เครื่องกระเบื้องเบญจรงค์เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นเครื่องกระเบื้องเขียนลายไทยที่มีสีสันสดใสสวยงาม นิยมในหมู่นักสะสมว่าเป็นของล้ำค่าและมีราคาแพงในปัจจุบัน ทว่า การศึกษาเครื่องกระเบื้องเบญจรงค์ค่อนข้างยากในการกำหนดยุคสมัย เนื่องด้วยไม่มีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรบ่งบอกไว้อย่างชัดแจ้ง จำเป็นต้องศึกษาด้วยการเทียบเคียงลักษณะการเขียนลวดลายหรือรายละเอียดต่างๆ เพื่อกำหนดยุคสมัยอย่างคร่าว
แม้ว่าเครื่องกระเบื้องเบญจรงค์เขียนลายไทยแต่ก็ไม่ได้ผลิตในไทย เป็นเครื่องกระเบื้องที่สั่งทำมาจากจีน โดยเฉพาะเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น (Jingdezhen) แหล่งผลิตเครื่องกระเบื้องจีนที่มีชื่อเสียงมานับพันปี ราชสำนักไทยได้รับเครื่องกระเบื้องจากจีนในรูปแบบเครื่องบรรณาการตอบ (return gifts) ในระดับรัฐและเป็นสินค้านำเข้า โดยระยะแรกสั่งซื้อภาชนะที่จีนผลิตขาย เครื่องกระเบื้องเหล่านี้ค้นพบในแหล่งโบราณคดีและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่งทั่วประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเครื่องกระเบื้องลายครามที่ผลิตในช่วงปลายราชวงศ์หยวนเป็นต้นมา ต่อมาจึงมีการสั่งทำเครื่องกระเบื้องจากจีนโดยกำหนดรูปทรงและลวดลายตามความนิยมของไทย ดังที่ปรากฎพบว่า ในช่วงปลายสมัยอยุธยาเริ่มมีเครื่องกระเบื้องเขียนสีที่มีสีสันสดใสและเขียนลวดลายไทย สันนิษฐานว่าช่างไทยได้เขียนลายต้นแบบเป็นลายไทยอย่างลายเทพพนมและส่งไปให้ช่างจีนวาดตามแบบ
อย่างไรก็ตาม มีคำถามมากมายเกี่ยวกับเครื่องกระเบื้องเบญจรงค์ที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าเหตุใดจึงตั้งชื่อเครื่องกระเบื้องลักษณะนี้ว่าเบญจรงค์ ทำไมจึงมีเพียง 5 สี หรือมีเครื่องกระเบื้องที่ใช้สีมากกว่า 5 สีก็ยังคงเรียกว่าเบญจรงค์ เนื่องจากยังขาดหลักฐานที่เพียงพอในฝั่งไทย ทว่า คำตอบของคำถามเหล่านี้มีปรากฎอยู่ในพัฒนาการของเครื่องกระเบื้องจีน
กำเนิดโต้วไฉ่ สีสันหลากหลายบนเคลือบจีน
ภาพที่ 1: เครื่องเคลือบซาไฉ่ (三彩) สมัยราชวงศ์ถัง ประกอบด้วยสีขาว สีเหลืองอำพัน และสีเขียว
เครื่องเคลือบชนิดนี้มีการใช้โคบอลต์ที่ให้สีครามด้วยแต่พบจำนวนน้อยมาก
แหล่งที่มาภาพ : National Palace Museum Taipei. (2024). [Online]. Accessed 2024 May 7.
Available from: https://theme.npm.edu.tw/selection/Article.aspx?sNo=04009170&lang=2
ในอดีตการเขียนลวดลายที่มีความละเอียดและใช้หลายสีภายในชิ้นงานเดียวบนเครื่องกระเบื้องนั้นทำได้ยาก อย่างในสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หยวน เครื่องกระเบื้องจี้โจวใช้สีดำเขียนเป็นลวดลายได้เพียงสีดำสีเดียว แม้ว่าในสมัยราชวงศ์ถังมีเครื่องกระเบื้องสามสี เรียกว่า "ซาไฉ่" (三彩) หรือ "ถังสามสี" ซึ่งมีหลายสีในชิ้นงานเดียว แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสีหรือเขียนให้เป็นลวดลายที่มีความละเอียดซับซ้อนได้ สีที่แต้มลงไปจะไหลย้อยลงตามแรงโน้มถ่วงกลายเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องเคลือบถังซาไฉ่ ต่อมาในสมัยต้นราชวงศ์หยวนช่างจีนสามารถใช้โคบอลต์มาเขียนเป็นลวดลายภายใต้เคลือบใสให้สีน้ำเงิน สีจากโคบอลต์นี้ไทยเรียกว่า "ลายคราม" จากนั้นจึงมีสีแดงใต้เคลือบจากทองแดงเพิ่มขึ้นอีกสีหนึ่งในช่วงปลายราชวงศ์หยวนถึงต้นราชวงศ์หมิง
ความพยายามใช้สีหลายสีเขียนลวดลายบนเครื่องกระเบื้องเกิดขึ้นช่วงต้นราชวงศ์หมิง ในรัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ ((ค.ศ. 1402-1425) ตรงกับกษัตริย์ไทยรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ารามราชา (พ.ศ. 1938 - 1952) ต่อเนื่องกับสมัยสมเด็จพระอินทราชา (พ.ศ. 1952 - 1967)) เครื่องเคลือบที่ผลิตในสมัยนี้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเคลือบลายคราม แต่หลักฐานที่พบจากแหล่งขุดค้นเตาหลวงที่จิ่งเต๋อเจิ้นถึง 95% เป็นเครื่องเคลือบสีขาวที่ไม่มีการตกแต่งอะไรมากมายนัก อยู่ในระยะทดลองเริ่มวาดลวดลายด้วยสีอื่นเพิ่มเติมจากสีคราม (โคบอลต์) และสีแดง (แร่ทองแดง) ซึ่งเครื่องเคลือบที่เขียนสี "บนเคลือบ" ส่วนใหญ่เป็นสีแดงจากแร่เหล็ก (iron-red) แทนสีแดงที่ได้จากแร่ทองแดง (copper-red) ซึ่งใช้เขียนลายบนเคลือบได้ไม่ดี ตัวสีฟุ้งกระจายออกไปในขั้นตอนเผา ควบคุมลวดลายไม่ได้ นอกจากนี้ยังพบเครื่องเคลือบเขียนสีเขียว สีแดง และสีน้ำตาล (เผาด้วยอุณหภูมิสูง) เพียงเล็กน้อย สีเขียวจะใช้เป็นสีบนเคลือบ ส่วนสีเหลืองใช้เขียนบนเนื้อกระเบื้องก่อนเคลือบเท่านั้น
สีแดงได้จากแร่เหล็ก (iron-red) เป็นสีกึ่งทึบแสง เมื่อวาดลงบนเนื้อกระเบื้องเคลือบสีขาวจะเห็นลวดลายได้อย่างชัดเจน ส่วนสีเหลืองและเขียวมีลักษณะโปร่งแสงลวดลายแทบมองไม่เป็นเป็นรูปร่าง เครื่องกระเบื้องที่ผลิตได้ในยุคนี้มีเนื้อดินที่มีความบริสุทธิ์สูงมาก ผิวกระเบื้องสีขาวเนียนละเอียด น้ำเคลือบสีใส ในการลงสีช่างต้องคิดค้นเทคนิคพิเศษเพื่อให้สามารถวาดสีลวดลายลงบนเครื่องกระเบื้องที่มีลักษณะโปร่งแสงได้ ด้วยวิธีการขูดผิวภาชนะให้เป็นร่องตื้นๆ จากนั้นจึงลงสี หยดสีจะรวมตัวกันอยู่ในร่องที่ขูดไว้และมีสีเข้มขึ้นจนเกิดเป็นลวดลายตามต้องการ ในบางกรณีพบว่าการลงสีบนผิวภาชนะก่อนนำไปเคลือบจะทำให้ได้สีที่เข้มกว่าการลงสีหลังเคลือบ แต่สีที่ได้จะคล้ำกว่าเนื้อกระเบื้องที่เคลือบแล้ว
ต่อมาช่างทำเครื่องกระเบื้องได้ค้นพบเทคนิคใหม่ใช้วิธีการลงสีครามจากโคบอลต์ลงบนผิวเครื่องกระเบื้องที่เคลือบสีขาวก่อน โดยวาดเป็นเส้นร่างลวดลายต่างๆ แล้วเผาในอุณหภูมิสูง จากนั้นจึงแต้มสีเหลือง แดง เขียวลงตามเส้นกรอบลายที่วาดร่างไว้ และนำไปเผาที่อุณหภูมิต่ำให้สีสุกอีกรอบหนึ่งก็จะได้เครื่องกระเบื้องสีสันสดใสสวยงาม เรียกภาชนะชนิดนี้ว่า "เครื่องกระเบื้องโต้วไฉ่" (鬥彩)
ภาพที่ 2: เครื่องเคลือบโต้วไฉ่ สมัยจักรพรรดิเฉิงฮว่าแห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งประสบความสำเร็จ
ในการผลิตเครื่องกระเบื้องด้วย เทคนิคโต้วไฉ่ ถ้วยใบนี้รู้จักกันในชื่อ "ถ้วยไก่พันล้าน"
(จากการประมูลของบริษัทประมูล Sotheby’s) หนึ่งใน 67 ชิ้นที่จักรพรรดิเฉิงฮว่าสั่งทำขึ้น
เพื่อมอบเป็นของขวัญแก่ว่านกุ้ยเฟย พระสนมอันเป็นที่รัก
แหล่งที่มาภาพ : National Palace Museum Taipei. (2024). [Online]. Accessed 2024 May 7.
Available from:
จากการขุนค้นบริเวณเตาหลวงที่เมืองจิ่งเต๋อเจิ้นพบว่าในชั้นดินสมัยจักรพรรดิซวนเต๋อ ((ค.ศ. 1426-1436) ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา (พ.ศ. 1929 – 1994)) มีหลักฐานแสดงถึงการทำเครื่องกระเบื้องด้วยเทคนิคโต้วไฉ่ได้แล้ว และในสมัยนี้พบว่ามีสีน้ำตาลอมม่วงเป็นสีพิเศษเพิ่มขึ้นเป็นสีลำดับที่สี่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสีที่ได้จากแร่แมงกานีสผสมกับโคบอลต์เล็กน้อย และเป็นสีที่ต้องเผาในอุณหภูมิสูงจึงเพิ่มความยุ่งยากในกระบวนการผลิต จึงพบจำนวนไม่มากนัก
ถัดมาในสมัยจักรพรรดิว่านลี่ ((ค.ศ. 1573-1620) ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา หรือสมเด็จพระสรรเพชญที่ 1 (พ.ศ. 2112 - 2133) เครื่องกระเบื้องที่เขียนสีด้วยเทคนิคโต้วไฉ่มีการตัดเส้นด้วยสีดำเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งสี จึงเรียกเครื่องกระเบื้องนี้ว่า อูไฉ่ (五彩 ห้าสี) เทคนิคนี้ใช้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสมัยจักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง ((ค.ศ. 1662-1723) ตรงกับไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 – 2231))
ภาพที่ 3: เครื่องเคลือบอูไฉ่ (五彩) สมัยจักรพรรดิว่านลี่ ราชวงศ์หมิง เพิ่มการตัดเส้นด้วยสีดำ
เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งสีกลายเป็น 5 สี เทคนิคนี้ใช้ต่อเนื่องจนกระทั่งสมัยราชวงศ์ชิงตอนต้น
แหล่งที่มาภาพ : National Palace Museum Taipei. (2024). [Online]. Accessed 2024 May 7.
Available from:
อูไฉ่คือเบญจรงค์
เมื่อย้อนกลับมายังคำถามว่าเครื่องกระเบื้องเบญจรงค์แบบไทยเกิดขึ้นเมื่อใด หากพิจารณาถึงเทคนิคการลงสีแบบโต้วไฉ่ที่ช่างเครื่องกระเบื้องสามารถคิดค้นได้ตั้งแต่ช่วงสมัยราชวงศ์หมิงตอนต้นแล้วก็ตาม แต่เครื่องกระเบื้องชนิดนี้มีการผลิตเพียงจำนวนน้อยเพื่อใช้ในวังเท่านั้นจึงมีราคาสูงมาก (โดยสามารถเปรียบเทียบราคาถ้วยชาโต้วไฉ่ใบเดียวมีมูลค่าเท่ากับโลหะเงิน 5 กิโลกรัม สามารถซื้อข้าวสำหรับครอบครัวขนาดกลางบริโภคได้ทั้งปี หรือเงินจำนวนนี้สามารถซื้อที่ดินได้ถึง 27 ไร่) ประกอบกับเครื่องกระเบื้องเบญจรงค์เก่าที่สุดที่ค้นพบในไทยใช้เทคนิคสีอูไฉ่ที่ตัดเส้นด้วยสีดำ จึงสามารถสันนิษฐานได้ใน 2 ทาง คือ ข้อหนึ่ง มีการสั่งทำในสมัยสมเด็จพระ
มหาธรรมราชา หรือสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากช่วงปลาย
ราชวงศ์หมิงแผ่นดินจีนอยู่ในภาวะสงคราม ทำให้การผลิตเครื่องเคลือบที่จิ่งเต๋อเจิ้นต้องยุติลง จนกระทั่งพ้นจากสงครามในช่วงค.ศ. 1680 – 1720 (39 ปี) จึงมีการฟื้นฟูการผลิตเครื่องกระเบื้องที่จิ่งเต๋อเจิ้นขึ้นมาอีกครั้ง จากนั้นในช่วงต้นรัชสมัยของจักรพรรดิคังซีจึงสามารถคิดค้นสีใหม่ที่มีลักษณะทึบแสง คือ สีน้ำเงินบนเคลือบ สีชมพู และสีขาว จนประสบความสำเร็จในการผลิตเครื่องกระเบื้องแบบใหม่นี้ว่า “ฟาหลางไฉ่” (琺瑯彩) หรือสีฝรั่ง เนื่องจากใช้เทคนิคสีของตะวันตกเข้ามาเป็นต้นแบบในการคิดค้นสีใหม่ๆ และต่อมาในสมัยจักรพรรดิยงเจิ้ง ((ค.ศ. 1723-1736) ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ (พ.ศ. 2251 - พ.ศ. 2275) มีสีเพิ่มเติมขึ้นอีกถึง 22 สี ส่งผลให้
เครื่องกระเบื้องเบญจรงค์แบบไทยมีสีสันมากขึ้นตามไปด้วย
ภาพที่ 4: เครื่องเคลือบอูไฉ่ (五彩) สมัยจักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง สามารถคิดค้นสีใหม่ได้
ทำให้มีสีที่ใช้วาดบนเครื่องเคลือบมากขึ้น
แหล่งที่มาภาพ : National Palace Museum Taipei. (2024). [Online]. Accessed 2024 May 7. Available from:
https://theme.npm.edu.tw/opendata/DigitImageSets.aspx?sNo=04031757&lang=2&Key=kangxi^22^2&pageNo=31
ภาพที่ 5: เครื่องกระเบื้องเบญจรงค์แบบไทย ในช่วงแรกยังคงใช้เทคนิคสี อูไฉ่ (五彩)
แหล่งที่มาภาพ : นิทรรศการเปิดตัวหนังสือเครื่องปั้นดินเผาจีนและเบญจรงค์ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2562
ข้อสอง จากคำศัพท์ว่า "เบญจรงค์" ผู้เขียนสันนิษฐานน่าจะแปลความหมายจากคำเรียกเครื่องกระเบื้อง "อูไฉ่" ในภาษาจีน ซึ่งเป็นการแปลความหมายแบบตรงตัวว่า "ห้าสี" ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์พระราชวังหลวง (กู้กง) ในไต้หวันได้สำรวจเอกสารโบราณที่เกี่ยวกับเครื่องกระเบื้องโต้วไฉ่ และเครื่องกระเบื้องอูไฉ่แล้วได้ข้อสรุปว่าในสมัยหลังชาวจีนเรียกเครื่องกระเบื้องเขียนสีทั้งหมดว่า "อูไฉ่" แม้ว่าในสมัยราชวงศ์ชิงมีเทคนิคที่ได้รับมาจากตะวันตก และสามารถผลิตสีใหม่เกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมากก็ตาม เช่นเดียวกับคนไทยที่คุ้นชินกับชื่อเรียกเครื่องกระเบื้องเขียนสีทั้งหมดว่า "เบญจรงค์" ตามคำแปลศัพท์ภาษาจีน นั่นเอง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ธันยกานต์ วงษ์อ่อน. (2562). เครื่องปั้นดินเผาจีนและเบญจรงค์ที่พบในพระราชวังหลวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา : การศึกษาเศษภาชนะที่พบจากการขุดค้นโดยกรมศิลปากร เปรียบเทียบกับศิลปวัตถุในสถานสะสมเอกชน. กรุงเทพฯ : หจก. พระรามครีเอชั่น.
Chen Kuo-Tung. Yu Pei-Chin. Wang Chu-Ping. (2013). Porcelain with Painted enamels of Qing Yongzheng period (1723-1735). Taipei: National Palace Museum.
Huang Lanyin. (2017). Pleasingly Pure and Lustrous: Porcelains from the Yongle Reign (1403-1424) of the Ming Dynasty. Taipei: National Palace Museum.
Kerr, Rose. (1998). Chinese Ceramics: Porcelain of the Qing Dynasty 1677-1911. London: V&A Publications.
Liao, Pao Showg. (2008). Stunning Decorative Porcelains from the Ch'ien-lung Reign. Taipei: National Palace Museum.
Wood, Nigel. (1999). Chinese Glazes: Their Origins, Chemistry and Re-creation. London: A & C Black Publishers Ltd.,.
Ts’ai Ho-Pi. (2017). Essential collection of Cheng-hua porcelain ware from the National Palace Museum. Taipei: National Palace Museum.