Museum Core
คำขอสุดท้ายจากฐานบัญชาการใต้ดินโอกินาวา
Museum Core
28 พ.ค. 67 994
ประเทศญี่ปุ่น

ผู้เขียน : สุวดี นาสวัสดิ์

               หาดทรายสีขาว ท้องฟ้าสีคราม น้ำทะเลสีมรกต คือนิยามที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนโอกินาวา เกาะสวรรค์ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นฮาวายแห่งท้องทะเลญี่ปุ่น หากย้อนเวลากลับไปเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ท้องฟ้าสีครามนี้ถูกปกคลุมด้วยเงาทะมึนของเครื่องบินรบเต็มน่านฟ้า ผืนทะเลสีมรกตเต็มไปด้วยเรือรบนับร้อยลำที่ดาหน้าเข้ามา
สร้างฝันร้ายให้คนท้องถิ่น ชายหาดและผืนแผ่นดินถูกฉาบทาด้วยคราบเลือดและน้ำตาเนืองนองไปทั่วทั้งเกาะ โอกินาวาเป็นสมรภูมิสำคัญแห่งสุดท้าย ก่อนญี่ปุ่นประกาศยกธงขาวในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1945

               เมื่อเอ่ยถึง “สงคราม” ไม่ว่าครั้งใดย่อมฝากรอยแผลไว้ที่กายใจของผู้เกี่ยวข้องโดยเสมอหน้า ไม่ว่าฝ่าย
ผู้ก่อหวอดหรือผู้ติดร่างแห ฝ่ายผู้ปราชัยหรือผู้ประกาศชัย แม้สงครามสิ้นสุดไปนานแล้วก็ยังทิ้งร่องรอยแผลเป็นไว้เตือนใจ ดังเช่น กองบัญชาการใต้ดินของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น (The Former Japanese Navy Underground Headquarters) อนุสรณ์จากสงครามโลกครั้งที่ 2 กองบัญชาการนี้มีลักษณะพิเศษตรงที่เป็นหลุมหลบภัยหรืออุโมงค์ใต้ดิน ตั้งอยู่ด้านล่างของพิพิธภัณฑ์หลุมหลบภัยฐานบัญชาการกองทัพเรือญี่ปุ่น ซึ่งจัดแสดงภาพถ่าย อาวุธ เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ และเรื่องราวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่ญี่ปุ่นประกาศสู้จนวินาทีสุดท้าย และมีสมรภูมิสำคัญอยู่ที่เกาะสวรรค์แห่งนี้ ภายในห้องพิพิธภัณฑ์ตกแต่งด้วยผนังสีหม่นทึบทึมและแสงไฟสลัวคล้าย
ย้ำเตือนถึงห้วงเวลาอันมืดมนอนธการ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้ระลึกถึงพิษภัยของสงครามซึ่งไม่มีใครเป็นผู้ชนะที่แท้จริงในสมรภูมิ

ภาพที่ 1  ทางเดินภายในฐานบัญชาการใต้ดินซึ่งจุทหารได้ถึง 4,000 นาย

 

               ไอความเย็นจากเครื่องปรับอากาศเทียบไม่ได้กับความเย็นเยียบที่ทวีขึ้นทุกขณะยามก้าวเท้าไปตามทางเดินลงไปฐานบัญชาการใต้ดินซึ่งเป็นทางแคบ คล้ายอุโมงค์ครึ่งวงกลมที่มีความกว้างขนาดเพียงสองคนพอเดินสวนกันได้ ในปีค.ศ.1944 ขณะที่สงครามขยายวงกว้างและดำเนินไปอย่างดุเดือด ฐานบัญชาการนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรับมือกับการโจมตีของกองทัพอเมริกา ทหารกว่า 3,000 นายถูกเกณฑ์มาขุดอุโมงค์โดยใช้พลั่วและจอบ ตามผนังอุโมงค์จึงเห็นร่องรอยการขุดเจาะเป็นร่องริ้วตลอดทาง

 

ภาพที่ 2 ผนังอุโมงค์มีร่องรอยของการใช้เครื่องมือขุดเจาะ

 

ภาพที่ 3 เครื่องมือที่ใช้ขุดเจาะอุโมงค์

 

               ด้วยสองมือและแรงกายของคนนับพัน เวลาผ่านไป 5 เดือนจึงเกิดโพรงที่มีความสูงขนาดเท่าตัวคน มีความยาวถึง 450 เมตร แต่บางช่วงมีเพดานต่ำจึงเปิดให้เข้าชมได้เพียง 300 เมตรเท่านั้น ภายในฐานบัญชาการยังแบ่งเป็นห้องแยกย่อยตามการใช้งาน เช่น ห้องผู้บัญชาการ ห้องประชุม ห้องพยาบาล ตามแนวทางเดินมีการประดับภาพวาดจำลองเหตุการณ์ในอดีตพร้อมคำบรรยายสั้น ๆ พอให้ได้จินตนาการถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น

               ผู้ชมถูกบังคับให้เดินไปตามเส้นทางแคบไปยังห้องต่าง ๆ ที่ผนังบางห้องยังมองเห็นร่องรอยสะเก็ดระเบิดที่ทหารใช้พรากลมหายใจตัวเองแล้วชวนให้รู้สึกหดหู่ แค่เข้าไปดูเพียงไม่นานยังรู้สึกอึดอัด หากอยู่เป็นเวลานานต้องอาศัยความอดทนและสภาพจิตใจที่เข้มแข็งมากเพียงใด เมื่อลองจินตนาการถึงทหารนับพันคนพักอยู่ตามทางเดินในอุโมงค์นี้ที่ทั้งแคบและเย็นชื้น แถมยังต้องคิดวางแผนรับมือกับฝ่ายตรงข้ามที่กระหน่ำโจมตีทุกทิศทางไม่เว้นแต่ละวัน มีบันทึกอธิบายไว้ว่าช่วงท้ายของสงครามทหารต้องยืนหลับ เพราะสภาพที่แออัดจนนั่งไม่ได้ ซ้ำยังไม่มีห้องน้ำ อากาศน้อยและขาดสุขลักษณะ ทำให้มีคนป่วยและตายจำนวนมาก ยิ่งมีผู้รอดชีวิตบอกเล่าว่าการได้ออกจากอุโมงค์แล้วสูดอากาศบริสุทธิ์ก็เหมือนได้ชีวิตกลับคืนมาอีกครั้ง ยิ่งชวนให้ตระหนักถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุข

 

ภาพที่ 4  ภาพทหารกำลังลำเลียงดินจากการขุดอุโมงค์

 

               อเมริกาโจมตีโอกินาวาด้วยเครื่องบินกว่า 1,000 ลำ เรือรบ 1,500 ลำ และกำลังพลกว่า 540,000 นาย ซึ่งมีจำนวนเท่า ๆ กันกับชาวโอกินาวาขณะนั้น ในเดือนเมษายน ค.ศ.1945 กองทัพเรือญี่ปุ่นส่งเรือประจัญบาน
ยามาโตะและเครื่องบินกามิกาเซ 2,000 ลำมายังเกาะโอกินาวา แต่เรือยักษ์ที่ทรงอานุภาพนี้ถูกจมในที่สุด ส่วนเครื่องบินก็ถูกโจมตีสูญหายไป เดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน การรุกคืบของฝ่ายอเมริกาทำให้กองทัพที่โอกินาวาตัดสินใจล่าถอย ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้สูญเสียพลเรือนจำนวนมาก ชาวบ้านพากันปลิดชีพตัวเองเพราะหลงเชื่อ
ข่าวลือที่ว่าหากถูกฝ่ายตรงข้ามจับได้แล้วจะถูกทรมาน ทุกหนทุกแห่งจึงเต็มไปด้วยร่างไร้วิญญาณของผู้คน

 

ภาพที่ 5 บริเวณที่จัดไว้เป็นที่พยาบาลคนเจ็บเป็นเพียงห้องแคบ ๆ

 

               เดือนมิถุนายน ค.ศ.1945 กองกำลังญี่ปุ่นถูกผลักให้ถอยร่นและเสียพื้นที่ให้แก่ฝ่ายอเมริกามากขึ้น
วันที่ 6 มิถุนายน พลเรือตรีมิโนรุ โอตะ (Minoru Ōta)  ผู้บัญชาการของฐานบัญชาการใต้ดินได้ส่งโทรเลขขนาดยาวรายงานสถานการณ์รบ รวมทั้งยกย่องในความร่วมมือและการพลีชีพของชาวโอกินาวา ในข้อความนั้นระบุว่า
ชาวโอกินาวาทั้งเด็ก คนชรา สตรีและบุรุษ ต่างอุทิศตนอย่างถึงที่สุดในการสนับสนุนการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม
เขาพรรณนาถึงชาวโอกินาวาที่ต้องสละบ้านเรือนและทรัพย์สินให้ฝ่ายตรงข้าม ผู้ชายต้องจับอาวุธสู้รบ ส่วนผู้หญิง เด็ก และคนชรา ถูกบังคับให้ซ่อนตัวในหลุมหลบภัยแคบ ๆ ซึ่งป้องกันอะไรไม่ได้นัก ไม่ว่าจะห่ากระสุน กระแสลม หรือสายฝน ผู้หญิงยังต้องทำหน้าที่เป็นพยาบาลและทำอาหาร หรือแม้กระทั่งพกกระสุนเข้าร่วมสู้ศึก ท่ามกลางความหวาดหวั่นพรั่นพรึงของคนเป็นพ่อแม่ ท้ายจดหมายนั้น นายพลโอตะกล่าวว่า “สูญสิ้นต้นไม้ สิ้นไร้ใบหญ้า ทุกสิ่งมอดไหม้ลงกับดิน เสบียงอาหารจะหมดไปในปลายเดือนมิถุนายน นี่คือสภาพที่ชาวโอกินาวาเผชิญหน้ากับสงคราม ดังนั้นผมจึงขอให้คำนึงถึงคนโอกินาวาให้มากนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

 

ภาพที่ 6 ห้องบัญชาการในอุโมงค์ใต้ดินซึ่งนายพลมิโนรุ โอตะ ทิ้งลมหายใจสุดท้าย

 

               นับจากวันที่ส่งโทรเลขฉบับนั้น ฝ่ายอเมริกาก็รุกหนักขึ้นตามลำดับ ในที่สุดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ.1945 เวลา 1 นาฬิกา พลเรือตรีมิโนรุ โอตะ พร้อมนายทหาร 6 คน ได้จบชีวิตตัวเองด้วยกระสุนปืนในฐานบัญชาการใต้ดินแห่งนี้ และปิดฉากสงครามทางบกแห่งเดียวในญี่ปุ่นด้วยผู้สละชีพ 200,656 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวญี่ปุ่นกว่า 180,000 คน เฉพาะผู้เสียชีวิตที่อุโมงค์แห่งนี้จำนวนถึง 2,400 คน

               สมรภูมิโอกินาวาได้รับการขนานนามเปรียบเทียบว่าเหมือนพายุไต้ฝุ่นเหล็ก (Typhoon of Steel) สร้างความเสียหายแก่ภูมิประเทศ ผู้คน ทรัพย์สิน และวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างมหาศาล ภายหลังหมอกควันของสงครามจางหายไป อุโมงค์นี้ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้นานหลายปี จนกระทั่งปีค.ศ.1970 จึงเปิดให้เข้าชมด้วยหวังให้คนรุ่นหลังตระหนักถึงโศกนาฏกรรมของสงคราม และเป็นอนุสรณ์วิงวอนถึงสันติภาพอันยั่งยืนของโลก เช่นเดียวกับโทรเลขฉบับสุดท้ายของนายพลโอตะที่ใช้ตัวอักษรประกาศแทนเสียงวิงวอนขอความเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษย์ และภาวนาถึงความสงบสุขนิรันดร์

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ