Museum Core
“หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่” การ์ตูนโฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐ แต่ทำไมกลับถูกแบน?
Museum Core
19 ก.ค. 67 3K

ผู้เขียน : กษิธัฏฐ์ เอี้ยงเอี่ยม

               หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โลกได้เข้าสู่ภาวะความตึงเครียดทางการเมืองที่มีการขับเคี่ยวช่วงชิงอำนาจกันระหว่างค่ายโลกทุนนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กับค่ายโลกคอมมิวนิสต์ที่นำโดยสหภาพโซเวียตและจีน ซึ่งทั้งสองค่ายต่างก็แสวงหาพันธมิตรจากประเทศต่าง ๆ ให้หันมายึดถือคติค่านิยมและสมาทานลัทธิอุดมการณ์ทางการเมืองตามแบบตนเอง ช่วงเวลาดังกล่าวนี้ถูกเรียกว่า “สงครามเย็น” ทั้งนี้ ประเทศไทยได้แสดงตนอย่างชัดเจนว่าเป็นพันธมิตรกับฝั่งสหรัฐฯ               

                การเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างสหรัฐฯ กับไทยจึงมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนว่า ไทยเป็นพื้นที่ตั้งฐานปฏิบัติการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ขณะนั้นไทยมีความกังวลเรื่องการคุกคามสถาบันหลักของชาติจากกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่กำลังเฟื่องฟูในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีการยกระดับกองทัพภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจากสหรัฐฯ อย่างเร่งด่วน และมีภารกิจสำคัญเป็นการทำสงครามจิตวิทยา อนึ่ง บทความนี้ผู้เขียนได้วิเคราะห์ความสำคัญของการทำสงครามจิตวิทยาด้วยรูปแบบการ์ตูน เรื่อง “หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่” เขียนโดย ปยุต เงากระจ่าง ซึ่งการ์ตูนเรื่องนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นการ์ตูนไทยยุคบุกเบิก อีกทั้งการ์ตูนเรื่องนี้ยังเป็นการ์ตูนการเมืองที่มีเนื้อหาแสดงถึงการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน

 

ภาพที่ 1 : โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยรัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลสหรัฐ

แหล่งที่มาภาพ : USIS Bangkok. Freedom or Communism – A couple pictures of people

eating and drinking. (1965) [Online]. Accessed 2024 June 18. Available from :

https://nara.getarchive.net/media/freedom-or-communism-bd2f4a

 

กรอเทปย้อนดู อะไรคือ “หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่” ?

               ปยุต เงากระจ่าง เป็นนักวาดการ์ตูนที่มีความสามารถ เขาสร้างสรรค์ผลงานการ์ตูนสั้นเรื่อง “เหตุมหัศจรรย์ พ.ศ.2498” เป็นการ์ตูนไทย เรื่องแรกที่ได้ออกฉายทางโทรทัศน์ ทำให้องค์การข่าวสารอเมริกัน
(United States Information Service) ที่มีหน้าที่หลักในการโฆษณาชวนเชื่อให้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงให้ทุนสนับสนุนให้ปยุต เงากระจ่าง วาดการ์ตูนเพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์นี้ภายใต้ชื่อ “หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่”เป็นผลงานในปี พ.ศ.2500 แต่ถูกแบน หรือสั่งห้ามเผยแพร่เป็นเวลา 3 ปี จากนั้นจึงได้ฉายผ่านโรงภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ.2503  

 

ภาพที่ 2 : ปยุต เงากระจ่าง ผู้วาดการ์ตูนหนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่

แหล่งที่มาภาพ  : หอภาพยนตร์. จากปยุต เงากระจ่าง ถึง เสน่ห์ คล้ายเคลื่อน ผู้ส่งต่อความฝันให้เกิด
หนังการ์ตูนไทย. (2020). [Online]. Accessed June 18. Available Form

https://www.fapot.or.th/main/information/article/view/277

 

 

เรื่องย่อและทัศนะของผู้เขียนต่อหนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่

               หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่เป็นเรื่องราวความขัดแย้งในเมืองลิงระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ (พวกยักษ์) และการกอบกู้บ้านเมืองของหนุมาน โดยประชาชนลิงมีการชุมนุมปราศรัยถึงความยากลำบากและถูกกดขี่โดยพระราม จึงเปิดประตูเมืองเชื้อเชิญให้พวกยักษ์เข้ามาทำรัฐประหารยึดอำนาจแล้วชักธงค้อนเคียวขึ้นสู่ยอดเสาแทนที่ธงพระราม โดยประชาชนลิงหวังจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทว่า สถานการณ์กลับแย่ลง พวกยักษ์ได้กดขี่ประชาชนลิงและบังคับจับตัวไปทำนารวม ด้านหนุมานเมื่อทราบข่าวการรัฐประหาร จึงออกจากป่ารีบเดินทางมาเพื่อปราบพวกยักษ์จนสำเร็จ ขับไล่พวกยักษ์ออกจากเมือง แล้วบ้านเมืองก็กลับคืนสู่สภาวะปกติ

               เนื้อหาของการ์ตูนเรื่องนี้เป็นไปตามหลักการ “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” โดยมีข้อที่สังเกตได้ว่าเป้าหมายของการ์ตูนมุ่งเป้าเพื่อโจมตีวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดคอมมิวนิสต์โดยตรงที่ยึดมั่นกับการทำลาย รากฐานของอำนาจเก่าเพื่อสถาปนาสังคมใหม่ ยกเลิกระบบทุนนิยม และมีการทำนารวม โดยมีพระรามเป็นตัวแทนของสถาบันกษัตริย์ที่มีสถานะเป็นสัญลักษณ์และประมุขของประเทศ ส่วนทศกัณฐ์และพวกยักษ์เป็นตัวแทนของกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่ต้องการจะทำลายล้างระบอบการปกครองเดิม ประชาชนลิงคือประชาชนคนธรรมดาทั่วไป และหนุมานเป็นตัวแทนของทหารที่เป็นรั้วของชาติคอยปกป้องบ้านเมืองจากภัยคุกคามคอมมิวนิสต์และรักษาความเรียบร้อยของบ้านเมือง ทหารเปรียบได้กับตัวแทนฝ่ายธรรมะย่อมเอาชนะฝ่ายอธรรม หรือกลุ่มคอมมิวนิสต์แล้วนำพาชาติบ้านเมืองกลับสู่ความสงบสุขอีกครั้ง

 

ภาพที่ 3 : ภาพประกอบการ์ตูน เรื่อง หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่

แหล่งที่มาภาพ : หอภาพยนตร์ หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่. (1957). [Online]. Accessed June 18. Available From https://www.fapot.or.th/main/heritage/view/172

 

 

ประกาศคณะปฏิวัติกับการสั่งแบนหนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่

               ห้วงเวลาที่การ์ตูนเรื่องนี้เขียนขึ้นตรงกับยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และลุแก่อำนาจด้วยการออกกฎหมายประกาศคณะปฏิวัติ ม.17 มอบอำนาจให้นายกฯ สามารถกระทำการใดก็ได้ตามอำเภอใจหากเห็นว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งถูกนำมาใช้ควบคุมสิทธิเสรีภาพผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล ผู้ใดวิจารณ์รัฐบาลจะถูกสั่งจำคุกหรือประหารชีวิต ส่งผลให้การแสดงออกในงานศิลปะขาดอิสรภาพในการสร้างสรรค์อาจกล่าวได้ว่าเป็น “ยุคมืดของวรรณกรรมไทย”  

               แม้การ์ตูนเรื่องหนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อโดยรัฐก็ตามยังถูกแบนห้ามฉาย และการแบนการ์ตูนเรื่องนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมว่า “การ์ตูนเรื่องนี้ถูกรัฐบาลแบนจริง หรือมีเหตุเพียงแค่โดนนายทหารกลุ่มหนึ่งผู้มีอำนาจหวาดระแวงเกินเหตุจึงสั่งแบน” โดยอ้างอิงจากคำอธิบายของ ปยุต เงากระจ่างที่ได้กล่าวแสดงทัศนะต่อเรื่องนี้ไว้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2546 ดังนี้

          “เกิดการปฏิวัติโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนฉายหนังต้องเซ็นเซอร์ก่อน ทีนี้เขาเอาการ์ตูนของผมไปเซ็นเซอร์ด้วย ปรากฏว่าเขาแบนหนังผม ทีแรกผมก็ไม่รู้ว่าทำไมมาแบนหนังผม ตอนหลังมารู้ว่ามีนายทหารคนหนึ่งหาว่าการ์ตูนผมเอาท่านจอมพลสฤษดิ์มาล้อ เพราะบังเอิญหนุมานเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของจอมพลสฤษดิ์ แต่ผมทำหนังเรื่องนี้มาก่อนจะมีปฏิวัติเสียอีก ไม่ได้คิดอะไรเลย นายทหารท่านนั้นอาจกลัวไปเอง เพราะบางทีถ้าจอมพลสฤษดิ์ ได้ดูท่านอาจจะชอบก็ได้เพราะหนุมานนี่มันเก่ง มันชนะปราบอะไรได้หมด”

               จากคำอธิบายข้างต้นสามารถอนุมานได้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้ถูกแบน เนื่องจากผู้มีอำนาจบางกลุ่มมีความหวาดระแวงและเกรงต่ออำนาจเบ็ดเสร็จของจอมพลสฤษดิ์ที่อาจทำให้พวกตนที่อำนาจหน้าที่ดูแลเรื่องนี้เดือดร้อนหากการ์ตูนเรื่องนี้ที่มีรูปหนุมาน ซึ่งเป็นรูปเชิงสัญลักษณ์ของจอมพลสฤษดิ์เผยแพร่สู่สาธารณชนแล้วถูกตีความว่าเป็นการล้อเลียนเสียดสี โดยไม่ได้ดูเนื้อเรื่องและวัตถุประสงค์ของการ์ตูนเสียก่อน

               ทั้งนี้ ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลควรเปิดกว้างให้เสรีภาพทางความคิดตามระบอบประชาธิปไตย และยอมรับความคิดเห็นของประชาชนทั้งที่เห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ตาม หากงานศิลปะและวรรณกรรมอยู่ภายใต้การตรวจสอบและควบคุมจากรัฐ ถูกปิดกั้นและขาดเสรีภาพในการแสดงออกก็ยากต่อการพัฒนาให้เติบโต ไร้ซึ่งสีสันและสุนทรียภาพ ศิลปะจะเป็นศิลปะได้อย่างไรหากมีคนมาบังคับจับมือให้เขียนขีด หรือตัดสินคุณค่างานศิลปะผ่านวัตถุประสงค์ทางการเมืองตามใจชอบ


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

ผาสุก พงษ์ไพจิตร , เบเคอร์ คริส. (2564). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย.พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ :
มติชน.

ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร. (2561). 140 ปี “การ์ตูน” เมืองไทย (ประวัติและตำนาน พ.ศ.2417 – 2557).
นนทบุรี : ศรีปัญญา.

ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (2563). การเมืองการปกครองไทย : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475 – 2540).กรุงเทพฯ :คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

สิทธิพล เครือรัฐติกาล. (2563). ประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: ธรรมศาสตร์.

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). (2564) หนุมานเผชิญภัยครั้งใหม่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2567. จาก https://www.fapot.or.th/main/news/640

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ