Museum Core
Insect Agency สำรวจโลกแมลงหลากสีแห่งควีนส์แลนด์
Museum Core
28 มิ.ย. 67 513
ประเทศออสเตรเลีย

ผู้เขียน : กฤษณรัตน์ รัตนพงศ์ภิญโญ

               หากพูดถึงประเทศออสเตรเลีย หลายคนคงนึกถึงอากาศเย็นสบายตลอดปี อย่างไรก็ดี หลายพื้นที่ในดินแดนออสซีเองก็ร้อนอบอ้าวไม่ต่างกับเมืองไทยตอนนี้ ยิ่งในรัฐที่ขึ้นชื่อเรื่องป่าฝนเขตร้อนอย่างควีนส์แลนด์ด้วยแล้ว อากาศร้อนชื้นขณะนี้มีผลต่อการขยายพันธุ์ของแมลงหลายชนิด แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่หลงใหลเจ้าหกขา แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าพวกมันไม่มีความสำคัญต่อโลกสีคราม ผู้เขียนจะพาไปท่องอาณาจักรแมลงแสนยิ่งใหญ่ในนิทรรศการแมลง (Insect Agency) ที่รวบรวมตัวอย่างแมลงนับพันมาให้ได้สัมผัส

               นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการพิเศษจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ควีนส์แลนด์ (Queensland Museum) ใจกลางเมืองบริสเบน โดยความร่วมมือของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์รัฐควีนส์แลนด์และสมาคมกีฏวิทยาแห่งควีนส์แลนด์ (Entomological Society of Queensland) ที่ก่อตั้งในปีค.ศ. 1923 และเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้ง สมาคมฯ จึงแบ่งปันคอลเล็กชันแมลงหายากหลากสีสันให้พิพิธภัณฑ์นำมาจัดแสดงนิทรรศการที่ชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 2023 จนถึงวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 2024 โดยไม่ต้องเสียค่าเข้าชมแต่อย่างใด

 

ภาพที่ 1 บรรยากาศในงานนิทรรศการ

 

               ภายในห้องจัดแสดงมีคำอธิบายวัตถุประสงค์นิทรรศการอย่างคร่าว เนื่องด้วยพิพิธภัณฑ์ควีนส์แลนด์เต็มไปด้วยผู้ชมรุ่นเยาว์ การบอกเล่าเรื่องราวจึงถ่ายทอดผ่านเจ้า “บัซซ์ (Buzz)” จักจั่นตัวจ้อยที่ทำหน้าที่เสมือนไกด์นำชมให้เด็กๆ บัซซ์อธิบายจุดมุ่งหมายของนิทรรศการว่าออกแบบเพื่อให้มีความเข้าใจแมลงมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่ลักษณะทางกายภาพของพวกมันเท่านั้น แต่แมลงยังเป็นส่วนสำคัญในการปรับสมดุลระบบนิเวศ และเป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์สร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ

               โซนแรกของนิทรรศการนำเสนอเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของแมลง มีกระดูกอยู่ภายนอกร่างกาย กระดูกนี้เรียกว่า “โครงกระดูกภายนอก (Exoskeleton)” เป็นเสมือนเกราะป้องกันร่างกายและอวัยวะภายในของแมลง โดยปกติโครงสร้างร่างกายแมลงแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ หัว อก และช่องท้อง ส่วนหัวประกอบด้วยตา หนวด และปาก ส่วนอกมีขาหรือปีกงอกออกมาเมื่อโตเต็มวัย และช่องท้องเป็นส่วนที่แมลงใช้ย่อยอาหารและสืบพันธุ์

               นอกจากนี้แมลงแต่ละชนิดยังมีอวัยวะพิเศษเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต เช่น แมลงวันมีขนตาไว้ป้องกันฝุ่นละอองขณะบิน ผีเสื้อกลางคืนมีหนวดไว้ตรวจจับกลิ่นจากเพศตรงข้าม ยุงเพศผู้ใช้หนวดตรวจจับแรงสั่นสะเทือนจากการขยับปีกของยุงเพศเมีย เป็นต้น ในโซนนี้มีการแสดงตัวอย่างแมลงจากคอลเล็กชันของพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เข้าใจการทำงานของระบบต่างๆ ภายในตัวแมลงได้ดียิ่งขึ้น

 

ภาพที่ 2 คอลเล็กชันแมลงในนิทรรศการ

 

               โซนต่อมามีชื่อว่า “โลกของแมลง” (Insect Planet) อธิบายถึงความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรแมลงในโลกโดยนักกีฏวิทยาให้ข้อมูลว่า ในโลกมีแมลงมากกว่าล้านล้านตัว สามารถแบ่งได้ราว 10 ล้านสายพันธุ์ หากเทียบสัดส่วนแล้วมีจำนวนแมลงเฉลี่ย 1.25 ล้านตัวต่อมนุษย์ 1 คน กว่าครึ่งของประชากรแมลงทั้งหมดเป็นแมลงปีกแข็ง บางชนิดอาจมีขนาดเล็กเพียงไม่ถึงมิลลิเมตร ขณะที่แมลงปีกแข็งบางชนิดอาจมีขนาดใหญ่ถึง 19 ซม. เฉพาะในออสเตรเลียก็มีแมลงปีกแข็งที่ตั้งชื่อแล้วราว 2 หมื่น 5 พันสายพันธุ์ และมีอีกมากมายที่ยังรอการตั้งชื่อจากนักกีฏวิทยาผู้ค้นพบ

               แมลงเป็นสัตว์ที่ปรับตัวตามสภาพแวดล้อม เจ้าหกขาอาศัยอยู่ทุกที่ ไม่ว่าเขตเมืองใหญ่ ทะเลทราย หรือลึกเข้าไปในป่าฝนเขตร้อน ในรัฐควีนส์แลนด์ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีแมลงชุกชุมที่สุด ถึงขั้นที่ผู้อพยพยุคบุกเบิกต้องสร้างบ้านยกพื้นสูงเพื่ออยู่ให้ห่างจากแมลงมีพิษ ลำพังแค่สวนเมืองบริสเบนแห่งเดียวก็อาจพบแมลงได้ถึง 60 สายพันธุ์ อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศร้อนชื้นของควีนส์แลนด์ไม่เพียงเป็นแหล่งอาศัยของแมลงเท่านั้น แต่ยังดึงดูดนักกีฏวิทยาเลื่องชื่อให้มาศึกษาแมลงในรัฐนี้เช่นกัน และบุคคลสำคัญที่สุดเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “เฟรเดอริก พาร์คัสต์ ดอดด์ (Frederick Parkhurst Dodd)” ผู้ได้รับฉายา “มนุษย์ผีเสื้อแห่งคูรันดา (Butterfly Man of Kuranda)” ดอดด์เป็นนักกีฏวิทยาผู้ทรงคุณูปการในคริสต์ศตวรรษที่ 20 คอลเล็กชันแมลงของเขาเป็นส่วนหนึ่งในตัวอย่างแมลงกว่า 4 ล้านตัวที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ควีนส์แลนด์ ทั้งแมลงที่มีถิ่นกำเนิดในควีนส์แลนด์และรัฐอื่นในออสเตรเลีย รวมถึงแมลงหายากจากหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิกอีกด้วย

               ถัดไปเป็นโซนไฮไลท์ของนิทรรศการก็ว่าได้เป็นเรื่องประโยชน์ที่มนุษย์ได้จากแมลง หากย้อนไปในวัยเด็ก ทุกคนคงเคยถูกสอนว่าแมลงเป็นตัวปรับสมดุลระบบนิเวศและช่วยดอกไม้ผสมเกสร ทว่านิทรรศการแมลง ได้นำเสนอประโยชน์อื่นของแมลงที่คนอาจไม่คาดคิด อย่างเทคโนโลยีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากลักษณะเด่นของแมลง ซึ่งมีชื่อเรียกศาสตร์นี้ว่า “การเลียนแบบสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ” (Biomimicry) ดังที่ทราบกันดี เหล่าแมลงมีวิวัฒนาการตลอดเวลา บางชนิดสร้างปีกขึ้นมาให้สะดวกแก่การหาอาหาร บางชนิดมีหนวดเพื่อตรวจกลิ่นให้รู้ว่าเป็นมิตรหรือศัตรู มนุษย์ได้เรียนรู้ความสามารถของแมลงและนำมาประยุกต์ให้เข้ากับการดำรงชีวิต ตัวอย่างของเทคโนโลยีล้ำหน้าที่นำเสนอในนิทรรศการ ได้แก่ พลาสติกห่ออาหารที่มีพื้นผิวคล้ายปีกจักจั่นที่มีคุณสมบัติในการฆ่าแบคทีเรีย ส่งผลให้อาหารไม่เน่าเสียง่าย แผงโซลาร์ดูดซับแสงที่ได้ไอเดียจากคุณสมบัติดูดซับแสงในปีกผีเสื้อบางชนิด โดรนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวิธีตรวจจับและล่าเหยื่ออย่างมีประสิทธิภาพของแมลงปอ เป็นต้น

               นอกจากเทคโนโลยีล้ำสมัยดังกล่าว ในอดีตออสเตรเลียเคยผ่านพน้วิกฤติได้หลายครั้งจากการใช้ประโยชน์จากแมลง ราวครึ่งศตวรรษที่แล้ว ชาวออสซีประสบปัญหาของเสียจากปศุสัตว์ อันที่จริงมูลสัตว์สามารถย่อยสลายเองตามกาลเวลาแต่ในกรณีที่มีปศุสัตว์จำนวนมากกว่ามนุษย์เป็นเท่าตัว ทำให้ผู้เลี้ยงสัตว์ต้องหาทางกำจัดมูลสัตว์ให้เร็วที่สุดเพื่อยับยั้งการระบาดของโรค ระหว่างปีค.ศ. 1967 - 1975 รัฐบาลออสซีนำเข้าแมลงต่างประเทศอย่างแมงกุดจี่ที่กินมูลสัตว์เป็นอาหาร เพื่อช่วยการย่อยสลายมูลสัตว์ที่มีจำนวนกว่า 30 ล้านตันต่อปี ในที่สุดแมงกุดจี่ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ช่วยเกษตรกรให้รอดพ้นวิกฤติได้อย่างน่าอัศจรรย์

               อีกครั้งหนึ่งเป็นวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ที่มีการระบาดของกระบองเพชรต้นแบนช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 กระบองเพชรต้นแบนทำลายพืชผลเกษตรกรออสซีกว่า 60 ล้านไร่ ปัญหาครั้งนี้ถูกแก้ไขในปี ค.ศ. 1925 โดยรัฐนำเข้าตัวอ่อนผีเสื้อกลางคืนจากอาร์เจนตินาที่เป็นศัตรูพืชตัวฉกาจของกระบองเพชรในอเมริกาใต้เข้ามาช่วยกำจัดกระบองเพชรในที่นาให้กับเกษตรกร งานวิจัยในครั้งนั้นนำทีมโดย “อลัน พาร์คัสต์ ดอดด์ (Alan Parkhurst Dodd)” บุตรชายของมนุษย์ผีเสื้อแห่งคูรันดาที่เป็นนักกีฏวิทยาเช่นเดียวกับบิดา ดอดด์ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากอังกฤษในการแก้ไขวิกฤติการณ์ และทำให้ชาวออสซีตระหนักถึงประโยชน์ของแมลงในแง่มุมที่ไม่เคยพบมาก่อน    

 

ภาพที่ 3 แมลง อาหารแห่งอนาคต

 

               นอกจากนี้ ในนิทรรศการมีการนำเสนออาหารที่ปรุงจากแมลงเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่น่าจะถูกใจชาวไทย ซึ่งคุ้นเคยกับอาหารข้างทางประเภทแมลงทอด อย่างหนอนรถด่วนและตั๊กแตนปาทังก้าเหยาะซอสแม็กกี้และโรยพริกไทย แต่ชาวออสซีมีประวัติอาหารจากแมลงมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยชนชาติแรก (First Nation People) แห่งออสเตรเลียก็ทานแมลงกว่า 60 ชนิดเป็นอาหารหลักก่อนการมาถึงของชาวยุโรป ซึ่งพิพิธภัณฑ์ต้องการโปรโมทแมลงในฐานะอาหารแห่งอนาคต จึงได้เชิญเชฟจากนิวยอร์กมาปรุงอาหารให้ชมเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 2023 เรียกได้ว่าถูกอกถูกใจชาวเอเชียอย่างผู้เขียน

               นิทรรศการแมลงจัดแสดงควบคู่กับนิทรรศการ “มนุษย์ผีเสื้อแห่งคูรันดา” (The Butterfly Man of Kuranda) ซึ่งเป็นเรื่องราวของดอดด์และครอบครัวที่หลงใหลในแมลง หากใครมาเที่ยวที่ควีนส์แลนด์ผู้เขียนขอแนะนำให้ชมทั้ง 2 นิทรรศการคู่กันเพื่ออรรถรสในการดื่มด่ำเรื่องราวโลกแมลงยิ่งขึ้น มีกิจกรรมให้เด็กได้ลองสวมบทบาทนักกีฏวิทยามือสมัครเล่นมากมาย เชื่อว่าเด็กๆ จะสนุกเพลินและได้แรงบันดาลใจอะไรบางอย่างจากโลกของแมลงอย่างแน่นอน

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

Monteith, Geoff. The Butterfly Man of Kuranda: Frederick Parkhurst Dodd. Brisbane: Queensland

Museum, 1992.

Musgrave, A.. Bibliography of Australian Entomology, 1775 – 1930. Sydney: Royal Zoological Society

Of New South Wales, 1932.

Queensland Museum. Insect Agency. (2023). [Online]. Accessed 2023 Oct 18. Available from: https://www.museum.qld.gov.au/queensland-museum/whats-on/insect-agency

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ