Museum Core
พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ดีบุกคินตา Kinta Tin Mining (Gravel Pump) Museum
Museum Core
31 พ.ค. 67 623
ประเทศมาเลเซีย

ผู้เขียน : กระต่ายหัวฟู

ภาพปก : จำลองสภาพเหมืองแบบเปิด (open-pit mining) ด้านหน้าทางซ้ายคือรางดักแร่ (palong)             

 

               พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ดีบุกคินตา หรือ Kinta Tin Mining (Gravel Pump) Museum ตั้งอยู่ที่เมืองคัมปาร์ (Kampar) ในรัฐเปรัค (Perak) ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย  คำในวงเล็บชวนให้สงสัยตั้งแต่เห็นชื่อ Gravel Pump คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรจึงต้องมาใส่ไว้ในชื่อพิพิธภัณฑ์  แถมที่นี่ยังนำปั๊มตัวใหญ่นี้มาตั้งไว้หน้าพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

               Gravel Pump ภาษาไทยเรียกว่า ปั๊มกรวด หรือบางทีก็เรียกว่า ปั๊มสูบกรวด หรือเครื่องสูบน้ำกรวด ฯลฯ แต่ก่อนที่จะเล่าถึงปั๊มกรวดมีบทบาทอย่างไรในการทำเหมืองของมาเลเซียจนทำให้ต้องระลึกถึงนั้น ผู้เขียนขอเล่าย้อนเรื่องย้อนอดีตกลับไปไกลสักหน่อย

               คนที่อายุน้อยกว่า 50 ปี อาจนึกไม่ออกว่าเมื่อสักไม่กี่ชั่วอายุคนมานี้ดีบุกเคยเป็นแร่ธาตุที่สำคัญอย่างไรสำหรับมาเลเซีย ประเทศที่มีการผลิตแร่ดีบุกมากที่สุดในโลกในช่วงที่ดีบุกเป็นที่ต้องการมากและมีราคาสูงสุด ดีบุกมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อผู้คน ประวัติศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงสร้างความมั่งคั่งที่ยังคงส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

               อันที่จริงมนุษย์รู้จักดีบุกมานานมากตั้งแต่หลายพันปีก่อนคริสตกาล ดีบุกเป็นสินแร่เก่าแก่อย่างหนึ่งในอารยธรรมของมนุษย์ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าวัฒนธรรมใดที่มีสำริดก็น่าจะรู้จักดีบุก เพราะสำริดคือโลหะที่ผสมระหว่างดีบุกและทองแดง แต่ยุคสำริดในบางวัฒนธรรมที่ไม่ได้มีแหล่งแร่มากนักทำให้ต้องเดินทางไกลและบางครั้งก็ข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อหาแร่ไปใช้  ในประวัติศาสตร์อันลางเลือน (ซึ่งต้องค้นหากันต่อไป) อาจมีพ่อค้ามาซื้อหาค้าขายดีบุกบริเวณแหลมมลายูไม่ต่ำกว่าพันปีมาแล้ว

               ในครั้งกระโน้น ผู้ปกครองหรือหัวหน้าชาวมาเลย์รวบรวมแร่ดีบุกจากชาวบ้านเพื่อขายให้แก่พ่อค้าต่างชาติ การหาแร่เป็นรายได้เสริมรองจากอาชีพหลักคือการทำเกษตรกรรม ชาวมาเลย์ทำดีบุกด้วยวิธีง่ายๆ เนื่องจากมีแร่อยู่ทั่วไปหาได้ตามริมน้ำลำธาร มีขนาดประมาณเมล็ดถั่วลงมาจนถึงเม็ดทราย ใช้วิธีร่อนด้วยจานร่อนแร่ (เลียง) ที่ทำจากไม้เรียกว่า Dulang-washing หาทำได้ด้วยตัวคนเดียว  อีกวิธีหนึ่งใช้แรงงานคนมากขึ้น เรียกว่า Lampan เป็นการขุดดินให้เป็นทางน้ำเล็กๆ แล้วนำดินปนแร่ที่ขุดมาใส่ลงไป อาศัยแรงน้ำจากแม่น้ำลำธารในการล้างแร่ ให้น้ำพัดพาเอาดินทรายและกรวดออกไป แร่ดีบุกซึ่งมีน้ำหนักมากจะตกอยู่กับพื้น (ดีบุกมีน้ำหนักใกล้เคียงกับเหล็ก)

               หากต้องการหาแร่ให้ได้มากขึ้นก็จำเป็นต้องขุดลึกขึ้น เรียกว่า เหมืองปล่องหรือเหมืองรู (Ludang) เหมืองแบบนี้มีความลึกจำกัดขึ้นอยู่กับความสามารถในการป้องกันการพังทลายของหลุมและการจัดการน้ำก้นหลุม เมื่อหลุมเริ่มลึกเกินกว่าจะค้ำยันได้แต่ต้องการขุดต่อก็จำเป็นต้องทำเหมืองเปิดหน้าดิน Lombong Dedah (open-pit mining) ซึ่งศัพท์คำนี้ใช้เรียกการทำเหมืองในระดับอุตสาหกรรมด้วย หมายถึงการเปิดหน้าเหมืองออกให้เป็นหลุมกว้างๆ ความกว้างของหลุมมีส่วนสัมพันธ์กับความลึกและลักษณะของดินและภูมิประเทศ เหมืองของชาวมาเลย์ใช้เครื่องมือที่เป็นเครื่องมือพื้นฐานทางการเกษตรและไม่ได้ใช้คนจำนวนมากนัก

 

ภาพที่ 1 : หุ่นจำลองแสดงการคัดแยกแร่หรือการแต่งแร่ (0re dressing) แบบไม่ใช้เครื่องจักร

 

               ความเปลี่ยนแปลงระลอกแรกมาถึงในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการค้นพบแหล่งแร่ขนาดใหญ่ที่
ลารุต (Larut ทางตะวันตกของรัฐเปรัค ทางตอนเหนือของมาเลเซีย)  ในปี ค.ศ.1848 การพบแหล่งแร่นี้มีตำนานเล่าขาน (ทุกพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องนี้) ที่สั่นสะเทือนวงการ ในตอนนั้นชาวยุโรปหลายชาติเข้ามาล่าอาณานิคมและมาค้าขายได้ระยะหนึ่งแล้ว  ชาวมาเลย์ก็อยากทำประโยชน์จากแหล่งแร่นี้แต่ก็เกินกำลังและยังมีความเคยชินกับการทำแร่แบบเดิม  อีกทั้งขาดแรงงานจำนวนมากที่รับทำงานทั้งหนักและเสี่ยงอันตราย เหตุนี้เองทำให้แรงงานและนักทำเหมืองชาวจีนที่มีความชำนาญหลั่งไหลเข้ามาโดยการเชื้อเชิญของผู้นำชาวมาเลย์ จากหลักร้อยคนกลายเป็นหลายหมื่นคน

               ลักษณะของแหล่งแร่ในลารุตและพื้นที่ต่อเนื่องลงไปทางใต้ถึงหุบเขาคินตา (Kinta Valley) เป็นแหล่งแร่แบบลานแร่ (placer) เกิดจากการผุพังของหินแกรนิตที่มีต้นกำเนิดบนเทือกเขาที่นับอายุได้หลายสิบล้านปีมาแล้ว และถูกพัดพาลงมาทับถมในที่ราบลุ่มน้ำ ตะกอนรูปพัดที่แผ่จากเหนือลงใต้เต็มไปด้วยสายธารของดีบุกตั้งแต่ระดับผิวดินลงไปเป็นร้อยฟุต การพัดพาสสะสมเป็นเวลานานแร่ส่วนใหญ่จึงแตกออกเป็นเม็ดกรวดเล็กๆ ยิ่งไกลออกไปทางใต้ก็ยิ่งเล็กละเอียดและกลมมนขึ้นเพราะถูกพัดไปนานกว่า

               ด้วยลักษณะเช่นนี้การทำเหมืองในแหล่งลานแร่จึงเป็นเหมืองแบบเปิดหน้าดิน ชาวจีนทำเหมืองเปิดเพื่อขุดหาแร่เปลือกดินโดยใช้แรงงานคนจำนวนมากเพื่อขุดและหาบแร่ไปยังลานล้าง (เหมืองแร่ในไทยก็ทำเช่นนี้ และเรียกว่า เหมืองหาบ) เถ้าแก่ชุงเค็งคิว (Chung Keng Quee ค.ศ.1827-1901) เป็นเจ้าของเหมืองหลายสิบแห่งใน
ลารุตมีคนงานกว่า 5,000 คน เพื่อให้มองเห็นภาพจึงขอชวนให้นึกถึงกระทะก้นลึกขนาดยักษ์ที่ฝังลงไปในพื้นดิน มันจะลึกลงไปเท่าที่ยังมีแร่ที่คุ้มค่าให้ขุด (เทียบกับต้นทุน เพราะยิ่งลึกต้นทุนก็ยิ่งสูง) แอ่งกระทะนี้อาจอยู่เป็นหย่อมแยกกันหรือต่อซ้อนกันไปเป็นทอดแล้วแต่เจ้าของและแหล่งแร่ที่เจอ เหมืองเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นมีพื้นที่ถึง 8 ตารางกิโลเมตรและลึกกว่า 500 เมตร เหมืองเปิดที่มาเลเซียยังไม่ใหญ่ขนาดนั้นแต่มีจำนวนหลายร้อยแห่งซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นบึงน้ำและทะเลสาบ

               เมื่อขุดลึกลงไปถึงระดับหนึ่งก็มีน้ำใต้ดินซึมขึ้นมา ในยุคแรกนักทำเหมืองชาวจีนดัดแปลงกลไกของระหัดวิดน้ำ (chain pump) แบบใช้เท้าถีบ เพื่อตักเอาน้ำจากก้นหลุมและใช้ในการขนแร่ขึ้นมาด้วย เมื่อแร่ขึ้นมาถึงปากหลุมก็ใช้คนหาบไปล้างต่อไป การต่อสู้กับน้ำก้นหลุมเป็นเรื่องเหนื่อยหนัก จึงมีเหมืองจำนวนไม่น้อยที่เลิกขุดต่อแล้วย้ายที่ใหม่เมื่อการรักษาระดับน้ำก้นหลุมไว้ไม่ให้เกินหนึ่งฟุตนั้นเป็นภาระมากเกินทนทั้งที่หากขุดลึกลงไปอาจมีแร่อีก ต่อมาข้าหลวงชาวอังกฤษที่ดูแลรัฐเปรัคจึงนำเสนอปั๊มหอยโข่งพลังไอน้ำเพื่อสูบน้ำก้นหลุมได้อย่างต่อเนื่องให้แก่ชุงเค็งคิว โดยคาดหวังให้คนอื่นนิยมใช้ด้วย แต่ก็มีเพียงเหมืองที่มีทุนทรัพย์ไม่กี่แห่งที่ลงทุนไหว  เหมืองส่วนใหญ่สมัครใจที่ใช้อุปกรณ์ทุนต่ำที่ขับเคลื่อนด้วยแรงคนต่อไป

               ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่นักทำเหมืองชาวจีนค้นพบแหล่งแร่มากมายในหุบเขาคินตา และราคาแร่ก็สูงขึ้นเนื่องจากเป็นที่ต้องการในตลาดโลก จึงเป็นช่วงที่มีการพัฒนาปรับเปลี่ยนวิธีการ เครื่องมือ แรงงาน และต้นทุนเพื่อหาจุดสมดุลที่คุ้มค่าที่สุด ทั้งนี้ ความคุ้มค่าในระดับกิจการขนาดใหญ่กับขนาดเล็กก็แตกต่างกัน เจ้าของเหมืองอย่างเถ้าแก่ชุงเค็งคิวที่ฝรั่งจดบันทึกว่ามีกิจการเหมืองใหญ่ที่สุดวัดจากจำนวนคนงาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ไม่ใช่เหมืองที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคนงานนั้นมีสัดส่วนมากเกินไปเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ทำได้อย่างเชื่องช้า เจ้าของเหมืองรุ่นถัดมาที่จ้างฝรั่งมาบริหารและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแม้มีพื้นที่ทำเหมืองและคนงานน้อยกว่ากลับทำผลผลิตต่อเหมืองได้สูง เช่น เหมืองตัมบุน (Tumbun) ของเหลียง ฟี (Leong Fee ค.ศ.1857-1912) และเหมืองโทรโนห์ (Tronoh) ของฟูชูชุน (Foo Choo Choon ค.ศ.1860-1921) ซึ่งคนหลังนี้เป็นราชาแห่งเหมืองและเป็นคนจีนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในยุคนั้น  

 

ภาพที่ 2 : ปั๊มสูบกรวด (gravel pump) ที่ตั้งแสดงหน้าพิพิธภัณฑ์ เป็นปั๊มขนาด 700 แรงม้า

 

               ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เจ้าของเหมืองเริ่มเห็นความจำเป็นต้องขุดลึกยิ่งขึ้น ปัญหาของความลึกคือน้ำก้นหลุมและระยะทางการขนแร่ขึ้นมายังปากเหมือง ในตอนนี้เองที่ปั๊มกรวดที่สามารถสูบได้ทั้งน้ำและแร่ที่ปนอยู่กับดินกรวดทรายเข้ามาทำหน้าที่ เทคโนโลยีนี้นำเข้ามาประยุกต์ใช้โดยนักทำเหมืองทองจากออสเตรเลีย ทำให้ลดการใช้คนงานและทำให้ขนส่งแร่ขึ้นปากหลุมได้เร็วมาก  ระบบเหมืองที่มีประสิทธิภาพต้องออกแบบการขุดแร่และการล้างแร่ให้ทำงานได้เร็วสอดคล้องกันด้วย

เหมืองปั๊มกรวด (Gravel Pump Mining)

               คำเรียกนี้แปลตามคำที่พิพิธภัณฑ์ใช้ แต่ในไทยเรียกว่า เหมืองสูบ หรือเหมืองฉีด ตามแต่โฟกัสที่จุดไหน  มาเลเซียและไทยทำเหมืองดีบุกด้วยวิธีนี้กันอย่างแพร่หลาย เพราะมีต้นทุนต่ำและเหมาะกับลักษณะของแหล่งแร่ สามารถอธิบายการทำงานของเหมืองอย่างคร่าวได้ดังนี้

               การขุดแร่ โดยใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงผ่านหัวฉีดที่ปรับลักษณะและความแรงของสายน้ำได้เรียกว่า มอนิเตอร์ (monitor) เพื่อทลายชั้นดินที่มีแร่ลงไปยังก้นเหมือง ผนังเหมืองต้องมีความลาดเอียงที่พอเหมาะให้โคลนไหลลงไปโดยตกค้างน้อยที่สุด อาจมีมอนิเตอร์ตัวอื่นคอยฉีดน้ำไล่ในระหว่างทางด้วย

               การสูบแร่ ใช้ปั๊มกรวดสูบน้ำปนดินหินกรวดที่ก้นหลุมขึ้นมา โดยทั่วไปใช้ปั๊มขนาด 350 มิลลิเมตร 620 แรงม้า ซึ่งปั๊มขึ้นไปได้สูงประมาณ 30 เมตร ดังนั้นถ้าเหมืองลึกกว่า 30 เมตรก็ต้องใช้ปั๊มหลายตัวปั๊มต่อกันขึ้นไปจนกว่าถึงปากหลุม การสูบของแข็งทำให้ใบพัดปั๊มและท่อส่งชำรุดอย่างรวดเร็ว ถ้าใช้วัสดุอย่างดีใบพัดปั๊มกรวดมีอายุใช้งาน 800-1200 ชั่วโมง จึงจำเป็นต้องมีโรงหล่อโลหะเพื่อหล่อใบพัดใหม่ซ้ำๆ เคยมีรายงานว่าใบพัดเมดอินไทยแลนด์ใช้งานได้สองสามวันก็ต้องเปลี่ยนเอาไปหล่อใหม่แล้ว ตัวเครื่องสูบมีอายุใช้งานมากกว่าใบพัดประมาณสามเท่า ส่วนท่อส่งน้ำซึ่งวางแบบลาดเอียงต้องคอยหมุนตามเวลาที่กำหนดเพื่อให้สึกโดยทั่วถึงกัน เพราะบริเวณท้องท่อจะสึกมากเนื่องจากโดนครูดมากกว่าส่วนอื่น ปั๊มกรวดไม่เหมาะใช้ในพื้นที่ที่มีก้อนหินขนาดใหญ่เกินไปเป็นจำนวนมาก

               การล้างแร่ ปั๊มจะปล่อยสิ่งที่สูบมาลงบนตะแกรงเพื่อแยกเอาหินหรือดินก้อนใหญ่ๆออก ที่เหลือจะตกลงในรางล้างแร่หรือรางดักแร่ที่เรียกว่าปาลอง (palong) ซึ่งพัฒนามาจากรางดักแร่แบบที่ใช้กันมาให้สามารถรองรับแร่ปริมาณมากๆ ปาลองทำด้วยไม้ มีขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 50 เมตรหรืออาจมากกว่า ในเหมืองดีบุกมีปาลองหลายเลนเรียงเป็นตับ วางลาดเอียงไปทางท้ายเหมือง และมีไม้ที่เรียกว่าริฟเฟิล (riffle) วางขวางรางเป็นระยะเพื่อดักแร่ ความลาดเอียง, ระยะไม้กั้น, น้ำล้างที่ใส่เติมมามีการคำนวณให้เหมาะสม  ส่วนที่ปล่อยทิ้งลงข้างท้ายคือหางแร่ (Tailing) ซึ่งยังมีดีบุกและแร่อื่นปะปน ยิ่งปาลองยาวแร่ที่ติดไปกับหางก็ยิ่งน้อยลง ปาลองที่ออกแบบดีสามารถกู้แร่ดีบุกได้ประมาณ 80%

 

ภาพที่ 3 : อุปกรณ์และภาพถ่ายจำนวนมากช่วยให้เห็นภาพการทำเหมืองในสมัยนั้น

 

               ทั้งหมดนี้เป็นการเล่าคร่าวๆ  ในพิพิธภัณฑ์มีภาพเก่าและอุปกรณ์จำนวนมากจัดแสดงเรียงลำดับไปตามขั้นตอนที่ช่วยให้เข้าใจยิ่งขึ้น  ยังมีงานที่ต้องใช้คนมาช่วยระหว่างทาง เช่น กำจัดก้อนหินขนาดใหญ่เกินไปตรงจุดสูบและตะแกรง การเก็บกู้แร่จากปาลอง เป็นต้น รวมถึงปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขด้วยประสบการณ์  หลังจากกู้แร่ขึ้นจากปาลองแล้วยังมีกระบวนการคัดแยกและแต่งแร่ เหมืองที่มีขั้นตอนคัดแต่งที่ละเอียดก็จะได้แร่ที่มีคุณภาพสูง ขายได้ราคาดี

               นักทำเหมืองชาวจีนในประเทศมาเลเซียผลิตดีบุกมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกเป็นเวลาหลายสิบปี จึงสมควรมีความภาคภูมิใจในความเชี่ยวชาญที่พวกเขาสั่งสมมา

               เมืองคัมปาร์เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ดีบุกคินตา อีกพื้นที่หนึ่งที่ร่ำรวยจากการทำเหมืองแร่ดีบุก แม้ว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณนี้เคยเป็นสมรภูมิรบที่ดุเดือดระหว่างกองทัพญี่ปุ่นและอังกฤษ (Battle of Kampar (30 ธันวาคม ค.ศ.1941 – 2 มกราคม ค.ศ.1942)) และเมื่อจบสงครามก็ยังเป็นสมรภูมิในวิกฤตการณ์มาลายา (Malayan Emergency ค.ศ.1948 -1960) ผืนแผ่นดินและผู้คนผ่านสองเหตุการณ์ที่ทุกข์ทรมานแสนสาหัส  ก่อนที่กิจการเหมืองแร่จะนำความรุ่งเรืองกลับคืนมาอีกครั้ง  คัมปาร์ในยุค 60s-70s มีรถหรูซุปเปอร์คาร์วิ่งอยู่ทั่วไปในเมืองมีแสงสี ร้านรวงไม่ว่าที่ไหนก็มีคนจับจ่ายซื้อของ

               พิพิธภัณฑ์สร้างโดย ตันสรี ฮิวซีตง (Tan Sri Hew See Tong (ค.ศ.1831-2022)) ตันสรีเป็นชื่อตำแหน่งที่มอบให้แก่ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าบำเพ็ญคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ เขาเป็นอดีตนายเหมืองที่ทำเหมืองแร่สืบต่อในตระกูลเป็นรุ่นที่ 3 เขาเข้าสู่วงการเหมืองแร่ในปีค.ศ. 1949 ตั้งแต่อายุ 18

               หลังจากหมดยุคของเหมืองดีบุกในปลายทศวรรษ 1980 ผู้คนพากันทิ้งหุบเขาคินตาไปหาที่ทำกินใหม่
ฮิวซีตงเป็นผู้หนึ่งที่อยากเห็นคินตาพลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง การสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการท่องเที่ยว และเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นภาพของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกซึ่งได้เคยมีบทบาทสำคัญต่อคัมปาร์และประเทศมาเลเซีย

               พิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องวิธีทำเหมืองด้วยหุ่นจำลองต่าง เล่าถึงบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ชีวิตของคนธรรมดาที่เป็นคนงานเหมืองและผู้คนที่อยู่โดยรอบ  ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลสถิติที่เก็บย้อนหลังนาน 100-200 ปี เช่น ปริมาณการผลิตดีบุก ราคาดีบุก หรือ จำนวนเหมืองดีบุกจำแนกตามวิธีการทำเหมือง ซึ่งช่วยให้มองเห็นภาพของอุตสาหกรรมทั้งหมด ห้องนิทรรศการขนาดใหญ่สำหรับรองรับการเข้าชมเป็นกลุ่ม ไม่ได้มีคำบรรยายมากนักจึงต้องการผู้นำชมช่วยให้ผู้ชมติดตามเรื่องราวไปได้ แต่ผู้ชมอาจสมาธิแตกซ่านไปในเวลาไม่นานจากสิ่งดึงดูดใจในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือของสะสมของเจ้าของพิพิธภัณฑ์

               เจ้าของพิพิธภัณฑ์ต้องเป็นคนวงในขนานแท้ถึงมีข้าวของเยอะแยะขนาดนี้ ของจัดแสดงที่นี่มีเป็นพันชิ้น ไล่ไปตั้งแต่อุปกรณ์สำหรับขุดแร่แบบดั้งเดิมใช้แรงคนจนถึงเครื่องจักรขนาดใหญ่อย่าง monitor และ gravel pump  เครื่องมือเครื่องใช้เช่นขวาน ค้อน หัวจอบและคราด ข้อต่อและประแจสารพัดขนาด เครื่องร่อนแร่ เครื่องแต่งแร่ประเภทต่างๆ ช่วยให้เข้าใจความซับซ้อนของขั้นตอนการคัดแยกและแต่งแร่  ยังมีเครื่องที่ใช้ในการคัดแยกหางแร่ เพราะหางแร่ไม่เพียงแต่มีดีบุกหลงเหลืออยู่แต่ยังมีสินแร่มีค่าอื่นอีกด้วย มีตู้จัดแสดงแร่ชนิดต่างๆ ที่ออกมาจากกระบวนการเหล่านี้  ภาพถ่ายจำนวนมากที่บันทึกการทำงานในขั้นตอนต่างๆ มีประกอบอยู่ทุกจุด อีกสิ่งที่น่าสนใจมากคือพวกเอกสารเก่า อย่างเช่นแบบแปลนโรงงาน (แม้มีแต่ช่างที่ดูเข้าใจแต่มัก็ชวนว้าวสำหรับผู้เขียน) และเอกสารเก่าเกี่ยวกับการอนุญาตสัมปทานและการเช่าช่วง ซึ่งบรรจุข้อมูลมากมายที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อาทิ ระยะเวลา สถานที่ ข้อตกลงแลกเปลี่ยน มูลค่า ชื่อบุคคล ฯลฯ

 

ภาพที่ 4 : เอกสารเก่าเกี่ยวกับสัมปทาน การเช่าช่วง ใบรับรอง สัญญา ข้อตกลง ฯลฯ

ด้านบนเป็นตารางข้อมูลสถิติ

 

 

               ในมุมหนึ่งมีนิทรรศการที่น่าสนใจเกี่ยวกับการพิมพ์ซึ่งโรงพิมพ์เก่าแก่อายุกว่าร้อยปีของคัมปาร์มอบให้ที่นี่ เนื่องด้วยยุคสมัยหนึ่งดีบุกเป็นส่วนประกอบของตัวพิมพ์ และนิทรรศการได้จัดแสดงตัวพิมพ์แบบโบราณและสิ่งพิมพ์เก่าแก่ที่สะท้อนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของเมืองในช่วงนั้นด้วยนับว่ามีความเลอค่าเฉพาะตัว

                พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีจุดเด่นอยู่ที่สิ่งของจัดแสดงและความตั้งใจให้ข้อมูลอย่างมาก วัตถุแต่ละชิ้นสามารถมีเรื่องเล่าของตัวเอง แต่เมื่อสิ่งของจำนวนมากมารวมกันก็ทำให้ตาลายได้ หากไม่มีคนนำชมมาสรุปเปิดประเด็นหรือบอร์ดคำบรรยายภาพรวมในแต่ละจุด ผู้ชมก็สามารถดูและทำความเข้าใจด้วยตนเองได้แต่อาจต้องให้เวลาสักหน่อยในการค่อยๆ ดูไปอย่างละเอียด แต่ละคนอาจค้นพบเพชรเม็ดงามซ่อนอยู่ในจุดต่างๆ ที่อาจไม่เหมือนกันเลย

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

  1. Yap Keam Min, Gravel Pump Tin Mining in Malaysia, JURUTERA, May 2006, p 6-11
  2. Penrose, R. A. F., The Tin Deposits of the Malay Peninsula with Special Reference to Those of the Kinta District. The Journal of Geology, (1903), p. 135-154
  3. Leanne Power, Chinese Labour in the Malayan Tin Mining Industry – An Historical Perspective, c.1800-1948, University of New England, March, 1996.
  4. IPOH ECHO, August 16-31, 2010, http://ipohecho.com.my/pdf/103.pdf
แกลเลอรี่


ย้อนกลับ