Museum Core
เอลิซาเบธ ฟราย นางฟ้าของผู้ต้องขัง
Museum Core
20 พ.ค. 67 834

ผู้เขียน : พีริยา จำนงประสาทพร

               “คนชั่วต้องได้รับผลกรรม ผู้กระทำผิดต้องได้รับบทลงโทษ” ตั้งแต่สมัยโบราณผู้คนชาติต่าง ๆ ล้วนมีวิธีการจัดการกับอาชญากรผู้ละเมิดกฎหมายบ้านเมืองแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นโทษประหารชีวิต ทรมานร่างกาย ปรับเงิน หรือการแก้ปัญหาอย่างรอบด้านที่สุดอย่างหนึ่ง คือ จำคุก เพราะนอกจากได้ลงโทษจำกัดอิสรภาพโดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อประชากรแล้ว ยังสร้างความปลอดภัยมิให้คนร้ายเพ่นพ่านออกมาระรานผู้อื่นได้อีกจนกว่าจะหลาบจำ ปรับปรุงตัวกลายเป็นสุจริตชน

            แต่การลงโทษผู้ต้องขังในเรือนจำควรมีขอบเขตแค่ไหน คนเมื่อถูกจำกัดอิสรภาพแล้ว สมควรถูกละเมิดในทางอื่น ๆ เป็นต้นว่าถูกผู้คุมทุบตี หรือถูกคนร้ายคนอื่นในคุกข่มขืนหรือไม่ แล้วสภาพในคุกจะสามารถช่วยให้พวกเขาปรับปรุงตัวได้จริง ๆ หรือว่ายิ่งซ้ำเติมให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะมิจฉาชีพกันเองเป็นเวลาหลายปีจนไม่อยากกลับตัว ดังที่บางคนเรียกเสียดสีคุกว่าเป็น “โรงเรียนโจร”

            คำถามเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่วนเวียนอยู่ในใจของเอลิซาเบธ ฟราย (Elizabeth Fry) ในปี ค.ศ. 1813 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2) เมื่อเธอไปเยี่ยมชมเรือนจำนิวเกต (Newgate Prison) ในกรุงลอนดอน

            ฟรายเป็นลูกสาวของนายธนาคารผู้มีฐานะ ครอบครัวของเธอเป็นสมาชิกนิกายเควกเกอร์ (Quaker) ซึ่งเป็นนิกายย่อยของศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ที่เน้นเรื่องการตอบรับ “เสียงเรียกร้องบัญชาภายใน” จากพระเจ้าที่มีอยู่ในมนุษย์แต่ละคน และสนับสนุนกิจกรรมเพื่อความยุติธรรมในสังคม ตั้งแต่ฟรายอายุ 18 ปี เธอได้ฟังเทศน์ที่โบสถ์เควกเกอร์ในเมืองนอริช (Norwich) บ้านเกิดทางภาคตะวันออกของประเทศอังกฤษ และประทับใจคำสอนให้ช่วยเหลือผู้ยากไร้อย่างลึกซึ้ง เธอจึงรีบกลับบ้านมานำเสื้อผ้าและสิ่งของต่าง ๆ ออกไปเยี่ยมผู้ป่วยยากไร้ในชุมชน รวมถึงเปิดบ้านพักตากอากาศฤดูร้อนของครอบครัวให้เป็นโรงเรียนสอนเด็กยากไร้

ภาพที่ 1: เอลิซาเบธ ฟราย

แหล่งที่มาภาพ: National Portrait Gallery, London. “Elizabeth Fry, by Charles Robert Leslie.” Jeni Kirby History, 1859, https://jenikirbyhistory.getarchive.net/media/elizabeth-fry-by-charles-robert-leslie-8d3abc.

 

               แต่สภาพของเรือนจำนิวเกตที่ฟรายได้ไปเยี่ยมชมนั้นย่ำแย่กว่าทุกอย่างที่เธอเคยเห็นมา ผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเด็กที่ถูกจับมาพร้อมกับมารดาเพราะไม่มีผู้อื่นคอยดูแล บ้างก็ยังไม่ได้รับการตัดสินว่าผิดจริงหรือไม่ เพียงแต่ให้ขังรอเข้ารับการพิจารณาจากศาล ทุกคนนอนกันบนกองฟางหลังลูกกรง ต้องทำอาหาร ขับถ่าย และซักผ้าเองในนั้น มิหนำซ้ำ บางห้องขังไม่ได้แยกเพศหญิงชาย แค่จับขังไปตามลำดับและพื้นที่ที่มีเท่านั้น อีกทั้ง
ผู้คุมนักโทษก็ล้วนแต่เป็นผู้ชายทั้งสิ้น

               ฟรายเกิดความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังให้ดีขึ้น หลังจากครอบครัวของเธอกับสามีประสบปัญหาทางการเงินครั้งใหญ่จากวิกฤตเศรษฐกิจและสงครามระหว่างอังกฤษกับอเมริกา ฟรายกลับมาที่เรือนจำนิวเกตอีกครั้งในปี ค.ศ. 1816 นอกจากรวบรวมสิ่งของต่าง ๆ มาบริจาคให้เรือนจำแล้ว ฟรายจัดตั้งสมาคมเพื่อปฏิรูปเรือนจำสำหรับนักโทษสตรี (Association for the Reformation of the Female Prisoners) เสนอแนะกฎระเบียบใหม่ในเรือนจำและให้ผู้ต้องขังโหวตลงคะแนนกัน แทนการบังคับใช้กฎไปโดยไม่สนใจเสียงของผู้อยู่อาศัยจริง เธอหาเงินทุนมาเปิดโรงเรียนสอนเด็กในคุกให้ได้เรียนหนังสือ ปรับปรุงมาตรฐานเรือที่ใช้ขนส่งนักโทษไปยังอาณานิคมออสเตรเลีย และจัดหาอุปกรณ์เพื่อสอนทักษะหัตถกรรมแก่นักโทษสตรี เช่น งานเย็บซ่อมแซมเสื้อผ้า ประกอบเศษผ้า ถักนิตติ้ง เพื่อเป็นพื้นฐานการหาเลี้ยงชีพต่อไปหลังจากพ้นโทษแล้ว

               ฟรายไม่เชื่อในการทรมาน ประจาน หรือประหารผู้กระทำผิด ทว่าเชื่อในการให้โอกาสฟื้นฟูพวกเขากลับคืนสู่สังคมด้วยเมตตาธรรม เธอเขียนหนังสือบรรยายประสบการณ์ที่เธอลองไปนอนค้างในเรือนจำ และรณรงค์การปฏิรูปเรือนจำร่วมกับน้องชายของเธอ คือ โจเซฟ จอห์น เกอร์นี (Joseph John Gurney) สร้างกระแสความสนใจในสังคมยุโรปได้อย่างมากในยุคที่ผู้คนคุ้นชินกับแนวคิดการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง

 

ภาพที่ 2: เรือนจำนิวเกต ใช้เป็นที่คุมขังนักโทษระหว่างปีค.ศ. 1188-1902 ปัจจุบันถูกทุบทำลายแล้ว

แหล่งที่มาภาพ: Shepherd, George. “West View of Newgate.” Wikipedia, Public Domain, 4 Apr. 2006, https://en.wikipedia.org/wiki/Newgate_Prison#/media/File:Newgate_West_View_of_Newgate_by_George_Shepherd_1784-1862_edited.jpg.

 

               หน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ในกรุงลอนดอนเริ่มให้ความร่วมมือกับฟรายเมื่อประจักษ์ถึงเหตุผล หลักการ และความทุ่มเทของเธอ สภาสามัญชน (House of Commons) ที่ประชุม ณ พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจมาตรฐานความเป็นอยู่ในเรือนจำต่าง ๆ ในกรุงลอนดอน และเชิญฟรายไปพบเพื่อตรวจสอบหลักฐานในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1818 นับเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเชิญจากสภาอังกฤษ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Queen Victoria) ก็โปรดให้ฟรายเข้าเฝ้าหลายครั้งและพระราชทานเงินสนับสนุน เช่นเดียวกับพระเจ้า
ฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 4 แห่งปรัสเซีย (Frederick William IV of Prussia) ผู้เสด็จมายังเรือนจำนิวเกตเพื่อโปรดให้ฟรายเข้าเฝ้าพระองค์เช่นกัน

              จนกระทั่งในที่สุด กฎหมายปฏิรูปเรือนจำ (Gaols Act 1823) ก็ผ่านออกมาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โรเบิร์ต พีล (Robert Peel) กำหนดมาตรฐานความเป็นอยู่ในเรือนจำให้ดีขึ้น แยกผู้ต้องขังหญิงชายออกจากกันเป็นสัดส่วน จัดให้มีผู้คุมที่เป็นผู้หญิง ให้รัฐออกเงินเดือนแก่ผู้คุมแทนการขูดรีดจากครอบครัวผู้ต้องขัง รวมถึงยกเลิกการตีตรวนล่ามโซ่ หรือจับผู้ต้องขังใส่กรงแห่ประจานรอบเมืองให้ชาวบ้านขว้างปาด่าทอ เพื่อเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และส่งเสริมการกลับตัวกลับใจ ตามด้วยกฎหมายอื่นอีกจำนวนมากในช่วงปีหลังจากนั้น เช่น กฎหมายตัดสินโทษประหารชีวิต (Judgement of Death Act 1823) ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับอาชญากรรมที่ไม่ร้ายแรง 130 ชนิด กฎหมายตรวจสอบเรือนจำ (Prisons Act 1835) กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่คอยเข้าตรวจสอบพฤติกรรมของผู้คุมนักโทษอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันการข่มเหงหรือใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ เป็นต้น กฎหมายเหล่านี้ส่งอิทธิพลต่อประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและรัสเซีย และได้กลายเป็นรากฐานแนวคิดการปฏิบัติต่อ
ผู้ต้องขังที่ใช้ในปัจจุบัน

 

ภาพที่ 3: รูปเอลิซาเบธ ฟราย อ่านหนังสือและสอนเย็บผ้าแก่ผู้ต้องขัง บนธนบัตรอังกฤษ

แหล่งที่มาภาพ: Bank of England. “Historical Women on Banknotes.” Bank of England Museum, 17 Feb. 2023, https://www.bankofengland.co.uk/museum/noteworthy-women/historical-women-on-banknotes.

 

              ฟรายมีชีวิตยืนยาวถึง 65 ปี นอกจากงานอบรมเลี้ยงดูลูกถึง 11 คน และการมีส่วนร่วมให้เกิดกฎหมายปฏิรูปเรือนจำ จนได้ฉายาว่า “นางฟ้าของผู้ต้องขัง (Angel of Prisons)” อันเป็นความสำเร็จที่ทำให้โลกรู้จักเธอมากที่สุดแล้ว ฟรายยังพยายามช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากในด้านอื่นอีกด้วย เธอจัดตั้งที่พักสำหรับคนไร้บ้าน หลังจากบังเอิญเห็นร่างไร้วิญญาณของเด็กชายคนหนึ่งที่หนาวตาย เปิดโรงเรียนพยาบาล ณ โรงพยาบาลกาย (Guy's Hospital) ซึ่งฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) “สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป” ได้ใช้ทีมพยาบาลของที่นี่ระหว่างสงครามไครเมีย และเป็นแรงบันดาลใจให้ต่อมาเกิดการก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลในเมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ฟรายยังช่วยรณรงค์การเลิกทาสในอาณานิคมเนเธอร์แลนด์และเดนมาร์กร่วมกับน้องเขยของเธอ โธมัส โฟเวลล์ บักซ์ตัน (Thomas Fowell Buxton) ผู้ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาเมืองเวย์มัธ (Weymouth)

              สำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่เติบโตมาอย่างสุขสงบแบบสุภาพสตรี ในยุคที่เธอไม่มีสิทธิ์ถือครองทรัพย์สินหรือเลือกตั้ง ไม่รู้กฎหมายและไม่มีการศึกษาสูง เพียงเป็นมารดาและภรรยาก็พอแล้ว แต่กลับเลือกออกไปช่วยเหลือผู้คนมากมายที่ดูห่างไกลจากชีวิตของเธอเสียเหลือเกินอย่างนักโทษในเรือนจำ เอลิซาเบธ ฟราย เป็นหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า “ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ก็มีสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อช่วยให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น” น้ำใจเมตตาและความอ่อนไหวของฟรายต่อเพื่อนมนุษย์ค่อย ๆ ก่อแรงกระเพื่อม บันดาลใจคนในชุมชนของเธอ ประเทศของเธอ และขยายกว้างออกไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เรือนจำและสังคมของเราหลุดจากวงจรการแก้แค้นแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน มาเป็นสถานที่ที่พัฒนาและให้โอกาสคนกลับตัวเป็นคนใหม่ได้อย่างทุกวันนี้

 

แหล่งข้อมูล

Bank of England. “Historical Women on Banknotes.” Bank of England Museum, 17 Feb. 2023, https://www.bankofengland.co.uk/museum/noteworthy-women/historical-women-on-banknotes.

 

Gurney, Joseph John. Notes on a Visit Made to Some of the Prisons in Scotland and the North of England, in Company With Elizabeth Fry, With Some General Observations on the Subject of Prison Discipline. Forgotten Books, 1878.

 

Johnson, Spencer and Steve Pileggi. The Value of Kindness: The Story of Elizabeth Fry. 2nd ed. Value Communications, 1977.

 

“Methods of punishment – WJEC The need for prison reform.” BBC Bitesize, 2024, https://www.bbc.co.uk/bitesize/guides/z938v9q/revision/5.

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ