Museum Core
นิทรรศการความสัมพันธ์ชุมชนผ่านทะเลคอรัล เครือข่ายวัฒนธรรมและการค้ามหาสมุทรแปซิฟิก
Museum Core
07 มี.ค. 67 609
ประเทศออกสเตรเลีย

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

               ออสเตรเลียก่อนการมาถึงของคนขาวเป็นอย่างไร? เชื่อว่าน้อยคนที่ตอบคำถามนี้ได้ ชุดความรู้จากตะวันตกครอบงำความคิดให้เห็นว่าชนพื้นเมืองเคยอยู่อย่างป่าเถื่อนมานานนับศตวรรษ แต่ใครเลยจะรู้ว่า “ชนชาติแรก (First Nation People)” แห่งทวีปโอเชียเนียก็มีมรดกภูมิปัญญาอันน่าทึ่ง หนึ่งในนั้นคือความรู้เรื่องมหาสมุทรและการเดินเรือที่ไม่เป็นรองใคร เหล่าบรรพบุรุษเคยเดินทางข้ามเกาะแก่งอย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อการค้าหรือการขยายอาณาเขตก็ตาม การติดต่อข้ามพรมแดนนี้เองที่สร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวถูกเล่าไว้ผ่านนิทรรศการที่มีชื่อว่า ความสัมพันธ์ชุมชนผ่านทะเลคอรัล  หรือ “Connections Across The Coral Sea: A Story of Movement” ซึ่งมีความน่าสนใจไม่น้อย

               นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการชั่วคราวที่จัดขึ้นที่ “พิพิธภัณฑ์ควีนส์แลนด์ (Queensland Museum)” ใจกลางเมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย โดยได้รับความร่วมมือจากคณะนักโบราณคดี นักโบราณคดีใต้น้ำ และชุมชนพื้นเมืองต่างๆ ทั้งในรัฐควีนส์แลนด์ ช่องแคบทอร์เรส (Torres Strait) เกาะนิวกินี และโพลินีเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้บุพกาลผ่านเส้นทางการค้าโบราณที่เชื่อมโยงชนเผ่าต่างๆ เข้าด้วยกัน ในนิทรรศการมีการจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้รับความอนุเคราะห์จากแต่ละชุมชน รวมถึงหลักฐานที่ได้จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีแนวชายฝั่งทะเลคอรัลทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย

               ส่วนแรกของนิทรรศการจัดแสดงแผนที่ขนาดใหญ่เพื่ออธิบายถึงชุมชนชาวน้ำก่อนการมาถึงของคนขาว ชาวพื้นเมืองที่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเลคอรัลติดต่อกันด้วยการล่องเรือระหว่างเกาะตั้งแต่ตอนใต้ของเกาะนิวกินีไปยังหมู่เกาะทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์และช่องแคบทอร์เรส นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเครือข่ายทะเลคอรัลเชื่อมโยงชนเผ่ากว่า 100 ชุมชนเข้าด้วยกัน แต่ละเผ่าล้วนมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือข้ามสมุทร โดยตำนานที่โดดเด่นที่สุดเป็นเรื่องราวจากเผ่า “มีเรียม (Meriam)” ชนพื้นเมืองที่อาศัย ณ ช่องแคบทอร์เรส พวกเขาเล่าขานถึง “ตาไก (Tagai)” นักรบและชาวประมงผู้ยิ่งใหญ่ วันหนึ่งตาไกได้นำบริวารออกหาปลาและสัตว์น้ำ ทว่าวันนั้นทั้งวัน พวกเขาไม่อาจจับปลาได้แม้แต่ตัวเดียว ตาไกที่แบกความรับผิดชอบต่อหมู่ชนจึงกระโจนลงจากเรือเพื่อตามหาฝูงปลา เขาสั่งให้บริวารคอยอยู่บนเรืออย่าไปไหน อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผันผ่าน เหล่าบริวารก็ดื่มน้ำจืดที่นำมาจนหมด รวมถึงน้ำในกระบอกส่วนตัวของตาไก เมื่อตาไกกลับถึงเรือก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เขาจับบริวารทั้งหมดมัดรวมกันเป็น 2 กลุ่ม ก่อนโยนลงน้ำเพื่อเป็นการลงโทษ เหล่าบริวารที่ล้มตายได้กลายเป็นกลุ่มดาวลูกไก่และเข็มขัดนายพราน ขณะที่ร่างของตาไกกลายเป็นกลุ่มดาวกางเขนใต้ กลุ่มดาวนกกา และดาวสว่างในกลุ่มดาวคนครึ่งม้าในภายหลัง ดาราเหล่านี้เป็นกลุ่มดาวสำคัญทางซีกฟ้าใต้ที่ชาวประมงและนักเดินเรือโบราณใช้ในการหาทิศทางยามค่ำคืน เรื่องราวของตาไกจึงไม่เพียงแต่เป็นการสอนใจไม่ให้หยิบฉวยของๆ ผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังบ่งบอกถึงความผูกพันของบรรพชนและการเดินเรือในอดีตกาล

               ถัดมาเป็นโซนจัดแสดงเรือแคนูของจริงที่บรรพบุรุษชนชาติแรกใช้ในการเดินทางข้ามผืนน้ำ เรือเหล่านี้มีชื่อเรียกแตกต่างในแต่ละชุมชน ชาวมีเรียมเรียกเรือแคนูว่า “นาร์ (Nar)” และชาวปาปัวบางส่วนเรียกว่า “กุล (Gul)” แม้มีชื่อเรียกที่หลากหลายแต่เรือเหล่านี้ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เรือส่วนมากสร้างจากวัสดุหาง่ายในท้องถิ่น โดยขึ้นโครงจากไม้ไผ่หรือโกงกางที่มีน้ำหนักเบา และใช้ใบเตยทะเลฉีกเส้นสานขึ้นเป็นใบเรือ เรือแคนูอาจดูไม่แข็งแรงหากเทียบกับเรือเดินสมุทรทันสมัย แต่ชนเผ่าต่างๆ ก็ใช้เรือเพื่อหาปลา ค้าขาย และทำสงครามมายาวนานนับพันปี ในนิทรรศการได้จัดแสดงทั้งเรือไม้ของจริงและแบบจำลอง รวมถึงไม้พายและหัวเรือแกะสลักจากหลากหลายชุมชน โดยมีไฮไลต์คือ “โดไก (Dogai)” หัวเรือแกะสลักจากช่องแคบทอร์เรส ชนพื้นเมืองเชื่อว่าโดไกมีอำนาจในการนำพาเรือแคนูกลับสู่ชายฝั่งอย่างปลอดภัย โดไกจึงถูกสลักเป็นสัญลักษณ์มงคลต่างๆ บ้างก็ตกแต่งด้วยเปลือกหอยและขนนก คล้ายกับความเชื่อเรื่องแม่ย่านางผู้คุ้มครองยานพาหนะของไทย

 

ภาพที่ 1 เรือกรรเชียงจำลอง

 

               ถัดจากเรือและอุปกรณ์จำเป็นต่างๆ สัมภาระอีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือภาชนะใส่น้ำจืด นักเดินเรือโบราณมักใช้ภาชนะ 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ กระบอกไม้ไผ่และผลมะพร้าวแก่เจาะรู ชาวมีเรียมเรียกสิ่งนี้ว่า “บาซอร์ (Basor)” บาซอร์ที่ทำจากมะพร้าวถูกผูกติดไว้ข้างเรือเพื่อแช่น้ำทะเลอยู่เสมอ ในสมัยที่ไม่มีตู้เย็นการแช่น้ำทะเล
จึงเป็นการเก็บรักษาความเย็นของน้ำให้นักเดินทางได้ดับกระหายระหว่างวัน นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย

               ในส่วนของโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้น นักโบราณคดีค้นพบหลักฐานต่างๆ ที่ยืนยันทฤษฎีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างเผ่า โดยมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญคือชิ้นส่วนภาชนะดินเผารูปแบบ “ลาปิตา (Lapita)” ที่พบในแหล่งโบราณคดีหลายแห่งตามแนวชายฝั่งทะเลคอรัล ตั้งแต่ปาปัวนิวกินีไปจนถึงช่องแคบทอร์เรส กินพื้นที่กว่า 4,500 กิโลเมตร ภาชนะลาปิตามีลักษณะที่โดดเด่นคือลวดลายเรขาคณิต สันนิษฐานว่าภาชนะประเภทนี้ถูกทำขึ้นครั้งแรกในปาปัวนิวกินีราว 3,300 ปีมาแล้ว การค้นพบชิ้นส่วนภาชนะลาปิตาแสดงให้เห็นว่าชนพื้นเมืองได้นำเอาภาชนะติดตัวระหว่างการเดินทางเพื่อการค้า ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังเผยแพร่ความรู้ในการทำภาชนะรูปแบบ
ดังกล่าวให้กับชนเผ่าเพื่อนบ้าน ทำให้การใช้ลาปิตาแพร่หลายในชุมชนต่างๆ ที่ตั้งถิ่นฐานใกล้ชายฝั่งทะเล

                นอกจากภาชนะลาปิตา นักโบราณคดียังพบโบราณวัตถุอีกมากมายที่บ่งบอกถึงการค้าขายระหว่างชุมชน ได้แก่ อาวุธด้ามจับประดับมุก พบในแหล่งโบราณคดีชายฝั่งควีนส์แลนด์และช่องแคบทอร์เรส ขวานหินขัด
ที่ใช้ในการตัดไม้ประกอบเรือ พบทั้งในรัฐควีนส์แลนด์ ช่องแคบทอร์เรส และเกาะนิวกินี กล้องยาสูบกระบอกไม้ไผ่ พบในชุมชนพื้นเมืองในออสเตรเลียและเกาะนิวกินีหลังวัฒนธรรมการสูบยาเส้นถูกเผยแพร่ในหมู่ชนชาติแรกราวค.ศ. 1700 และกลองพื้นเมืองที่ใช้ในพิธีกรรม กลองเหล่านี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามแต่ละชุมชน ใน “ภาษากาเลา ลาเกา ยา (Kalaw Lagaw Ya)” เรียกว่า “บูรูบูรู (Buruburu)” ใน “ภาษากิไว (Kiwai)” เรียกว่า “วารูปา (Warupa)” และในภาษามีเรียมเรียกว่า “วารูป (Warup)” กลองเหล่านี้มักหุ้มหน้ากลองด้วยหนังงู กิ้งก่า และวอลลาบี (Wallaby) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีกระเป๋าหน้าท้อง กลองศักดิ์สิทธิ์ถูกใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ปาปัวนิวกินีไปจนถึงช่องแคบทอร์เรส และยังคงใช้บรรเลงเพลงในพิธีกรรมมาจนถึงปัจจุบัน

 

ภาพที่ 2 กลองที่ใช้ในพิธีกรรม

 

               นอกจากข้าวของที่ใช้ในชีวิตประจำวันและพิธีกรรมแล้ว เครือข่ายการค้าทะเลคอรัลยังมีการซื้อขาย
แลกเปลี่ยนเครื่องประดับต่างๆ ที่มักทำจากเปลือกหอย ไม่ว่าจะเป็นหอยมือเสือ หอยเต้าปูน หอยนมสาว ฯลฯ เปลือกหอยเหล่านี้ถูกนำมาร้อยเป็นสร้อยข้อมือ สร้อยคอ เข็มขัด และรัดเกล้า อย่างไรก็ตาม เครื่องประดับที่นิยมในบางชุมชนอาจถูกมองว่าไม่เหมาะสมในชุมชนข้างเคียง ตัวอย่างเช่น เครื่องประดับที่ทำจากเขี้ยวสุนัข ชาวพื้นเมืองในเกาะนิวกินีและช่องแคบทอร์เรสนิยมสวมใส่สร้อยคอเขี้ยวสุนัขแทนเครื่องราง เขี้ยวสุนัขถูกใช้ในพิธีกรรมและยังเป็นสินสอดที่เจ้าบ่าวมอบให้ครอบครัวเจ้าสาวในพิธีแต่งงาน ทว่า ชนชาติแรกแห่งรัฐควีนส์แลนด์กลับไม่นิยมสวมใส่ ไม่ใช่เพราะไม่มีสุนัขในชุมชน แต่ผู้คนมองว่าเขี้ยวสุนัขเป็นสิ่งไม่เหมาะสมในการนำมาประดับร่าง แสดงให้เห็นถึงการเลือกรับวัฒนธรรมต่างถิ่นของบรรพชนที่เลือกรับเฉพาะสิ่งที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในชุมชนเท่านั้น

 

ภาพที่ 3 เครื่องประดับจากเขี้ยวสุนัข

 

               สุดท้ายนี้ นิทรรศการความสัมพันธ์ชุมชนผ่านทะเลคอรัลได้ทิ้งท้ายด้วยวิดีทัศน์สารคดีการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่ “เกาะลิซาร์ด (Lizard Island)” จุดยุทธศาสตร์แห่งทะเลคอรัล เกาะนี้มีชื่อในภาษาพื้นเมืองว่า “จีกูร์รู (Jiigurru)” ในอดีตเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของ “ชนเผ่าดิงกาล (Dingaal)” ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทั้งพิธีเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นผู้ใหญ่ของเด็กหนุ่มและการประชุมของเหล่าผู้อาวุโส การขุดค้นทางโบราณคดีได้รับการสนับสนุนจากลูกหลานเผ่าดิงกาลที่ต้องการเผยแพร่เรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษให้ชาวโลกได้รับทราบ การสำรวจครั้งนั้นนำมาสู่นิทรรศการที่ได้รับชมกัน จึงถือเป็นการร่วมมือระหว่างชนชาติแรกและภาครัฐที่น่าชื่นชม ถึงแม้ว่านิทรรศการชั่วคราวจะจบลงไปแล้ว แต่การสำรวจยังคงดำเนินต่อไปเพื่อศึกษาเครือข่ายวัฒนธรรมและการค้าที่ยิ่งใหญ่ของชุมชนบุพกาลแห่งผืนน้ำแปซิฟิก

 

แหล่งที่มาข้อมูล

Queensland Museum. Connections across the Coral Sea: A Story of Movement. Brisbane:

Queensland Museum Publications, 2021.

Queensland Museum. Connections across the Coral Sea. (2023). [Online]. Accessed

2023 July 19. Available from: https://www.museum.qld.gov.au/queensland-museum/whats-on/connections-across-the-coral-sea

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ