Museum Core
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซวงการเครื่องรางของขลัง: การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม วัตถุมงคลไทยในสิงคโปร์
Museum Core
09 ก.ย. 67 207

ผู้เขียน : Koh Jun Ming

               ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา วงการพระเครื่องและเครื่องรางของขลังในสิงคโปร์ได้รับความสั่นสะเทือนจากนโยบายของรัฐและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก โดยศูนย์การค้าเพิร์ลเซ็นเตอร์ (Pearls Centre) และโกลเด้นไมล์คอมเพล็กซ์ (Golden Mile Complex) ถูกรื้อถอนในปีค.ศ. 2015 และปีค.ศ. 2023 ตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดไว้ในแผนการพัฒนาชาติ (National Development) ศูนย์การค้าทั้งสองแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของร้านเช่าวัตถุมงคลแบบไทย จึงเป็นหมุดหมายที่นักสะสมวัตถุมงคลและผู้สนใจต้องแวะเวียนไปสักครั้ง ซึ่งโรคอุบัติใหม่นี้ส่งผลกระทบให้กับเหล่าผู้ประกอบการธุรกิจให้เช่าบูชาวัตถุมงคลที่ไม่สามารถเดินทางไปยังประเทศไทยได้ชั่วคราวตามมาตรการปิดพรมแดนและล็อคดาวน์ของรัฐเพื่อควบคุมสถานการณ์ หลายคนตั้งข้อสันนิษฐานว่า ทั้งสองเหตุการณ์ที่โหมกระหน่ำอาจทำให้อุตสาหกรรมวัตถุมงคลไทยในสิงคโปร์ซบเซาและล่มสลายได้ ทว่าในความเป็นจริงชุมชมผู้นิยมวัตถุมงคลชาวสิงคโปร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วย ผู้สนใจยังสามารถแสวงหาวัตถุมงคลได้อย่างสะดวกง่ายดายเพียงปลายนิ้วสัมผัสสมาร์ตโฟนผ่านโซเซียลมีเดียแพลตฟอร์มอย่าง
เฟซบุ๊ก 

               ผู้เขียนมีประสบการณ์ด้านตลาดวัตถุมงคลไทยในสิงคโปร์ ด้วยเคยติดตามคุณพ่อที่เป็นนักสะสมวัตถุมงคลไปค้นหาวัตถุมงคลตามร้านเช่าวัตถุมงคลต่าง ๆ ในสิงคโปร์ จึงสนใจวิเคราะห์ปรากฏการณ์ดังกล่าวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางรูปแบบธุรกิจอย่างฉับพลันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยผู้เขียนพบข้อสรุปว่า “การพูดคุยสัพเพเหระ” (small talk) เป็นเทคนิคสำคัญในการรักษาฐานลูกค้าให้ดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น และแทบไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่เคลื่อนย้ายจากพื้นที่เชิงกายภาพ (physical spaces) ไปสู่พื้นที่เสมือนจริง (virtual spaces) เครือข่ายสังคมระหว่างผู้ให้เช่าและผู้สนใจเช่าวัตถุมงคลยังคงมีอยู่ ทว่าดำเนินต่อไปด้วยการพูดคุยสั้นๆ ผ่านรูปแบบการส่งข้อความและแสดงความคิดเห็นบนพื้นที่เสมือนจริง ซึ่งการเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารจากการพบปะพูดคุยกันต่อหน้าสู่บทสนทนาโต้ตอบออนไลน์ก็ยิ่งท้าทายการตีความชั้นข้อมูลที่อาจซ่อนอยู่หลายระดับใต้ตัวอักษรเหล่านั้น

 

จุดกำเนิดของวัฒนธรรมวัตถุมงคลไทยในสิงคโปร์

               ในสังคมสิงคโปร์การแพร่หลายของวัตถุมงคลไทยในภูมิทัศน์วัฒนธรรมความเชื่อ (religious landscape) เป็นภาพตัวแทนของการนับถือพุทธศาสนาแบบไทย (Thai Buddhism) ที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ว่าพุทธศาสนาแบบไทยถือกำเนิดขึ้นในต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อคณะพระสงฆ์ไทยเดินทางมายังสิงคโปร์เพื่อเผยแพร่หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าแก่สาธารณชน โดยมีวัดอนันทเมตยารามเป็นวัดไทยแห่งแรกในสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นโดยหลวงพ่อหงส์ในปีค.ศ. 1918 เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปีค.ศ. 1923 และหลายทศวรรษถัดมาก็มีพุทธสถาน และตำหนักร่างทรง (shaman) ที่มีการปลุกเสกของขลัง ทำพิธีกรรมอย่างพิธีครอบเศียรครู สักยันต์ พิธีลงนะ ดูฮวงจุ้ย ดูดวง ฯลฯ จำนวนมากผุดขึ้นบนเกาะแห่งนี้

 

 

ภาพที่ 1 วัดอนันทเมตยาราม วัดไทยแห่งแรกในสิงคโปร์

แหล่งที่มาภาพ: watananda.org – watananda. (n.d.) [Online] Accessed 2024 Jun 6.

Available from: https://watananda.org

 

               ความเติบโตของพุทธสถานในสิงคโปร์และลัทธิพุทธศาสนาแบบไทย ทำให้วัฒนธรรมการบูชาวัตถุมงคลได้รับความนิยมในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวสิงคโปร์ โดยผูกโยงเข้ากับความเชื่อว่าวัตถุมงคลต่างๆ ทั้งพระเครื่องและเครื่องรางของขลังที่ได้รับการปลุกเสกจากพระเกจิอาจารย์มีพุทธคุณ พลังเหนือธรรมชาติที่ช่วยปกป้องผู้ที่บูชาพกวัตถุมงคลติดตัวไว้ให้แคล้วคลาดปลอดภัย รวมถึงบันดาลโชคลาภ และเสริมเสน่ห์ เป็นต้น วัตถุมงคลไทยมีหลากหลายชนิด แต่ละชิ้นมีรูปลักษณ์และคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างกัน ทั้งนี้ หลายทศวรรษที่ผ่านมามีร้านเช่าวัตถุมงคลกระจายตัวอยู่ทั่วทุกซอกทุกมุมในภูมิทัศน์วัฒนธรรมความเชื่อของสิงคโปร์อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการเช่าวัตถุมงคลของผู้นับถือศาสนาพุทธชาวสิงคโปร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

หมายเหตุโดยกองบรรณาธิการ - วัตถุมงคลประเภทเครื่องรางของขลังในไทยเป็นวัตถุที่กำเนิดขึ้นจากความเชื่อเรื่องผีที่มีมาก่อนพุทธศาสนา ต่อมาความเชื่อเรื่องผีได้หลอมรวมเข้าไว้ด้วยกันกับพุทธศาสนา ดังนั้นพุทธศาสนาแบบไทยจึงมีการทำพิธีกรรมและการจัดสร้างวัตถุต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กลายเป็นประเภทหนึ่งในเครื่องรางของขลัง เพื่อตอบสนองกับความเชื่อ และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของผู้คนให้เกิดความรู้สึกคลายความกังวลและอุ่นใจ

 

พฤติกรรมชุมชนนิยมวัตถุมงคลไทยในอดีต

               ช่วงทศวรรษ 2010 ร้านเช่าวัตถุมงคลไทยได้รับความนิยมในหมู่ผู้สนใจ ร้านเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าแถวย่านบูกิส (Bugis) ถนนบีช (Beach Road) และไชน่าทาวน์ (Chinatown) รูปแบบของร้านมักมีลักษณะคล้ายกัน คือ ออกแบบจัดวางให้ชิ้นวัตถุมงคลเป็นระเบียบ ดูง่ายสะอาดตาแก่สายตาผู้สนใจมาเยี่ยมชม พระพุทธรูปสำหรับบูชามักประดิษฐานไว้บนชั้นวาง หรือตู้ติดผนังแบบเปิดโล่ง ขณะที่พระเครื่องและเครื่องรางของขลังถูกจัดวางบนถาดกำมะหยี่สีแดงในตู้โชว์กระจกใส ซึ่งผู้เขียนสังเกตเห็นว่าวัตถุมงคลเหล่านี้ถูกกำหนดตำแหน่งที่ตั้งไว้อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะวัตถุมงคลที่เกี่ยวข้องกับผีหรือวิญญาณ เช่น กุมารทอง งั่งตาแดง ฯลฯ จะถูกจัดวางแยกต่างหาก ไม่ปะปนกับวัตถุมงคลทั่วไป นอกจากนี้ ทุกร้านมักมีเก้าอี้รับแขกวางไว้ด้านหน้าตู้โชว์สำหรับต้อนรับลูกค้า

 

ภาพที่ 2 ภายในร้านเช่าวัตถุมงคลไทยในสิงคโปร์

แหล่งที่มาภาพ: Prestige Amulets. (2014) [Online] Accessed 2024 Jun 6. Available from: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=421664540258086&set=pb.100072436309140.-2207520000&type=3

 

               ผู้สนใจวัตถุมงคลสามารถร้องขอให้เจ้าของร้านนำชิ้นวัตถุมงคลที่สนใจออกมาให้สัมผัสได้อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจวัตถุมงคลมักไม่มีความรู้ หรือข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับวัตถุมงคลเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนตัดสินใจ ได้แก่ ชื่อวัตถุ ชนิดประเภทวัสดุที่สร้างวัตถุมงคล หรือข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและปีที่สร้าง ชื่อพระเกจิที่ปลุกเสก ชื่อวัดผู้ผลิต เป็นต้น อีกทั้ง วัตถุมงคลที่วางโชว์ไว้มักไม่มีคำบรรยายใดๆ ความไม่สันทัดในภาษาและวัฒนธรรมความเชื่อแบบไทยกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับชาวสิงคโปร์ที่สนใจเช่าวัตถุมงคล ดังนั้น การตัดสินใจจึงอาศัยความน่าเชื่อถือและเชื่อมั่นว่าเจ้าของร้านมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ข้อมูลแม่นยำ และแปลข้อมูลได้ถูกต้องในการถ่ายทอดข้อมูลข้ามวัฒนธรรมนี้

               นอกจากนี้ การสร้างความสัมพันธ์อันดีและใกล้ชิดกับลูกค้า (customer intimacy) ยังเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในการเสริมสร้างเครือข่ายฐานลูกค้าประจำ (customer loyalty and retention) ทำให้ผู้เช่าเกิดความรู้สึกผูกพัน (emotional attachment) สนิมสนมเป็นกันเองในกลุ่มเครือข่ายผู้นิยมวัตถุมงคล ทั้งผู้เช่ารายอื่นๆ ร้านเช่าร้านใดร้านหนึ่ง การสร้างเครือข่ายและรวมกลุ่มกันเป็นกลยุทธ์ของเจ้าของร้านในการแสวงหาผลกำไร ด้วยการใช้ศิลปะ “การพูดคุยสัพเพเหระ” เป็นการเติมเต็มช่องโหว่ทางความสัมพันธ์กับลูกค้า ประโยคที่พูดคุยอาจเป็นเรื่องสัพเพเหระ ไม่ใช่บทสนทนาเพื่อเป้าหมายทางธุรกิจโดยตรง ทว่าเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญ การสร้างความรู้สึกคุ้นเคยคล้ายเพื่อน ช่วยให้ผู้เช่าเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจเหมือนเจ้าของร้านเป็นคนใกล้ตัว หรือสมาชิกในครอบครัว

               จากการเฝ้าสังเกตการสร้างปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เช่าและเจ้าของร้านเช่าวัตถุมงคลเป็นระยะเวลาหนึ่ง ผู้เขียนสันนิษฐานว่ามีสองปัจจัยที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางอารมณ์ของชุมชนผู้นิยมวัตถุมงคลในสิงคโปร์
                หนึ่ง ผู้เช่าสามารถสนทนากับเจ้าของร้านได้สารพัดเรื่อง เช่น ครอบครัว การทำงาน อาหาร สุขภาพ เป็นต้น ไม่ได้จำกัดเพียงเรื่องวัตถุมงคลเท่านั้น และการมีเก้าอี้รับแขกยังช่วยให้บทสนทนาลื่นไหลอย่างมีชีวิตชีวาและยาวนานขึ้น อย่างไรก็ดีแม้หัวข้อสนทนาเป็นเรื่องทั่วไป แต่เจ้าของร้านจะหาวิธีเปลี่ยนเรื่องคุยไปสู่เรื่องวัตถุมงคลได้อย่างแนบเนียน ตัวอย่างเช่น ผู้เช่าเล่าเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นของคนใกล้ตัว เจ้าของร้านก็สบโอกาสเล่าเรื่องราวอุบัติเหตุที่มีผู้รอดชีวิตราวกับปาฏิหาริย์การสวมใส่วัตถุมงคล สร้างความเชื่อมโยงเพื่อจูงใจให้สนใจวัตถุมงคลที่มีให้เช่าในขณะนั้นทันที

               สอง การพูดคุยสัพเพเหระยังช่วยให้กระบวนการต่อรองราคากันดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยเจ้าของร้านใช้วาทะศิลป์พูดด้วยประโยคสั้น ๆ แต่ละมุนละม่อม เช่น “เชื่อผมเถอะ ราคานี้หาที่อื่นไม่ได้แล้ว” หรือ “ราคานี้ผมให้คุณคนเดียว ลูกค้าอื่นผมบอกราคาสูงกว่านี้” เพื่อแสดงถึงความพิเศษเหนือผู้อื่น หว่านล้อมลูกค้าให้รู้สึกยินดียอมรับกับราคาที่เสนอให้แม้ท้ายที่สุดเจ้าของร้านอาจไม่ลดราคาก็ตาม ซึ่งการพูดคุยนี้นอกจากช่วยรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าได้แล้ว ยังช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจด้วย

 

พฤติกรรมชุมชนนิยมวัตถุมงคลไทยในปัจจุบัน

               ตั้งแต่ทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา ร้านเช่าวัตถุมงคลหลายเจ้าถูกยึดคืนพื้นที่และเหตุการณ์โรคระบาดโควิด วิธีการเช่าวัตถุมงคลถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ธุรกิจรูปแบบเก่าไม่ใช่คำตอบเดียวในระบบเศรษฐกิจโลกยุคปัจจุบัน การใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียกลายเป็นกลยุทธ์ใหม่ทางธุรกิจ โลกออนไลน์ที่ไร้ขีดจำกัดช่วยสร้างการปฏิสัมพันธ์และเชื่อมต่อระหว่างสมาชิกชุมชนที่เพิ่มจำนวนได้นับไม่ถ้วน ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาฐานลูกค้าเก่าได้อีกด้วย

               โดยเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ออนไลน์ยอดนิยมสำหรับชุมชนผู้นิยมวัตถุมงคลในสิงคโปร์ ซึ่งกลไกตลาดออนไลน์ทำให้ผู้เช่ามีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น เช่น การเข้าร่วมประมูลวัตถุมงคลผ่านหน้าเพจโปรไฟล์เฟซบุ๊กของผู้ให้เช่า (wall bidding) ซึ่งผู้สนใจสามารถกดเข้าไปที่หน้า เพื่ออ่านรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุมงคล พร้อมราคาเปิดประมูล การเพิ่มราคาประมูลขั้นต่ำ ราคาปิดประมูลทันที (direct closing bidding price) วันที่และเวลาปิดประมูล หากสนใจก็พิมพ์ราคาประมูลในกล่องความเห็นใต้โพสต์ของวัตถุมงคลนั้นๆ หรือการเข้าร่วมประมูลแบบถ่ายทอดสด (live bidding) ที่เป็นการประมูลวัตถุมงคลแบบเรียลไทม์ กระบวนการประมูลมีเวลาจำกัด และผู้เข้าร่วมประมูลสามารถทราบผลการประมูลได้ทันที

 

ภาพที่ 3 ตัวอย่าง Wall Bidding

แหล่งที่มาภาพ: Enrich De Artifacts. (2024) [Online] Accessed 2024 Jun 6. Available from: https://www.facebook.com/enrichdeartifactssg/posts/pfbid0hiwCnNF4f3fXEEezA2AGLwrG8etoSEae8xRyqUL87Rb4kpou3xfyVWjyRqdYANHal

 

 

ภาพที่ 4 ตัวอย่าง Live Bidding

แหล่งที่มาภาพ: DD-Pra Singapore. (2024) [Online] Accessed 2024 Jun 6.

Available from: https://fb.watch/sLv9lPTazp/

 

               แม้ว่าผู้เช่าและผู้ให้เช่าอาจไม่ได้พบเจอกันในชีวิตจริงเหมือนแต่ก่อน แต่เครือข่ายชุมชนผู้นิยมวัตถุมงคลไม่ได้สูญสลายไป ในทางตรงกันข้ามการสื่อสารโลกออนไลน์รูปแบบการประมูลแบบถ่ายทอดสดก็ยังคงรักษาบรรยากาศการพูดคุยแบบสัพเพเหระระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่าได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ผู้ให้เช่ายังคงสื่อสารแบบมีอารมณ์ร่วมไปกับผู้เช่าได้ผ่านคำพูด (verbal communication) ขณะที่ผู้เช่าก็ร่วมวงสนทนาได้ด้วยการแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกผ่านการกดส่งอีโมจิหรือสติ๊กเกอร์ตามอัธยาศัย

               อย่างไรก็ตาม การสื่อสารออนไลน์ก็มีข้อจำกัด การสื่อสารที่ไม่สามารถอ่านสีหน้า แววตา อากัปกิริยาของอีกฝ่ายได้ การตีความผ่านข้อความที่มีเพียงตัวอักษรไร้ซึ่งน้ำเสียง (tone/pitch) การแบ่งคำ (pace) และการหยุดคำ (pause) ที่เป็นตัวบ่งชี้อารมณ์ความรู้สึกของผู้พูดหรือผู้พิมพ์อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่เกิดจากการแปลความหมายคาดเคลื่อนได้ ซึ่งรูปแบบการสื่อสารนี้อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์หรือสร้างปัญหาภายหลังที่นำมาสู่ความขัดแย้งที่สั่นคลอนรากฐานของเครือข่ายผู้นิยมวัตถุมงคลก็อาจเป็นไปได้

                ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาทางสังคมและเทคโนโลยีตั้งแต่ปีค.ศ. 2010 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมวัตถุมงคลไทยในสิงคโปร์ไม่มากก็น้อย การเปลี่ยนแปลงจากธุรกิจแบบมีที่ตั้งห้างร้านมาสู่ธุรกิจออนไลน์สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการเช่าวัตถุมงคลที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของสังคมด้วย ทั้งการกำหนดราคาให้เช่าวัตถุมงคลที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ให้เช่าผู้เดียว แต่มีปัจจัยผกผันตามกลไกทางการตลาด วัตถุมงคลประเภทใดที่มีความต้องการจากผู้เช่าจำนวนมากก็ย่อมไต่ราคาขยับในระดับสูงขึ้น รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่าที่เปลี่ยนไป จากแต่เดิมผู้เช่าไม่ต้องรีบร้อนในการตัดสินใจ สามารถค่อยๆ พินิจพิจารณาเลือกวัตถุมงคลในร้านได้ ทว่ารูปแบบการประมูลแบบออนไลน์ที่มีระยะเวลาประมูลจำกัด ทำให้ผู้เช่าต้องชั่งใจในฉับพลันว่าจะเช่าหรือไม่เช่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงสูงนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่ผูกพันกันระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่ายังคงสนิทแนบแน่น ไม่เปลี่ยนไป

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ