“ข้าว” นับเป็นพืชพันธุ์ที่พบมากในทวีปเอเชีย ทั้งยังเป็นอาหารที่ผู้คนบริโภคกันอย่างกว้างขวาง มีการค้นพบหลักฐานการเพาะปลูกข้าวย้อนไปได้นับพันนับหมื่นปี สำหรับในประเทศไทยแต่ครั้งโบราณข้าว สามารถปลูกได้ในทุกภูมิภาคและเป็นอาหารหลักของผู้คนบนแผ่นดินนี้
หากกล่าวถึงชาวนาผู้ปลูกข้าวเป็นอาชีพ ข้าวย่อมมีความผูกพันอย่างกลมกลืนกับวิถีชีวิตในทุกครัวเรือน โดยเฉพาะพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ การไหว้แม่โพสพ การทำขวัญข้าว หรือ การรับขวัญข้าว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพระราชพิธีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างงาน “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” ซึ่งจัดขึ้นโดยราชสำนัก แน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ทรงคุณค่า ไปรษณีย์ไทยจึงจัดทำชุดแสตมป์ต่างๆ ขึ้นเพื่อบันทึกไว้ด้วยความตระหนักในคุณค่านี้ ตัวอย่างเช่น
“แสตมป์ชุดที่ระลึก 100 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ภาพพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพิธีสิริมงคล เพื่อบำรุงขวัญและเตือนให้เกษตรกรของชาติทราบถึงฤดูกาลเริ่มเพาะปลูกพืชผล โดยเฉพาะการทำนาที่ได้ปฏิบัติสืบทอดมาแต่โบราณกาล วันแรกจำหน่าย 1 เมษายน พ.ศ. 2535
ภาพที่ 1 แสตมป์ชุดที่ระลึก 100 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2535
แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/694/
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน ได้แก่ พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีพราหมณ์ ประกอบพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
สำหรับเมล็ดข้าวจากพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ประชาชนได้เลือกเก็บไว้เพื่อเป็นสิริมงคล หรือแม้กระทั่งนำไปเพาะปลูกยังแปลงนาตามต่างจังหวัด มักเป็นภาพที่เห็นได้ผ่านการถ่ายทอดสดในทุกปี แต่ครั้งหนึ่งไปรษณีย์ไทยได้นำเมล็ดข้าวจากพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญติดไว้บนดวงแสตมป์อย่างเป็นปรากฏการณ์ กล่าวได้ว่าแสตมป์ชุดนี้เป็นสิ่งสะสมอันทรงคุณค่ายิ่ง
“แสตมป์ชุดที่ระลึกวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ติดเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานที่ใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ดวงละ 1 เมล็ด วันแรกจำหน่าย 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
ภาพที่ 2 แสตมป์ชุดที่ระลึกวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/189/
ในส่วนพิธีที่ชาวนาไทยทำกันเองในครัวเรือน อย่างพิธีทำขวัญข้าวหรือรับขวัญข้าวนั้น ตามความเชื่อว่าแม่โพสพมีพระคุณจึงต้องทำขวัญเป็นการกล่าวขอขมาต่อต้นข้าวทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั้งตามธรรมชาติและเกิดจากมนุษย์ เพื่อเป็นการขอบคุณแม่โพสพที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา ปกติทำกันวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันขวัญข้าว
แน่นอนว่า ไปรษณีย์ไทยได้เคยจัดสร้างแสตมป์เกี่ยวเนื่องกับการทำขวัญข้าวหรือการรับขวัญข้าว รวมทั้งแสตมป์แม่โพสพไว้ด้วยเช่นกัน นั่นคือ “แสตมป์ชุดที่ระลึกวันเด็กแห่งชาติ 2551” แบบสุดท้าย ภาพพิธีรับขวัญข้าว วันแรกจำหน่าย 11 มกราคม พ.ศ. 2551 และ “แสตมป์ชุดที่ระลึกปีข้าวสากล” ภาพแม่โพสพถือรวงข้าวอยู่เหนือทุ่งนา วันแรกจำหน่าย 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509
ภาพที่ 3 แสตมป์ชุดที่ระลึกวันเด็กแห่งชาติ 2551
แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/252/
ภาพที่ 4 แสตมป์ชุดที่ระลึกปีข้าวสากล
แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/6996/
ดังนั้น จึงไม่เกินเลยหากกล่าวว่า ผลผลิตข้าวเป็นอีกดัชนีชี้วัดการกินดีอยู่ดีของประชาชน โดยเฉพาะชาวนาผ่านการจัดสร้างแสตมป์ในหลายวาระ ทั้งภาพชาวนา ภาพสถิติพื้นที่ปลูกข้าว และภาพรวงข้าว ต่างทำหน้าที่บันทึกข้อมูลเหล่านี้ไว้อย่างบอกยุคสมัย
“แสตมป์ชุดที่ระลึกโครงการรณรงค์เพื่อต่อต้านให้ประชากรพ้นจากความอดอยาก” ภาพชาวนากำลังเกี่ยวข้าว วันแรกจำหน่าย 21 มีนาคม พ.ศ. 2506 การรณรงค์ให้ผู้คนพ้นจากความหิวโหยเพราะขาดอาหารก็ใช้ภาพชาวนาเกี่ยวข้าวเป็นภาพสัญลักษณ์แทน ด้วยข้าวคืออาหารหลักของคนไทย รวมถึงการทำสถิติพื้นที่การปลูกข้าวอย่างเป็นแบบแผนใน “แสตมป์ชุดที่ระลึกสำมะโนการเกษตร 2521” ภาพการแสดงสถิติพื้นที่การเพาะปลูกข้าว วันแรกจำหน่าย 1 มีนาคม พ.ศ. 2521
ภาพที่ 5 แสตมป์ชุดที่ระลึกโครงการรณรงค์เพื่อต่อต้านให้ประชากรพ้นจากความอดอยาก
แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/7071/
ภาพที่ 6 แสตมป์ชุดที่ระลึกสำมะโนการเกษตร 2521
แหล่งที่มาภาพ: https://www.venusstamps.com/products_detail/view/2397101
ทั้งมวลนี้นำมาสู่บทสรุปใน “แสตมป์ชุดที่ระลึกวันอาหารโลก 2524” ภาพรวงข้าว และอาหารอื่น ๆ อันแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทย และเครื่องหมายสัญลักษณ์ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ วันแรกจำหน่าย 16 ตุลาคม พ.ศ. 2524
ภาพที่ 7 แสตมป์ชุดที่ระลึกวันอาหารโลก 2524
แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/3498/
ทว่า กว่าจะมาถึงขั้นตอนที่เป็นเมล็ดข้าวในจานให้ได้ใช้ช้อนตักรับประทานเป็นอาหาร มีขั้นตอนต่าง ๆ มากมายนัก เริ่มตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือก ก่อนเข้าสู่การไถ หว่าน และดำนา เฝ้าทะนุถนอมวันแล้วเดือนเล่าจนข้าวตั้งท้องออกรวง และสุกเหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่งจึงเข้าสู่ขั้นตอนเก็บเกี่ยว นวด ฝัด ซึ่งดวงแสตมป์ไทยก็เคยบันทึกขั้นตอนการทำนาไว้อย่างครอบคลุม แม้บางขั้นตอนอาจปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
“แสตมป์ชุดชีวิตไทยในชนบท” เฉพาะชนิดราคา 3 บาท ภาพการฝัดข้าว วันแรกจำหน่าย 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514, “แสตมป์ชุดที่ระลึกวันเด็กแห่งชาติ 2523” ภาพชาวนา ได้แก่ การดำนา และการเกี่ยวข้าว วันแรกจำหน่าย 11 มกราคม พ.ศ. 2523 และ “แสตมป์ชุดที่ระลึกวันสหประชาชาติ 2527” ภาพหญิงชาวนากำลังนวดข้าว และภาพประกอบที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตชาวนาในชนบท ซึ่งมีความหมายเกี่ยวกับการเกษตรกรรม และสอดคล้องกับกิจกรรมวันอาหารโลก วันแรกจำหน่าย 24 ตุลาคม พ.ศ. 2527
ภาพที่ 8 แสตมป์ชุดชีวิตไทยในชนบท
แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/3550/
ภาพที่ 9 แสตมป์ชุดที่ระลึกวันสหประชาชาติ 2527
แหล่งที่มาภาพ: https://www.venusstamps.com/products_detail/view/2436441
และอีกครั้งหลังทิ้งช่วงมานาน ไปรษณีย์ไทยได้จัดสร้างแสตมป์ขึ้นมาชุดหนึ่ง ครอบคลุมขั้นตอนการทำนาตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้าจนมาถึงเมล็ดข้าวสวยในภาชนะเป็น “แสตมป์ชุดข้าวไทย” พร้อมตราสัญลักษณ์ THAILAND BEST ภาพแสดงขั้นตอนการทำนาข้าวของชาวนาไทย ได้แก่ ภาพมัดข้าวกล้า พื้นภาพแสดงการดำนาข้าว, ภาพรวงข้าว พื้นภาพแสดงการเกี่ยวข้าว, ภาพข้าวเปลือก พื้นภาพแสดงการนวดข้าวด้วยเครื่อง และภาพข้าวสวยในชามเบญจรงค์ พื้นภาพเป็นรวงข้าวเหลืองอร่าม วันแรกจำหน่าย 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542
ภาพที่ 10 แสตมป์ชุดข้าวไทย
แหล่งที่มาภาพ: http://www.stampthailand.com/product/487/
เรื่องราวจากเมล็ดข้าวเกี่ยวโยงกับชีวิตคนไทยในหลายบริบท แม้ไม่ใช่ชาวนาแต่คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก ไม่ว่าจะเป็นข้าวสวยหุงธรรมดาหรือเป็นอาหารอื่นที่แปรรูปจากเมล็ดข้าว ข้าวคืออาหารสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตสำหรับคนไทยตลอดไป
ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือ 130 ปี ตราไปรษณียากร เล่ม 1 – 3
https://www.moac.go.th/royal_ploughing-history
https://archive.clib.psu.ac.th/online-exhibition/Khwuankhoa/page01.html