เซี่ยงไฮ้ มหานครขนาดใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีความสำคัญตั้งแต่อดีตในฐานะหนึ่งให้ห้าเมืองท่าของประเทศจีนที่เปิดการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างเป็นทางการกับชาติตะวันตก ตามสนธิสัญญานานกิง (Treaty of Nanjing) ในปี ค.ศ. 1842 หลังจากพ่ายแพ้ให้แก่อังกฤษในสงความฝิ่น (Opium War) การเป็นจุดเชื่อมต่อประเทศจีนกับโลกภายนอกมานับร้อยปี ทำให้เซี่ยงไฮ้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเงิน รวมถึงเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมของประเทศจีน และดึงดูดผู้คนจำนวนมากให้เข้ามาอยู่อาศัยด้วยหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม
สงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้นในทวีปยุโรปในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1939 เมื่อกองทัพนาซีเยอรมันเข้ายึดประเทศโปแลนด์ แท้จริงแล้วความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่ถือเป็นหนึ่งเค้าลางของสงครามนั้นเกิดขึ้นในยุโรปมาก่อนหน้านั้นเป็นเวลานับสิบปี ผู้คนที่มีเชื้อสายยิวซึ่งเป็นประชากรในหลายประเทศของทวีปยุโรปตกเป็นเป้าหมายของความรุนแรง จนกระทั่งชาวยิวส่วนหนึ่งต้องอพยพลี้ภัยจากบ้านเกิดสู่ประเทศใหม่ แม้นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ที่ถือสัญชาติเยอรมันก็เลือกย้ายไปอาศัยที่สหรัฐอเมริกา หลังจากที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศเยอรมัน และพรรคนาซีได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาในปี ค.ศ. 1933
ชาวยิวบางส่วนเริ่มรับรู้ถึงภัยคุกคามและโยกย้ายไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เมื่อใกล้ถึงจุดแตกหักก่อนสงครามเริ่มขึ้นตัวเลือกในการอพยพย้ายประเทศของชาวยิวทั่วไปก็ยิ่งมีจำกัด เนื่องจากไม่มีประเทศไหนพร้อมเปิดรับผู้อพยพจำนวนมหาศาลได้อีก จนกระทั่งใน ปี ค.ศ. 1938 ผลการประชุมนานาชาติเรื่องผู้ลี้ภัย ณ เมืองเอเวียง ประเทศฝรั่งเศสระบุว่ามีเพียงแค่สาธารณรัฐโดมินิกันเพียงประเทศเดียวที่ยอมรับผู้อพยพลี้ภัยได้ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่เข้าร่วมประชุมประกาศเพิ่มมาตรการจำกัดจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศเพื่อการลี้ภัย
สถานการณ์ตึงเครียดนี้ได้สร้างวีรบุรุษขึ้น เมื่อเฟิงชาน โฮ (Feng-Shan Ho) นักการทูตชาวจีน ประจำกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพนาซีได้ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชาด้วยการอนุมัติวีซ่าให้ชาวยิวจำนวนมาก แม้ว่าในเวลานั้นผู้ที่เดินทางไปยังเซี่ยงไฮ้ไม่จำเป็นต้องมีวีซ่าประเทศจีนในหนังสือเดินทาง แต่กองทัพนาซีกำหนดเงื่อนไขว่าชาวยิวต้องใช้วีซ่าของประเทศปลายทางในการแสดงตนเพื่อเดินทางออกนอกประเทศออสเตรีย มีประมาณการว่าสถานทูตจีนภายใต้การดูแลของ เฟิงชาน โฮ ได้อนุมัติวีซ่าสำหรับเดินทางไปเซี่ยงไฮ้ให้ชาวยิวนับพันคนในเวลาไม่กี่เดือน จนมีคำกล่าวว่าเซี่ยงไฮ้เปรียบเหมือนเรือโนอาห์ (Noah’s Ark) ของชาวยิวในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง
อย่างไรก็ตาม ดังที่ทราบกันดีว่าในที่สุดเมืองเซี่ยงไฮ้ รวมถึงส่วนอื่น ๆ ของประเทศจีนก็ถูกยึดครองโดยกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพนาซี ในปี ค.ศ. 1941 ส่งผลให้ชาวยิวที่อาศัยในเมืองเซี่ยงไฮ้ต้องถูกกักบริเวณอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “ชุมชนแออัดทิหลานเฉียว” (Tilanqiao Ghetto) จากเรื่องราวข้างต้น ส่งผลให้พื้นที่เล็ก ๆ ขนาด 2.5 ตารางกิโลเมตรในเขตหงโข่ว (Hongkou District) ของเมืองเซี่ยงไฮ้กลายเป็นที่พักพิงชั่วคราวให้กับชาวยิวอพยพนับหมื่นคนจนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1945
ภาพที่ 1 รูปปั้นแสดงกลุ่มผู้อพยพชาวยิว สังเกตได้จากเชิงเทียน Menorah ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชนชาติยิว
เรื่องราวชีวิตของผู้อพยพชาวยิวในดินแดนตะวันออกไกลถูกบันทึกไว้ที่พิพิธภัณฑ์ผู้ลี้ภัยชาวยิวแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Jewish Refugee Museum) บนถนนฉางหยาง (Changyang) ในเขตหงโข่วซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างเดอะบันด์ ริมฝั่งแม่น้ำหวงผู่ (Huangpu River) มากนัก
ภาพที่ 2 ทางเข้าพิพิธภัณฑ์อยู่ริมถนนฉางหยาง
ภาพที่ 3 ลานด้านในพิพิธภัณฑ์
พื้นที่จัดแสดงของพิพิธภัณฑ์มีขนาดไม่กว้างนัก สามารถเดินชมได้ภายในหนึ่งชั่วโมง อาคารบ้านเรือนโดยรอบยังมีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่แตกต่างจากสิ่งก่อสร้างแบบจีน รวมถึงพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ใน โบสถ์โอเฮล โมเช (Ohel Moshe Synagogue) ซึ่งเป็นศาสนสถานของศาสนายูดาห์ และเป็นศูนย์กลางของชุมชนในอดีต
ภาพที่ 4 มุมจำลองบรรยากาศภายในที่พักของชาวยิว
ภาพที่ 5 ภาพถ่ายและสิ่งของเครื่องใช้ของผู้อพยพ
ผู้อพยพชาวยิวส่วนมากไม่มีทรัพย์สินติดตัว เนื่องด้วยกองทัพนาซีไม่อนุญาตให้นำของมีค่าออกนอกประเทศ การเดินทางไกลเพื่อเอาชีวิตรอดบนระยะทางนับหมื่นกิโลเมตรสู่สถานที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย โดยไม่มีทุนทรัพย์ทำให้การเริ่มต้นชีวิตใหม่ของชาวยิวกลุ่มนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเซี่ยงไฮ้ถูกยึดครองโดยกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ชาวตะวันตกชาติอื่นที่อยู่ในฝ่ายสัมพันธมิตรรวมถึงชาวยิวก็ถูกกักบริเวณให้อยู่ในพื้นที่แออัดไม่สามารถออกไปทำธุรกิจ หรือทำงานนอกเขตของตนเองได้ ยกเว้นได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ทำให้การใช้ชีวิตที่ลำบากอยู่แล้วลำบากมากขึ้นไปอีก
แต่โชคร้ายแสนสาหัสนี้ยังมีโชคอยู่บ้าง ด้วยชาวยิวไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของทหารกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นทำให้ชีวิตในเขตชุมชนชาวยิวดำเนินไปได้โดยไม่ถูกรบกวน หรือถูกกระทำรุนแรงมากนัก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับชะตากรรมของชาวยิวในพื้นที่อื่นของทวีปยุโรป นอกจากนี้อุปนิสัยของชาวจีนในเซี่ยงไฮ้ที่มีความคุ้นเคยกับชาวตะวันตกที่เข้ามาค้าขายก่อนหน้านั้นเป็นเวลานาน ทำให้คนท้องถิ่นสามารถโอบรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา และการใช้ชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวยิวได้อย่างกลมกลืน
ภาพที่ 6 กำแพงโลหะแสดงรายชื่อและเรื่องราวของชาวยิวที่เคยอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดทิหลานเฉียว
หลังสงครามสิ้นสุดลงด้วยการยอมแพ้ของฝ่ายอักษะ ชาวยิวในเซี่ยงไฮ้จำนวนมากก็เดินทางกลับไปยังประเทศของตนเอง ปัจจุบันไม่มีชาวยิวอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้อีกแล้ว มีเพียงชาวยิวรุ่นใหม่ที่สนใจมาศึกษาส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของชนชาติตน และนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมารับฟังเรื่องราวผลพวงจากสงครามครั้งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ ผู้เขียนได้แต่หวังว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้จะเป็นสิ่งเตือนใจคนรุ่นหลังถึงความโหดร้ายของสงครามและความขัดแย้งทางอุดมคติที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมหาศาลได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลเพิ่มเติม
พิพิธภัณฑ์ผู้ลี้ภัยชาวยิวแห่งเซี่ยงไฮ้ เปิดให้เข้าชมระหว่างเวลา 9:00น. - 17:00น. ทุกวันยกเว้นวันจันทร์ มีค่าเข้าชม 20 หยวนสำหรับบุคคลทั่วไป http://www.shhkjrm.com/node2/n4/n6/n30/n40/index.html
แหล่งอ้างอิง
Boxer, Baruch. "Shanghai". Encyclopedia Britannica. (2023). [Online]. Accessed 2023 Jul 24. Available from: https://www.britannica.com/place/Shanghai
O'Connell, Ronan. How China saved more than 20,000 Jews during WW2. (2021). [Online]. Accessed 2023 Jul 24. Available from: https://www.bbc.com/travel/article/20210405-how-china-saved-more-than-20000-jews-during-ww2
McGreevy, Nora. Europe’s Jews Found Refuge in Shanghai. (2021). [Online]. Accessed 2023 Jul 24. Available from: https://www.smithsonianmag.com/smart-news/how-holocaust-survivors-found-refuge-shanghai-told-through-stories-and-photos-180978235/
United States Holocaust Memorial Museum. Jewish Life in Europe Before the Holocaust. (n.d.). [Online]. Accessed 2023 Jul 24. Available from: https://encyclopedia.ushmm.org/content/en/article/jewish-life-in-europe-before-the-holocaust
Yad Vashem The World Holocaust Remembrance Center. Feng-Shan Ho. (2000). [Online]. Accessed 2023 Jul 24 Available from: https://www.yadvashem.org/righteous/stories/ho.html