ปกรณัมตอนสำคัญในพระคริสต์ศาสนาที่มักรู้จักกันในชื่อ ‘The Last Supper’ ซึ่งมีความหมายแปลตรงตัวว่า อาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระคริสต์ (หรือคนไทยมักเรียกว่าพระเยซู) นั้น มีตำนานเล่าว่าก่อนที่พระองค์ทรงถูกจับไปนั้นเป็นเวลาที่ทรงรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายอยู่กับพระอัครสาวกทั้ง 13 คน และในมื้อนี้เองที่พระองค์ทรงหยิบขนมปังขึ้นมาขอพระพรแล้วแจกให้กับทุกคน พร้อมตรัสว่า
“จงรับไปกินเถิด นี่คือกายของเรา”
จากนั้นทรงหยิบแก้วไวน์ขึ้นเมื่อขอบพระคุณแล้วก็ส่งไปให้อัครสาวกทั้งหลายและตรัสว่า
“จงรับไปดื่มทุกคนเถิด เพราะนี่คือโลหิตของเราอันเป็นโลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกมาเพื่อยกบาปโทษคนจำนวนมาก”
แน่นอนว่า ยูดาส (Judas) หนึ่งในอัครสาวกที่ร่วมวงอยู่ในโต๊ะอาหารมื้อนั้นได้ทรยศพระคริสต์ นำพาเหล่าทหารโรมันมาล้อมจับพระองค์เพื่อนำไปตรึงกางเขน จนทำให้ปกรณ์ตอนนี้กลายเป็นที่มาของการกินขนมปังและจิบไวน์ในพิธีศีลมหาสนิท ซึ่งหมายถึงการเข้าร่วม หรือเข้าไปสนิทสนมกับพระองค์ ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมสำคัญของชาวคริสต์
แต่ทำไมพระเยซูท่านจึงตรัสว่า ‘ขนมปัง’ และ ‘ไวน์’ คือ ‘กาย’ และ ‘โลหิต’ ของพระองค์ด้วย?
ภาพที่ 1: ‘อาหารค่ำมื้อสุดท้าย’ (The Last Supper) ผลงานจิตรกรรมชิ้นเอกของโลกที่ประดับใน
โบสถ์ซานตา มาเรีย เดล กราซี (Santa Maria delle Grazie) เมืองมิลาน
โดย ลีโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) วาดในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2038-2040
แหล่งที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/The_Last_Supper_(Leonardo)#/media/File:%C3%9Altima_Cena_-_Da_Vinci_5.jpg
การแพร่กระจายของ ‘ขนมปัง’ ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญที่สุดของมนุษย์อย่างมีนัยยะสำคัญก็น่าจะสัมพันธ์กับการใช้ ‘ยีสต์’ ซึ่งเริ่มจากโลกตะวันออกในแถบภูมิภาคตะวันออกกลาง แล้วค่อยๆ แพร่กระจายเข้าไปยุโรปและดินแดนในแอฟริกาตอนเหนือ อีกทั้งการแพร่กระจายนี้ไม่ได้จำเพาะขนมปังเพียงอย่างเดียวยังไปพร้อมกับ ‘เบียร์’ (เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เช่นเดียวกับไวน์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นานนัก) และการทวีความซับซ้อนของสังคมวัฒนธรรมมนุษย์ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว
ด้วยเหตุที่หลังจากมนุษย์เริ่มอาศัยอยู่ติดที่จากการทำเกษตรกรรมเพื่อผลิต ‘ขนมปัง’ และ ‘เบียร์’ แล้ว อาหารและเครื่องดื่มทั้งสองชนิดนี้ก็กลายเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญเพิ่มมากขึ้น ข้อความใน ‘กิลกาเมซ’ (Gilgamesh) มหากาพย์เรื่องสำคัญของดินแดนเมโสโปเตเมียได้ระบุเอาไว้ว่า การดื่มและกินขนมปังและเบียร์นั้นเป็นสิ่งที่จำแนกพวกเขาออกจากคนเถื่อนทั้งหลาย เช่นเดียวกับบรรดาแรงงานที่ใช้ในการสร้างพีระมิดในอียิปต์ทั้งหลายก็จ่ายค่าจ้างเป็นขนมปังและเบียร์ด้วยเช่นกัน (หลักฐานทางโบราณคดีในปัจจุบันค้นพบว่าพีระมิดไม่ได้ถูกสร้างขึ้นด้วยแรงงานทาส)
ข้าวต้ม โจ๊ก หรืออะไรที่ทำจากธัญพืชผสมน้ำร้อนสักชามในช่วงยุคเริ่มต้นของการทำเกษตรกรรม หากถูกตั้งทิ้งไว้สัก 2-3 วัน ความชื้นจะเปลี่ยนแป้งในธัญพืชเหล่านั้นให้เป็นน้ำตาลมอลโทส (maltols) หรือ ‘มอลต์’ ที่มีรสชาติหวาน ซึ่งเป็นรสชาติที่หาได้ยากในยุคที่ไม่มีน้ำตาลจากแหล่งอื่น จึงช่วยกระตุ้นให้ผู้คนผลิตมอลต์จากการทำเมล็ดธัญพืชให้ชื้น
ช่วงเวลาในการถูกวางทิ้งไว้ของชามโจ๊กที่ทำจากมอลต์ทำให้ “ยีสต์ป่า” ที่ลอยอยู่ในอากาศก็ทำปฏิกิริยาให้ “น้ำตาล” กลายรูปเป็น “แอลกอฮอล์” ที่มีรสซ่าเล็กน้อย หรือโจ๊กได้กลายเป็นเบียร์ไปแล้วนั่นเอง จึงไม่แปลกอะไรที่ชาวเมโสโปเตเมียเรียก ‘ขนมปัง’ ว่า ‘แบปเพียร์’ (Bappir) แปลตรงตัวว่า ‘ขนมปังเบียร์’ และเสิร์ฟขนมปังคู่กับเบียร์เป็นอาหารหลักของผู้คนโดยทั่วไปในสังคมวัฒนธรรมใหญ่ยุคเริ่มแรกประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การบริโภคขนมปังและเบียร์ (หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น) ได้สืบทอดต่อลงมาในวัฒนธรรมยุคหลังจากนั้นในโลกตะวันตกโดยเฉพาะวัฒนธรรมกรีก
ผู้วางรากฐานและโครงสร้างกฎหมายคนสำคัญของกรุงเอเธนส์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมกรีกยุคคลาสสิกอย่าง ‘โซลอน’ (Solon) มีชีวิตอยู่เมื่อราว 2,638-2558 ที่แล้ว ได้เคยประกาศกฎหมายฉบับหนึ่งที่ระบุให้ชาวกรีกเมื่อครั้งกระโน้นสามารถอบ และนำ ‘ขนมปังข้าวสาลี’ (wheaten bread) ออกมาเสิร์ฟได้เฉพาะในงานเทศกาลเท่านั้น ความจริงแล้ว โซลอนไม่ได้เป็นเผด็จการเสียขนาดที่บังคับให้ประชาชนทั่วไปกินขนมปังชนิดนี้ได้เฉพาะในงานเทศกาล หากพิจารณาอย่างละเอียดก็พบว่า เขาเพียงแค่สร้างธรรมเนียมในมื้ออาหารเย็นที่เสิร์ฟกันในสภาการปกครองของกรีกที่เรียกว่า ‘ไพรตานีอิออน’ (Prytaneion) ซึ่งเป็นการเลี้ยงกันเฉพาะภายในสมาชิกของสภาต่างหาก
ส่วนขนมปังประเภทที่โซลอนไม่ได้ห้ามเสิร์ฟในวันทั่วไปก็คือ ขนมปังที่ทำมาจากข้าวบาร์เลย์ (ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่นิยมนำมาทำขนมปังเบียร์ หรือแบปเพียร์ ในดินแดนเมโสโปเตเมีย และอียิปต์โบราณ เพราะข้าวบาร์เลย์สามารถหมักให้เกิดแอลกอฮอล์ที่ให้ฤทธิ์มึนเมาได้อย่างรวดเร็ว และรุนแรงมากกว่าธัญพืชชนิดอื่นๆ ที่รู้จักกันในขณะนั้น) สามารถกินได้ตลอดช่วงเวลาแม้ไม่ใช่วันเทศกาลใดๆ และธรรมเนียมในสภาไพรตานีอิออนที่โซลอนบัญญัติขึ้นนั้นก็ยังถูกนำไปปฏิบัติตามในบ้านคนชั้นสูงของพวกกรีกจนไม่มีการกินขนมปังข้าวสาลีนอกช่วงเวลาเทศกาล แต่กินแบปเพียร์กันในวันปกติทั่วไปเช่นเดียวกับในวัฒนธรรมอียิปต์และเมโสโปเตเมีย
สิ่งที่ชาวกรีกยุคคลาสสิกปฏิบัติแตกต่างออกไป คือ ความนิยมละเลียดกับรสชาตินุ่มๆ ของไวน์มากกว่าการดวดเบียร์กันอย่างชาวเมโสโปเตเมียและชาวอียิปต์ (ทั้งสองวัฒนธรรมนี้ต่างก็รู้จักผลิตไวน์แล้ว) ซึ่งแน่นอนว่ากับแกล้มในวงแอลกอฮอล์นี้ก็ยังเป็นขนมปังอยู่เช่นเดิม
ธรรมเนียมการดื่มไวน์แกล้มด้วยขนมปังตกทอดไปถึงกรุงโรม โดยมีหลักฐานที่สำคัญที่สุดคือ พวกทหารโรมันมาจับกุมตัวพระเยซูหลังจากเหตุการณ์ ‘The Last Supper’ หรืออาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูที่ประกอบไปด้วยขนมปังและไวน์อย่างที่เกริ่นไว้แต่แรกนั่นเอง
ภาพที่ 2: ภาพวาดประกอบในหนังสือที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2375 แสดงภาพโซลอนเรียกร้องให้ผู้คน
ปฏิญาณว่าจะเคารพในกฎหมายที่ตราออกมา
แหล่งที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Solon#/media/File:Solon_demands_to_pledge_respect_for_his_laws.jpg
สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง ‘ขนมปัง’ และ ‘ไวน์’ ในศีลมหาสนิทของศาสนาคริสต์ อาจมีรากเหง้ามาจากพิธีเฉลิมฉลองเทพเจ้าไดโอนิซุส (Dionysus) ของพวกกรีก หรือชาวโรมันเรียกว่า เทพแบคคลุส (Bacchus) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งไวน์และความอุดมสมบูรณ์ด้วยเช่นกันเพราะเทศกาลฉลองของเทพเจ้าไดโอนิซุสมีการดื่มไวน์กันอย่างบ้าคลั่ง (สมดั่งเป็นเทพเจ้าแห่งไวน์) และอาหารที่ใช้กินแกล้มในพิธีเป็น ‘เนื้อดิบ’ ไม่ใช่ ‘ขนมปัง’ มีนัยว่าเป็นการสื่อถึงเทพปกรณัมตอนที่ไดโอนิซุสถูกพวกคณะเทพไทแทน (Titans) ฉีกกินร่างกายของตนก่อนที่จะกลับมาฟื้นคืนชีพซึ่งมีความน่าสนใจว่า นอกจากการดื่มไวน์ในพิธีกรรมแล้วก็ยังมีเรื่องการฟื้นคืนชีพเหมือนกันกับพระเยซูก็ทรงฟื้นคืนชีพหลังจากถูกตรึงกางเขน รวมถึงการกิน ‘เนื้อ’ ซึ่งมีความหมายถึงเรือนร่างของเทพไดโอนิซุสไม่ต่างอะไรกับพระเยซูทรงเปรียบเปรยว่า ‘ขนมปัง’ ก็คือ ‘ร่างกาย’ ของพระองค์
การนำขนมปังและไวน์มาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเรือนร่างและโลหิตของพระเป็นเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามอย่างที่ชาวคริสต์เชื่อถือนั้น จึงมีที่มาเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาตินับตั้งแต่ยุคเริ่มแรกประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
ภาพที่ 3: ลวดลายประดับอายุราว 2,500 ปี รูป ‘เทพไดโอนีซุส ถือแก้วไวน์’ ในห้องใต้หลังคาของโบราณสถานแห่งหนึ่งในแหล่งโบราณคดีวัลซี (Vulci) ประเทศอิตาลี
แหล่งที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Dionysos_kantharos_BM_B589.jpg
ภาพที่ 4: งานเฉลิมฉลองเทพไดโอนีซุส งานจิตรกรรมบนผืนผ้าใบ วาดเมื่อ พ.ศ. 2177
โดยมัสสิโม สแตนซิโอเน่ (Massimo Stanzione) ศิลปินชาวอิตาลี
แหล่งที่มา: https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Sacrificio_a_Baco_(Massimo_Stanzione).jpg