“สิงคโปร์ไม่เห็นมีอะไรเลย”
เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ หลายคนอาจไม่ได้นึกถึงประเทศสิงคโปร์สักเท่าไหร่ หากแต่ใครที่หลงใหลในประวัติศาสตร์ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หรือประวัติศาสตร์ของชาวจีนโพ้นทะเล ประเทศเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นประวัติศาสตร์ในช่วงศตวรรษที่ 19 แห่งนี้มีมรดกจากอดีตภายใต้ปกครองของอังกฤษ เงาสงครามและการต่อสู้ตั้งตัวของชาวจีนโพ้นทะเลและผู้คนอีกหลากหลายชาติพันธุ์ซ่อนตัวรอให้สำรวจอยู่เต็มไปหมด
ผู้เขียนในฐานะคนที่หลงใหลประวัติศาสตร์ช่วงศตวรรษที่ 20 จึงพลาดไม่ได้กับการสำรวจสิงคโปร์ผ่านเดอะแบทเทิลบ็อกซ์ (The Battle Box) อดีตบังเกอร์จากยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ซ่อนตัวอยู่ภายใต้สวนสาธารณะอันเขียวชอุ่มของฟอร์ตแคนนิ่ง(Fort Canning) สถานที่แห่งนี้พาผู้ชมย้อนเวลาไปสัมผัสกับช่วงเวลาอึมครึมเมื่อสงครามเริ่มแผ่ขยายปกคลุมคาบสมุทรมลายู และความรู้สึกอึดอัดกดดันในบังเกอร์ที่อยู่ลึกลงมาใต้ดินกว่า 9 เมตรเมื่อกองบัญชาการมาลายา (Malaya Command) ตัดสินใจยอมแพ้ให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น นำไปสู่การสูญเสียเกาะสิงคโปร์และคาบสมุทรมลายูให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่นในเวลาต่อมา
ภาพที่ 1 ด้านหน้าและป้ายทางเข้าสำนักงานขายตั๋วของแบทเทิลบ็อกซ์
ทุกอย่างเก่าหมด มีเพียงเครื่องปรับอากาศที่ใหม่
หลังจากลงชื่อเพื่อเข้าชมที่สำนักงานฯ เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์พาผู้เขียนไปยังทางเข้าบังเกอร์ที่ทอดตัวลึกลงไปภายในฟอร์ตแคนนิ่ง ขณะเดียวกันกับเจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่งเพิ่งส่งนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มเข้าไปด้านใน ซึ่งหันมากล่าวติดตลกว่า “ทุกอย่างด้านในบังเกอร์นี้เป็นของเก่าหมดเลยครับ มีแต่เครื่องปรับอากาศนี่แหละที่เป็นของใหม่” ซึ่งประโยคนี้ติดตรึงอยู่ในความคิดของผู้เขียนตลอดการเข้าชมเลยทีเดียว
แบทเทิลบ็อกซ์ หรือ “ฟอร์ตแคนนิ่งบังเกอร์” (Fort Canning Bunker) ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1936 - 1939 เพื่อใช้เป็นศูนย์บัญชาการของกองบัญชาการมาลายา กองกำลังของจักรวรรดิอังกฤษที่จัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องอาณานิคมอังกฤษบนคาบสมุทรมลายูและเกาะสิงคโปร์ ภายในมีห้องมากมายกว่า 20 ห้อง (ปัจจุบันเปิดเป็นห้องจัดแสดง 12 ห้อง) แต่ละห้องเชื่อมต่อถึงกันด้วยทางเดินซับซ้อนและแสงสลัวจากหลอดไฟสีเหลืองอ่อนที่เป็นแสงสว่างเพียงอย่างเดียวที่ใช้ในบังเกอร์ ด้วยสภาพผนังและเพดานที่ปิดทึบล้อมรอบทุกด้านผนวกกับแสงสว่างที่มีอยู่จำกัด รวมถึงความลึกลับซับซ้อนก็ชวนให้รู้สึกอึดอัดอยู่ในทีไม่ต่างจากคุก ในอดีตชาวจีนที่ทำงานให้กับกองทัพอังกฤษจึงเรียกบังเกอร์แห่งนี้ว่า “คุกใต้ดิน”
ในช่วงเวลาที่บังเกอร์แห่งนี้ถูกใช้เป็นศูนย์บัญชาการฯ มีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ที่นี่สูงสุดถึง 500 คน!
แค่ได้ยินผู้เขียนก็รู้สึกขนลุก พลางคิดว่าขณะเดินอยู่กับเพื่อนนักท่องเที่ยวเพียงสิบกว่าคน ยังรู้สึกได้ถึงความอึดอัด
ยิ่งในเวลาสงครามที่มีทหารรวมอยู่ด้วยกันถึง 500 คน การจัดสรรพื้นที่เพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวันทั้งการกินอยู่หลับนอน หรือแม้แต่ขับถ่ายที่มีความสำคัญต่อสุขอนามัยของกองทัพทำได้อย่างไร? ยิ่งกว่านั้นเมื่อจินตนาการถึงสภาพอากาศที่ร้อนชื้นของสิงคโปร์ ความร้อนอบอ้าว และเสียงดังจากเครื่องจักร เครื่องปั่นไฟที่ทำงานอยู่ พร้อมกับจำนวนคนที่ยัดเยียดนับร้อยนั้น ผู้เขียนก็รู้สึกซาบซึ้งถึงความทันสมัยในยุคปัจจุบันที่พิพิธภัณฑ์ติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้เย็นฉ่ำชื่นใจช่วยให้การเดินชมสบายง่ายขึ้นมาทันที
ภาพที่ 2 ทางเดินภายในแบทเทิลบ็อกซ์
ภาพที่ 3 ปล่องทางออกฉุกเฉินในแบทเทิลบ็อกซ์
นับถอยหลังสู่การยอมจำนน
ห้องจัดแสดงทั้ง 12 ห้องนำพาผู้ชมเข้าสู่พื้นที่การใช้ชีวิตและปฏิบัติงานของกองบัญชาการมาลายาในช่วงการบุกคาบสมุทรมลายูและเกาะสิงคโปร์ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ตั้งแต่การจมเรือหลวงรีพัลซ์ (HMS Repulse) และเรือหลวงปรินซ์ ออฟ เวลส์ (HMS Prince of Wales) ในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1941 จนถึงการยอมแพ้ของกองทัพอังกฤษในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 ห้องจัดแสดงที่เปิดให้เข้าชม ได้แก่ห้องพักผ่อนของนายทหาร ห้องถอดรหัสและห้องส่งสัญญาณ ห้องวางแผนยุทธการ เป็นต้น ในแต่ละห้องมีแบบจำลองข้าวของในยุคสมัยนั้นตกแต่งไว้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ประจำวันอย่างหมวกเกราะทหาร กะละมังน้ำ เครื่องกระป๋อง จนถึงเครื่องส่งรหัสมอร์ส สวิตช์บอร์ดสายโทรศัพท์ โต๊ะแผนที่ยุทธการ กระทั่งหุ่นขี้ผึ้งนายทหารเพื่อจำลองเหตุการณ์ในช่วงการรบเพื่อป้องกันเกาะสิงคโปร์
ภาพที่ 4 หุ่นขี้ผึ้งจำลองการติดตามการรุกคืบของกองทัพญี่ปุ่นจากฝั่งกองทัพอังกฤษ
จำนวนนี้ห้องหนึ่งที่มีความพิเศษ คือ ห้องประชุมก่อนการยอมจำนนของกองทัพอังกฤษซึ่งเกิดขึ้น
ที่แบทเทิลบ็อกซ์ในเช้าวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1942 เวลา 9 นาฬิกา 30 นาที นายพลอาเธอร์ เพอร์ซิวัล (Lieutenant-General Arthur Percival) ผู้นำกองบัญชาการมาลายาเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ฯ เพื่อตัดสินใจว่าพวกเขาจะยอมแพ้ให้กับญี่ปุ่นดีหรือไม่ สิ่งที่จัดแสดงในห้องนี้มีหุ่นจำลองนายทหารอังกฤษจัดฉากเลียนแบบจากภาพถ่ายเก่าในสถานการณ์จริง ชวนให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้ย่างเท้ากลับเข้าไปสู่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์
ภาพที่ 5 หุ่นขี้ผึ้งจำลองการประชุมเพื่อตัดสินใจยอมแพ้ต่อกองทัพญี่ปุ่นของฝ่ายอังกฤษ
ระหว่างเดินชมในแต่ละห้องก็มีเสียงซาวด์เอฟเฟคต่างๆ ทั้งการส่งสัญญาณเสียงรหัสมอร์ส เสียงไซเรน หรือเสียงวิทยุสื่อสารเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศ นอกจากนี้ บนกำแพงในบังเกอร์ยังมองเห็นร่องรอยเล็กๆ น้อยๆ จากประวัติศาสตร์อย่างลายมือของทหารญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งไว้ และพิพิธภัณฑ์ได้ติดป้ายคำแปลไว้ด้วยแม้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าบริบทของถ้อยคำเหล่านี้คืออะไรก็ตาม กอร์ปกับบรรยากาศแสงไฟสลัวและเสียงตามสายที่เปิดคลออยู่เป็นระยะ ทางเดินซับซ้อนที่ซ่อนเงามืดไว้ตามหลืบมุมต่างๆ ผสมรวมกับหุ่นนิ่งจำลองทหารราวกับหยุดกาลเวลาไว้ ยิ่งทำให้ผู้ชมอดนึกถึงเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้เมื่อกว่า 80 ปีก่อนไม่ได้
สำหรับใครที่อ่านมาถึงจุดนี้แล้วรู้สึกหวั่นใจขึ้นมา ผู้เขียนอยากบอกให้รู้สึกสบายใจขึ้นว่าที่นี่ไม่มีพลังงานลี้ลับอะไรซ่อนอยู่อย่างแน่นอน และอย่าตื่นกลัว เพราะเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ยืนยันว่าไม่มีการสู้รบนองเลือดเกิดขึ้นในบังเกอร์นี้แต่อย่างใด การประชุมจบลงด้วยข้อสรุปการยอมจำนนต่อกองทัพญี่ปุ่นที่โรงงานฟอร์ดในเขต
บูกิต ติมาห์ (Bukit Timah) และกองทัพญี่ปุ่นได้เข้ามาใช้พื้นที่นี้เพียงชั่วขณะที่ยึดครองสิงคโปร์เท่านั้น
การเดินทางมายังแบทเทิลบ็อกซ์และการเยี่ยมชมแบทเทิลบ็อกซ์
คนที่สนใจสามารถเดินทางมายังแบทเทิลบ็อกซ์และสวนสาธารณะฟอร์ตแคนนิ่งได้ด้วยรถไฟใต้ดินหลายเส้นทาง ได้แก่ สายสีเหลือง (Circle Line) สายสีม่วง (North East Line) และสายสีแดง (North South Line) โดยลงที่สถานีโดบี้ กอร์ท (Dhoby Ghaut) ใช้ทางออก B หรือรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน(Downtown Line) โดยลงที่สถานีฟอร์ตแคนนิ่ง (Fort Canning) ใช้ทางออก B
ผู้เข้าชมต้องลงทะเบียนที่สำนักงานขายตั๋ว จากนั้นพนักงานจะนำไปยังทางเข้า ซึ่งสามารถเลือกรูปแบบการเข้าชมได้ ทั้งการเดินชมด้วยตัวเองแล้วอ่านข้อมูลเรื่องราวได้จากป้ายต่างๆ หรือเลือกใช้อุปกรณ์ออดิโอไกด์ ซึ่งขอรับการสนับสนุนเป็นเงินบริจาค 5 ดอลลาร์สิงคโปร์
ทั้งนี้ แบทเทิลบ็อกซ์ เปิดให้บริการวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09:30-17:00 โดยผู้เข้าชมต้องเข้าชมภายในเวลา 16:00 ผู้สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://battlebox.sg/
นอกจากแบทเทิลบ็อกซ์แล้ว ภายในบริเวณสวนสาธารณะฟอร์ตแคนนิ่งยังมีสถานที่น่าสนใจให้รับชมหรือเดินพักผ่อนหย่อนใจอีกมากมาย อาทิ สวนสมุนไพรและพิพิธภัณฑ์สมุนไพรฟอร์ตแคนนิ่ง อนุสรณ์สุสานเก่า รวมถึงสถานที่ท็อปฮิตในการถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียอย่างอุโมงค์ต้นไม้ด้วย
แม้บางคนอาจกล่าวว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่ “ไม่มีอะไรเอาเสียเลย” แต่ในมุมมองของผู้เขียนที่หลงใหลในประวัติศาสตร์ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แล้วกลับคิดว่าสิงคโปร์ (รวมถึงฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ และเมืองท่าหลายเมืองของญี่ปุ่น) เป็นเมืองที่มองข้ามไปไม่ได้ ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ที่มีพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในสังคม รวมถึงร่องรอยความทรงจำถึงยุคสงครามที่ยังคงทิ้งบาดแผลไว้จนปัจจุบัน โดยเฉพาะแบทเทิลบ็อกซ์ที่เป็นอีกเศษเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกที่ได้เปลี่ยนชีวิตคนจำนวนมาก (ซึ่งอาจรวมถึงอาม่า อากงของใครหลายคนในประเทศไทยด้วย) ขอแค่เพียงแง้มออกดูก็อาจค้นพบประวัติศาสตร์ฉากใหญ่ที่เกาะแห่งนี้ซ่อนเอาไว้
เอกสารอ้างอิง
Ho, S. (2013, July). Battle of Singapore. Retrieved from Nation Library Board of Singapore: https://www.nlb.gov.sg/main/article-detail?cmsuuid=1afe9a7e-f0bd-4b11-9fe3-bb3aab31c3e8
Ho, S. (2013, July). Malayan Campaign. Retrieved from National Library Board of Singapore: https://www.nlb.gov.sg/main/article-detail?cmsuuid=f2e9428f-c2cc-4c21-8a33-6ba79d03d77e
Mydin, I. (n.d.). 1942 and the Fall of Singapore. Retrieved from ROOTS: https://www.roots.gov.sg/en/stories-landing/stories/1942-and-the-fall-of-singapore/story
National Museum of Australia. (2023, September). Fall of Singapore. Retrieved from National Museum of Australia: https://www.nma.gov.au/defining-moments/resources/fall-of-singapore
Ng, K. (2023, June). Free entry to The Battlebox in Fort Canning Park from Oct 2023. Retrieved from The Straits Time: https://www.straitstimes.com/singapore/free-entry-to-the-battlebox-in-fort-canning-park-from-oct-2023
Wong, H. (2018). Fort Canning Bunker (The Battlebox). Retrieved from National Library Board of Singapore: https://www.nlb.gov.sg/main/article-detail?cmsuuid=39e1487d-5e7a-4ab6-b466-88470867a69e