Museum Core
“ชักพระวัดนางชี” งานประเพณีหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ
Museum Core
30 ม.ค. 67 4K

ผู้เขียน : ธีรวัสส์ พลภักดี

               สายน้ำกับวิถีชีวิตของผู้คนเป็นสิ่งที่ผูกพันกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้คนใช้ประโยชน์จากสายน้ำเพื่อนำมาใช้ในครัวเรือนและใช้เดินทางตามคูน้ำลำคลอง นอกจากนี้ สายน้ำยังสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนดังปรากฎเป็นประเพณี ในพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรีนั้นมีประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับสายน้ำและวิถีชีวิตของผู้คนอย่าง ประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุ หรือรู้จักกันในชื่อ ประเพณีชักพระ ประเพณีเก่าแก่ที่มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในกรุงเทพมหานครที่ยังคงรักษาแบบแผนการปฏิบัติของประเพณีไว้

               ก่อนกล่าวถึงรายละเอียดของประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุ ผู้เขียนอยากอธิบายถึงสถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้น คือ วัดนางชีโชติการาม หรือวัดนางชี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ที่ตั้งอยู่ริมคลองด่านฝั่งเหนือ ตามประวัติกล่าวว่าเป็นวัดโบราณที่สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ในส่วนประวัติความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุที่วัดนางชีนั้นมีตำนานเล่าไว้ว่า มีพราหมณ์ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากอินเดียเข้ามายังดินแดนไทย และปรารถนาที่จะประดิษฐานไว้ ณ เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองเชียงใหม่ แต่ระหว่างการเดินทางจากเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่ เมื่อเรือสำเภาเดินทางมาถึงบริเวณปากคลองด่านได้เกิดอุบัติเหตุ ส่งผลให้พระบรมสารีริกธาตุจมลงสู่ผืนดิน กาลต่อมาเมื่อวัดนางชีสร้างเสร็จแม่ชีผู้หนึ่งนามว่า อิ่ม ได้พบกับพระบรมสารีริกธาตุราวปาฏิหาริย์จึงได้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานไว้ยังวัดนางชีตั้งแต่นั้นมา

               ประเพณีที่สืบเนื่องจากการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดนางชี เป็นการจัดงานสมโภชพระบรมสารีริกธาตุขึ้น พร้อมกับอัญเชิญลงเรือเพื่อแห่พระหรือชักพระไปตามคูคลองต่าง ๆ จนกลายเป็นประเพณีชักพระวัดนางชี อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีเอกสารระบุถึงปีที่มีการจัดประเพณีชักพระวัดนางชีเป็นครั้งแรก แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีเอกสารระบุไว้ว่า งานชักพระก็กลายเป็นงานเทศกาลสำคัญประจำปีของชุมชนสองฝั่งคลองย่านฝั่งธนบุรี ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นงานประเพณีที่ยังคงสืบทอดกันเรื่อยมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

               หลังวันลอยกระทงถัดมาไม่นานนัก ในวันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 3 ค่ำ เดือน 12 เป็นเวลา 3 วันที่กำหนดให้เป็นวันจัดงานชักพระวัดนางชี โดยเริ่มจากวันแรก วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 พระสงฆ์ที่วัดและชาวบ้านร่วมกันนำพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ภายในวัดนางชีออกมาสรงน้ำ ในวันถัดมาวัดนางชีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงสู่เรือเพื่อนำเข้าสู่การชักพระ กระทั่งเมื่อได้เวลาตามฤกษ์ยามที่เหมาะสม ขบวนเรือก็จะเคลื่อนออกจากวัดนางชี บริเวณริมคลองด่าน เลี้ยวซ้ายเข้าสู่คลองบางกอกใหญ่ ลัดเลาะไปตามเส้นทางคลองเรื่อย ๆ จนมาถึงคลองชักพระในย่านตลิ่งชัน แล้วเลี้ยวขวาเข้าสู่คลองบางกอกน้อย และเลี้ยวขวาอีกครั้งเพื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นตรงขึ้นไปเลี้ยวเข้าสู่คลองบางกอกใหญ่ ก่อนมุ่งตรงไปยังคลองด่านเพื่อมุ่งหน้าสู่วัดนางชีดังเดิม ซึ่งลักษณะเส้นทางของงานประเพณีชักพระที่กล่าวมานี้เรียกว่า ทักษิณาวรรต (การวนขวา) และสุดท้ายวันที่สามมีพิธีกรรมและกิจกรรมทางศาสนาเฉพาะที่วัดนางชี ได้แก่ การเจริญพุทธมนต์ การสวดมนต์หมู่ การจัดโต๊ะหมู่บูชา และความรื่นเริงต่าง ๆ ดังที่ ขุนวิจิตรามาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ได้เล่าไว้ในหนังสือชุดบันทึกความทรงจำของท่านว่า งานชักพระวัดนางชีเป็นงานเทศกาลประจำปี ที่ครึกครื้นมโหฬารที่สุด...ไม่มีงานใดเท่า

 

ภาพที่ 1 การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสรงน้ำและนับจำนวนก่อนการชักแห่

ซึ่งมีการระบุว่าบางปีก็มีปาฏิหาริย์หายไป บางปีก็เพิ่มขึ้น

แหล่งที่มาภาพ: หนังสือพิมพ์สยามรัฐวิจารณ์สุดสัปดาห์ปีที่ 33 ฉบับที่ 22

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 หน้า 30 - 31.

 

               ความสำคัญของประเพณีชักพระวัดนางชี นอกจากเป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่สำคัญและกลายเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในกรุงเทพมหานครที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานแล้ว ชุมชนยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีดั้งเดิมที่คู่กับสายน้ำในพื้นที่ฝั่งธนบุรีผ่านไปตามเส้นทางลำน้ำเดิมที่คดเคี้ยวหลายสาย เช่น คลองบางกอกน้อย คลองบางกอกใหญ่ คลองด่าน ฯลฯ อีกทั้ง งานประเพณีชักพระวัดนางชีมีความพิเศษด้วยมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเป็นประธานของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในขบวนเรือแตกต่างจากวัดอื่นทั่วไปที่มักอัญเชิญองค์พระพุทธรูปเป็นพระประธานในขบวน

               ความผูกพันกับสายน้ำที่อยู่ในวิถีชีวิต ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลองตลอดเส้นทางของประเพณีชักพระวัดนางชีต่างร่วมแรงร่วมใจกันจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ และร่วมกันประดับตกเรือนให้สวยงาม ตั้งโต๊ะหมู่บูชา และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใสออกมาเฝ้ารอขบวนเรืออยู่บริเวณท่าน้ำอย่างใจจดใจจ่อและเต็มเปี่ยมไปด้วยความปีติยินดี พร้อมกับเปล่งเสียงสาธุเมื่อขบวนเรือพระบรมสารีริกธาตุแล่นผ่านหน้า

 

ภาพที่ 2 ภาพขบวนแห่ชักพระ

แหล่งที่มาภาพ: หนังสือพิมพ์สยามรัฐวิจารณ์สุดสัปดาห์ปีที่ 33 ฉบับที่ 22

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 หน้า 30 - 31.

 

 

 

ภาพที่ 3 ภาพขบวนแห่ชักพระในปัจจุบัน (ปี พ.ศ.2566)

เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย ว่าที่ร้อยตรี ประภพ เบญจกุล  หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมงานวัฒนธรรม

สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร

 

 

               อย่างไรก็ตาม เมื่อบ้านเมืองเจริญเติบโตมีเส้นทางสัญจรใหม่เพิ่มเติมเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและอำนวยความสะดวกยิ่งขึ้นอย่างสะพาน ถนน และรถไฟฟ้า ผนวกกับความเชื่อและความศรัทธาในพระบรม
สารีริกธาตุ สิ่งที่อันควรแก่การสักการะบูชาและประดิษฐานในที่สูงสุด ไม่สมควรมีสิ่งอื่นใดอยู่เหนือกว่า จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบประเพณีชักพระวัดนางชี เนื่องจากเส้นทางเดิมที่ขบวนเรือแล่นไปตามลำคลองบริเวณ
จุดที่ถนนเพชรเกษมตัดกับคลองบางกอกใหญ่ที่มีทั้งสะพาน ถนนและรถไฟฟ้าพาดผ่าน จึงมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นสู่กระเช้าพระธาตุ และใช้ระบบชักรอกเพื่ออัญเชิญขึ้นสู่บนสถานีรถไฟฟ้าบางไผ่ จากนั้นอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุข้ามมาอีกฝั่งหนึ่งแล้วกลับเข้าสู่ขบวนเรือดังเดิม ถัดมาเมื่อเรือพระบรมสารีริกธาตุแล่นผ่านมาถึงจุดที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ตัดกับคลองบางกอกน้อยก็มีการปฏิบัติเช่นเดียวกันเพื่อข้ามผ่านสถานีรถไฟฟ้าบางขุนนนท์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการสืบสานประเพณีดั้งเดิมของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการอำนวยความสะดวกเรื่องกระเช้าพระธาตุ ระบบชักรอก และสะพานข้ามที่อยู่เหนือชานชลาของสถานีรถไฟฟ้า

 

ภาพที่ 4 รฟม. เข้าร่วมพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุในงานประเพณีชักพระวัดนางชี ประจำปี 2564

แหล่งที่มาภาพ: https://www.mrta.co.th/en/activity-2021/3792

 

               นอกจากนี้เส้นทางในการแห่พระบรมสารีริกธาตุค่อนข้างยาวไกล และมีความคดโค้งไปตามลักษณะของลำคลองธรรมชาติ จำเป็นต้องมีการหยุดพักอยู่เป็นระยะเพื่อให้พระสงฆ์ได้ฉันเพล และคณะผู้ร่วมเดินทาง ผู้พายเรือในขบวนได้พักทานอาหารเที่ยง ซึ่งเดิมขบวนเรือหยุดพักบริเวณวัดไก่เตี้ย ย่านตลิ่งชัน โดยชาวบ้านที่อยู่อาศัยใกล้เคียงย่านนี้จะจัดเตรียมสถานที่สำหรับฉันเพลของพระสงฆ์และเตรียมสถานที่ทานอาหารให้กับคณะผู้ร่วมเดินทางและผู้พายเรือ รวมทั้งอำนวยความสะดวก ดูแลความเรียบร้อยในระหว่างที่ขบวนเรือแต่ละลำได้หยุดพัก ซึ่ง การหยุดพักที่วัดไก่เตี้ยยังทำให้ได้เห็นถึงการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างพระสงฆ์วัดนางชีกับพระสงฆ์วัดไก่เตี้ยด้วย (ปัจจุบันขบวนเรือหยุดพักที่สำนักงานเขตตลิ่งชันแทน)  

               การเปลี่ยนแปลงตามสภาพสังคมนับเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ประเพณีชักพระวัดนางชีมี ลักษณะบางประการที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้เรือยนต์แทนเรือพาย ผู้พายเรือเป็นนายทหารจากกองทัพเรือแทนแรงงานฝีพายด้วยชาวบ้าน มหรสพรื่นเริงอย่างการแข่งเรือ การร้องทำเพลงอย่างสนุกสนานในขบวนเรือชักพระหายไป แต่สิ่งที่ยังคงหลงเหลืออยู่ และรักษาแบบแผนของดั้งเดิมของงานประเพณีชักพระวัดนางชีไว้ได้อย่างเหนียวแน่น คือ วิถีชีวิตของชาวบ้านบริเวณริมคลองที่ผูกพันกับวัด ซึ่งยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน ดังเห็นได้ในภาพที่ปรากฎตามสื่อสังคมออนไลน์เป็นภาพชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมจัดเตรียมงาน หรือการเฝ้ารับขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่จะผ่านมายังพื้นที่ของตน รวมทั้งนักเรียนในสังกัดโรงเรียนที่อยู่ในละแวกที่ขบวนเรือแล่นผ่าน ซึ่งนับว่าเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทเพิ่มเติมระยะหลังในฐานะผู้สังเกตการณ์ ผู้เข้าไปมีส่วนร่วมช่วยจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ หรือผู้เข้าประกวดกิจกรรมต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับงานประเพณี อาจได้ซึมซับและมีความเข้าใจในงานประเพณีท้องถิ่นเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย และอาจมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สืบสานต่อในอนาคต  

                 ประการสุดท้ายที่สำคัญที่สุด เมื่อพิเคราะห์แล้วก็เห็นว่า ประเพณีชักพระวัดนางชีนับเป็นประเพณีเพียงหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่รักษาธรรมเนียมประเพณีที่ได้มีการปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมาไว้ได้ การแห่พระหรือการชักพระยังเป็นประเพณีที่ทำให้ชาวบ้านได้เข้าถึงพระบรมสารีริกธาตุ และประเพณีนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ผ่านรูปแบบงานประเพณีที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน

 

รายการอ้างอิง

ผุสดี จันทวิมล. กรุงเทพฯ ศึกษา เพื่อการท่องเที่ยว. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย

รามคำแหง, 2561.

วิชญดา ทองแดง และศรัณย์ ทองปาน. ชุมทางตลิ่งชัน ย่านเก่า [ก่อน] กรุงเทพฯ. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ,

2555.

__________. ประเพณีชักพระวัดนางชี. เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก

https://www.youtube.com/watch?v=u4gxwGb9hA0&t=405s

สันต์ สุวรรณประทีป. “ชักพระวัดนางชี.” สยามรัฐวิจารณ์สุดสัปดาห์. 33, 22 (16 พฤศจิกายน 2529): 30-31.

ส่วนวัฒนธรรรม Culture Division. ประเพณีชักพระวัดนางชี. เข้าถึงเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก

https://www.facebook.com/culturebma/photos/a.938304102963046/2849694128490691/?type=3

Metro (Admin). BEM ร่วมพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ สืบสานประเพณีชักพระวัดนางชี. เข้าถึงเมื่อ 14 

กุมภาพันธ์ 2566. เข้าถึงได้จาก https://metro.bemplc.co.th/Metro-News-Detail?id=40574

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ