Museum Core
สวนโก้โก้ของชาวบรีบรี: บันทึกความทรงจำจากพิพิธภัณฑ์กลางสวน
Museum Core
15 ก.ค. 67 827
ประเทศคอสตาริกา

ผู้เขียน : พรฤทัย โชติวิจิตร

               ย้อนกลับไปช่วงแรกของการระบาดโรค Covid-19 ผู้เขียนเป็นนักศึกษาติดค้างอยู่ที่ประเทศคอสตาริกา จนเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นและมีการอนุญาตให้เดินทางได้ เพื่อนร่วมบ้านของผู้เขียนจึงได้ชวนไปเที่ยวเมืองริมทะเลชื่อ เปอร์โต เวียโฮ (Puerto Viejo) ในเขตลิมง-ตาลังมังกา (Limón, Talamanca) ฝั่งทะเลแคริบเบียน (Carribbean) ผู้เขียนตอบตกลงในทันทีเพราะอยากไปดูสวนโกโก้ที่ปลูกแบบดั้งเดิมของชาวบรีบรี (Bribri) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งของคอสตาริกา และเพื่อนร่วมทางต่างก็เห็นชอบจึงออกเดินทางไปหาสวนที่ว่าจนเจอ

               ป้ายไม้ใหญ่เขียนว่า พิพิธภัณฑ์โกโก้แห่งชาติ (Museo Nacional de Cacao) ตั้งเด่นเป็นสง่าและดูแปลกตากว่าอาคารก่ออิฐถือปูนอย่างพิพิธภัณฑ์ทั่วไป ภายในบริเวณดูครึ้มเขียวไปด้วยต้นไม้นานาชนิด ทันใดนั้นเองก็มีเด็กชายและชายหนุ่มผิวสีเข้มเดินถือผลโกโก้สดออกมาที่จุดประชาสัมพันธ์ หลังจากพูดคุยกันพอรู้เรื่องก็พบว่า ด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยว การเข้าชมต้องจองมาก่อนล่วงหน้าเท่านั้น หรือให้มาใหม่ในวันรุ่งขึ้น แม้กลุ่มของผู้เขียนจะได้เข้าชมในวันรุ่งขึ้นแน่นอนแล้ว แต่ผู้เขียนก็อดใจรอชิมโก้โก้ไม่ไหว ซึ่งทั้งสองก็เต็มใจกะเทาะผลโกโก้แก่สีเขียวแกมเหลืองผลใหญ่กับผนังอย่างแรงดัง "โป๊ะ!" เนื้อขาวปุยด้านในก็เผยออกมา ผู้เขียนหยิบเข้าปากแล้วรู้สึกตกใจเมื่อพบว่าผลโกโก้มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว กลิ่นแบบลูกอมรูปหัวใจที่มีอยู่ในธรรมชาติ

 

ภาพที่ 1 กระท่อมหมอยาจำลอง รูปปั้นหินของชาวบรีบรี และแสงจากหลังคากระท่อมส่องลงมาที่กองไฟ

 

               ในวันถัดมาผู้เขียนและเพื่อนอีก 3 คนมาที่สวนตามเวลานัดหมาย วันนั้นมีผู้เข้าชมเป็นกลุ่มของผู้เขียนเพียง 4 คนเท่านั้น และมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งทำหน้าที่เป็นไกด์นำทางและคอยอธิบายเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีกฎเกณฑ์การเข้าชมแตกต่างจากแห่งอื่น ได้แก่ 1) โปรดฉีดยากันยุงและกันแมลงให้ทั่วตัว 2) ใส่รองเท้ารัดกุม ไม่เปิดเท้า 3) ห้ามเดินนอกเส้นทางและโปรดระวังงูมีพิษตามป้ายแสดงชนิดงูนี้ (ขอให้ตาไวเข้าไว้ สังเกตทางเดินให้ดี)

               ขณะที่กลุ่มหยุดอยู่หน้ารูปปั้นหินจระเข้ตัวใหญ่ ไกด์ได้กล่าวขึ้นว่า "ก่อนอื่นฉันอยากให้ทุกคนหยิบกล้วยกี่ลูกก็ได้จากตรงนั้นมา เราต้องทักทายเจ้าของสถานที่กันก่อน" พร้อมอธิบายต่อว่าสถานที่แห่งนี้แต่ดั้งเดิมเป็นเขตพื้นที่ของชนพื้นเมืองและมีสระน้ำเก่าแก่ที่มีจุดเชื่อมต่อไปบ่อข้างเคียงทั้งในและนอกสวน โดยเส้นทางน้ำยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงทำให้ยังมีลูกหลานของจระเข้เจ้าถิ่นอาศัยอยู่ จากนั้นไกด์ก็เริ่มโยนกล้วยลงน้ำ แล้วจระเข้เคย์แมนที่ตัวไม่ใหญ่นักก็ปรากฏตัวออกมากินกล้วยที่โยนให้หงับๆ  จากนั้นผู้นำทางก็เรียกกลุ่มของผู้เขียนให้มายืนล้อมวงหินก้อนกลมที่มีพืชเขียวปกคลุมทั่วพื้นผิว โดยบอกว่านี่คือสัญลักษณ์ตั้งแต่ยุคก่อนโคลัมบัส (Pre-Columbian) พร้อมกับร้องขอให้ช่วยส่งข้อความว่า “เราจะรักษาธรรมชาติบนโลกใบนี้ได้อย่างไร?" หลังจากเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้เสร็จ

               แม้โปรแกรมชมพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งนี้มีไฮไลท์สำคัญที่สวนโกโก้และการทดลองแปรรูป หากแต่เนื้อหานำเสนอที่ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมงไปกับการทำความรู้จักวัตถุจัดแสดงทั้งพืชท้องถิ่น และพืชต่างถิ่นที่ปลูกมานาน จนแอบเผลอคิดว่ากำลังเรียนวิชาพฤกษศาสตร์ ทำให้ผู้เขียนอยากเปลี่ยนหัวข้อโปรแกรมใหม่เป็น ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของแผ่นดินชาวบรีบรี โดยมีโกโก้เป็นหนึ่งในระบบนั้น  ดังเช่น ขณะที่กำลังยืนอยู่หน้าต้นไม้สูงลิบที่มีกาฝากพันอยู่ จู่ๆ ก็มีคำถามทดสอบความรู้จากไกด์ว่า "เธอเห็นวัตถุดิบสำคัญอะไรที่นำไปใช้ผสมโกโก้ไหม?" ผู้เขียนแหงนหน้าจ้องกาฝากเถาว์หนึ่งที่อยู่สูงขึ้นเรื่อยๆ และเห็นฝักก้านเขียวหลายกลุ่ม ซึ่งได้รับคำเฉลยว่าเป็น "วานิลลา" ทำให้ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมากเพราะเคยเห็นแต่วานิลลาที่มีคนปลูกบนเสาปูนเลื้อยเตี้ยๆ เท่านั้น แล้วเรื่องของวานิลลาก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เริ่มสนุกกับการหาวัตถุดิบเพื่อไปทำโกโก้ ทั้งที่ตอนแรกกลุ่มของผู้เขียนเริ่มหาวหวอดๆ เคลิบเคลิ้มไปกับการเดินชมนกชมไม้กันอยู่นาน

 

ภาพที่ 2 นิเวศสวนโกโก้ของชาวบรีบรีที่เหนือต้นโกโก้มีต้นกล้วย และต้นไม้สูงไล่ระดับเป็นชั้นๆ

 

               ไกด์ยังคงอธิบายต่อว่านิเวศสวนป่าของชาวบรีบรีมีวัตถุดิบเยอะแยะที่ใช้ทั้งทำอาหารและปรุงยา โดยชี้ชวนให้ดูเสาไม้ที่มีคันโยกตรงกลางไว้หีบอ้อยเพื่อคั้นน้ำ ซึ่งเป็นที่คั้นน้ำแบบง่ายๆ และใช้งานได้จริง นอกจากนี้ภายในกระท่อมมีแท่นบดหินจัดแสดงหลายชิ้น ขณะที่สายตาของผู้เขียนสนใจและจดจ้องอยู่กับลำแสงที่ลอดผ่านรูเล็กลงมาที่กองไฟกลางกระท่อมพอดิบพอดี ไกด์ก็อธิบายขึ้นว่า "แสงนั่นมีความหมาย” ชาวบรีบรี เรียกโกโก้ว่า ซูรู (Tsuru) และเรียกต้นโกโก้เป็นเพศหญิง ในชุมชนจะมีคนที่ทำหน้าที่เป็นหมอยา (healer) เข้ามานั่งที่กลางกระท่อมตรงกับช่องแสงนี้ จากนั้นก็ดื่มโกโก้ที่ผสมเครื่องปรุงต่างๆ โดยเฉพาะลูกจันทน์เทศ (Nutmeg) จำนวนมากที่เชื่อว่าเป็นขุมพลังช่วยให้เกิดญาณสื่อสารกับเทพเจ้าและโลกธรรมชาติผ่านช่องแสงนั้น เพื่อปรุงยาและประกอบพิธีกรรมในชุมชน

               สำหรับชาวบรีบรีแล้ว โกโก้เป็นทั้งสสารบริสุทธิ์ เป็นอาหารและยา เมื่อชาวบรีบรีสิ้นชีวิตหมอยาจะราดโกโก้ทั่วทั้งร่างเพื่อชำระล้างให้ผู้วายชนม์พร้อมออกเดินทางไปหาเทพเจ้าในโลกวิญญาณตามความเชื่อของพวกเขา โกโก้มีความสำคัญอย่างมากต่อชุมชนที่นี่ โดยมีบันทึกว่าชนพื้นเมืองไม่ยอมให้โกโก้ แต่ยอมให้ทองแก่สเปนเมื่อตอนที่ถูกรุกราน เรื่องราวของโกโก้ที่เชื่อมโยงกับจิตวิญญาณอย่างเหนียวแน่นนี้มีส่วนคล้ายกับวัฒนธรรมที่
ผู้เขียนรับรู้จากประวัติศาสตร์ชนพื้นเมืองในประเทศเม็กซิโก ทำให้ผู้เขียนได้ปะติดปะต่อความรู้จากการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์จากที่ต่างๆ  

               ในที่สุดไกด์ก็เอ่ยชวนว่า "เราไปทำโกโก้กันเถอะ" และพากลุ่มของผู้เขียนไปยังสวนโกโก้ที่มียุงชุม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ผู้เยี่ยมชมจำเป็นต้องพ่นยากันยุงก่อนเข้ามา และยุงเป็นสมการสำคัญของการปลูกโกโก้ที่นี่ เพราะยุงตัวผู้จะที่ทำหน้าที่เป็นนักผสมเกสรโกโก้ให้ติดดอกออกผล มีชื่อว่า "เฮเฮเนส" (jejenes) ดังนั้น ชาวบรีบรีจะดูแลรักษาระบบนิเวศรอบต้นโกโก้เป็นอย่างดี เนื่องจากต้นโกโก้เป็นพืชที่ชอบอยู่ใต้ร่มเงา ต้องการแดดแค่ 50% โตได้ดีในแถบเมืองชายฝั่งที่อากาศอุ่น ชาวบรีบรีจึงจัดการนิเวศสวนโกโก้ซึ่งมีชั้นร่มเงาเป็นระดับและรักษาป่าตามธรรมชาติให้อยู่ร่วมกัน เหนือต้นโกโก้จะปลูกต้นกล้วย เมื่อใบกล้วยร่วงลงพื้นทับถมกันก็เป็นแหล่งยุง ระดับสูงเหนือจากนั้นไปเป็นร่มป่าดั้งเดิมที่มีต้นไม้ท้องถิ่นสูงใหญ่ นอกจากความรู้ทางการเกษตรของชาวบรีบรี ไกด์ยังเล่าถึงอิทธิพลสมัยการค้ายุคอาณานิคมที่มีผลกระทบกับสายพันธุ์โกโก้พื้นเมืองที่ถูกดัดแปลงให้ผสมกับสายพันธุ์จากแหล่งอื่นด้วย ทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นเมื่อมองเห็นผลโกโก้หลากสี ทั้งสีเหลืองเขียว สีน้ำตาลแดงเข้ม สีแดงแสดแกมเหลือง

               การเก็บเกี่ยวโกโก้นั้นทำได้หลายครั้งตลอดทั้งปี ไม่ได้เก็บเสร็จภายในวันเดียว และมีกระบวนแปรรูปหลายขั้นตอน บริเวณลานแปรรูปหลังเก็บผลโกโก้มาแล้ว เมล็ดสีขาวด้านในจะถูกแกะออกนำมาหมักในกล่องหมักขั้นบันได 6 ชั้นกล่องที่เป็นนวัตกรรมพื้นบ้าน ขั้นตอนการหมักเริ่มจากนำเมล็ดโก้โก้สดใส่ในกล่องชั้นบนสุด วันถัดมาก็ไล่กวาดเมล็ดจากวันแรกให้ลงมาที่กล่องถัดไปที่อยู่ต่ำกว่า ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จบครบทั้ง 6 ชั้น และวันสุดท้ายนำเมล็ดออกมาตากแดดบนถาดที่มีกลไกสามารถดึงชักเข้าออกเพื่อหลบฝนตามสภาพอากาศเมืองชายฝั่งทะเลฝนชุก จากเมล็ดปุยสีขาวในตอนแรกกลายเป็นเมล็ดผิวลื่นสีน้ำตาลคาราเมล จนกระทั่งเมื่อตากจนแห้งสนิทเมล็ดโกโก้ดูคล้ายเมล็ดถั่วอัลมอนด์ที่ยังมีเปลือกหุ้มด้านนอก

 

ภาพที่ 3 ขั้นตอนต่างๆ ในการแปรรูปโกโก้

 

               ในขั้นตอนการทำช็อคโกแลตที่เป็นไฮไลต์ของโปรแกรมทัวร์พิพิธภัณฑ์ เริ่มด้วยการชิมเมล็ดโกโก้ที่คั่วเอาเปลือกออกแล้ว ซึ่งผู้เขียนพบว่ารสสัมผัสของโกโก้มีรสขม เปรี้ยว และกลิ่นผลไม้หมักชัดเจน อันเป็นรสชาติแท้จริงของโกโก้ที่ชาวตะวันตกไม่นิยม จึงทำให้เกิดกระบวนการทำโกโก้แบบดัชท์ (Dutch processed cocoa) ที่มีการเติมสารอัลคาไลน์ (สารละลายที่มีความเป็นด่าง) ลงไปเพื่อสลายรสเปรี้ยวให้หายไป และวิทยาการจากตะวันตกทำให้โกโก้ได้รับความนิยมไปอย่างแพร่หลาย กลายเป็นช็อคโกแลตที่สามารถนำมาผสมนมน้ำตาลให้มีรสชาติละมุนกลมกล่อม

               นอกจากการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศและกระบวนการผลิตโกโก้แล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชนหนึ่งกับโลกยุคปัจจุบันด้วยเรื่องเล่าของพืชชนิดนี้ผ่านใบประกาศโฆษณาโกโก้ยุคเก่าที่สะสมไว้หลายใบที่สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการเส้นทางโกโก้จากการค้ายุคอาณานิคมที่ใช้แค่แท่นหินเป็นเครื่องมือบดด้วยแรงงานคนเท่านั้น ทำให้โกโก้แบบดั้งเดิมไม่ได้เป็นแท่งเนื้อเนียนเรียบอย่างที่คุ้นตากันในปัจจุบัน

                พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ช่วยเติมประสบการณ์นี้ให้กับผู้เขียน ด้วยความสนุกสนานจากการทดลองทำโกโก้แบบพื้นเมือง ตั้งแต่ลงมือคั่วและบดโกโก้ ปรุงแต่งรสจนกระทั่งออกมาเป็นก้อนครีมเนื้อแน่นเนียนพอประมาณ และยังมีกากเมื่อเคี้ยวให้ได้รสสัมผัส สามารถนำไปชงน้ำร้อนดื่ม หรือเคี้ยวทานเลยก็ได้ ในวันนั้นกลุ่มผู้เขียนได้ก้อนโกโก้ที่ห่อด้วยใบโกโก้สดคนละห่อสองห่อ และผู้เขียนได้ซื้อเนยโกโก้ (Cacao Butter) สูตรเคล็ดลับลดริ้วรอยใต้ตาจากชั้นขายของที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์เป็นของฝากด้วย (ทดลองใช้แล้วพบว่าได้ผลดีทีเดียว)

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ