เมืองกลาสโกว์ (Glasgow) เมืองใหญ่ที่สุดในประเทศสกอตแลนด์ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเครือสหราชอาณาจักร ความเป็นเมืองใหญ่ทำให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางในหลายด้าน และมีสถานที่น่าสนใจมากมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาแวะเวียนไม่ขาดสาย
หากกล่าวถึงเฉพาะพิพิธภัณฑ์ในกลาสโกว์ที่ผู้คนมักพูดถึงเป็นอันดับแรกและตั้งใจไปเยี่ยมชมหากมีโอกาสมาที่เมืองนี้ คงไม่พ้นพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์เคลวินโกรฟ (Kelvingrove Art Gallery and Museum) ที่ตั้งอยู่ในสวนชื่อเดียวกัน ห่างจากใจกลางเมืองไม่มากนัก และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของสกอตแลนด์ ซึ่งเปิดให้เข้าชมฟรี พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์แห่งนี้มีเรื่องราวและสิ่งจัดแสดงที่น่าสนใจมากมาย ยังไม่นับรวมเรื่องแปลกที่แฝงตลกอย่างที่ไม่คาดคิดว่าเกิดขึ้นจริงในสถานที่แห่งนี้
ภาพที่ 1 อาคารพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์เคลวินโกรฟ
พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์เคลวินโกรฟ สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1901 โดยได้รับเงินทุนการก่อสร้างบางส่วนจากการจัดงานนิทรรศการนานาชาติที่จัดขึ้นที่กลาสโกว์ในปี ค.ศ. 1888 และสิ่งของที่จัดแสดงในงานนั้นก็ถูกนำมาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ด้วย ตัวอาคารออกแบบโดยมีเซอร์จอห์น วิลเลียม ซิมป์สัน (Sir John William Simpson) และเอ็ดมันด์ จอห์น มิลเนอร์ อัลเลน (Edmund John Milner Allen) ในรูปแบบสถาปัตยกรรมสไตล์สแปนิชบาโรก (Spanish Baroque)และใช้หินทรายสีแดงจากเมืองโลคาบริกซ์ (Locharbriggs) ซึ่งเป็นที่นิยมมากสำหรับการก่อสร้างอาคารสไตล์กลาสวีเจียนส์ (Glaswegian)
ทว่าในปีเดียวกับที่พิพิธภัณฑ์ก่อสร้าง กลาสโกว์ได้จัดงานนิทรรศการนานาชาติ (Glasgow International Exhibition) อีกงานหนึ่งขึ้นพอดี ทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานนั้นไปโดยปริยาย และมีบทบาทเป็นพระราชวังแห่งงานวิจิตรศิลป์ (Palace of Fine Arts) หลังจากนิทรรศการนานาชาติจบลง พิพิธภัณฑ์จึงเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ.1902
ภาพที่ 2 (ซ้าย) ทางเข้าด้านหน้า และ (ขวา) ทางเข้าด้านหลังที่ถูกกำหนดให้เป็นทางเข้าหลัก
แม้ว่าการก่อสร้างตัวอาคารเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่กลับมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับแบบการก่อสร้างว่าดูกลับหัวกลับหางอย่างบังเอิญ หากสังเกตดูทางเข้าด้านหน้าจะดูคล้ายทางเข้าด้านหลัง ขณะที่ทางเข้าด้านหลังดูเหมือนเป็นทางเข้าด้านหน้ามากกว่า เมื่อสถาปนิกทราบข่าวจึงตัดสินใจกระโดดลงมาจากหอคอยแห่งหนึ่งด้วยความสิ้นหวัง ซึ่งเรื่องเล่านี้ไม่มีมูลความจริงเพราะสถาปนิกทั้ง 2 คนไม่ได้ฆ่าตัวตายและยังมีชีวิตอยู่ดีจนถึงศตวรรษที่ 20 แต่เรื่องเล่านี้กลายเป็นเรื่องตลกที่ชาวสก็อตยังเล่าปากต่อปากจวบจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ มีอีกมุมมองให้เหตุผลว่า ตัวอาคารเคยเป็นศูนย์กลางของนิทรรศการนานาชาติเมื่อปีค.ศ. 1901 ดังนั้นส่วนด้านหลังของอาคารจึงรับหน้าที่เป็นทางเข้าหลัก และหันหน้าเข้าสู่สวนเคลวินโกรฟ
ภาพที่ 3 การบรรเลงออร์แกนในช่วงบ่ายของทุกวัน
สิ่งแรกที่เผชิญหน้าเมื่อผ่านทางเข้าพิพิธภัณฑ์เป็นห้องโถงกลางขนาดใหญ่ที่ดูโอ่อ่า มีออร์แกนจัดวางอยู่ ซึ่งเดิมออร์แกนหลังนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนิทรรศการนานาชาติเท่านั้น เมื่อนิทรรศการจบลง กล่าวกันว่ามีสมาชิกสภาท่านหนึ่งเรียกร้องให้ซื้อออร์แกนนี้ เพื่อตั้งไว้ในพิพิธภัณฑ์เป็นการถาวร ด้วยเหตุผลว่าหากไม่มีออร์แกนแล้ว ที่นี่ก็ไม่ต่างไปจากหอศิลป์ที่มีเพียงร่างกายแต่ไร้วิญญาณ ดังนั้นออร์แกนหลังนี้จึงได้รับการติดตั้งในห้องโถงกลางนับแต่นั้นมา โดยมีการบรรเลงออร์แกนทุกวัน เวลา 13.00 น. ในวันจันทร์ถึงเสาร์ และเวลา 15.00 น. ในวันอาทิตย์
ภาพที่ 4 บรรยากาศด้านในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์มีทั้งหมด 3 ชั้น โดยชั้นแรก (ชั้น G ) มุ่งเน้นการจัดแสดงที่นำเสนอเกี่ยวกับประเทศสกอตแลนด์และเมืองกลาสโกว์ในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ โบราณคดี ตลอดจนธรรมชาติ ไล่เรียงตามไทม์ไลน์จากยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน ในฐานะที่เคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมและการค้าที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในยุควิคตอเรียน ถัดมาในห้องจัดแสดงชั้นที่ 1 เป็นโซนจัดแสดงผลงานศิลปะหลายยุคสมัยที่น่าจะถูกใจใครที่ชื่นชอบภาพวาดของศิลปินยุโรปที่รวบรวมไว้ทั้งภาพแนวอิมเพรสชันนิสม์ฝรั่งเศส (French Impressionism) และโพสต์อิมเพรสชันนิสม์ (Post Impressionism) รวมถึงศิลปะสก็อตในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ฯลฯ ซึ่งที่นี่มีคอลเล็กชันภาพวาดของศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่างแร็มบรันต์ (Rembrandt) ทิเชียน (Titian) บอตตีเชลลี (Botticelli) วินเซนต์ แวนโก๊ะ (Van Gogh) โคลด์ โมเนต์ (Claude Monet) รวมถึงศิลปินคนอื่นๆ อีกมากมาย
ภาพที่ 5 ห้องจัดแสดงที่เต็มไปด้วยภาพวาดจากหลากหลายศิลปิน
ไม่เพียงเท่านั้น พิพิธภัณฑ์ยังมีโซนจัดแสดงวัตถุที่น่าสนใจอีกมากมาย ได้แก่ นิทรรศการชั่วคราวที่มักจัดแสดงที่ชั้นใต้ดิน โซนความขัดแย้งและผลที่ตามมา (Conflict and Consequence) มีการจัดแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์จากทั้งในและต่างประเทศที่เคยใช้งานในศึกสงคราม หรือโซนวัตถุในภาพยนตร์: ชีวิตในป่าฝน (Object Cinema: Life in the Rainforest) ที่นำเสนอเรื่องป่าฝนเขตร้อนในอเมริกาใต้ผ่านการจัดแสดงรูปสัตว์ป่าสตัฟฟ์และแมลง ผสมผสานกับภาพยนตร์และเสียง เพื่อจำลองสภาพแวดล้อมของป่าฝนให้ดูมีชีวิตขึ้นมา ทำให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ในสถานที่ที่มีเอกลักษณ์ และบรรยากาศแบบใกล้ชิดกึ่งสมจริง
รูปแบบการจัดนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ถูกออกแบบให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ ไม่ว่าผู้ชมจะเริ่มต้นจากจุดไหนก็สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ทำให้ไม่น่าเบื่อและอยากกลับมาใหม่ ที่นี่ไม่ใช่เพียงพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ที่เปิดให้คนทุกเพศทุกวัยได้เข้ามาค้นหาผ่านกิจกรรมเวิร์คช็อป การประกวด เกมส์ประจำแต่ละโซน หรือการเดินตามเส้นทางเรื่องราว (trail) ที่จัดขึ้นตลอดทั้งปี นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ยังสนับสนุนผู้พิการในหลายด้าน เช่น จัดให้มีห้องน้ำผู้พิการในทุกชั้น บริการรถเข็นวีลแชร์ ล่ามภาษามือ และทุกโซนของนิทรรศการถูกออกแบบให้คำนึงถึงวีลแชร์และรถบักกี้สำหรับผู้พิการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก และมีแรงจูงใจในการเข้าพิพิธภัณฑ์
ภาพที่ 6 โซนความขัดแย้งและผลที่ตามมา
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Newlands, R. (2022). The story of Kelvingrove Art Gallery and Museum in Glasgow. Glasgow Times. https://www.glasgowtimes.co.uk/news/22692114.story-kelvingrove-art-gallery-museum-glasgow/
O’Neill, M. (2010). Kelvingrove: Telling Stories in a Treasured Old/New Museum. Curator the Museum Journal, 50(4), 379–399. https://doi.org/10.1111/j.2151-6952.2007.tb00281.x
Smillie, L. (2023). Is Kelvingrove Art Gallery and Museum built back to front? Glasgow’s Kelvingrove urban myths explained. Glasgow World. https://www.glasgowworld.com/lifestyle/is-kelvingrove-art-gallery-and-museum-built-back-to-front-glasgows-kelvingrove-urban-myths-explained-was-kelvingrove-built-the-wrong-way-round-4147224