สถานีรถไฟยูเนียน (Union Station) กลางกรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา นับเป็นหนึ่งในสถานีรถไฟที่พลุกพล่านที่สุดในประเทศ และตั้งอยู่ที่นี่มาเกือบ 120 ปี นอกจากหน้าที่รับ-ส่งผู้โดยสารจำนวนไม่น้อย แล้ว อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของรถไฟในสมัยก่อนคือการขนส่งของไปรษณีย์ และเพื่อความสะดวกในการขนย้ายของระหว่างรถไฟและที่ทำการไปรษณีย์ จึงเป็นเหตุให้มีการสร้างอาคารด้านข้างสถานีรถไฟเพื่อใช้เป็นที่ทำการไปรษณีย์ในปีพ.ศ. 2457 ต่อมาอาคารแห่งนี้ได้เปิดตัวในฐานะแหล่งเรียนรู้ในนาม Smithsonian’s National Postal Museum เมื่อปีพ.ศ. 2536 โดยอาคารแห่งนี้ยังคงทำหน้าที่เป็นที่ทำการไปรษณีย์ควบคู่กับการเล่าเรื่องราวการเติบโตของกิจการไปรษณีย์ในสหรัฐอเมริกา
เมื่อเดินเข้ามาในโซนนิทรรศการ สิ่งแรกที่ผู้เข้าชมได้เห็นในห้องโถงใหญ่เต็มไปด้วยยานพาหนะที่ใช้ขนส่งจดหมายและพัสดุตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น รถม้า รถไฟ รถบรรทุก หรือเครื่องบิน แล้ว พิพิธภัณฑ์ก็พาย้อนเวลากลับไปในวันที่กิจการไปรษณีย์ของสหรัฐอเมริกาได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อ 350 ปีที่แล้วในปีพ.ศ. 2216
ภาพที่ 1 ห้องโถงใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมวิธีการขนส่งของไปรษณีย์
การเริ่มกิจการไปรษณีย์ในเวลานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย กระดาษยังมีราคาแพงมากและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่มีแสตมป์ ไม่มีกล่องไปรษณีย์ ไม่มีแม้กระทั่งถนนที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองนิวยอร์กและเมืองบอสตัน
ฟานซีส เลิฟเลซ (Francis Lovelace) ข้าหลวงประจำนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีได้ตัดสินใจเริ่มต้นการไปรษณีย์ระหว่างเมืองนิวยอร์กและเมืองบอสตันโดยให้คนส่งจดหมายเดินทางด้วยเส้นทางของชาวพื้นเมืองเป็นระยะทางเกือบ 450 กิโลเมตร นอกจากการส่งจดหมายให้ถึงผู้รับแล้ว คนส่งจดหมายคนแรกยังมีหน้าที่ใช้ขวานบากสร้างรอยตามต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ให้คนอื่นสามารถเดินทางตามได้ ต่อมาเส้นทางนี้ได้กลายมาเป็นทางหลวงหมายเลข 1 ของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน
ผู้เข้าชมจะได้ประสบการณ์เมื่อเดินเข้าไปในป่าตามทางเดินที่จำลองเส้นทางส่งจดหมายทางไปรษณีย์ครั้งแรกที่ถูกนำไปส่งที่โรงเตี๊ยมในพื้นที่ซึ่งทำหน้าที่เสมือนที่ทำการไปรษณีย์ในสมัยนั้น ด้วยเป็นสถานที่ที่มีคนในท้องที่มารวมตัวกันอยู่แล้ว หากผู้รับต้องการฝากจดหมายตอบกลับก็ต้องรีบตอบให้ทันการ หรือเขียนรอไว้ก่อน เพราะไปรษณีย์ระหว่างเมืองบอสตันและนิวยอร์กสมัยนั้นจะรับ-ส่งเดือนละครั้งเท่านั้น
เมื่อกิจการไปรษณีย์เติบโตขึ้น หนึ่งในสิ่งที่ถูกส่งเป็นจำนวนมากคือหนังสือพิมพ์ แต่ด้วยเหตุที่จักรวรรดิอังกฤษเป็นเจ้าของ ทำให้การไปรษณีย์มักปฏิเสธการส่งจดหมายหรือหนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติและประกาศอิสรภาพของอเมริกาส่งผลให้ผู้คนในอเมริกามองการจ่ายค่าส่งไปรษณีย์ว่าเป็นการจัดเก็บภาษีโดยไม่มีผู้แทนในสภา (Taxation without Representation) ต่อมาจึงมีการจัดตั้งกิจการไปรษณีย์เป็นของตนเองในชื่อ คอนสติติวชัน โพสต์ (Constitutional Post) ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานของระบบไปรษณีย์สหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน
หลังผ่านยุคสมัยที่ใช้ม้าหรือรถม้าเป็นยานพาหนะในการส่งไปรษณีย์แล้ว รถไฟได้กลายเป็นหนึ่งในการคมนาคมสำคัญของประเทศ และกิจการไปรษณีย์ใช้รถไฟในการขนส่งจดหมายและพัสดุ ทำให้การสร้างสถานีรถไฟของวอชิงตันดีซีมักมีการสร้างที่ทำการไปรษณีย์อยู่ด้านข้าง และนำไปสู่เรื่องราวของสุนัขที่ชื่อว่า โอนนี่ (Owney) เริ่มต้นจากสุนัขตัวนี้เดินตามถุงใส่พัสดุเข้าไปในตู้รถไฟไปรษณีย์ขบวนหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ทุกคนล้วนเอ็นดู และรับโอนนี่ไว้เสมือนว่าเป็นมาสคอตของการไปรษณีย์ทางรถไฟที่ได้เดินทางไปทั่วประเทศอย่างไม่เคยหยุด
การเดินทางโดยรถไฟในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถือว่าเป็นการเดินทางที่อันตราย มีเหตุการณ์ตั้งแต่อุบัติเหตุรถไฟชนกันไปจนถึงการโดนปล้นอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นการทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์บนรถไฟจึงนับว่าเป็นงานที่อันตราย โดยเจ้าหน้าที่เชื่อกันว่ารถไฟทุกขบวนที่โอนนี่เดินทางไปด้วยจะไม่เกิดอุบัติเหตุ โอนนี่เป็นเหมือนเครื่องรางนำโชคและมักนำป้ายเหล็กมาติดให้สุนัขตัวนี้เสมอ หากใครเห็นภาพสุนัขที่มีป้ายและเหรียญเล็กๆ ติดอยู่ทั่วตัวก็มักทราบกันว่าคือเจ้าโอนนี่นั่นเอง
ภาพที่ 2 ภายในตู้รถไฟไปรษณีย์จำลอง
การจินตนาการถึงสภาพรถไฟในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาจเป็นเรื่องยากที่ผู้เข้าชมจะนึกภาพออก พิพิธภัณฑ์จึงสร้างตู้รถไฟจำลองมาตั้งไว้กลางห้องโถงให้ผู้เข้าชมสามารถเดินเข้าไปสำรวจดูภายในตู้รถไฟ มองเห็นชั้นและถุงผ้าสำหรับคัดแยกจดหมายและพัสดุไปตามสถานที่ต่างๆ เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมลองสวมบทบาทสมมติเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ คัดแยกจดหมายจากถุงใบใหญ่นำไปใส่ในช่องให้ถูกต้องตามสถานที่จัดส่ง อาจฟังดูเหมือนง่าย แต่ลองนึกถึงสภาพว่าต้องอ่านลายมือที่หลากหลายรูปแบบขณะที่รถไฟกำลังวิ่งโคลงเคลงตลอดเวลาแล้ว งานนี้ก็ดูไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
ในนิทรรศการห้องถัดมา ปัญหาของการอ่านลายมือไม่ออก หรือเขียนชื่อสถานที่ผิด ทำให้กิจการไปรษณีย์อเมริกามีการปรับปรุงให้มีการบริการที่ดีขึ้นอยู่เสมอ โซนนี้จึงแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของการไปรษณีย์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 อย่างการคัดแยกพัสดุและจดหมาย จากเดิมที่แยกใส่ถุงตามสถานที่ปลายทาง มาสู่การออกแบบรหัสไปรษณีย์ให้ง่ายต่อการคัดแยกมากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่แต่ละคนจะนั่งอยู่หน้าเครื่องพิมพ์รหัสไปรษณีย์และสายพาน จดหมายที่ไหลผ่านสายพานมา เจ้าหน้าที่ก็จะพิมพ์รหัสไปรษณีย์และส่งต่อไปที่ระบบคัดแยกตามสถานที่ ความยากของงานนี้อยู่ที่การพิมพ์ให้ถูกต้องและรวดเร็วก่อนที่สายพานจะพาซองจดหมายเลื่อนไป จึงเป็นอีกครั้งที่ผู้เข้าชมจะได้ลองสวมบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ที่ต้องพิมพ์รหัสไปรษณีย์ ซึ่งหากใครทำไม่ทันก็ไม่ต้องกังวลใจเพราะไปรษณีย์แห่งสหรัฐอเมริกาไม่ได้ใช้เครื่องนี้แล้ว ในปัจจุบันได้พัฒนาไปสู่การใช้เครื่องอ่านรหัสไปรษณีย์และคัดแยกเองอัตโนมัติผ่านรูปแบบของบาร์โค้ด
ภาพที่ 3 เครื่องพิมพ์รหัสไปรษณีย์เพื่อการคัดแยกจดหมาย
พัฒนาการของกิจการไปรษณีย์ไม่ได้มีแค่เรื่องการคัดแยกเท่านั้น ยังรวมถึงการขยายพื้นที่บริการให้เข้าถึงผู้คนมากขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในประเทศ และการจัดส่งอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นิทรรศการในห้องนี้จึงเต็มไปด้วยของที่เคยถูกใช้จริงตั้งแต่กระเป๋าสำหรับเจ้าหน้าที่ส่งไปรษณีย์ ไปจนถึงกล่องสำหรับส่งไข่และเนย
อีกหนึ่งพัฒนาการที่สำคัญของพิพิธภัณฑ์การไปรษณีย์แห่งชาติที่ขาดไม่ได้ คือตราไปรษณียากรหรือแสตมป์ ในห้องนิทรรศการแสตมป์นั้นได้เล่าเรื่องราวของแสตมป์ตั้งแต่เริ่มต้น วิธีผลิตแสตมป์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่ผู้เข้าชมจะได้เห็นเครื่องผลิตแสตมป์ที่เคยถูกใช้งานจริง และเมื่อเดินต่อไปเพียงเล็กน้อยก็พบกับห้อง
คอลเลกชันแสตมป์แห่งชาติที่รวบรวมแสตมป์ทุกยุคทุกสมัยไว้ในลิ้นชัก ห้องเล็กๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติผ่านตราไปรษณียากรได้เป็นอย่างดี
ภาพที่ 4 ภายในห้องคอลเลกชันแสตมป์แห่งชาติ
แต่สิ่งที่น่าดึงดูดผู้เข้าชมที่สุดในห้องนิทรรศการคงเป็นโซนแสตมป์สะสมฟรีให้เป็นที่ระลึก หยิบเอากลับบ้านได้คนละไม่เกินหกดวง จุดประกายให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจสะสมแสตมป์มากขึ้น หรือหากอยากใช้แสตมป์ทันที พิพิธภัณฑ์ก็มีโปสการ์ดที่ระลึกแจกให้เขียนและส่งได้จากที่ทำการไปรษณีย์ภายในพิพิธภัณฑ์
แม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่องกิจการไปรษณีย์ แต่ก็ได้รับความสนใจมากเพราะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมตลอดการเข้าชม ตั้งแต่สถานที่ตั้งของอาคารไปจนถึงการเขียนโปสการ์ดแล้วส่งในตอนท้าย ถ้าคุณมีโอกาสเขียนโปสการ์ด ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คุณจะเขียนว่าอะไรและส่งถึงใคร?