Museum Core
จุดเปลี่ยนของ “ชาตินิยม” จากฝ่ายซ้ายไปฝ่ายขวา
Museum Core
23 พ.ค. 67 2K

ผู้เขียน : ด.ช.ณัฐปกรณ์ มานะเสถียรกิจ

               ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน แนวคิดชาตินิยมเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในสังคมอย่างแพร่หลาย ผู้คนส่วนหนึ่งมองว่าแนวคิดชาตินิยมนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม (หรือฝ่าย “ขวา” บนสเปกตรัมการเมือง) เนื่องด้วยมีลักษณะแนวคิดเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมในท้องถิ่น กีดกันอิทธิพลจากต่างชาติและพยายามธำรงไว้ซึ่งสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาติไว้ในรูปแบบคงเดิม หากแต่เมื่อศึกษาถึงต้นกำเนิดที่แท้จริงของแนวคิดนี้กลับพบสิ่งที่น่าประหลาดใจว่า “แนวคิดชาตินิยม” แท้จริงแล้วริเริ่มจากอิทธิพลของฝั่งเสรีนิยม (หรือฝั่ง “ซ้าย”) นับเป็นเรื่องที่น่าศึกษาค้นคว้าว่าเหตุใดแนวคิดดังกล่าวจึงสามารถ “ย้ายค่าย” จากซ้ายไปขวาได้เช่นนี้

               แนวคิดชาตินิยมเริ่มปรากฎขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยมีผลสืบเนื่องโดยตรงมาจากเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1789 ประชาชนชาวฝรั่งเศสสามารถโค่นล้มพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ลงได้สำเร็จ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้น ประชาชนที่สนับสนุนการปฏิวัติของฝรั่งเศสสามารถแยกได้ตามคุณลักษณะที่แตกต่างกันเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มกระฎุมพี (Bourgiosie) ผู้มีอันจะกินและมีการศึกษา เป็นนักคิดนักเขียน ซึ่งสนับสนุนการปฏิวัติเพราะต้องการสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมในระบอบการปกครองและความอิสระในการค้าขายทำธุรกิจ และกลุ่มไพร่ฟ้าประชาชน หรือกลุ่มซ็อง-คูโลตซ์ (Sans-culottes) ประกอบไปด้วยไพร่ ประชาชนทั่วไปที่สนับสนุนการปฏิวัติเพียงเพราะต้องการอาหารเลี้ยงปากท้อง และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

ภาพที่ 1: Sans-culottes หรือประชาชนทั่วไป ในการปฏิวัติฝรั่งเศส

แหล่งที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/4/43/Sans-culotte.jpg/220px-Sans-culotte.jpg

 

 

               เหล่ากระฎุมพีที่มีการศึกษาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ พวกเขาได้ออกกฎหมายสำคัญต่างๆ ซึ่งเต็มไปด้วยแนวคิดฝั่งเสรีนิยม (ฝ่ายซ้าย) ในนามของ“ชาติ” ด้วยยึดโยงตรรกะที่ว่า พวกเขา (กระฎุมพี) ถือเป็นตัวแทนที่แท้จริงของชาติเพราะมีส่วนร่วมในการผลิตและแบ่งปันทรัพย์สิน (การเสียภาษี) ให้แก่รัฐ จึงมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการเป็นตัวแทนของ “ชาติ” ทว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป เหล่าผู้นำชั้นกระฎุมพีเริ่มใช้ความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนของ “ชาติ” สั่งประหัตประหารชีวิตผู้คนในนาม “ศัตรูแห่งเสรีภาพ” เป็นจำนวนมาก อีกทั้งเศรษฐกิจ และปากท้องของคนธรรมดาก็ไม่ได้ดีขึ้นตามที่คาดหวัง ความแตกแยกเริ่มก่อตัวขึ้นในกลุ่มกระฎุมพีด้วยกันเอง เริ่มมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกและกระทำการรัฐประหารกันเองไปมาโดยแอบอ้างว่าเป็นการทำ “เพื่อชาติ”  ในนามของประชาชน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนี้นับได้ว่าแนวคิดเรื่องชาตินิยมนี้เริ่มปรากฎและถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่ายซ้าย (เสรีนิยม)ในการดำเนินนโยบายทางการเมือง

 

ภาพที่ 2: เหตุการณ์ปฏิวัติเดือนมีนาคม ปีค.ศ. 1848 ในเยอรมนี
สังเกตธงสามสีที่เป็นสัญลักษณ์ของประชาชาตินิยม ภายหลังเป็นธงชาติเยอรมนีปัจจุบัน

แหล่งที่มาภาพ: https://www.dhm.de/fileadmin/medien/lemo/gr202190.jpg

 

               ยุโรปกลับมาสงบลงอีกครั้งภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars) ในปีค.ศ. 1815 ด้วยชัยชนะของจักรพรรดิและกษัตริย์จากราชวงศ์ต่างๆ เกือบทั่วทั้งภูมิภาค แม้ประชาชนพ่ายแพ้ต่ออำนาจปืนและกำลังทหาร แต่แนวคิดเกี่ยวกับความหมายของ “ชาติ” (ที่มาของอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ) อันควรหมายถึงประชาชนผู้มอบทรัพยากรให้รัฐก็ได้แผ่กระจายไปทั่วยุโรปอย่างไม่หยุดยั้ง กระตุ้นให้ประชาชนเริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างและเปรียบเทียบการอยู่ใต้อำนาจผู้ปกครองที่มีพื้นฐานทางภาษา วัฒนธรรมและเชื้อชาติแตกต่างหรือคล้ายกัน ซึ่งข้อสังเกตนี้ลุกลามบานปลายจนนำไปสู่เหตุการณ์ความวุ่นวายระดับภูมิภาคที่มีชื่อว่า “การปฏิวัติค.ศ. 1848”

               ความผูกพันอย่างแนบแน่นของแนวคิดชาตินิยมและเสรีนิยมสามารถแสดงออกให้เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดในเหตุการณ์นี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่มีหลายรัฐย่อย ๆ อย่างเยอรมนีได้เรียกร้องให้รัฐของตนรวมกันเป็นรัฐเดียวโดยมีจักรพรรดิที่คอยถ่วงดุลอำนาจกับสภา เหล่าเยาวชนกระฎุมพีจากหลายรัฐได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสภาที่แฟรงก์เฟิร์ต และพยายามสถาปนาจักรวรรดิเยอรมันบนพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวกลับไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มอำนาจเก่าและล้มเหลวไปในที่สุด

               แม้การปฏิวัติปีค.ศ. 1848 ของประชาชนที่ใช้แนวคิด “ชาตินิยม” เป็นอุดมการณ์คู่กับ “เสรีภาพและความเท่าเทียม” จะล้มเหลวแต่ก่อให้เกิดประเด็นที่ควรค่าต่อการศึกษาต่อว่าทำไมการปฏิวัติของประชาชนผู้ประท้วงจึงถูกมองว่าก่อความวุ่นวายและเป็นการกระทำที่บ่งชี้ว่า “ไม่รักชาติ” ซึ่งข้อสงสัยถึงความย้อนแย้งนี้อาจแบ่งข้อสันนิษฐานออกได้เป็นสองข้อ ดังนี้

  • กลุ่มอำนาจเก่าไม่ได้ยึดโยงความเป็นชาติเข้ากับคนที่อาศัยอยู่ในรัฐ โดยมองว่าตนเป็นผู้มีอำนาจในฐานะผู้ปกครองรัฐ และประชาชนมิใช่ชาติ
  • ขณะที่ประชาชนผู้พยายามก่อการปฏิวัติ มองว่าตนทั้งหมดรวมกันจึงเป็นชาติและมีสิทธิ์ที่ได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยในการบริหารรัฐและสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้ตามที่ต้องการโดยมีเป้าหมายว่า “ตัวตน” ของชาติเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเจตจำนงร่วมกัน (General will) โครงสร้างหรือตัวตนของชาติไม่ใช่สิ่งตายตัว ตราบใดที่พวกเขามีสิทธิ เสรีภาพ และเคารพสิทธิเสรีภาพของเพื่อนร่วมชาติก็ยังมีความเป็น “ชาตินิยม” อยู่ โดยไม่ได้สนใจว่า ชาติหมายถึงอะไร และประกอบด้วยอะไรบ้าง

 

               เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้มีอำนาจเริ่มตระหนักว่า สถานะภาพการเป็นผู้ปกครองรัฐแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถรักษาอำนาจไว้ได้จึงได้เริ่มการสร้างตัวตนของ “ชาติ” ให้เป็นสิ่งตายตัวมีเพียงหนึ่งเดียวด้วยการกำหนดคำนิยามของคำว่า “รัฐชาติ” ในแบบที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน เมื่อถึงจุดนี้ก็พอเริ่มมองเห็นการย้ายค่ายของ “ชาตินิยม” ที่ค่อยๆ ถูกครอบงำมากขึ้นโดยฝ่ายขวาที่กำลังสร้างตัวตนของชาติให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายตน ประกอบกับการอ่อนกำลังลงของฝ่ายซ้ายที่เริ่มแตกแยกออกเป็น 2 ขั้วที่ขัดแย้งกันเองระหว่าง ขั้วกระฎุมพี (Liberal Bourgiosie) ที่สนับสนุนประชาธิปไตย ทุนนิยม และตลาดเสรี ประกอบไปด้วยชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลางบางส่วนที่มีท่าทีโอนเอนไปทางฝ่ายอนุรักษ์นิยมมากขึ้น เพราะเริ่มกลัวความวุ่นวายที่มาจากการปฏิวัติ และต้องการกำลังทหารของฝ่ายขวาเพื่อรักษาความมั่งคั่งมั่นคงของฝ่ายตน และ ขั้วสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ (Socialist, Communist) ที่สนับสนุนประชาธิปไตยผสมกับเผด็จการแบบคอมมิวนิสต์ โดยมีความประสงค์ให้รัฐเข้าควบคุมการตลาด สนับสนุนสิทธิแรงงานต่างๆ บางกลุ่มก็สนับสนุนเผด็จการแบบคอมมิวนิสต์ตามแนวคิดมาร์กซิสม์ (Marxism) ของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx) และได้ละทิ้งแนวคิดของชาติเพื่อสนับสนุนแนวคิดสังคมคอมมิวนิสต์แบบไร้พรมแดน  

               “ตัวตน” ของชาติที่ขั้วอนุรักษ์นิยมสร้างขึ้นมาใหม่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นฐานทางการเมืองเดิมของดินแดนนั้นๆ เช่น กษัตริย์และความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิบริติช จักรวรรดิเยอรมัน เป็นต้น โดยมีลักษณะร่วมคล้ายกัน เช่น มีความตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และมีเพียงรูปแบบเดียว โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมมักอ้างความชอบธรรมในการกำหนดว่ามีเพียงฝ่ายตนเท่านั้นที่เป็นผู้สนับสนุน “ชาติ” และนำพาชาติไปยังทิศทางที่ “ถูกต้อง” เพียงหนึ่งเดียว

 

ภาพที่ 3: การ์ดโฆษณาชวนเชื่อของสหราชอาณาจักรบริเตณใหญ่

คำขวัญด้านล่างเขียนว่า “กษัตริย์หนึ่งเดียว ธงหนึ่งเดียว กองเรือหนึ่งเดียว จักรวรรดิหนึ่งเดียว”

แหล่งที่มาภาพ: https://imagedelivery.net/znDGKaxxskgDbNUpqPVRFg/ph-collection-media/images/704202.jpg/w=2560,q=75,metadata=keep

 

               ด้วยเหตุนี้จึงสามารถสรุปวงจรอันน่าพิศวงของ “ชาตินิยม” ที่ย้ายจากซ้ายไปขวาได้ด้วยการใช้กระบวนการสร้างตัวตนหนึ่งขึ้นมาทดแทนคำว่าชาติประสมกับคำจำกัดความเดิมของฝ่ายซ้าย(เจตจำนงร่วมของประชาชนโดยตรง) อีกทั้งยังป้อนแนวคิดลงไปในตัวตนดังกล่าว อาทิ กษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจในการปกครองเพราะพระผู้เป็นเจ้าให้สิทธิ์ หรือเพราะมีบุญบารมี แทนที่ด้วย “กษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจในการปกครองเพราะเจตจำนงร่วมของประชาชนที่ยอมรับให้ดำรงเป็นประมุขแห่งรัฐ” เป็นต้น ดังเห็นได้ว่าถึงแม้ทั้งสองขั้วจะเห็นตรงกันว่าพื้นฐานสำคัญของชาติคือประชาชน ทว่า ความยึดติดในตัวตนที่เป็นตัวแทน “ชาติ” นี้เองที่ทำให้ “ชาตินิยม” ยังคงเป็นแนวคิดที่มีการถกเถียงต่อไปอย่างไม่จบสิ้น

 

แหล่งค้นคว้าอ้างอิง:

Hobsbawm, Eric. The Age of Revolution 1789-1848. New York: Vintage Books, 1996

Hobsbawm, Eric. The Age of Capital 1848-1875. London: Abacus, 1997

Rousseau, Jean-Jacques. The Social Contract. London: Penguin Books, 2004

Kramer, Lloyd S. Nationalism in Europe and America. USA: University of North Carolina Press, 2011. [Online]. Accessed 2024 May 2. Available from: https://flexpub.com/preview/nationalism-in-europe-and-america

ซีแยส, เอ็มมานูแอล โจเซฟ. (2564). ฐานันดรที่สามคืออะไร?. ภัควดี วีระภาสพงษ์ แปล. กรุงเทพฯ:   สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป.

มาร์กซ์, คาร์ล. เองเกลส์, เฟรเดอริค. (2517). แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์. ปักกิ่ง: โลกทรรศน์.

ปิยบุตร แสงกนกกุล. (2565). ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ: มติชน.

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ