แม้ว่าฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูกาลที่ผู้คนมักนิยมไปเยือนญี่ปุ่น โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์มิโฮะที่มีภาพชวนตะลึงของป่าซากุระลออตาอยู่ที่ปลายอุโมงค์ แต่ผู้เขียนตั้งใจแน่วแน่ว่าเมื่อใดที่จังหวะชีวิตลงตัวจะไปเยือนให้ได้ด้วยตกหลุมรักตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นผ่านเว็บไซต์
กลางฤดูใบไม้ร่วงปีพ.ศ. 2566 ใบไม้เปลี่ยนสีล่าช้ากว่าเคย ผู้เขียนเดินทางด้วยรถบัส Teisan รอบเช้าสุด จากสถานีรถไฟอิชิยามะ (JR Ishiyama สามารถซื้อบัตรรวมค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์และค่ารถไป-กลับในราคา 2,900 เยน (ราว 700 บาท)) แม้ว่ารถบัสจะมีผู้โดยสารหนาแน่น แต่ตลอดเส้นทางขึ้นลงเขาคดเคี้ยว ผ่านโตรกธารใสแจ๋วจนแลเห็นกรวดหินข้างใต้ สลับวิวป่าไม้กำลังผลัดใบเป็นระยะ ทำให้ช่วงระยะเวลา 50 นาที บนรถผ่านไปเพลิดเพลินเจริญใจอย่างยิ่ง และผู้โดยสารเต็มคันรถต่างก้าวลงที่จุดหมายปลายทางเดียวกัน คือ พิพิธภัณฑ์มิโฮะ
ภาพที่ 1 เมื่อลงจากรถบัสผู้เขียนพบว่าตนเองกำลังอยู่ในหุบเขามีอุโมงค์ทรงกลมมืดมิดอยู่ตรงหน้า
ขนาบสองข้างด้วยต้นซากุระกิ่งโกร๋น เป็นเส้นทางเดินไปสู่พิพิธภัณฑ์ แค่เห็นก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้น
ด้วยทำเลตั้งอยู่ท่ามกลางความงามตามธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของภูเขาชิงารากิ จังหวัดชิงะ เพื่อนบ้านเมืองหลวงเก่าอย่างเกียวโต พิพิธภัณฑ์มิโฮะเปรียบประดุจดั่ง “แชงกรี-ลา ในโลกแห่งความเป็นจริง” ให้ความรู้สึกราวกับหลุดเข้าไปในดินแดนเร้นลับกลางหุบเขาที่โอบล้อมรอบด้วยภูเขาหลากสีที่บางส่วนของป่ายังมีใบไม้สีเขียวสด บ้างก็แซมสีแดงส้ม หรือสีเหลืองกรอบ บ้างกำลังร่วงโรย
ภาพที่ 2 ภายในอุโมงค์ทอดยาวราว 500 เมตร ผู้เขียนเดินไปด้วยความรู้สึกเฝ้ารอ
ไอ.เอ็ม.เป่ย (I.M.Pei) สถาปนิกชาวอเมริกันเชื้อสายจีนเป็นผู้ออกแบบพิพิธภัณฑ์มิโฮะ เขาเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างสรรค์พีระมิดแก้วแห่งพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) กรุงปารีส โดยเขาได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างบุคลิกของพิพิธภัณฑ์มิโฮะจากยูโทเปียเหนือจริงที่อธิบายไว้ในนิทานจีนโบราณ เรื่อง Tao Hua Yuan Ji หรือดอกท้อแห่งฤดูใบไม้ผลิ (The Peach Blossom Spring) เขียนโดยเถา หยวนหมิง (Tao Yuanming) บอกเล่าเรื่องราวของชาวประมงที่เดินเตร่เข้าไปในถ้ำหลังจากถูกดึงดูดด้วยกลิ่นหอมของป่าต้นพีชบานสะพรั่ง เมื่อก้าวออกมาจากอีกฟากหนึ่งเขาได้พบหมู่บ้านที่เงียบสงบซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่อย่างมีชีวิตชีวา และยินดีต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเป็นมิตร
ภาพที่ 3 เดินออกมาสู่แสงสว่างสดใส พบสะพานแขวนเหนือหุบเขา ป่ากำลังเปลี่ยนสี
ด้วยแรงบันดาลใจนี้ ทำให้ผู้มาเยือนค่อย ๆ ถูกจูงใจด้วยความรู้สึกเฝ้ารออย่างตื่นเต้นไประหว่างทางเดินที่รายล้อมด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ลอดผ่านอุโมงค์โค้งปูนเปลือยประดับแสงไฟมลังเมลืองสองฝั่ง สู่แสงที่ค่อย ๆ สว่างปลายทางจนต้องหยีตาสู้ จากนั้นเดินข้ามสะพานแขวนกลางหุบเขาที่ป่าไม้กำลังผลัดใบเปลี่ยนสี มองเห็นหน้าจั่วและหลังคาของอาคารพิพิธภัณฑ์อยู่อีกฟากหนึ่ง
ภาพที่ 4 เจอหลังคาหน้าจั่วของพิพิธภัณฑ์สักที ตื่นเต้นที่สุด
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ผู้ก่อตั้ง คือ คุณโคยามา มิโฮโกะ (Mihoko Koyama พ.ศ. 2453-2546) เริ่มต้นของสะสมชุดแรกด้วยอุปกรณ์ในพิธีชงชา ศิลปะชินโต พุทธ ภาพวาดอักษรวิจิตร เซรามิก เครื่องเขิน และศิลปะญี่ปุ่นอื่น ๆ มากมายที่รวบรวมไว้นานกว่า 40 ปี เพื่อเติมเต็มวิสัยทัศน์ที่ต้องการส่งเสริมความงาม สันติภาพ และความสุขผ่านงานศิลปะ จากสิ่งของสะสมชุดนี้ทำให้ พิพิธภัณฑ์มิโฮะได้ขยายการจัดแสดงครอบคลุมงานศิลปะโบราณจากทั่วโลก
ราว 80% ของอาคารพิพิธภัณฑ์สร้างขึ้นใต้ดินเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โครงสร้างส่วนใหญ่จึงฝังอยู่ในไหล่เขาจนพ้นระยะสายตา เมื่อก้าวขึ้นบันไดสู่ทางเข้าที่เรียบง่ายก็พบว่าตัวเองกำลังถูกโอบล้อมด้วยกำแพงหินปูนสีน้ำผึ้งอ่อนโยน กรอบสีเทาเงิน เฉดสีเขียวรื่นรมย์ด้านนอก มีชีวิตชีวาอย่างยิ่งจากแสงสีนวลที่แทรกส่องเข้ามาจากหลังคากระจกท่ามกลางทัศนียภาพอันงดงามของภูเขาที่ทอดตัวอยู่ไกล ๆ
ภาพที่ 5 ภายในโถงทางเข้าพิพิธภัณฑ์สว่างไสวด้วยแสงอบอุ่นจากภายนอก
สาดส่องเข้ามารอบทิศอย่างเป็นจังหวะจะโคน ออกแบบอย่างลงตัว
หลังประตูบานใหญ่ที่มีหน้าต่างทรงกลมเลื่อนเปิดไปด้านซ้ายและขวา ผู้เขียนพบห้องที่มีบังลมอยู่ใต้บานเกล็ดและอาบไปด้วยแสงธรรมชาติ เมื่อเข้าประตูด้านในเพดานกระจกค่อย ๆ สูงขึ้น เผยให้เห็นบานเกล็ดที่มีรายละเอียดซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปตามขอบข่ายสายตาที่กว้างขึ้น พื้นที่โดยรอบได้รับแสงจากภายนอกส่องเข้ามาเต็มไปด้วยสัมผัสอันละเอียดอ่อนของจังหวะนุ่มละมุน
หากมองดูพิพิธภัณฑ์มิโฮะอย่างละเอียดจะสังเกตเห็นว่าภายในอาคารประกอบด้วยสองโทนสี ได้แก่ โทนสีน้ำผึ้งอันอ่อนโยนของหินปูนและบานเกล็ด และเฉดสีเทาเงินของโครงเสาที่สานกันไปมาราวใยแมงมุม กระทั่งเดินเข้าไปในห้องแสดงนิทรรศการและหันกลับมามองห้องโถงอย่างพิจารณาอีกครั้งจะมองเห็นพื้นที่ทั้งหมดก่อตัวเป็นรูปทรงกระดองเต่าหกด้านรวมกัน ทั้งแผนผังชั้นของพิพิธภัณฑ์และห้องนิทรรศการพิเศษ
ภาพที่ 6 ทุกเส้นสายของแสงเงา กรอบกระจก นำพาความรู้สึกผ่อนคลายและประทับใจอย่างที่สุด
การผสมผสานลวดลายหกด้านอย่างประณีตนี้ดึงดูดสายตาด้วยเส้นโค้งที่นุ่มนวลเป็นลูกคลื่นจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ผนังโค้งของแกลเลอรีที่หันหน้าเข้าหาโถงทางเดินสร้างบรรยากาศที่เปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจเพื่อต้อนรับผู้เข้าชมสู่ทางเข้าแกลเลอรี บันไดเอียงด้านซ้ายสุดห้องโถงเชิญชวนให้ขึ้นไปชั้นบน สรรพสิ่งในพิพิธภัณฑ์เหมือนน้ำไหลและดึงดูดใจให้ไปข้างหน้าจากทุกทิศทุกทาง เติมเต็มช่องว่างด้วยการชี้นำอย่างนุ่มนวลและใส่ใจอย่างยิ่งยวด
ภาพที่ 7 ภาพมุมกว้างของพิพิธภัณฑ์กลางป่า ทอดตัวในหุบเขา เมื่อมองออกไปจากภายในตัวอาคาร
นิทรรศการหลักและนิทรรศการพิเศษล้วนน่าสนใจอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนยังคงหลงรักอย่างถอนไม่ขึ้นกับพิพิธภัณฑ์มิโฮะเป็นความรู้สึกเพลิดเพลินเจริญใจในทุกก้าวเดิน บรรยากาศโอบรับความผ่อนคลายจากแสงที่ตกกระทบจากภายนอกสู่ทุกพื้นที่ภายในอย่างเหมาะเจาะ เติมเต็มจิตวิญญาณด้วยการผสมผสานที่ลงตัวระหว่างความงามของธรรมชาติ สถาปัตยกรรม ศิลปะ และอาหาร ท่ามกลางฉากหลังที่มีชีวิตชีวาของสีสันตามฤดูกาล
ไม่ว่าฤดูกาลใด ผู้เขียนเชื่อว่าใครที่ได้มาที่นี่ก็จะได้รับความสำราญใจจากพิพิธภัณฑ์มิโฮะอย่างไร้ขีดจำกัดแน่นอน
ข้อมูลพิพิธภัณฑ์
Miho Museum, Shiga
เปิดทำการ10:00- 17.00 น. ปิดทุกวันจันทร์ ส่วนการจัดแสดงนิทรรศการต้องตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ก่อนเดินทาง
การเดินทาง : จากสถานี JR Ishiyama จังหวัดชิงะ ขึ้นรถบัส Teisan มุ่งหน้าไปยังพิพิธภัณฑ์มิโฮะ ขาไป 50 นาที ขากลับ 70 นาที ลงป้ายสุดท้าย
หมายเหตุ