หากกล่าวถึงเคมบริดจ์ เมืองโด่งดังในประเทศอังกฤษที่เป็นที่รู้จักกันดีเรื่อง “เมืองมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก” ด้วยสภาพแวดล้อมเมืองที่ดูกะทัดรัดและพื้นที่ หรืออาคารหลายแห่งอยู่ภายใต้การดูแล หรือมีความสัมพันธ์กับของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ไม่มากก็น้อย ทำให้หลายสถานที่ในเมืองนี้มีเรื่องราวน่าสนใจให้เล่าสู่กันฟัง เปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ สถาปัตยกรรม รวมถึงวัฒนธรรมของผู้คนในเคมบริดจ์สมัยก่อนมากกว่าแค่เดินชมเมืองเท่านั้น
แม้ว่าจุดหมายหลักของผู้มาเยือนหลายท่านอาจเป็นการเข้าเยี่ยมชมอาคารต่างๆ ในมหาวิทยาลัย แต่พื้นที่ในเขตตัวเมืองก็มีตึกรามบ้านช่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างหนึ่ง คือ เคตเทิลยาร์ด (Kettle’s Yard) ที่เป็นทั้งบ้าน พิพิธภัณฑ์ และอาร์ตแกลอรี่จัดแสดงงานศิลปะของเหล่าบรรดาศิลปินมากมายในที่เดียว แต่ก็มีความเป็นส่วนตัวเหมือนเป็นบ้านพักอันแสนอบอุ่น ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
ภาพที่ 1 จิมและเฮเลน อีท
แหล่งที่มาภาพ: https://www.cambridgeindependent.co.uk/lifestyle/ways-of-life-the-story-of-how-jim-ede-created-kettle-s-yard-9330203/
ก่อนมาเป็นเคตเทิลยาร์ดอย่างในปัจจุบัน แต่เดิมเคยเป็นบ้านพักของจิม อีท (Jim Ede) นักสะสมงานศิลปะชาวอังกฤษและภรรยา เฮเลน อีท (Helen Ede) ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1957-1973 โดยทั้งคู่ได้ย้ายกลับมาอังกฤษและลงเอยที่เมืองเคมบริดจ์เมื่อปีค.ศ. 1956 หลังจากไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศโมร็อกโกและฝรั่งเศสมานานหลายปี ซึ่งมีโรว์แลนด์ เดอ วินตัน อัลบริดจ์ (Rowland de Winton Albridge) สถาปนิกชาวอังกฤษช่วยออกแบบและปรับเปลี่ยนกระท่อม 4 หลังจากสภาพที่ทรุดโทรมให้กลายเป็นบ้านพร้อมกับสถานที่จัดแสดงของสะสมในที่เดียว
ความชอบของจิมที่สะสมงานคอลเล็กชันศิลปะจำนวนมาก ทั้งภาพวาด ประติมากรรม ศิลปะงานกระดาษ เซรามิก สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เขาจึงมีแนวคิดอยากเปลี่ยนให้บ้านของตนเองเป็นสถานที่ที่สามารถเพลิดเพลินกับงานศิลปะได้ และอยากแบ่งปันให้งานศิลปะเหล่านั้นช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลายให้กับผู้อื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจเปิดบ้านให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และผู้สนใจได้เข้ามาชมคอลเล็กชันที่เขาสะสมไว้ อีกทั้งยังอนุญาตให้นักศึกษายืมชิ้นงานภาพวาดจากคอลเล็กชันไปแขวนไว้ในห้องช่วงเปิดภาคเรียนได้ และในปี ค.ศ. 1966 จิมมอบบ้านและของสะสมทั้งหมดให้แก่มหาวิทยาลัยและย้ายไปใช้ชีวิตวัยเกษียณที่เมืองเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ตั้งแต่ปีค.ศ. 1973 จนถึงบั้นปลายสุดท้ายของชีวิต
ภาพที่ 2 จิม อีทในห้องนั่งรับประทานอาหาร
แหล่งที่มาภาพ: https://www.kettlesyard.cam.ac.uk/history-of-kettles-yard/
การเข้าชมในส่วนของบ้านพักจะแบ่งเป็นรอบ เพื่อให้ผู้ชมได้ชมงานศิลปะได้อย่างทั่วถึง โดยก่อนเข้าไปในบ้าน ผู้ชมต้องสั่นกระดิ่งก่อนแล้วจึงเปิดประตู นับเป็นการต้อนรับที่น่าตื่นเต้นไม่ใช่น้อย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ประจำบ้านจะแนะนำแต่ละชั้น และปล่อยให้ผู้ชมได้เดินชมเองอย่างอิสระ
ทุกซอกทุกมุมของบ้านหลังนี้ล้วนมีสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจจนแทบจะหยุดทุกฝีก้าวเพื่อสังเกตดูงานศิลปะที่มีทั้งรูปแบบมินิมอลและร่วมสมัย ชิ้นงานถูกจัดแสดงอย่างเป็นระเบียบ มีเอกลักษณ์และความแตกต่างกัน โดยแต่ละชิ้นล้วนมีเรื่องราวในตัวเอง แต่สามารถกลมกลืนกับงานศิลปะและสิ่งของอื่นๆ ในตัวบ้านอย่างสมดุลลงตัว ในชั้นหนึ่งเป็นพื้นที่เก็บงานศิลปะที่เจ้าของบ้านโปรดปรานมากที่สุด ลักษณะเป็นห้องที่ผสานกันระหว่างห้องนั่งเล่นกับห้องรับประทานอาหาร ทั้งยังมีห้องนอนซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวด้วย แต่จิมก็ยินดีให้ผู้มาเยือนเดินผ่านได้แม้แต่ในช่วงเวลาที่เขายังอาศัยอยู่ในบ้านก็ตาม
ภาพที่ 3 ห้องนั่งเล่นในชั้นที่ 2
บนชั้นที่สองเป็นอีกหนึ่งห้องนั่งเล่นที่มีเปียโนยี่ห้อเบคสไตน์ (Bechstein) ของเฮเลนตั้งอยู่กลางห้อง เนื่องด้วยเฮเลนเคยเป็นนักดนตรีที่มีพรสวรรค์มาก่อน เปียโนหลังนี้จึงเป็นเครื่องเตือนความทรงจำอย่างแรกถึงความสำคัญของดนตรีในบ้านหลังนี้
ภาพที่ 4 ห้องนักเต้นรำ (Dancer Room)
ถัดมาเพียงไม่กี่ก้าวก็เป็นส่วนต่อเติมระหว่างบ้านหลังใหม่และกระท่อมหลังเดิมก่อนที่จิมและภรรยาเข้ามาอยู่อาศัย หากวันใดอากาศดีมีแสงแดดในช่วงบ่ายผู้ชมจะได้เห็นแสงอาทิตย์ส่องผ่านหน้าต่างและกระจกเกิดเป็นแสงเงาพาดผ่านผนังกำแพงห้องช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างภายนอกและภายในห้อง เช่น จานปริซึมที่แขวนไว้อยู่ด้านหน้าต้นไม้จะหมุนและหักเหแสงตามการเคลื่อนไหวทุกครั้ง ห้องนี้ถูกเรียกชื่อว่าห้องนักเต้นรำ (Dancer Room) ด้วยมีรูปปั้นผู้หญิงกำลังเต้นรำตั้งอยู่บนโต๊ะ ยิ่งเมื่อโดนแสงแดดส่องกระทบจะเกิดแสงเงาที่งดงามและดูมีชีวิตชีวามากขึ้น เป็นชั่วขณะต้องมนต์ที่ใครได้เห็นก็คงไม่พลาดที่จะบันทึกภาพเก็บไว้อย่างแน่นอน
ภาพที่ 5 ห้องใต้หลังคา
ไม่เพียงเท่านั้น จิมและเฮเลนยังจัดสรรให้ทุกที่ในบ้านเป็นพื้นที่เพื่องานศิลปะอย่างแท้จริง อย่างห้องใต้หลังคาก็ใช้เป็นทั้งห้องนอนแขกและจัดเก็บงานศิลปะที่บางครั้งก็ให้นักศึกษาปริญญาตรียืมกลับไปใช้เป็นระยะเวลาหนึ่ง หลังจากที่พวกเขาย้ายออกไป ห้องใต้หลังคานี้ได้รับการปรับปรุงใหม่เรื่อย ๆ และเปลี่ยนเป็นห้องจัดแสดงศิลปะงานกระดาษ
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อีกหลายส่วนที่น่าสนใจมาก โดยจิมได้ต่อขยายและปรับปรุงให้มีความแตกต่างจากอาคารยุคศตวรรษที่ 19 ด้วยการใช้วัสดุจากธรรมชาติอย่างอิฐและไม้ และเลือกใช้สีสันอย่างสีขาวและน้ำตาลมาช่วยเพิ่มความรู้สึกให้กว้างขวางดูสว่างไสว นอกจากนี้ ตรงส่วนตัวต่อขยายนั้นยังเป็นห้องสมุดเล็กๆที่ทันสมัย พร้อมเปิดให้ผู้เข้าชมทุกคนเข้ามาใช้ และชั้นล่างของส่วนต่อขยายก็ออกแบบเพื่อจัดแสดงงานศิลปะ การแสดงดนตรี หรือกิจกรรมสาธารณะ ด้วยมุมมองที่เห็นว่าดนตรีเป็นส่วนสำคัญของชีวิต และปัจจุบันห้องนี้ยังมีการเล่นดนตรีในช่วงกลางวันของทุกวันศุกร์เมื่อเปิดภาคเรียนด้วย หลังเดินชมบ้านชนทั่วแล้วก็ยังมีอาคารนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานของศิลปินหลากหลายทั่วโลกให้ได้ชม หรือแวะนั่งจิบกาแฟที่คาเฟ่ให้ผ่อนคลายปิดท้ายก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีเช่นกัน
ภาพที่ 6 ส่วนต่อเติมที่ถูกขยายเป็นห้องสมุดขนาดย่อม และโซนส่วนต่อเติมที่มักใช้เป็น
พื้นที่แสดงดนตรีหรือกิจกรรมต่างๆ
หลังจากการชมเคตเทิลยาร์ดแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าที่นี่อาจช่วยเปลี่ยนมุมมองผู้เข้าชมไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นมุมมองด้านศิลปะ การออกแบบ ความคิด ปรัชญาชีวิต หรือความสำคัญของการจัดวางสิ่งของ แม้อาจดูเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่อาจสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนก็เป็นได้ หากใครมีโอกาสได้มาเที่ยวเมือง
เคมบริดจ์และอยากเสพงานศิลปะในบ้านเล็กๆ ที่แสนอบอุ่น เงียบสงบ เคตเทิลยาร์ด นับเป็นหนึ่งจุดหมายที่ไม่ควรพลาด และที่นี่พร้อมต้อนรับทุกคนเสมอ
Address: Kettle's Yard, University of Cambridge ,Castle Street ,Cambridge, CB3 0AQ
Opening Time: เปิดทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ 11.00-17.00 (ปิดทุกวันจันทร์และวันหยุดราชการ)
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Kettle’s Yard (n.d.). History of Kettle’s Yard. [online] www.kettlesyard.cam.ac.uk. Available at: https://www.kettlesyard.cam.ac.uk/history-of-kettles-yard/