซื้อกินได้ง่ายนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจที่เคอร์รี่เวิร์สมักติดอันดับอยู่ในลิสต์เมนูอาหารที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือน ชาวต่างชาติที่ไปเที่ยวประเทศเยอรมันก็ต้องหาลองทาน ด้วยความโด่งดังอย่างมากของมันจึงเป็นที่มาของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยเรื่องเคอร์รี่เวิร์สกันเลยทีเดียว
The Deutsches Currywurst Museum ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเบอร์ลิน อยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างจุดเช็กพอยท์ชาร์ลี (Checkpoint Charlie จุดตรวจผ่านแดนในอดีตที่กั้นประชาชนชาวเยอรมันออกเป็น 2 ฝ่าย สมัยยุคสงครามเย็น) ตัวพิพิธภัณฑ์เป็นเพียงตึกห้องแถวเล็ก ๆ ประมาณ 2-3 คูหา ภายในตกแต่งด้วยสีสันฉูดฉาดดูสะดุดตา เนื้อหาเล่าเรื่องเกี่ยวกับเคอร์รี่เวิร์สในมิติต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ต้นกำเนิด
ภาพที่ 1 บรรยากาศห้องนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์
แหล่งที่มาภาพ: https://www.berlin-welcomecard.de/it/partner/deutsches-currywurst-museum-berlin
ต้นกำเนิดของเคอร์รี่เวิร์สนั้นมีหลายเรื่องเล่า ทั้งนี้ เรื่องที่ได้รับการยอมรับกันว่ามีความน่าเชื่อถือที่สุดคือ เคอร์รี่เวิร์สถูกคิดค้นในปีค.ศ. 1949 โดยคุณแฮร์ธา ฮิวเวอร์ (Hertha Heuwer) ที่ร้านขายอาหารกินเล่นข้างทางแห่งหนึ่งในเบอร์ลิน ไอเดียของคุณฮิวเวอร์คือการนำไส้กรอกหนังกรอบมานึ่งและทอดให้สุก ราดบนไส้กรอก ด้วยซอสมะเขือเทศที่ปรุงรสพิเศษ โรยด้วยผงกะหรี่อีกนิดหน่อย แล้วเรียกว่า “สเต็กสำหรับคนรายได้น้อย” และหลังจากทำขายได้ไม่นานก็กลายเป็นเมนูที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ในพิพิธภัณฑ์เล่าถึงเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดและมีการจำลองห้องครัวของคุณฮิวเวอร์ไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม หากไปถามคนฮัมบูร์กที่เป็นเมืองใหญ่ทางตอนเหนือของเยอรมันก็จะมีเรื่องเล่าต้นกำเนิดของเคอร์รี่เวิร์สไว้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คนฮัมบูร์กเชื่อกันว่าอันที่จริงแล้ว
เคอร์รี่เวิร์สนั้นมีต้นกำเนิดอยู่ที่ฮัมบูร์ก คนเบอร์ลินนั้นมาอ้างสิทธิ์ทีหลังต่างหาก
ในนิทรรศการโซนถัดมาเคอร์รี่เวิร์สถูกแยกองค์ประกอบออกมาเล่าเป็นเรื่องเฉพาะส่วน โดยเริ่มจากส่วนที่สำคัญที่สุด คือ ไส้กรอกว่ามีวิธีการทำอย่างไรให้มีหนังกรอบ และพัฒนาการของการผลิต ตามมาด้วยเรื่องซอส ซึ่งก็มีเรื่องเล่าอีกว่ามีสูตรไหนบ้าง สมัยก่อนสูตรเป็นแบบไหน แล้วปัจจุบันนี้นิยมกินซอสสูตรแบบไหนกัน ต่อท้ายเรื่องเล่าด้วยเรื่องเครื่องเทศที่ใช้โรยบนไส้กรอกว่ามีเครื่องเทศอะไรบ้าง แต่ละชนิดมาจากพืชหน้าตาแบบไหน นำเข้ามาจากชาติอะไร ตอนไหน เรียกได้ว่าเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านอาหารก็ได้
ภาพที่ 2 บอร์ดนิทรรศการ พร้อมโมเดลจำลองเคอร์รี่เวิร์สแบบต่าง ๆ
เรื่องเล่าที่ควรจบลงเพียงเท่านี้ เพราะเคอร์รี่เวิร์สก็มีองค์ประกอบแค่ไส้กรอก ซอส และผงแกงกะหรี่ แต่พิพิธภัณฑ์ไม่หยุดเรื่องเล่าไว้เพียงแค่สามอย่างนั้น แต่ยังคงเล่าเรื่องต่อไปถึงองค์ประกอบแวดล้อมอื่น ๆ ของอาหารจานนี้ เช่น เรื่องของจานและไม้จิ้ม เนื่องจากเคอร์รี่เวิร์สเป็นอาหารข้างทาง ดังนั้นหน้าตาของจานและไม้จิ้มก็ยังมีประวัติศาสตร์ให้เล่าได้อีก อาทิ ในสมัยก่อนเคอร์รี่เวิร์สใส่ในจานแบบไหน ไม้จิ้มเป็นยังไง เป็นต้น แถมเรื่องราวก็ยังเล่าโยงไปถึงรูปร่างหน้าตาของรถที่ใช้สำหรับขายเคอร์รี่เวิร์สอีกด้วย
แม้วิธีการเล่าเรื่องราวจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ และขยายให้ดูเป็นเรื่องใหญ่โตก็ตาม แต่ตลอดเวลาราวหนึ่งชั่วโมงที่เดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ผู้เขียนกลับไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดเนื้อหา หรือเป็นการเล่าเรื่องแบบไร้สาระแต่อย่างใด การเล่าเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ทำได้น่าสนใจ และเชิญชวนให้คนดูนิทรรศการตั้งคำถามและคิดต่อยอดจากสิ่งที่กินอยู่เป็นประจำ ชวนให้สงสัยแล้วก็อธิบายที่มาที่ไป
นอกจากเรื่องราวของตัวไส้กรอกแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังชวนให้ผู้ชมได้ย้อนกลับไปรู้จักสังคมในยุคสมัยหนึ่งที่เคอร์รี่เวิร์สกำเนิดขึ้น ได้เห็นภาพข่าวหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ที่พูดถึงเคอร์รี่เวิร์สในยุคสมัยนั้นว่าเคยเป็นกระแสนิยมขนาดไหน มีการอ้างอิงสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับเคอร์รี่เวิร์สมาเล่าให้ฟัง สรุปสั้นๆ คือพิพิธภัณฑ์เล่าทุกมิติของเคอร์รี่เวิร์สอย่างรอบด้านและยังใช้สื่อจัดแสดงที่ชวนให้ติดตาม มีลูกเล่นที่ชวนให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วม สังเกตจากความสูงของเก้าอี้และสิ่งของจัดแสดงแล้วก็พอเดาได้ว่ากลุ่มเป้าหมายน่าจะเป็นเด็ก ซึ่งไม่น่าแปลกใจอะไร ก็พิพิธภัณฑ์น่าสนุกขนาดนี้
เมื่อมาถึงพิพิธภัณฑ์เคอร์รี่เวิร์สแล้วถ้าไม่ได้ลองกินไส้กรอกก็คงดูกะไรอยู่ ตอนท้ายสุดของพิพิธภัณฑ์มีร้านขายไส้กรอกส่งกลิ่นหอมฉุยให้บริการอยู่ด้วย โดยผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์สามารถใช้ตั๋วมาแลกเป็นเคอร์รี่เวิร์สจานเล็กสำหรับชิมได้ ทว่า ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นคือเคอร์รี่เวิร์สที่ทางพิพิธภัณฑ์ให้ชิมนั้นอร่อยมากเสียจนต้องซื้อมากินเพิ่มให้เต็มอิ่มอยู่ดี เรียกได้ว่าตกเป็นเหยื่อของการตลาดโดยแท้
ภาพที่ 3 เมื่อมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ไส้กรอกแล้วก็ต้องชิมรสชาติไส้กรอกด้วยถึงจะครบรสความรู้
แหล่งที่มาภาพ: https://www.tagesspiegel.de/berlin/berlins-currywurst-museum-ist-dicht-4025056.html
ความสนุกอย่างหนึ่งของการเรียนในยุโรปคือการมีอยู่ของพิพิธภัณฑ์แปลก ๆ ที่น่าสนใจและเยอะมาก เช่น พิพิธภัณฑ์โสเภณี พิพิธภัณฑ์นักดับเพลิง พิพิธภัณฑ์ลิปสติก หรืออะไรต่อมิอะไรสารพัดเรื่องเล่าที่ทำได้ดีมาก ถึงขนาดว่าก่อนเข้าพิพิธภัณฑ์ผู้ชมอาจยังไม่ได้สนใจกับสิ่งนั้นมาก่อน แต่หลังจากเดินดูนิทรรศการจนจบก็ทำให้ผู้ชมยังรู้สึกสนใจเรื่องนั้นขึ้นมาได้ ช่างแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ในบ้านเราที่มุ่งเน้นแต่ประวัติศาสตร์กระแสหลัก การสร้างชาติ หรือเรื่องราวอะไรก็ตามที่ล้วนแต่ดู “สำคัญ” เท่านั้น
เรื่องเศร้าก็คือ พิพิธภัณฑ์เคอร์รี่เวิร์สแห่งนี้ได้ปิดทำการอย่างถาวรแล้วตั้งแต่เมื่อปีค.ศ. 2018 ใครที่สนใจก็สามารถหาดูได้แค่จากภาพถ่ายและวีดีโอเท่านั้น อย่างไรก็ดี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็คงได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมามากตลอดอายุของมันแล้ว ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น อันที่จริงแนวความคิดเรื่องการทำพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารที่ครอบคลุมทุกมิติขนาดนี้นั้นน่าสนใจมาก นึกถึงประเทศไทยที่มีอาหารที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกหลายอย่าง ลองจินตนาการนึกภาพว่ามีพิพิธภัณฑ์ผัดไท ต้มยำกุ้ง หรือส้มตำ แล้วมีการใส่มิติเรื่องเล่าต่าง ๆ ทั้งประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ แค่คิดก็น่าสนุกแล้ว