ดังที่ทราบกันดีว่า กิจการด้านรถไฟเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของการคมนาคมโดยเส้นทางรถไฟที่จะเป็นประโยชน์ทั้งด้านเศรษกิจและการเดินทางรูปแบบใหม่ที่สะดวกในการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าภายประเทศ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เซอร์แอนดรู คลาก (Sir Andrew Clarke) และบริษัทปันชาร์ด แมกทักการ์ด โลเธอร์ จำกัด (Messrs Punchard Mac Taggart , Lowther & Co.) ดำเนินการสำรวจพื้นที่และเส้นทางเพื่อสร้างทางรถไฟ จากกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ จากนั้นในปีพ.ศ.2433 ทรงโปรดเกล้าฯ จัดตั้งกรมรถไฟ และเปิดให้มีการประมูลสร้างทางรถไฟสายแรก เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา โดยชาวอังกฤษสามารถประมูลได้ไปในราคาต่ำสุดอยู่ที่ 9,956,164 บาท
การวางระบบรางรถ การซ่อมบำรุงรักษา การนำเข้าหัวรถจักรรถไฟและตู้โดยสารจากต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจการเดินรถไฟจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนเชิงโครงสร้างค่อนข้างสูงมาก จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่คนทั่วไปมักคิดว่ากิจการรถไฟที่เป็นระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทยดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐวิสาหกิจ และมีเส้นทางให้บริการหลักอยู่เพียง 5 สาย ได้แก่ สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายตะวันออก สายใต้ และสายแม่กลอง รวมถึงอาจไม่เคยได้ยิน หรือรับรู้มาก่อนว่าในอดีตประเทศไทยนั้นเคยมีทางรถไฟสาธารณะที่ริเริ่มก่อสร้างให้บริการขนส่งผู้คนและสินค้าโดยบริษัทเอกชนด้วย
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่มีผู้ศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่ไว้ การเดินรถไฟโดยเอกชนในประเทศไทยนั้นมีกล่าวถึงเพียง 2 สายเท่านั้น คือ เส้นทางรถไฟสายพระบาทที่จัดสร้างโดยบริษัท รถรางพระพุทธบาททุน จำกัด เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2444 เส้นทางรถไฟสายนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงร่วมลงทุนด้วย เป็นทางรถไฟระยะสั้น 20 กิโลเมตรและมี 7 สถานีเท่านั้น โดยมีสถานีต้นทางจากอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสถานีปลายทางที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ทว่า เส้นทางรถไฟสายนี้เดินรถเฉพาะกิจเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางสำหรับผู้ที่ต้องการไปนมัสการพระพุทธบาทที่หนึ่งปีมีเพียง 2 ช่วงเท่านั้น ระหว่างเดือน 3 และเดือน 4 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2485 เส้นทางรถไฟสายพระบาทก็เลิกกิจการไป
อีกเส้นทางหนึ่งเป็นเส้นทางรถไฟสายบางบัวทอง หรือทางรถไฟพระยาวรพงษ์ เป็นเส้นทางรถไฟเอกชน ของเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา มหาดเล็กในรัชกาลที่ 5) เส้นทางรถไฟสายนี้มีระยะทางทั้งสิ้น 68 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ เส้นทางบางปูน – บางบัวทอง (ช่วงแรก) โดยมีสถานีต้นทางที่บางปูนบริเวณพื้นที่วัดบวรมงคล (หรือวัดลิงขบ เดิม) ทั้งนี้ จากความทรงจำของผู้เฒ่าผู้แก่บ้านบางปูนระบุว่าสถานีรถไฟตั้งอยู่ที่สถานีตำรวจบวรมงคลในปัจจุบัน โดยมีสถานีปลายทางอยู่ที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทุบรี ต่อมาจึงมีการสร้างทางรถไฟเพิ่มขยายในช่วงระยะที่สองต่อจากเส้นทางบางบัวทองไปถึงสถานีระแหง (ตรงข้ามวัดบัวแก้วเกษรใกล้ตลาดระแหง) อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี นับเป็นเส้นทางรถไฟเอกชนสายประวัติศาสตร์เพียงสายเดียวที่เชื่อมต่อถึง 3 จังหวัด
ภาพที่ 1 รถไฟเส้นทางสายบางบัวทองขณะแล่นบนสะพานข้ามคลองอ้อม
บ้านบางพลู อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
แหล่งที่มาภาพ: https://nonthaburi.m-culture.go.th/th/db_11_nonthaburi_60/99200/
ภาพที่ 2 แผนที่เส้นทางรถไฟสายบางบัวทองที่มีความคดโค้ง เริ่มต้นจากสถานีบางปูน (บางพลัด กทม.)
วิ่งผ่านบางกรวย บางสีเมือง บางบัวทอง (นนทบุรี) สู่ปลายทางสถานีระแหง (ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี)
แหล่งที่มาภาพ: https://library.stou.ac.th/wp-content/odi/bang-bua-thong-train/page_2.html
ตามประวัติที่มีการเผยแพร่ได้กล่าวว่า มูลเหตุที่ทำให้เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์อยากสร้างเส้นทางรถไฟสายบางบัวทองนั้นมาจากความประทับใจที่ได้เคยตามเสด็จฯ รัชกาลที่ 5 เปิดทางรถไฟที่ผาเสด็จเมื่อ พ.ศ. 2444 ทำให้มีความสนใจในกิจการรถไฟด้วยสามารถช่วยย่นระยะการเดินทางของผู้คน และการขนส่งสินค้าก็จะใช้เวลาน้อยกว่าการเดินทางโดยเรือ และเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปเยี่ยมญาติที่อยู่แถววัดเฉลิมพระเกียรติ (ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดนนทบุรี หลังเก่า บริเวณท่าน้ำนนท์ในปัจจุบัน) โดยมีการวางแผนกำหนดเส้นทางเดินรถไฟให้เชื่อมกับเครือข่ายขนถ่ายสินค้าจากฝั่งธนบุรีไปยังพระนคร (สถานีบางปูนอยู่ฝั่งตรงข้ามเยื้องกับปากคลองบางลำพู ตลาดขนาดใหญ่ตอนเหนือของเกาะรัตนโกสินทร์) นับได้ว่าทางรถไฟสายนี้ทำหน้าที่คล้ายขบวนรถ
ฟีดเดอร์ (Feeder) อย่างปัจจุบันที่เชื่อมต่อกับชานเมือง ทำให้ชาวบ้านแถบใกล้เคียงนนทบุรี ปทุมธานี สามารถนำเอาผลผลิตมาขายยังพระนคร โดยเดินทางต่อจากรถไฟ ล่องเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาเข้าปากคลองรอบกรุง
เข้าสู่ตลาดบางลำพู หรือเดินทางต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ในพระนครผ่านเครือข่ายลำคลองได้อย่างสะดวก
ภาพที่ 3 การเชื่อมต่อเครือข่ายขนถ่ายสินค้าจากฝั่งธนบุรีไปยังฝั่งพระนคร
แหล่งที่มาภาพ: https://library.stou.ac.th/wp-content/odi/bang-bua-thong-train/page_4.html
อนึ่ง ในกรณีที่เอกชนจะดำเนินการธุรกิจรถไฟที่ใช้เงินทุนมหาศาลเพื่อใช้ลงทุนในการก่อสร้าง จัดหาซื้อและนำเข้ารถไฟจากต่างประเทศ รวมถึงการจ่ายเงินชดเชยเพื่อซื้อเวนคืนที่ดิน จำเป็นต้องอาศัยการระดมทุนทรัพย์จากผู้มีอันจะกินต่างๆ ให้มาร่วมลงทุนในลักษณะที่มีการจดทะเบียนและจัดตั้งเป็นบริษัทขึ้น ในปีพ.ศ.2451
เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ใช้เงินทุนส่วนตัวและการระดมทุนก่อตั้งบริษัทรถไฟสายบางบัวทอง จำกัดขึ้น เพื่อดำเนินกิจการรถไฟ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้มีความยุ่งยากมาก ด้วยชาวบ้านไม่ยอมขายที่ดินบริเวณที่ทางรถไฟตัดผ่าน ทำให้ลักษณะของเส้นทางรถไฟค่อนข้างคดโค้งไปตามแนวคันทางรถไฟที่ไม่เป็นเส้นตรง
นอกจากนี้ลักษณะเนื้อดินทั่วไปค่อนข้างอ่อนต้องถมและอัดดินให้แน่นด้วยเศษอิฐก่อนวางไม้หมอนจึงต้องหาเกณฑ์ผู้คนให้ช่วยกันหาเศษอิฐจำนวนมากมาถมที่ อีกทั้งเส้นทางบางช่วงต้องข้ามคลอง ต้องสร้างตอม่อสะพาน ที่มีความแข็งแรงด้วยอิฐ เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์จึงขอเช่าเตาเผาอิฐที่บางบัวทอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของแหล่งผลิตอิฐขนาดใหญ่สำหรับใช้ในการก่อสร้างอาคารต่างๆ ทั่วพระนคร เพื่อผลิตอิฐดินเผาชั้นดีสำหรับใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟ โดยผลิตอิฐดินเผาตามมาตรฐาน ขนาดกว้าง 4 x 9 x 3 นิ้ว เป็นอิฐที่ใช้แม่พิมพ์ไม้และมีปั๊มตัวอักษร “บบท” เป็นคำย่อจากบางบัวทองด้านบนอิฐทุกก้อน
ภาพที่ 4 ลักษณะตอม่อสะพานรถไฟสายบางบัวทองจากอดีตที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน
แหล่งที่มาภาพ: https://pantip.com/topic/38812957
รถไฟสายบางบัวทองใช้หัวรถจักรไอน้ำขนาดเล็กนำเข้าจากประเทศเยอรมัน ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงและเป็นระบบรางขนาดกว้าง 0.75 เมตร ตู้โดยสารเป็นแบบโปร่งมีหลังคาคลุมจำนวน 2-3 ตู้ วิ่งทำความเร็วได้ประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เริ่มเปิดให้บริการเดินรถเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2458 ต่อมาในปีพ.ศ.2470 จึงได้เปลี่ยนไปใช้หัวรถแบบรถราง 4 ล้อ ใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง และปีพ.ศ.2477 เปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงเป็นน้ำมันดีเซลเพื่อลดค่าใช้จ่าย จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ต้องหยุดการเดินรถชั่วคราวเพราะไม่มีผู้ใช้บริการ กอร์ปกับเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ถึงแก่อสัญกรรมในปีพ.ศ.2484 และกลับมาให้บริการต่อ แต่มีผู้ใช้บริการลดจำนวนลงมากจนกระทั่งปีพ.ศ. 2485 จึงประกาศยกเลิกให้บริการ แล้วดำเนินการรื้อถอนรางและไม้หมอนจนเสร็จสิ้นเป็นการเลิกกิจการรถไฟสายบางบัวทองอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2486
ภาพที่ 5 ลักษณะแนวคันดินส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายบางบัวทองที่ยังหลงเหลือให้เห็นใน
พื้นที่บ้านลากฆ้อน ตำบลลำโพ อำเภอบางบัวทอง
แหล่งที่มาภาพ: http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=14&postdays=0& postorder=asc&start=100
ในปัจจุบันเส้นทางรถไฟสายบางบัวทองส่วนใหญ่ถูกปรับพื้นที่คันดินสร้างเป็นแนวถนน และมีร่องรอยของแนวคันทางรถไฟหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง แทรกอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมในอำเภอบางบัวทอง สังเกตได้จากลักษณะคันดินนูนและกว้างกว่าคันนาทั่วไป รวมถึงชื่อกำกับบนป้ายซอยอรุณอมรินทร์ 57 ว่า “ตรอกรถไฟวรพงษ์” ทว่า เรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟสายนี้คงมีเพียงผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปที่ยังพอจดจำได้ และกำลังค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของคนรุ่นหลังตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
สืบค้นจาก https://nonthaburi.m-culture.go.th/th/db_11_nonthaburi_60/99200/
สืบค้นจาก https://library.stou.ac.th/wp-content/odi/bang-bua-thong-train/page_1.html
สืบค้นจาก https://pantip.com/topic/38812957
สืบค้นจาก https://www.museumsiam.org/km-detail.php?CID=177&CONID=6078