Museum Core
แปลงผักในคุก แปลงสุขในใจ
Museum Core
02 ส.ค. 67 2K

ผู้เขียน : นวชมล สังข์แก้ว

               ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 เนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela)  ลูกชายของหัวหน้าเผ่าเทมบู (Thembu tribe) ชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในแอฟริกาใต้ได้ถือกำเนิดขึ้น และเติบใหญ่สู่การเป็นผู้นำการต่อต้านนโยบายการเหยียดสีผิว ผู้ได้รับรางวัลมากมาย และในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2536 เขาก็ได้รับรางวัลโนเบิล สาขาสันติภาพ แต่แล้วในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เขาได้ลาจากโลกนี้ไปในวัย 95 ปี จากภาวะการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ (หนึ่งในผลพวงที่มีผลต่อสุขภาพจากการถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลานานถึง 27 ปี)
ไม่ว่ากาลเวลาผันผ่านไปนานเท่าใด เรื่องราวชีวิตของเขายังเป็นที่จดจำของผู้คนทั่วโลกและกล่าวขานถึงจวบจนปัจจุบัน

 

ภาพที่ 1 เนลสัน แมนเดลา

แหล่งที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Nelson_Mandela_1994.jpg

 

               แมนเดลามีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เขาจึงเข้าร่วมพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (ANC : African National Congress) และร่วมก่อตั้งสันนิบาตเยาวชนพรรค ANC ซึ่งเป็นแกนนำการประท้วงนโยบายแบ่งแยกสีผิว อันเป็นเหตุที่ทำให้เขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเมื่อปีพ.ศ. 2505 ขณะที่เขามีอายุ 44 ปี เป็นเวลานานถึง 27 ปี ที่แมนเดลาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในเรือนจำ (เขาถูกคุมขังในเรือนจำบนเกาะร็อบเบน (Robben Island) เป็นเวลา 18 ปี และย้ายไปยังเรือนจำโพลส์มัวร์ (Pollsmoor Prison) และเรือนจำ
วิคเตอร์ เวสเตอร์ (Victor Vester Prison) รวมกันประมาณ 9 ปี) จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2533 เขาจึงได้รับอิสรภาพเมื่ออายุเข้าวัย 72 ปี ต่อมาจึงได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้คนแรก โดยดำรงตำแหน่งช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2537-2542

 

ภาพที่ 2 ห้องขังที่เนลสัน แมนเดลา ถูกคุมขังในเรือนจำบนเกาะร็อบเบน ปัจจุบันทำเป็นพิพิธภัณฑ์

แหล่งที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Physiological_needs.jpg#:~:text=Author-,Witstinkhout,-Licensing%5Bedit

 

               ในช่วง 7 ปีแรกที่ขาดอิสรภาพ แมนเดลาต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความโหดร้ายและทารุณในเรือนจำ อีกทั้ง เขายังได้รับข่าวร้ายจากภายนอกเรือนจำถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน เขาตัดสินใจปลูกพืชผักสวนครัวแปลงเล็กๆ โดยใช้แนวสนามดินหน้าห้องขังนักโทษเป็นพื้นที่ในการเพาะปลูก แม้ดินจะไม่ค่อยดีนักแต่พืชผักของเขาก็งอกงามเติบโตด้วยปุ๋ยชั้นดีที่มาจากกระดูกของนักโทษที่ถูกฝังอยู่เกือบเต็มพื้นที่ของสนามดินแห่งนี้ ผลผลิตจากสวนครัว ได้แก่ มะเขือเทศ หัวหอม พริก และผักโขมถูกส่งเข้าไปห้องครัวเพื่อเป็นวัตถุดิบทำอาหารให้แก่นักโทษ รวมถึงแบ่งปันให้แก่ครอบครัวของผู้คุมด้วย

 

ภาพที่ 3 สนามดินที่แมนเดลาใช้เป็นพื้นที่ในการทำแปลงพืชผักสวนครัวในเรือนจำบนเกาะร็อบเบน

แหล่งที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:RobbenIslandHof.jpg

 

               เมื่อแมนเดลาถูกย้ายไปอยู่ที่เรือนจำโพลส์มัวร์ เขายังคงปลูกพืชผักสวนครัวเช่นเดิมบนดาดฟ้า ชั้น 3 ของเรือนจำ โดยใช้ถังน้ำมันผ่าครึ่งเป็นแปลงปลูก มีชนิดพืชผักหลากหลายชนิดขึ้น ได้แก่ กระหล่ำปลี กระกล่ำดอก บร็อคโคลี บีทรูท ผักกาดหอม และมะเขือม่วง ทุกเช้าเขาใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการดูแลสวนผักแห่งนี้

               เรื่องการปลูกผักสวนครัวในเรือนจำของแมนเดลาเป็นไปตามทฤษฎีของมาร์ติน เซลิกแมน(Martin Seligman) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ถูกยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) เคยเสนอแนวคิดเรื่องการอยู่ดีมีสุขไว้ว่า การที่มนุษย์จะมีความสุขได้นั้นต้องรู้ว่าองค์ประกอบของความสุข เกิดจากแบบจำลองที่ทำให้เกิดความสุขในชีวิต (PERMA Model) ประกอบด้วยอารมณ์เชิงบวก (Positive Emotion) ความรู้สึกผูกพัน (Engagement) ความสัมพันธ์ (Relationship) ความหมายในการมีชีวิต (Meaning) และพลังจากความสำเร็จ (Accomplishment)

 

                    ภาพที่ 4 มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman)

แหล่งที่มาภาพ : https://www.pursuit-of-happiness.org/history-of-happiness/martin-seligman-psychology/

 

 

               แปลงผักเป็นทั้งโลกส่วนตัว และพื้นที่ฟื้นฟูจิตใจของแมนเดลาที่สะท้อนให้เห็นถึงองค์ประกอบจากแบบจำลองที่ทำให้เกิดความสุขในชีวิต ตั้งแต่การจัดการความรู้สึกเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายด้วยทัศนคติที่ดี คงไว้ซึ่งอารมณ์เชิงบวกอย่างสงบและมีสติ จากงานอดิเรกที่ทำให้ตนเองรู้สึกมีคุณค่าและมีส่วนสำคัญในงานนั้นจนสามารถมอบความรักและไมตรีผ่านผลผลิตที่ได้ให้แก่ผู้คนรอบข้าง ทำให้การดำรงชีวิตอยู่ เปี่ยมไปด้วยความหมาย ความเชื่อและความศรัทธาอย่างแรงกล้า ซึ่งความสำเร็จที่ได้จากการปลูกพืชผักสวนครัวในแปลงเล็กๆ นี้ ล้วนช่วยเสริมสร้างพลัง กำลังใจให้เคารพนับถือตนเอง มองไปข้างหน้าด้วยความหวังและไม่ยี่หระต่อสิ่งใดที่เกิดขึ้นกับชีวิต

 

บรรยายสรุป เกี่ยวกับ PERMA Model โดย ดร. มาร์ติน เซลิกแมน

 

               กำแพงคุกที่สูงตระหง่าน ยิ่งใหญ่ เยือกเย็น และน่าเกรงขามอาจจำกัดอิสรภาพได้ก็จริง แต่พื้นที่แปลงผักเล็กๆ ที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินก็เปี่ยมด้วยคุณค่าและพลังที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน พื้นที่แห่งนี้ไม่ได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์พืชเท่านั้น หากแต่บ่มเพาะวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของคนหนึ่งให้สามารถก้าวผ่านความทุกข์ และเติบโตด้วยจิตวิญญาณแห่งความสุข ผ่านใบหน้าเปื้อนยิ้ม แววตาที่มองโลกในแง่ดีและพร้อมให้อภัย ดังที่แมนเดลาเคยกล่าวไว้ว่า “เราสามารถเปลี่ยนโลกโดยทำให้มันเป็นสถานที่ที่ดีกว่าเดิมด้วยสองมือของท่านที่จะทำให้เห็นถึงความแตกต่างนั้นได้”

 

ภาพที่ 5  คำคมสร้างแรงบันดาลใจ (Inspirational Quotes) ของเนลสัน แมนเดลา

แหล่งที่มาภาพ :

https://www.weforum.org/agenda/2023/07/nelson-mandela-south-africa-quotes-madiba-inspiration/

 

               ความสุขอย่างยั่งยืนที่เกิดขึ้นภายในจิตใจไม่ได้มาจากการทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่ไกลเกินเอื้อม หรือเกินขีดความสามารถของคนธรรมดาทั่วไป หากแต่ค้นหาวิถีที่ตรงจริตแล้วลงมือทำด้วยใจที่มุ่งมั่นและศรัทธา ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเพียงใด แค่ลุกขึ้นทุกครั้งที่ล้มลง มองไปข้างหน้าด้วยมุมมองที่มีวุฒิภาวะ ย้ำเตือนตนเองว่าสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมดีเสมอ ตระหนักถึงความภาคภูมิใจ พร้อมเผชิญหน้าโจทย์แห่งชีวิตที่วนเวียนมาเพื่อทดสอบพลังใจ พลังกาย ดังที่วิถีแห่งแมนเดลา (Mandela’s way) ได้พิสูจน์ให้ประจักษ์แล้ว

 

ภาพที่ 6  ผู้เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของสมัชชาใหญ่เนื่องในโอกาสวันเนลสัน แมนเดลา สากล (18 กรกฎาคม) แหล่งที่มาภาพ :  https://www.flickr.com/photos/un_photo/36311753611/in/photostream/

 

แหล่งค้นคว้าอ้างอิง

ริชาร์ด สเตงเกิล. (2553). วิถีแมนเดลา สิบห้าบทเรียนแห่งชีวิต ความรัก และความกล้าหาญ (ธิดา ธัญญประเสริฐกุลและกานต์ ยืนยง, ผู้แปล). วิถีแมนเดลา. โพสต์บุ๊กส์

Forgeard, M. J. C., Jayawickreme, E., Kern, M. & Seligman, M. E. P. (2011). Doing the right thing:

Measuring wellbeing for public policy. International Journal of Wellbeing, 1(1), 79-106.

doi:10.5502/ijw.v1i1.15. Accessed 2024 Jun 21. Available from: https://www.internationaljournalofwellbeing.org/index.php/ijow/article/view/15

Nelson Mandela Foundation [Online]. Accessed 2024 Jun 21. Available from:

https://www.nelsonmandela.org/learners-biography?gclid=EAIaIQobChMIyPO1ysSe1QIVVxWPCh3bfgdwEAAYASAAEgIEAPD_BwE

Wikipedia, the free encyclopedia Nelson Mandela. [Online]. Accessed 2024 Jun 21. Available from: https://en.wikipedia.org/wiki/Nelson_Mandela

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ