พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หอศิลป์เจ้าฟ้า” เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่มุ่งเน้นการจัดแสดงงานศิลปะด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และงานสื่อผสม ทั้งในรูปแบบศิลปะไทยประเพณี ศิลปะตะวันตก และศิลปะร่วมสมัย จึงมีความแตกต่างจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่มักจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุอันเป็นหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์
การจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก นิทรรศการถาวร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของงานสร้างสรรค์ทางทัศนศิลป์ของไทย ประกอบไปด้วยห้องเฉลิมพระเกียรติที่จัดแสดงงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ห้องจิตรกรรมไทยประเพณี จัดแสดงงานจิตกรรมไทยประเพณีที่ได้รับการสืบทอดมาแต่ครั้งอดีต ห้องจิตรกรรมแบบตะวันตก จัดแสดงงานจิตรกรรมไทยที่ผสมผสานจิตรกรรมตะวันตกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และห้องประติมากรรม ซึ่งจัดแสดงงานประติมากรรมในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนที่สอง นิทรรศการหมุนเวียนที่มีการจัดแสดงผลงานศิลปะหมุนเวียนตลอดทั้งปี มีศิลปินหลากหลายนำผลงานมาจัดแสดง ทั้งศิลปินมืออาชีพ ศิลปินหน้าใหม่ รวมถึงศิลปินมือสมัครเล่น
งานจิตรกรรมหรืองานภาพวาดเป็นหนึ่งในงานศิลปะสร้างสรรค์ที่มีสัดส่วนการจัดแสดงมากที่สุดในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ประกอบด้วยงานศิลปะไทยประเพณีที่สัมพันธ์อยู่กับพระพุทธศาสนา เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวรรณกรรม งานศิลปะแบบตะวันตกซึ่งส่งอิทธิพลต่องานศิลปะไทยที่มักถ่ายทอดภาพเจ้านายในราชสำนัก ตลอดจนภาพวาดฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 9 ซึ่งงานแต่ละแบบต่างมีเสน่ห์และอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันไป ถ่ายทอดเรื่องราวและสุนทรียารมณ์ให้กับผู้ชมได้เสพงานศิลป์และจินตนาการที่หลากหลาย
การเยี่ยมชมงานจิตรกรรมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ นอกจากได้เชยชมงานศิลป์ชั้นครูและงานศิลป์แห่งยุคสมัยแล้วยังอาจกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดจินตนาการถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพเหล่านั้นเพียงแค่คิดว่าหากตัวละครในภาพเคลื่อนไหวได้จะเป็นอย่างไร เหตุการณ์นั้นจะมีบรรยากาศเช่นไรก็น่าสนุกไม่ใช่น้อย
ปัจจุบันนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่สามารถสร้างสรรค์นานาสรรพสิ่งได้กำลังถูกนำมาใช้เพื่อปลุกงานศิลปะจิตรกรรมในหอศิลป์ให้มีชีวิตชีวาใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่งผ่านการจัดนิทรรศการพิเศษบนโลกเสมือนจริงใน Smart Museum “นิทรรศการภาพวาด “จิตรกรรมมีชีวิต” ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมและแมชชีนเลิร์นนิ่ง” ทำให้ภาพวาดกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ช่วยให้ผู้ชมมีมุมมองต่องานศิลปะในมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ภาพที่ 1 นิทรรศการภาพวาด “จิตรกรรมมีชีวิต” ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรม
และแมชชีนเลิร์นนิ่ง ใน Smart Museum
นิทรรศการนี้เป็นการจัดแสดงผลงานจิตรกรรมบนเว็บไซต์ โดยนำงานจิตรกรรมจำนวน 36 ชิ้นจากทุกห้องจัดแสดงมาสร้างสรรค์ให้เคลื่อนไหวประกอบเสียงที่มีทั้งท่วงทำนองดนตรีขับกล่อมให้หลงใหล เสียงการสู้รบของสงครามที่ฮึกเหิม หรือแม้แต่เสียงขับกล่อมบทอาขยานการขับบทโขนละครที่สอดคล้องกับฉากในวรรณคดีบนผืนภาพจิตรกรรมนั้น ซึ่งช่วยให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ความรู้สึกร่วมไประหว่างการชมชิ้นงานศิลปะนั้นๆ
ภาพที่ 2 จิตรกรรมมีชีวิตของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์
ตัวอย่างงานจิตรกรรมที่น่าสนใจเป็นภาพจาก “โคลงภาพพระราชพงศาวดาร รูปที่ 12 แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ภาพยิงถูกกิ่งโพธิ์ในค่ายพระเจ้าหงสาวดี” ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเลือกสรรเรื่องในพระราชพงศาวดารให้ช่างฝีมือเขียนรูปและทำกรอบกระจกสำหรับรูปเหล่านั้น พร้อมกับโคลงบอกเรื่องพระราชพงศาวดารเขียนติดไว้ในทุกกรอบ โดยรูปที่ 12 เป็นเรื่องราวตอนที่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยายิ่งปืนใหญ่ไปถูกกิ่งโพธิ์ในค่ายของพระเจ้าหงสาวดี นำมาสร้างสรรค์ใหม่ให้มีชีวิต โดยการทำให้ช้างทรงและเหล่าทหารที่เป็นจุดเด่นของภาพให้ขยับเคลื่อนไหว และเพิ่มเอฟเฟ็กต์เติมไฟให้ลุกไหม้ที่กิ่งโพธิ์และกลุ่มควันลอยในอากาศ รวมถึงใส่เสียงประกอบเป็นเสียงโห่ร้องที่ฮึกเหิมของเหล่าทหารและเสียงดาบฟาดฟันในการสู้รบ ซึ่งงานจิตรกรรมชิ้นนี้ได้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับการชื่นชมงานจิตรกรรม อีกทั้งโคลงประกอบภาพยังช่วยเติมเสริมจินตนาการถึงเหตุการณ์ในสงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับหงสาวดีได้อย่างน่าสนใจและ ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกไปอีก ดั่งการบรรยายในโคลงตอนหนึ่งที่ว่า
๏ ศรเพลิงแผลงพลุ่งเปรี้ยง ปรึงยุทธ
ถอนถีบท้ายเรือทรุด ซัดเต้า
สูงส่งกระสุนสดุด สะเดาะกิ่ง โพธิ์แฮ
ฉินท์เฉียดคเชนทรเจ้า เจอดหล้าแล่งเตลง ฯ
พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตธำรงสวัสดิ์ ทรงพระนิพนธ์
จาก กรมศิลปากร. (2513). โคลงภาพพระราชพงศาวดาร. กรุงเทพฯ: พระจันทร์.
ภาพที่ 3 ภาพจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร รูปที่ 12 แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ภาพยิงถูกกิ่งโพธิ์ในค่ายพระเจ้าหงสาวดี จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์
แหล่งที่มาภาพ: http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/nationalgallery/zoom/floor-2/file-13.htm
ภาพที่ 4 ภาพจิตรกรรมจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร รูปที่ 12 แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
ภาพยิงถูกกิ่งโพธิ์ในค่ายพระเจ้าหงสาวดี ถูกทำให้มีชีวิตใน Smart Museum
นอกจากงานจิตรกรรมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์แล้ว ยังมีผลงานอีกส่วนที่รังสรรค์จากงานจิตรกรรมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป พีระศรี อนุสรณ์ จำนวน 4 ชิ้นที่เป็นผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีการใช้เทคนิคหลากหลายประกอบกันทำให้ชิ้นงานดูโดดเด่น และถูกนำมาเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีให้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ราวกับมีชีวิตเช่นเดียวกัน
ภาพที่ 5 จิตรกรรมร่วมสมัยแบบมีชีวิตจากของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป พีระศรี อนุสรณ์
หากใครสนใจอยากได้ประสบการณ์ใหม่ในการชื่นชมงานจิตรกรรมผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยเติมเต็มจินตนาการและสร้างสุนทรียะ สามารถเข้าชมได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านเว็บไซต์ https://smartmuseum-v2.finearts.go.th/
สำหรับคนที่อยากชื่นชมผลงานต้นฉบับก็สามารถไปเยี่ยมชมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการวันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา 9.00 - 16.00 น. ซึ่งสามารถเดินต่อจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในระยะทางเดินเท้า 500 เมตร