ภาพปกบทความโดย น.ส. ภูริชญา โสลันดา นักศึกษาฝึกงานปี 2567
นายแพทย์วอลเตอร์ โยฮันเนส พอล เอเลอร์ส (Dr. Walter Johannes Paul Ehlers) ผู้เป็นคุณตาของผู้เขียนได้เดินทางจากเมืองลูเบ็ก (Lübeck) ซึ่งตั้งอยู่ตอนเหนือสุดของประเทศเยอรมนีสู่แผ่นดินสยามในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อเป็นแพทย์ประจำห้างขายยาตราช้างที่ตั้งอยู่ในย่านเจริญกรุง ต่อมาท่านได้พบรักกับ “เพิ่ม” สาวไทยมอญปากลัด (ปัจจุบันคือพระปะแดง หรือชื่อเดิม นครเขื่อนขันธ์ พื้นที่ที่มีเชื้อพระวงศ์มอญอพยพมาอยู่เมื่อกว่าสองร้อยปีมาแล้ว)
ภาพที่ 1 นายแพทย์วอลเตอร์ เอเลอร์ส
ต่อมาคุณตากับคุณยายใช้ชีวิตคู่ด้วยกันจนมีลูกชายสองคน หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457– 2461) ด้วยความรักชาติคุณตาได้เข้าร่วมกับพรรคพวกชาวเยอรมันในไทย เตรียมเสบียงและอาวุธสู้รบเท่าที่หาได้ลงเรือบดอาศัยแรงพายด้วยมือมุ่งหน้าไปยังสิงคโปร์เพื่อเดินทางต่อไปช่วยเยอรมันรบ
คุณยายเล่าให้ฟังว่าหลังจากคุณตาและเพื่อนๆ ชาวเยอรมันออกทะเลหายไปนานแรมเดือนก็ไม่ได้ข่าวคราวใดๆ จึงไม่ทราบถึงชะตากรรมของทุกคน ในที่สุดคุณตาก็กลับมาในสภาพที่จำแทบไม่ได้ หนวดเครายาวรุงรัง ผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกเพราะขาดสารอาหารอย่างหนัก เนื่องจากระยะทางไกลและความไม่ชำนาญเส้นทางการเดินเรือ ทำให้กลุ่มทหารเยอรมันบนเรือบดน้อยต้องผจญภัยรอนแรมอยู่กลางทะเลเป็นเวลานาน แม้ทุกคนจะมีหัวใจรักชาติอย่างเปี่ยมล้นแต่ความอ่อนล้าจากการพายด้วยแรงมืออย่างไม่มีวี่แววว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไร อีกทั้งเสบียงอาหารก็หมดจนทุกคนในเรือต่างคนต่างต้องเอาหนังรองเท้าที่ตนสวมใส่มาเคี้ยวประทังความหิว! จึงจำเป็นต้องถอยกลับ เพราะการขาดแคลนทั้งอาหารและน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อชีวิต
จากนั้นเมื่อสยามประกาศเข้าร่วมสงครามในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2460 และมีการสั่งจับกุมพลเมืองชาวเยอรมัน และออสเตรีย-ฮังการีที่อยู่ในราชอาณาจักร พร้อมกับยึดทรัพย์สินและเรือของเยอรมันที่เข้ามาเทียบท่า (มีเรื่องเล่าว่าผู้บังคับการเรือเยอรมันได้ระเบิดเครื่องจักรเรือทิ้งเสียหลายลำเพื่อไม่ให้ศัตรูนำเรือไปใช้) คุณตาถูกควบคุมตัวไว้ที่โรงพยาบาลทหาร ปากคลองหลอดเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วถูกส่งตัวเนรเทศไปยังประเทศอินเดียเพื่อให้รัฐบาลอังกฤษเป็นผู้ควบคุมแทน
ภายหลังเมื่อพ้นจากการถูกควบคุมตัวที่อินเดียแล้ว คุณตาได้หาหนทางไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองซัวเถาที่อยู่ตอนใต้ของประเทศจีนในมณฑลกวางตุ้ง (เมืองซัวเถาเป็นหมู่บ้านชาวประมงที่กลายเป็นเมืองท่าสำคัญและมีชายฝั่งทะเลยาวกว่า 300 กิโลเมตร) และเปิดคลินิกรักษาโรคแผนปัจจุบัน ปรากฏว่ากิจการเจริญรุ่งเรืองมากจนต้องขอให้พี่ชายของคุณตาชื่อ เคิร์ท (Kurt) ซึ่งเป็นเภสัชกรเดินทางจากเยอรมนีมาช่วยงานที่คลินิก และคุณตาได้ติดต่อให้คุณยายพาลูกชายทั้งสองไปอยู่ด้วยกัน
ในสมัยก่อนการเดินทางไปประเทศจีนต้องเดินทางด้วยเรือสำเภา แม้คุณยายผู้ไม่รู้หนังสือแต่ก็สามารถเดินทางไปเมืองจีนกับลูกเล็กสองคนเพียงลำพังได้ ขณะที่อยู่ซัวเถาคุณยายได้ให้กำเนิดลูกชายคนที่ 3 ร้านหมอของคุณตาเจริญรุ่งเรืองมาก ด้วยคุณตาเป็นหมอที่เก่งและใจดีจึงเป็นที่รักของผู้คน ร้านของคุณตาเป็นทั้งคลินิกและร้านขายยาที่มีชื่อเสียงมาก จึงได้รับเกียรติจากเจ้าเมืองซัวเถาตั้งชื่อร้านให้ว่า “เจี่ยโกะเอี่ยปั๊ง”
ครั้งหนึ่งเจ้าเมืองซัวเถาป่วยหนักแต่หมอจีนไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่คุณตาสามารถรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันจนหายเป็นปกติได้ ชาวเมืองดีใจมากจึงพากันแห่คุณตาไปรอบเมืองพร้อมกับมอบของขวัญให้มากมาย และเจ้าเมืองมอบป้ายสรรเสริญขอบคุณ ซึ่งปัจจุบันป้ายนี้มีอายุครบ 100 ปี (พ.ศ.2567) แปลจับใจความได้ว่า
ภาพที่ 2 ป้ายขอบคุณจากเจ้าเมืองซัวเถา
“ผู้ว่าราชการเมืองซัวเถาชื่อ เฉินโหย่วอวิ้น ให้ช่างเขียนข้อความลงบนป้ายนี้เป็นของขวัญแก่นายแพทย์
ไอ่ลักสือ (Ehlers) เพื่อแสดงความขอบคุณเมื่อครั้งที่ได้ป่วยหนักและนายแพทย์ไอ่ลักสือได้ช่วยรักษา
จนหายจากโรค อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ดูแลรักษาประชาชนเมืองซัวเถามาโดยตลอด (เขียนเมื่อปี พ.ศ.2467)”
นอกจากคุณตาเป็นหมอรักษาผู้ป่วยแล้วยังเป็นหมอปรุงยาหรือเภสัชกร เนื่องจากในสมัยก่อนผู้ที่เป็นหมอต้องมีความรู้ในการปรุงยารักษาคนไข้ด้วย บางครั้งยาแบบฝรั่งไม่พอ คนไข้ก็ช่วยหายาสมุนไพรจีนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาให้ทำให้คุณตามีโอกาสได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องสมุนไพรจีนไปด้วย นอกจากนี้คุณยายเล่าให้ฟังว่าโดยปกติคุณตาจะมีกระเป๋าหมอ 1 ใบใส่สิ่งของทุกอย่างที่จำเป็นต่อการรักษากรณีเร่งด่วนวางเอาไว้ตรงข้างประตูทางออกของบ้านเสมอ หากมีญาติคนไข้มาตามคุณตาจะออกไปพร้อมกับกระเป๋าคู่ใจเสมอไม่ว่าเวลาไหนแม้ดึกดื่นค่ำมืดหรือฝนตกหนักก็ตาม บ่อยครั้งที่คนไข้ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาคุณตาก็ไม่คิดเงิน ดังนั้น พวกเขาจะนำสัตว์ที่เลี้ยงไว้มาให้เป็นการตอบแทน เช่น เป็ด ไก่ ห่าน แพะ ฯลฯ ซึ่งคุณตาก็ได้แต่เลี้ยงไว้ไม่เคยนำมาฆ่าเป็นอาหารเลย
จนกระทั่งปี พ.ศ.2468 ภายในประเทศจีนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง หลังการถึงแก่กรรมของดร.ซุนยัดเซ็น (Sun Yat-sen) ผู้ก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang ตัวย่อ KMT) เมื่อพรรคก๊กมินตั๋งเริ่มแตกแยก เจียงไคเช็ค (Chiang Kai-shek) เข้ามาบริหารพรรคและปราบปรามคอมมิวนิสต์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 เริ่มมีกบฏเกิดขึ้นในจีนหลายกลุ่มที่เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีเหมาเซตุง (Mao Ze Tung) เป็นผู้นำ ทำให้ข้าราชการจีนส่วนหนึ่งเริ่มหวั่นหวั่นต่อความไม่สงบและไม่มั่นคงของบ้านเมือง จึงได้แอบเอาเงินสดจำนวนมากใส่ในกระป๋องโลหะมาขอฝากไว้กับคุณตา ด้วยความไว้วางใจและเชื่อมั่นว่าร้านของหมอเยอรมันจะปลอดภัย ไม่มีใครมายุ่งเกี่ยว ภายในคลินิกจึงเต็มไปด้วยกระป๋องโลหะบรรจุเงินสดที่เก็บซ่อนไว้
เมื่อบ้านเมืองจีนเริ่มวุ่นวายมากขึ้น คุณตาตัดสินใจส่งคุณยายที่กำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่ 4 และลูกชายทั้งสามคนให้เดินทางกลับมายังแผ่นดินสยามก่อนเพื่อความปลอดภัย จากนั้นคุณตาก็เร่งรัดจัดการปิดคลินิกที่ซัวเถาเพื่อย้ายตามกลับมาอยู่กับครอบครัว โดยมีหญิงรับใช้ชาวจีนชื่อ ซิ่วเชียง ขออพยพลี้ภัยติดตามมาด้วย โดยคุณตาเดินทางด้วยเรือกลไฟขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2471 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7 นับเป็นการกลับมายังสยามประเทศอีกครั้งหลังถูกเนรเทศออกจากประเทศไปนานกว่า 10 ปี
ภาพที่ 3 เอกสารเข้าเมืองประเทศสยามของคุณตา
ครานี้คุณตาลงหลักปักฐานโดยการเช่าตึกแถวเพื่อเปิดคลินิกและขายยาที่ถนนสีลม จากนั้นจึงย้ายมาอยู่ที่ร้านใหม่ ปากตรอกโรงแรมโอเรียนเต็ลบนถนนเจริญกรุงและตั้งชื่อว่า “ห้างขายยาเยอรมัน” ต่อมาคุณตาคุณยายมีลูกสาวเพิ่มอีก 5 คน กลายเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีลูกถึง 8 คน จึงซื้อบ้านของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) บนถนนสุรวงศ์เพื่อรองรับครอบครัวที่ขยายใหญ่ขึ้น ทว่าภายหลังที่ดินของบ้านถูกเวนคืน โดยส่วนหนึ่งเป็นที่ตั้งร้านสมบูรณ์โภชนาในปัจจุบัน และอีกส่วนหนึ่งเป็นบริเวณหัวถนนนราธิวาสราชนครินทร์