ผู้เขียนยังจดจำสีหน้าและแววตาของสาวน้อยที่ได้พบเจอกันที่โฮสเทลแห่งหนึ่งในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย และได้แลกเปลี่ยนข้อมูลท่องเที่ยวตามประสานักท่องเที่ยวชาติเดียวกันอย่างเมื่อวานไปเที่ยวไหนมาบ้าง? คำตอบว่า “พิพิธภัณฑ์ศิลปะ” ของผู้เขียน ทำให้คู่สนทนาวัยเยาว์แสดงสีหน้างุนงงและถามกลับด้วยความใคร่รู้ว่าพิพิธภัณฑ์ศิลปะมีอะไรน่าสนใจให้ไปเที่ยว ซึ่งผู้เขียนก็ตอบว่า “มีงานดี ๆ ให้ดูเยอะเลย”
ขณะเดียวกันคู่สนทนาก็บอกเล่าสิ่งที่สนใจและประสบการณ์ที่แตกต่างไป ผู้เขียนได้คะยั้นคะยอให้ลองเปิดใจไปเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับที่พัก ด้วยปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งมีการแข่งกัน ทั้งการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่อง และชูอัตลักษณ์ที่โดดเด่นให้น่าสนใจ โดยเฉพาะการนำสื่อประสม ทั้งแสง สี เสียง ใช้วิธีการเล่าแบบสมัยใหม่แล้วยิ่งสนุกและเพลิดเพลิน กลายเป็นหน้าเป็นตาให้กับเมือง
เมลเบิร์นเป็นหนึ่งในเมืองที่ติดอันดับเมืองน่าอยู่ของโลกมานานหลายปี และมีความโดดเด่นเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติ ความสวยงามของสถานที่ ระบบการศึกษา และศิลปะวัฒนธรรม ที่นี่มีพิพิธภัณฑ์ให้เลือกไปเยือนมากมายหลายแห่ง อาทิ หอศิลป์แห่งชาติวิกตอเรีย (National Gallery of Victoria) หรือชื่อย่อๆ ที่เรียกว่า NGV
หอศิลป์แห่งชาติวิกตอเรียเป็นพิพิธภัณฑ์ประเภทศิลปะที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย มีวลีติดหู หรือแท็กไลน์ (tagline) ว่า “Bring Art to the People” หอศิลป์นี้มีด้วยกันสองแห่ง คือ หอศิลป์แสดงงานศิลปะนานาชาติ และหอศิลป์แสดงผลงานศิลปินชาวออสเตรเลีย ซึ่งทั้งสองแห่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง ทว่าที่ตั้งอยู่คนละฟากแม่น้ำยาราห์
ผู้เขียนเลือกไปเยี่ยมชมที่หอศิลป์แสดงงานศิลปะนานาชาติ ตัวอาคารมีรูปลักษณ์ภายนอกดูโอ่อ่าสมฐานะหอศิลป์แห่งชาติที่เก็บสิ่งของสะสมล้ำค่ามากมาย แต่เมื่อเดินมาถึงประตูทางเข้าบรรยากาศกลับพลิกผันแปรเปลี่ยนเป็นสดใส มองเห็นบรรดาเด็กน้อยต่างวิ่งกระโดดโลดเต้นเล่นสนุกกับประตูกระจกขนาดใหญ่ที่มีน้ำไหลผ่าน (Water Wall) สร้างบรรยากาศให้ดูสนุกสนานจนผู้เขียนต้องหยุดยืนมอง และลองเอื้อมมือไปแตะเล่นดูบ้างในที่สุด ก่อนค้นพบว่าเป็นน้ำของจริงที่เย็นเจี๊ยบ ทำให้หายสงสัยว่าทำไมเด็กๆ จึงชอบกันยิ่งนัก ที่นี่กลายเป็นสถานที่ที่พ่อแม่สามารถพาเด็ก ๆ มาเที่ยวเล่นเที่ยวชม และเข้าถึงแหล่งความรู้ด้วยบรรยากาศสนุก ๆ นับว่าประสบความสำเร็จในการนำศิลปะสู่ประชาชนได้ตามแท็กไลน์ตั้งแต่ทางเข้าหอศิลป์แล้ว
ภาพที่ 1 อาคารหอศิลปะแห่งชาติวิกตอเรีย
ภาพที่ 2 ประตูม่านน้ำ (Water Wall)
หลังผ่านพ้นจากประตูม่านน้ำเข้ามาด้านในส่วนโถงตรงกลางก็เผชิญหน้ากับประติมากรรมรูปชายหญิงผิวสีขนาดใหญ่สวมชุดร่วมสมัยในท่วงท่าสบาย ๆ ผลงานของโธมัส เจ ไพรซ์ (Thomas J Price) ศิลปินชาวอังกฤษที่ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ การจัดวางงานศิลปะชิ้นนี้ในโถงใหญ่เพื่อต้อนรับผู้มาเยือนจึงเป็นสื่อกลางที่สะท้อนให้เห็นว่าแม้งานประติมากรรมคนผิวสีในพื้นที่สาธารณะมีน้อยมาก แต่หอศิลป์แห่งนี้เปิดกว้างและเข้าถึงได้ไม่ยาก
ภาพที่ 3 ประติมากรรมชายหญิงผิวสีขนาดใหญ่สวมชุดร่วมสมัยในท่วงท่าสบาย ๆ
พื้นที่ถัดมาเป็นห้องโถงใหญ่ (Great Hall) มีลักษณะแคบยาวให้ความรู้สึกเหมือนพื้นที่ระเบียงของห้องโถงกลาง บนเพดานสูงตกแต่งด้วยกระจกสีที่ออกแบบให้มีรูปลักษณ์สีสันดูสนุก มีการนำเก้าอี้บุบวมรูปทรงเรขาคณิตแบบเบาเฮ้าส์ (Bauhaus) สีสันสดใสวางเรียงต่อกันเป็นที่นั่งพักรับรองผู้เข้าเยี่ยมชม โดยเฉพาะกลุ่มครอบครัว บรรดาพ่อแม่พาลูกมานั่งพัก เด็ก ๆ สามารถวิ่งเล่น นอนเล่น วาดรูประบายสี หรือนั่งแหงนหน้ามองดูเพดานและเพลินกับจินตนาการ
ภาพที่ 4 พื้นที่ห้องโถงใหญ่ (Great hall)
หลังเดินสำรวจชั้นแรก (Ground Fl.) จนทั่วแล้ว ผู้เขียนจึงขึ้นไปชมงานจัดแสดงบนชั้น 1 และชั้น 2 เริ่มจากห้องแสดงงานศิลปะจากเอเชียที่นำเสนองานศิลปะจากหลากหลายประเทศภายใต้หัวข้อเดียวกัน ทำให้เส้นเรื่องมีความชัดเจน อาทิ “สัตว์มหัศจรรย์ในตำนาน” กระตุ้นให้ผู้ชมใคร่อยากรู้ว่ามีชิ้นงานอะไร นำมาจัดแสดงบ้าง ได้แก่ สิงห์คู่ที่เป็นสัตว์ผู้พิทักษ์ และนกฟีนิกซ์จากจีน ร่างอวตารของพระวิษณุที่มีร่างกึ่งมนุษย์กึ่งสัตว์ตามคติความเชื่อของอินเดียอย่างตัวนรสิงห์ (คนผสมสิงห์) กัลกิ (คนผสมม้า) และวราหะ (คนผสมหมูป่า) นอกจากนี้ยังมีตัวมกร เทพแห่งท้องทะเลที่มีลักษณะของสัตว์หลายชนิดผสมกัน ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำจากไทยก็ได้ร่วมจัดแสดงด้วย รวมถึงมังกรคู่ตามความเชื่อจากญี่ปุ่น และครุฑ รูปแบบตามความเชื่อของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการนำเสนอให้ผู้เข้าชมได้เห็นศิลปะจากหลายประเทศภายใต้ความเชื่อที่คล้ายคลึงกัน
ภาพที่ 5 ร่างอวตารของพระวิษณุ
ภาพที่ 6 ครุฑจากประเทศอินโดนีเซีย
อีกห้องหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกันจัดแสดงงานศิลปะจากฝั่งยุโรปที่มีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 - 17 มีวิธีการนำเสนอเลียนแบบลักษณะการแขวนจัดแสดงงานศิลปะในห้องซาลอง (Salon) ที่เมืองปารีสช่วงยุคศตวรรษที่ 17 ทำให้ห้องนี้ดูโดดเด่น แปลกตาแตกต่างจากห้องอื่น โดยบรรยากาศการจัดแสดงงานในยุคสมัยนั้นมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ จึงต้องพยายามนำภาพวาดมาแขวนจัดแสดงให้มากที่สุดจนเต็มผนังแต่ละด้าน บางภาพแขวนมีระยะห่างกันแค่ 40 มิลลิเมตรเท่านั้น และภาพที่แขวนอยู่บนสุดห่างจากเพดานเพียงแค่ 100 มิลลิเมตร แต่ละภาพต้องถูกมองเห็นและดึงดูดความสนใจได้ไม่แพ้กัน ซึ่งนับเป็นความท้าทายมากในการจัดวางพื้นที่แขวนภาพให้ได้มากที่สุดและมีความสมดุล
ภาพที่ 7 การจัดแสดงในห้องซาลอง
นอกจากชิ้นงานจัดแสดงที่น่าสนใจแล้ว จังหวะของการนำเสนอก็มีส่วนช่วยส่งเสริมบรรยากาศที่รื่นรมย์ของหอศิลป์มากยิ่งขึ้น อย่างกรณีทางเดินเชื่อมระหว่างห้องแสดงผลงานศิลปะฝั่งยุโรปกับฝั่งทางเอเชียบนชั้นสองที่เลาะเรียบผ่านบริเวณห้องโถงใหญ่ได้ให้มุมมองห้องโถงใหญ่จากมุมสูง มองเห็นสีฉูดฉาดของเฟอร์นิเจอร์ตัดกับกระจกสีบนเพดาน แล้วนำผลงานเครื่องแก้วจากเกาะมูราโน่อิตาลีที่มีชื่อเสียงเรื่องทรวดทรงและสีสันที่สดใส การปะทะกันของสีสันต่างๆ ทำให้การจัดแสดงงานศิลปะแลดูสนุก ตื่นตาไม่น่าเบื่อ
ภาพที่ 8 ตัวอย่างงานเครื่องแก้วมูราโน่
ภาพที่ 9 ประติมากรรมรูปสฟิงซ์
คำอธิบายงานประติมากรรมสฟิงซ์ขนาดใหญ่ที่รูปลักษณ์สีสดแตะตาและดึงดูดผู้ชม ผลงานของศิลปินยินกะ โชนิบาเระ (Yinka Shonibare) เป็นตัวอย่างการเขียนคำอธิบายที่เหมาะแก่วัยของผู้ชม เช่น คำอธิบายสำหรับผู้ใหญ่ใช้ศัพท์เทคนิคเฉพาะด้านศิลปะ แรงบันดาลใจ และวิธีการทำงาน ขณะที่คำอธิบายสำหรับเด็กก็เน้นคำที่อ่านและเข้าใจได้ง่าย โดยเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของเด็ก อาทิ ชวนให้เด็กตั้งคำถามกับตัวเองว่าเคยเห็นรูปปั้นสฟิงซ์กันมาก่อนใช่ไหม? สฟิงซ์ที่เคยเห็นมักมีสีขาวเพราะแกะสลักจากหินอ่อนและเป็นชิ้นงานที่ผ่านกาลเวลามานานนับพันปีแล้ว ใครจะรู้ว่างานแกะสลักหินสฟิงซ์เหล่านี้ในอดีตอาจมีลวดลายสีสันสดใสก็เป็นได้ ศิลปินจึงสร้างสฟิงซ์ให้มีลวดลายสีสันสดใสแบบแอฟริกากลายเป็นสฟิงซ์ยุคใหม่ที่ดููทันสมัย ยิ่งตอกย้ำให้ว่าหอศิลป์ทำตามเจตนารมณ์ได้เห็นผลจริงดังวลีเด็ดของหอศิลป์ที่ว่า “Bring Art to the People” แถมที่นี่ยังไม่เก็บค่าเข้าชม ถ้าใครยังเดินดูได้ไม่ทั่ว ไม่ครบถ้วนก็กลับมาเยี่ยมชมใหม่ได้ในวันอื่น หรือแวะออกไปนั่งพักบริเวณสวนด้านนอกที่มีงานประติมากรรมกลางแจ้งจัดแสดงตามมุมต่าง ๆ ก็ได้
ภาพที่ 10 งานประติมากรรมกลางแจ้งสวนด้านนอก