เมื่อกล่าวถึงบริเวณพื้นที่สะพานเหลือง สามย่าน หรือบรรทัดทองในปัจจุบัน ทุกคนอาจนึกถึงย่านที่เต็มไปด้วยร้านรวงที่ขายอาหารของกินสารพัดชนิดทั้งร้านดั้งเดิมและร้านเปิดใหม่ หรือบางคนอาจคิดถึงร่องรอยวัฒนธรรมจีนแต้จิ๋วเก่าแก่ที่ขยายตัวของชุมชนชาวจีนมายังชานเมืองมาตั้งถิ่นฐานแถวศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองและศาลเจ้าพ่อเสือสามย่าน แต่มีน้อยคนนักที่จะทราบว่า ครั้งหนึ่งย่านสะพานเหลืองเคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโรงทอขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานครที่ดำเนินการโดยชาวจีนฮักกา หรือจีนแคะมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 9 และบริเวณสะพานเหลืองเคยเกิดเหตุการณ์ “เลียะพะ” หรือเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทเรื่องแย่งน้ำประปากันระหว่างกรรมกรจีนแคะย่านสะพานเหลืองกับคนท้องถิ่น ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ลงหนังสือพิมพ์มาแล้วในสมัยรัชกาลที่ 6
ภาพที่ 1 บ้านเรือนไม้บริเวณชุมชนสะพานเหลือง ริมทางรถไฟสายปากน้ำ ที่ตั้งของโรงทอจีนแคะ
แหล่งที่มาภาพ : ภาพถ่ายทางอากาศโดย Peter William-Hunt ในปี 2489 เข้าถึงได้จาก
https://www.facebook.com/photo/?fbid=539678686076713&set=a.422774394433810
เมื่อวันที่18 มิถุนายน พ.ศ.2567
ประวัติความเป็นมาของโรงทอผ้าย่านสะพานเหลืองเริ่มต้นขึ้นเมื่อใดไม่มีข้อมูลแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ถึงต้นรัชกาลที่ 6 โดยมีผู้บุกเบิกกิจการโรงทอคนแรกเป็นชาวจีนฮักกาหรือจีนแคะที่อพยพมาจากอำเภอฮิงเหน่ง จังหวัดกายิ้น มณฑลกวางตุ้ง (廣東省嘉應州興寜縣) ชื่อว่า หว่องซุ่นยัด (王舜日) เข้าได้ตั้งโรงงานทอผ้ากี่กระตุกขึ้นที่ตรอกพุธ ตำบลสะพานเหลือง ใกล้กับทางรถไฟสายปากน้ำเป็นแห่งแรกและใช้ชื่อยี่ห้อเป็นภาษาจีนแคะว่า “ หว่องกัมชาง ” (王金昌ในภาษาแต้จิ๋วเขียนชื่อเป็น อ้วงกิมเชียง) ทั้งนี้ ชาวจีนแคะในกรุงเทพฯ มีทักษะเป็นช่างไม้ และสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าแบบใช้กี่กระตุกสำหรับทอผ้ามุ้งผ้าฝ้าย รวมถึงเทคนิคการย้อมผ้าสีต่างๆ จากเมืองจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงสามารถประดิษฐ์สร้างกี่กระตุกใช้ทอผลิตผ้าขาวม้าขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าผ้าขาวม้าที่มีมากแต่การผลิตไม่เพียงพอ
ด้วยความชำนาญในเทคนิคผลิตผ้าอย่างครบวงจรนี้ ทำให้ย่านสะพานเหลืองกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตผ้าครบวงจร ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ.2457-2461) กิจการโรงทอเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็นทั้งพื้นที่พักพิง และแหล่งอาชีพของชาวจีนแคะที่เพิ่งอพยพมาถึงเมืองไทยแล้วยังไม่มีหนทางทำมาหากินที่ชัดเจน จึงมักมาเริ่มต้นประกอบอาชีพที่โรงทอก่อนขยับขยายไปทำงานอย่างอื่นต่อไป
ในคืนวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2465 เกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทขึ้นระหว่างกรรมกรจีนแคะในโรงทอกับคนไทยในย่านสะพานเหลือง มีกรรมกรจีนแคะในโรงทอคนหนึ่งถูกคนไทยทำร้ายร่างกายในขณะที่เอาภาชนะ
มารองน้ำไปใช้ กลายเป็นเหตุให้กลุ่มกรรมกรจีนจากโรงทอไม่พอใจ ในวันต่อมาจึงพากันรวมตัวไปทำร้ายร่างกายคนที่สัญจรผ่านไปมาบนถนน ไม้เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็โดนทำร้ายด้วย และจับคนร้ายได้เพียง 20คน ทั้งนี้ ถัดจากวันนั้นตำรวจก็จัดกำลังพลออกตระเวนตรวจทั้งวัน ทว่าพอเข้าเวลากลางคืนก็มีกลุ่มคนไทยไปขว้างปาใส่กรรมกรพวกโรงทอจนเกิดวิวาทกันขึ้นอีกรอบหนึ่ง เมื่อตำรวจระงับเหตุการณ์ได้สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้หลายคน โดยตำรวจได้สอบปากคำและให้กรรมกรจีนแคะไปชี้ระบุตัวผู้ร้ายที่ก่อเหตุได้รวม 7 คน
ภาพที่ 2 ข่าวเรื่องจีนแคะกับตำรวจ ลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ พุทธศักราช 2465
แหล่งที่มาภาพ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯเดลิเมล์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 3641 วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2465 หน้า 4
จากเหตุการณ์นี้หนังสือพิมพ์ได้วิเคราะห์ว่าเรื่องไม่น่าจบลงได้แต่โดยดี เนื่องจากช่วงเวลา 4-5 เดือนก่อนก็เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันมาแล้ว (ผู้เขียนสันนิษฐานว่าประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) แต่เป็นกรณีระหว่างกรรมกรโรงทอกับตำรวจเกี่ยวกับคดีชิงทรัพย์ แล้วกรรมกรจีนแคะได้รวมตัวกันเป็นร้อยคนมาทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่จนตำรวจต้องใช้อาวุธปืนระงับเหตุการณ์ แต่ไม่มีการดำเนินคดีความจึงทำให้กลุ่มกรรมกรจีนกำเริบ รวมถึงมีข้อมูลระบุว่ากรรมกรเหล่านี้เคยมีความขัดแย้งกับแขกครัว (กลุ่มชาติพันธุ์ ไทย-มุสลิมเชื้อสายจาม ชุมชนบ้านครัว) ในพื้นที่ด้วย
หลังเหตุการณ์วิวาทครั้งนั้น โรงทอในย่านสะพานเหลืองก็ยังคงดำเนินกิจการอยู่ กระทั่งในปีพ.ศ.2471 กิจการโรงทอของคนจีนแคะในกรุงเทพฯ ได้ขยายออกไปในหลายท้องที่และมีจำนวนมากถึง 200 แห่ง แค่เฉพาะในย่านสะพานเหลืองก็มีอาชีพรับทอผ้ากี่กระตุกกันเกือบทุกบ้าน และเจ้าของล้วนแต่เป็นคนจีนฮักกาจากฮิงเหน่งแทบทั้งสิ้น โรงทอเหล่านี้มีเครือข่ายกับผู้ประกอบการค้าในย่านสำเพ็ง ทั้งร้านขายผ้าและสีย้อมผ้า บางรายก็มีกิจการร้านขายผ้าในบริเวณสำเพ็งด้วยเช่นเดียวกัน แม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2485-2489) มีการทิ้งระเบิดในกรุงเทพฯ ทำให้ผู้คนอพยพไปอยู่นอกเมืองกันเป็นจำนวนมาก แต่กิจการโรงทอในละแวกนี้ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยอ้างอิงจากคำบอกเล่าของนางเหมยซาง แซ่ตั้ง (陳美新) ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในย่านชุมชนยศเสที่ให้ข้อมูลว่าน้าสาวเดินทางไปทำงานที่โรงทอจนกระทั่งถูกระเบิดเสียชีวิตในช่วงระหว่างสงคราม และนายอำพัน เจริญสุขลาภ (หมุยลก แซ่จึง (莊美隆)) หรือเม้ง ป.ปลา ก็ให้ข้อมูลว่าช่วงทศวรรษ 2490 คนจีนแคะในชุมชนละแวกสะพานเหลืองมีการประกอบอาชีพหลากหลาย ทั้งขายก๋วยเตี๋ยว ทำรองเท้า ทำเข็มขัด รวมถึงเป็นคนงานในโรงทอ
ทว่าต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 2500 มีการขยายตัวของชุมชนเมืองรุกเข้ามาบริเวณนี้ และเกิดการไล่ที่ของชุมชนเรือนไม้ในย่านสะพานเหลืองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีอีกหลายปัจจัยอื่นทำให้โรงทอผ้าของชาวจีนฮักกาเริ่มทยอยย้ายออกไปยังพื้นที่ชานเมืองแถบคลองเตย พระประแดง และพื้นที่อื่นๆ ทำให้ชุมชนโรงทอแห่งสะพานเหลืองมาถึงจุดสิ้นสุด และกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์พื้นที่กรุงเทพมหานคร ประวัติศาสตร์การพาณิชย์ไทย รวมทั้งประวัติศาสตร์ของคนจีนในไทยเพื่อการศึกษาต่อไปในอนาคต
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
กำเริบเพราะเหตุใด? . กรุงเทพฯเดลิเมล์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 3636 วันอังคารที่ 6 มิถุนายน พุทธศักราช 2465, น.5
ยกพวกตีกัน. จีนโนสยามวารศัพท์ ฉบับที่ 51 วันพุธที่ 7 มิถุนายน พุทธศักราช 2465, น.2
เรื่องจีนแคะกับตำรวจ. กรุงเทพเดลิเมล์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 3641 วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พุทธศักราช 2465 , น.4
ณัฐพล ใจจริง . ชีวิต ‘จีนจน’ : เมื่อครั้งน้ำท่วมพระนคร 2485 (2). (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_634459. เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2567 ( 22 ธันวาคม พ.ศ.2565).
พรรณี บัวเล็ก. ลักษณะนายทุนไทยในระหว่าง พ.ศ.2457-2482 บทเรียนจากความรุ่งโรจน์สู่โศกนาฏกรรม.
กรุงเทพฯ : พันธกิจ. ( 2545 )
พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล. ป ปลา นั้นหายาก ชีวิตนอกโฆษณาดังของ อำพัน เจริญสุขลาภ อดีตครูงิ้วเยาวราชผู้
ไม่หยุดพัฒนางิ้วแนวใหม่ให้คนไทยได้ดูจนชั่วลูกชั่วหลาน. ( ออนไลน์ ). เข้าถึงได้จาก https://readthecloud.co/mang-boba/. เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2567. ( 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567)
พีระพงศ์ ดามาพงศ์ , พล.ต.ต. ท่องอดีตกับสามเกลอ เล่ม 5. กรุงเทพฯ : บริษัทสยามอินเตอร์มัลติมีเดีย.
(2550).
แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย. วิถีจีน-ไทยในสังคมสยาม. กรุงเทพฯ : มติชน. (2550)