Museum Core
Thomas Glover พ่อค้าชาวสกอตผู้มีส่วนเปลี่ยนโฉมประเทศญี่ปุ่น
Museum Core
22 ธ.ค. 66 4K

ผู้เขียน : รหัท กิจจริยภูมิ

               ในช่วงศตวรรษที่ 19 ประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้นอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการพัฒนาทุกด้านให้เทียบเท่าประเทศทางตะวันตก ดังเห็นได้ว่าหลายประเทศมีชาวต่างชาติมากมายได้เข้ามาตั้งรกราก และได้นำวิทยาการที่ทันสมัยในขณะนั้นมาปรับใช้ สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก อย่างประเทศไทยในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็มีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น พระสังฆราชปาเลอกัวร์ที่เป็นผู้นำกล้องถ่ายรูปเข้ามาคนแรก หรือคุณหมอบรัดเลย์ที่นำความรู้การแพทย์ตะวันตกเข้ามา

               ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีชาวต่างชาติเริ่มเข้ามาอาศัยหลังจากที่ได้ทำการเปิดประเทศอีกครั้งในรอบ 200 กว่าปี นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้นได้เริ่มชักชวนและว่าจ้างชาวต่างชาติผู้มีความรู้ความสามารถจำนวนมากให้ข้ามน้ำข้ามทะเลอันแสนไกลเพื่อมาช่วยวางโครงสร้างประเทศในทุกภาคส่วน ซึ่งเปลี่ยนจากประเทศเกาะเล็กๆ กลายเป็นมหาอำนาจในเอเชียได้อย่างรวดเร็ว ชาวต่างชาติบุคคลหนึ่งที่ยังคงเป็นที่จดจำจนถึงทุกวันนี้เป็นพ่อค้าชาวสกอต ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทมิตซูบิชิอันโด่งดัง ทั้งยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมหลายด้านของญี่ปุ่น จนเป็นที่รู้จักในนาม “ซามูไรชาวสกอต” (Scottish Samurai)  ชื่อของชายผู้นี้ คือ โธมัส เบล็ค โกลเวอร์ (Thomas Blake Glover)

 

ภาพที่ 1 โธมัส โกลเวอร์

แหล่งที่มาภาพ: https://www.aberdeencity.gov.uk/sites/default/files/2020-09/Thomas%20Blake%20Glover%20Trail.pdf

 

               โธมัสเกิดที่เฟรเซอร์เบอระ (Fraserburgh) เมืองเล็กๆ ในจังหวัดเอเบอร์ดีน (Aberdeenshire) ตอนเหนือของสกอตแลนด์ เป็นบุตรชายคนที่ 5 จากทั้งหมด 8 คนของตระกูลโกลเวอร์ บิดาของโธมัสเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทางทะเล และเคยทำงานในกองทัพเรืออังกฤษ

               ในชีวิตวัยเด็ก โธมัสใช้ชีวิตอยู่ในเฟรเซอร์เบอระเพียงแค่ 6 ปี และย้ายตามบิดาที่ต้องไปทำงานตามชายฝั่งทะเลของเมืองต่างๆ หลังจากที่ลาออกจากโรงเรียน ในปีค.ศ. 1857 โธมัสในวัย 19 ปีได้เข้าทำงานในบริษัทการค้าจาร์ดีน แมธทีสัน (Jardine Matheson Trading Company) หนึ่งในบริษัทการค้าของอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และได้ถูกส่งไปทำงานที่เซี่ยงไฮ้ (Shanghai) ประเทศจีนเป็นที่แรก โดยมีหน้าที่ขายฝิ่นให้กับเหล่าพ่อค้าคนกลาง และดูแลเรื่องการซื้อขายผ้าไหม ชาและอาวุธปืน

               หลังจากทำงานที่เซี่ยงไฮ้ได้ 2 ปี โธมัสถูกส่งไปที่นางาซากิ (Nagasaki) ประเทศญี่ปุ่นเพื่อดูแลในการซื้อชาเขียวญี่ปุ่น ในขณะนั้นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นเพิ่งเปิดประเทศเพื่อทำการค้าได้ไม่นาน แต่ก็มีปัญหาสงครามภายในประเทศมากมายระหว่างกลุ่มโชกุนและกลุ่มต่อต้านที่สนับสนุนจักรพรรดิ (ระบบการปกครองญี่ปุ่นตั้งแต่ค.ศ. 1185-1868 มีความซับซ้อนอยู่พอสมควร แม้จักรพรรดิจะมีฐานะเป็นผู้นำสูงสุดแต่ก็เป็นเพียงแค่ในนาม หรือหุ่นเชิดของรัฐบาลโชกุนเท่านั้น ขณะที่อำนาจในด้านการค้า การปกครอง รวมถึงการทหารนั้นอยู่ภายใต้โชกุนแต่เพียงผู้เดียว)

 

ภาพที่ 2 ภาพถ่ายหมู่ของกลุ่มโจชูทั้งห้า 

แหล่งที่มาภาพ: https://www.nippon.com/en/column/g00580/

 

               โธมัสจึงใช้โอกาสนี้ออกมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเองที่นางาซากิ  และผันตัวมาเป็นพ่อค้าเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงขายเรือรบและอาวุธให้กับทั้งทางรัฐบาลโชกุน แต่ก็ลักลอบขายให้กับกลุ่มต่อต้านด้วยเช่นกัน นอกจากนี้โธมัสยังมีส่วนช่วยเหลือนักศึกษาชาวญี่ปุ่นหลายกลุ่มที่หลบหนีออกนอกประเทศเพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เพราะการออกนอกประเทศของคนญี่ปุ่นนั้นต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลเพียงเท่านั้น หากถูกจับได้จะถูกลงโทษประหารชีวิตเลยทีเดียว หนึ่งในกลุ่มที่โธมัสได้ช่วยเหลือนั้นเป็นกลุ่มซามูไรหนุ่ม 5 คนจากแคว้นโจชู (ปัจจุบันคือ จังหวัดยามากูจิ Yamaguchi) หรือเรียกกันว่า โจชูทั้งห้า (Choshu Five) ซึ่งต่อมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างรากฐานเพื่อเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นให้ทันสมัย ได้แก่ ฮิโรฟุมิ อิโตะ (Hirobumi Ito) บิดาแห่งรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นและนายกรัฐมนตรีคนแรกของญี่ปุ่น คาโอรุ อินูอิ (Kaoru Inoue) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น, คินสุเกะ เอนโด (Endo Kinsuke) ผู้ก่อตั้งสำนักกษาปณ์ญี่ปุ่นในเมืองโอซาก้า มาซารุ อินูอิ (Masaru Inoue) ประธานผู้ก่อตั้งคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น และยามาโอะ โยโซะ (Yamao Yozo) รัฐมนตรีต่างประเทศในกระทรวงอุตสาหกรรม และเป็นบิดาแห่งวิศวกรรมญี่ปุ่น

               ภายหลังจากฝ่ายต่อต้านโค่นล้มรัฐบาลโชกุนและคืนอำนาจให้จักรพรรดิได้สำเร็จจากการปฏิรูปเมจิ (Meiji Restoration) แม้ว่าโธมัสจะขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับทั้งสองฝ่าย แต่จากการค้าขายและการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ของเขาได้มีส่วนช่วยให้ฝ่ายต่อต้านมีชัยในศึกสงครามนี้ได้กลายเป็นรัฐบาลใหม่ และรวบรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ ทำให้รัฐบาลเมจิชุดใหม่กับโธมัสมีความสัมพันธ์อันดีและได้ถูกว่าจ้างในการจัดซื้อเรือรบสมัยใหม่จำนวน 3 ลำ ในปีค.ศ. 1868 โธมัสก็ได้เริ่มพัฒนาอู่ต่อเรือแห้ง (dry dock) แห่งแรก และเหมืองถ่านหินแห่งแรกของญี่ปุ่นที่เกาะฮาชิมะ (Hashima Island) อีกด้วย

 

ภาพที่ 3 โธมัส โกลเวอร์และผู้บริหารบริษัทมิตซูบิชิ (ถ่ายเมื่อประมาณปีค.ศ. 1890)

แหล่งที่มาภาพ: https://www.visitabdn.com/assets/Uploads/The-Scottish-Samurai-Trail.pdf

 

               อย่างไรก็ตาม เส้นทางของโธมัสไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป บริษัทของเขาเกิดล้มละลายในช่วงค.ศ. 1870 เนื่องจากการบริหารที่ผิดพลาดและการแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้น แม้เขาจะล้มละลายแต่โธมัสยังคงอยู่ในญี่ปุ่น และทำงานที่เหมืองถ่านหินทาคาชิมะ (Takashima Coal Mine) จนสามารถสะสางหนี้สินที่มีมากถึง 500,000 ดอลลาร์ได้ภายใน 7 ปี ชีวิตของเขาเริ่มกลับมาดีขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นตัวแทนจำหน่ายในญี่ปุ่นของ
แบรนด์ครอมบี้ (Crombie) หนึ่งในแบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติสกอตที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก

              ในปีค.ศ. 1873 ยาทาโร อิวาซากิ (Yataro Iwasaki) เพื่อนของโธมัสได้ก่อตั้งธุรกิจต่อเรือและตั้งชื่อบริษัทว่า “มิตซูบิชิ” (Mitsubishi มีความหมายว่า เพชรสามเม็ด) ได้ชักชวนโธมัสให้เป็นที่ปรึกษาเพื่อเพิ่มระดับความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของบริษัท ซึ่งเขาก็เป็นที่ปรึกษาให้บริษัทเป็นเวลา 40 ปี ทั้งนี้ เขายังได้เข้าร่วมกลุ่มนักลงทุนที่มียาโนะสุเกะ อิวาซากิ (Yanosuke Iwasaki) น้องชายของยาทาโร ซื้อกิจการโรงเบียร์สปริงแวลลีย์ (Spring Valley)ในโยโกฮามา (Yokohama) ในปี ค.ศ. 1885 และก่อตั้งบริษัทโรงเบียร์ญี่ปุ่น ซึ่งต่อมากลายเป็นโรงเบียร์คิริน (Kirin Beer) 

 

ภาพที่ 4 โธมัส โกลเวอร์ และครอบครัว

แหล่งที่มาภาพ: https://glover-garden.jp/about/glover-house/

 

               ตลอดช่วงชีวิตของโธมัสที่อาศัยและมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศญี่ปุ่นมากมายจนนับไม่ถ้วน ทำให้ฮิโรฟุมิ อิโตะ และคาโอรุ อินูอิ สองรัฐบุรุษแห่งชาติที่อยู่ในกลุ่มโชูจูทั้งห้าที่โธมัสเคยช่วยเหลือได้ยื่นเสนอเรื่องให้โธมัสได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Order of the Rising Sun ชั้นที่สอง ทำให้เขาเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประจำชาติของญี่ปุ่น โธมัสเสียชีวิตในบ้านพักที่โตเกียวด้วยโรคไต ในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1911 สิริรวมอายุได้ 73 ปี ศพของเขาถูกฝังที่สุสานชาวต่างชาติที่เมืองนางาซากิ

               ด้านชีวิตส่วนตัว โธมัสได้สมรสกับอวาจิยะ ซึรุ (Awajiya Tsuru) หญิงชาวญี่ปุ่นและมีทายาทด้วยกันหนึ่งคน คือ ฮานะ โกลเวอร์ (Hana Glover) และมีบุตรบุญธรรมชาวอังกฤษ-ญี่ปุ่นอีกหนึ่งคน คือ โทมิซาบุโร โกลเวอร์ (Tomisaburo Glover) ปัจจุบันพื้นที่บ้านพักของเขาที่นางาซากิได้กลายเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของเมืองในชื่อสวนโกลเวอร์ (Glover Garden) และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมถึง 2 ล้านคนต่อปี

 

ภาพที่ 5 อาคารและบ้านพักที่ Glover Garden จังหวัดนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Aberdeen City Council (2020). Scottish Samurai. [online] Available at: https://www.aberdeencity.gov.uk/sites/default/files/2020-09/Thomas%20Blake%20Glover%20Trail.pdf.

Aberdeen City Council (n.d.). Scottish Samurai Trail: The story of Thomas Blake Glover. [online] Available at: https://www.visitabdn.com/assets/Uploads/The-Scottish-Samurai-Trail.pdf.

Crombie (n.d.). The Crombie Story. [online] Crombie. Available at: https://crombie.co.uk/the-crombie-story

Fraserburgh 2021 (n.d.). Thomas Blake Glover’s Extraordinary Life. [online] Fraserburgh 2021. Available at: https://fraserburgh2021.org/home/glover-birthplace/thomas-blake-glover-his-story/

Kashihara, H. (2018). Meiji Modernizers: The Choshu Five. [online] nippon.com. Available at: https://www.nippon.com/en/column/g00580/

Mitsubishi (n.d.). Thomas Glover | mitsubishi.com. [online] mitsubishi.com. Available at: https://www.mitsubishi.com/en/profile/history/series/thomas/

Mitsubishi Corporation (n.d.). Thomas Glover. [online] Mitsubishi Corporation. Available at: https://www.mitsubishicorp.com/jp/en/mclibrary/roots/vol10/

The Scotsman (2017). Thomas Blake Glover: The founder of modern Japan. [online] The Scotsman. Available at: https://www.scotsman.com/news/thomas-blake-glover-the-founder-of-modern-japan-3098613

University College London (2013). UCL celebrates the 150th anniversary of Japan’s Choshu Five. [online] UCL News. Available at: https://www.ucl.ac.uk/news/2013/jul/ucl-celebrates-150th-anniversary-japans-choshu-five

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ