Museum Core
ฟลอเรนซ์: เมืองหลวงของเดอะลาส ซัปเปอร์
Museum Core
17 มี.ค. 68 129
ประเทศอิตาลี

ผู้เขียน : กระต่ายหัวฟู

ภาพปก เดอะลาส ซัปเปอร์ วาดโดย โปลติลล่า เนลลิ           

 

               เดอะลาส ซัปเปอร์ (The Last Supper) หรือพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูกับอัครสาวก 12 คนได้เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนภาพให้กับศิลปินมานานตั้งแต่ต้นคริสตกาล

               ดังนั้นภาพการนั่งรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายนี้มานานแล้ว เช่น ภาพโมเสกในศตวรรษที่ 6 ที่วิหาร
ซานตาโปลลินาเรนูโอโว (Basilica of Sant ‘Apollinare Nuovo) ในเมืองเรเวนนา (Ravenna) ภาพวาดในพระคัมภีร์ต่างๆ ที่เป็นการวาดลงบนแผ่นหนัง ภาพวาดประดับแท่นบูชาที่มักเป็นแผงไม้ ภาพเหล่านี้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและเป็นลักษณะการนั่งล้อมวงรอบโต๊ะทำให้มีตัวละครหลายคนที่นั่งหันหลังเนื่องจากลักษณะของพื้นที่ในการวาดค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสอย่างช่องหนึ่งบนหน้าแท่นบูชาที่มีรูปอื่นอีกหลายรูปอยู่ร่วมด้วย ตัวอย่างเช่น ภาพของดุชโช (Duccio di Buoninsegna) ที่วาดขึ้นราวปีค.ศ.1308-11 เพื่อตกแต่งแท่นบูชาในวิหารเซียน่า (Siena Cathedral) ซึ่งมักมีผู้เอ่ยถึงเสมอ

               ภาพที่วาดด้วยเทคนิคเฟรสโก (จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนบนปูนเปียก) ภาพแรกๆ ที่สวยงามจนเป็นที่กล่าวขวัญถึงเป็นฝีมือของจอตโต (Giotto di Bondone) เขียนไว้ที่โบสถ์น้อยสโกรเวญญี (Scrovegni Chapel) ในเมืองปาโดวา (Padova) ประมาณปี ค.ศ.1305 แต่ก็ยังเป็นภาพเล็กอยู่ในช่องหนึ่งของภาพชุดลักษณะการจัดวางคล้ายภาพหน้าแท่นบูชา

               จิตรกรรมฝาผนังรูปยาวที่เห็นตัวละครนั่งเรียงกันในแบบที่คุ้นตาเริ่มขึ้นในฟลอเรนซ์เป็นแห่งแรก เนื่องด้วยศาสนาและเมืองเจริญรุ่งเรือง โบสถ์หรืออารามของฟลอเรนซ์จึงมีนักบวชและแม่ชีจำนวนมาก มีการจัดห้องให้สมาชิกมาร่วมทานอาหารและภาวนาเพื่อขอบคุณพระเจ้าและให้ระลึกอยู่เสมอว่าการรับประทานอาหารนั้นเพื่อช่วยให้มีชีวิตอยู่รับใช้พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ โรงอาหารเป็นสถานที่เหมาะสมกับภาพพระกระยาหารมื้อสุดท้ายที่สมาชิกจะได้ระลึกถึงขณะภาวนาด้วยประการทั้งปวง

               มีบางคนกล่าวแบบเหย้าว่าฟลอเรนซ์เป็นเมืองหลวงของภาพเดอะลาส ซัปเปอร์ ซึ่งเฉพาะในเมืองนี้ก็มีภาพเดอะลาส ซัปเปอร์ไม่ต่ำกว่า 10 ภาพ ผู้เขียนได้มีโอกาสชื่นชมจำนวน 5 ภาพ จากโบสถ์สามแห่งด้วยเหตุบังเอิญ ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจที่คนส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยพูดถึงภาพเหล่านี้

 

โบสถ์ซานตาโครเซ (Basilica di Santa Croce)

               โบสถ์ขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่กว้างขวางและเป็นศูนย์รวมงานศิลปะชิ้นสำคัญมากมายที่ไม่ควรพลาด มีผลงานภาพเขียนเดอะลาส ซัปเปอร์ 2 ชิ้นอยู่ในโรงอาหารที่ผู้คนมักคาดไม่ถึง หรือบางคนที่ตั้งใจมาดูกลับถูกดึงดูดความสนใจไปที่ภาพต้นไม้แห่งชีวิต (Tree of Life) ที่สง่างามตระการตามากกว่า ทว่าภาพเขียนของทัดดิโอ กัดดิ (Taddeo Gaddi) เป็นภาพเดอะลาส ซัปเปอร์ในรูปแบบโต๊ะยาวในโรงอาหารแห่งแรกและเก่าแก่ที่สุดในฟลอเรนซ์ (ประมาณค.ศ. 1333-1360 แต่นักวิชาการยังเถียงกันอยู่)

 

ภาพที่ 1 เดอะลาส ซัปเปอร์ ของทัดดิโอ กัดดิ 

 

               ดังจะเห็นว่าภาพมีพื้นหลังสีทึบและทุกคนมีวงรัศมีรอบศีรษะ (Halo) ซึ่งยังมีรูปแบบอย่างสมัยโกธิค (Gothic) โต๊ะอาหารและยูดาสคนที่นั่งด้านหน้าคนเดียวก็ยังดูอิหลักอิเหลื่อ แต่ตัวละครทุกตัวมีสีหน้าที่แสดงความรู้สึก มีการขยับร่างกายและมือ

               เดอะลาส ซัปเปอร์ ของวาซารี (Giorgio Vasari) วาดขึ้นในปี ค.ศ.1546 เดิมอยู่ที่อารามมูราเต (Monastery of Murate) ภาพย้ายมาอยู่ที่โบสถ์น้อยกัสเตลลานี (Castellani Chapel) ภายในวิหารซานตาโครเซ (Basilica di Santa Croce) ในปี ค.ศ.1815 จากนั้นอีกราว 50 ปีต่อมาก็ย้ายอีกครั้งไปที่โรงอาหารเพื่อเตรียมจัดทำพิพิธภัณฑ์ จากระยะเวลาที่ห่างกัน 200 ปี ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าทั้งสองภาพมีเทคนิคและสไตล์ที่แตกต่างกัน ภาพของวาซารีดูมีมิติ สีสัน และมีชีวิตชีวา

 

ภาพที่ 2 เดอะลาส ซัปเปอร์ ของจอร์จิโอ วาซารี

 

โบสถ์ซานตามาเรียเดลคาร์มิเน (Santa Maria del Carmine)

               ผู้คนส่วนใหญ่มาที่นี่เพื่อชมภาพชุดของมาซัชชีโอ (Masaccio) จิตรกรยุคเรเนซองส์คนแรก ก่อนเข้าชมโบสถ์น้อยบรันกัชชี (Brancacci Chapel) มีการบรรยายสั้นๆ ในห้องโถงข้างห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องนั้นเคยเป็นโรงอาหารมาก่อน หลังจบบรรยายมีการโชว์ภาพเดอะลาส ซัปเปอร์ ที่อยู่หลังห้องเป็นของแถม

 

ภาพที่ 3 เดอะลาส ซัปเปอร์ ของอเลสซานโดร อัลโลรี

 

               ภาพเดอะลาส ซัปเปอร์ โดยอเลสซานโดร อัลโลรี (Alessandro Allori) เขียนขึ้นในปี ค.ศ.1582 รูปแบบภาพอาจดูถอยหลังไปกว่าภาพของวาซารีที่เขียนขึ้นมาก่อนเสียอีก แต่ตัวละครดูมีชีวิตชีวา มีของกินมากมายวางเกลื่อนกลาดอยู่บนโต๊ะ รูปในกรอบที่มุมซ้ายล่างเป็นภาพเหมือนของจิตรกร มุมขวาล่างเป็นภาพเหมือน (portrait) ของผู้อุปถัมภ์ค่าใช้จ่าย และใต้โต๊ะมีแมวอ้วนสองตัวที่เป็นจุดสนใจยิ่งกว่าสิ่งใด ถัดมาอีกไม่กี่ปี อาจด้วยคำปรามาสว่าไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้อัลโลรีวาดภาพเดอะลาส ซัปเปอร์ อีกภาพหนึ่งที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งผู้เขียนได้ตามไปดูโดยบังเอิญ

 

ภาพที่ 4 แมวในภาพของอัลโลรี

 

โบสถ์ซานตามาเรียโนเวลลา (Basilica di Santa Maria Novella)

               โบสถ์ซานตามาเรียโนเวลลาเป็นโบสถ์สำคัญของเมือง สร้างขึ้นก่อนอาสนวิหารฟลอเรนซ์เสียอีก มีพื้นที่กว้างขวางเต็มไปด้วยผลงานของศิลปินชั้นยอดโดยเฉพาะภาพจิตรกรรม เนื่องจากเป็นโบสถ์ใหญ่ที่คนเคารพนับถือจึงมีโบสถ์น้อยที่ได้รับการอุปถัมภ์จากตระกูลสำคัญอยู่ภายในจำนวนมาก มีภาพภาพเดอะลาส ซัปเปอร์ 2 ภาพอยู่ในห้องที่เคยเป็นโรงอาหาร ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของโบสถ์พิพิธภัณฑ์ เมื่อเทียบกับภาพของเหล่าปรมาจารย์ในส่วนอื่นของโบสถ์ ภาพนี้อาจเป็นเพียงขนมขบเคี้ยวเล็กน้อยเท่านั้น แต่ผู้เขียนก็ชอบสองภาพนี้เป็นการส่วนตัว

               ภาพเดอะลาส ซัปเปอร์ ภาพที่สองโดยอัลโลรี เขาใช้เวลาวาดนานมากตั้งแต่ปี ค.ศ.1584-1597 ภาพนี้มีความแปลกตรงที่นักบวชจ้างให้อัลโลรีเขียนภาพสีน้ำมันบนผืนผ้าใบเพื่อขึงลงบนกรอบปิดทับลงไปบนภาพเดิมบนผนังตามโครงการตกแต่งปรับปรุงโบสถ์ เพราะไม่อยากทำลายภาพเดิมที่เป็นภาพพระแม่มารีและพระบุตรกับนักบุญทั้งสี่ที่วาดโดยอักโนโล กัดดี (Agnolo Gaddi เป็นลูกของ Taddeo) เหตุที่งานของอัลโลรีใช้เวลานานเพราะต้องเขียนจิตรกรรมฝาผนังเพิ่มเติมรอบๆ ภาพเดอะลาส ซัปเปอร์จนเต็มผนังด้วย อย่างภาพพระเจ้าแสดงปาฏิหาริย์เนรมิตอาหารและน้ำพุออกมาจากหินเพื่อช่วยชีวิตชาวยิวที่กำลังอพยพจากอียิปต์ เมื่อปี ค.ศ.1808  มีการค้นพบอีกภาพซ่อนอยู่ข้างใต้ ภัณฑารักษ์ที่นั่งประจำอยู่ในห้องได้ชี้ให้ผู้เขียนดูร่องรอยการปิดทับซึ่งปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ได้เอาภาพเดอะลาส ซัปเปอร์ของอัลโลรีออกไปจัดแสดงไว้ที่ผนังข้างๆ

 

ภาพที่ 5 เดอะลาส ซัปเปอร์ ของอเลสซานโดร อัลโลรี (ขออภัยที่ภาพสีน้ำมันสะท้อนแสงจนถ่ายภาพไม่ชัด)

           

               ภาพนี้ของอัลโลรี ย้อนกลับไปเขียนโต๊ะกลมแบบดั้งเดิม แถมภาพยังมีขอบสองข้างเป็นรูปครึ่งวงกลมตามทรงกรอบรูป ตัวละครมีขนาดใหญ่ไม่รู้สึกเหินห่างกับผู้ชมเหมือนที่เคยเห็น ผู้ชมรู้สึกว่ากำลังแอบดูอยู่ใกล้ๆและตัวละครมีการเคลื่อนไหวเข้าหากันอย่างมีชีวิตชีวามากจนแทบได้ยินเสียงสนทนารอบวง อาหารการกินอยู่เต็มโต๊ะ งานนี้อัลโลรีไม่เพียงแต่ลบคำปรามาสหาว่าเขาดีแต่ลอกเลียนสไตล์ของคนอื่น แต่เขาได้สร้างงานที่เป็นเอกลักษณ์ และกลายเป็นแรงบันดาลใจแก่ศิลปินรุ่นหลังในการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ

               ภัณฑารักษ์คนเดียวกันยังชี้ให้ดูภาพเดอะลาส ซัปเปอร์อีกภาพในห้องนั้นที่วาดโดยผู้หญิง ซึ่งในสมัยนั้นมีผู้หญิงน้อยคนนักที่ได้เรียนและทำงานศิลปะ ยิ่งมีน้อยคนที่ได้วาดภาพทางศาสนาขนาดใหญ่เช่นนี้ การเป็นแม่ชีเปิดโอกาสให้โปลติลล่า เนลลิ (Plautilla Nelli) ได้ใช้เวลากับโลกของศิลปะที่เธอสนใจแทนภาระทางครอบครัวแบบผู้หญิงทั่วไป เนลลิเริ่มเรียนรู้การวาดภาพด้วยการคัดลอกภาพขนาดเล็กของศิลปินและขายหารายได้จนมีชื่อเสียง แล้วถ่ายทอดความรู้ให้แก่แม่ชีคนอื่นจนกลายเป็นกลุ่มศิลปินเล็กๆ ในคอนแวนต์ซานตาคาเตรินา (Santa Caterina) ที่รับงานจากภายนอก

 

ภาพที่ 6 เดอะลาส ซัปเปอร์ ของโปลติลล่า เนลลิ

 

               ประมาณทศวรรษที่ 1560s เนลลิได้เริ่มโครงการวาดภาพที่แสนทะเยอทะยานและเปี่ยมศรัทธาเพื่อติดตั้งในโรงอาหารของคอนแวนต์ โดยภาพเดอะลาส ซัปเปอร์ของเธอมีขนาดเท่าคนจริงที่ต้องใช้ความแข็งแรงและมุ่งมั่นอย่างมาก จากขั้นตอนการตรวจสอบและอนุรักษ์พบว่าภาพนี้แทบจะไม่มีร่องรอยการร่าง (under-drawing) นักอนุรักษ์ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปินสตรี (Advancing Women Artists Foundation ชื่อย่อ AWA) กล่าวว่า “เธอมีฝีแปรงที่ทรงพลัง เธอรู้ว่าต้องการอะไรและควบคุมฝีมือของเธอได้มากพอที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น” และยังแนะนำให้ผู้ชมสังเกตว่าภาชนะบนโต๊ะอาหารนั้นประณีตอย่างเหลือเชื่อ เช่น ชามเซรามิกเทอร์ควอยซ์ ชามกระเบื้องลายจีน และแก้วน้ำประดับเงิน ซึ่งศิลปินชายที่วาดภาพเดอะลาส ซัปเปอร์มักไม่วาดลงรายละเอียดเหล่านี้

               ภาชนะที่เนลลิวาดอย่างงดงาม เช่น ชามกระเบื้องลายจีน เป็นของสูงค่าหายากในยุโรปสมัยนั้น สันนิษฐานว่าคอนแวนต์ของเธอน่าจะได้รับบริจาคจากผู้อุปถัมภ์ที่ร่ำรวยหรือสูงศักดิ์ อาหารบนโต๊ะสอดคล้องกับอาหารในเทศกาลปัสกา (PESACH) ซึ่งให้ความหมายเพื่อการระลึกถึงและภาวนา เช่น ลูกแกะ ชาโรเชต (charoset คล้ายสลัดที่มีแอปเปิ้ล ถั่ว อบเชย ฯลฯ เป็นส่วนประกอบ) และผักสีเขียว

               ภาพของเนลลิติดตั้งอยู่ในโรงอาหารของคอนแวนต์นานหลายร้อยปี ก่อนถูกย้ายมาอยู่ในการครอบครองของโบสถ์ซานตามาเรียโนเวลลาในปี ค.ศ.1817 และใช้เวลาส่วนใหญ่ถูกม้วนเก็บไว้ในห้องนั้นห้องนี้จนกระทั่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปินสตรีมาค้นพบ ทำการอนุรักษ์ และนำขึ้นจัดแสดงในปี ค.ศ.2019

               นอกจากนี้ยังมีภาพเดอะลาส ซัปเปอร์ ในฟลอเรนซ์อีกหลายภาพ เช่น ผลงานของอันเดรีย เดล กัสตัญโญ (Andrea del Castagno) วาดขึ้นในปีค.ศ. 1447 อยู่ที่เซนต์อโพโลเนีย (Sant’ Apollonia) ผลงานของ
โดเมนิโก เกอร์ลันไดโอ (Domenico Ghirlandaio) อยู่ที่โบสถ์ออญญิสซันตี (Convent of the Ognissanti) วาดในปีค.ศ. 1480 และที่พิพิธภัณฑ์ซานมาโคร (San Macro Museum) ภาพวาดในปีค.ศ. 1486 ตลอดจนผลงานของปิเอโตร วานนุชชี (Pietro Vannucci หรือ Pietro Perugino) ที่วาดในปีค.ศ. 1495 อยู่ที่โบสถ์ฟูลิโญ(Convent of Fuligno) รวมถึงงานของ ฟรานเซียบิจิโอ (Franciabigio) วาดในปีค.ศ. 1514 อยู่ที่โบสถ์คาลซ่า (Convent of Calza) และผลงานของจิโอวานนิ บัลดุชชี (Giovanni Balducci) วาดในปีค.ศ. 1589 ติดตั้งอยู่หลังแท่นบูชาหลักในอาสนวิหารฟลอเรนซ์ (ผู้เขียนไม่ได้ถ่ายรูปมาด้วยเพราะบริเวณนั้นปิดซ่อมอยู่) เป็นต้น

               ผู้เขียนพบว่าการดูภาพที่พูดถึงเหตุการณ์เดียวกันซ้ำๆ กลายเป็นสิ่งเพลิดเพลินไปได้ ด้วยการเลือกชมภาพที่มีมากมายหลายเฉด นอกเหนือไปจากความพยายามของศิลปินที่ทำงานให้ตอบโจทย์กับพื้นที่หรือสถานที่ตั้ง และสภาพแวดล้อมของภาพ อย่างเช่น เทคนิคและสไตล์การวาดที่แตกต่างกัน การเลือกดูภาพด้วยมุมมองแบบประวัติศาสตร์ศิลปะ หรือโฟกัสที่ผลงานของจิตรกร การเลือกวิธีตีความเพื่อแสดงภาพชีวิตของคนในแบบอุดมคติหรือแบบมีชีวิตชีวา แบบร่วมสมัยหรือแบบที่คิดว่าสมจริงตามประวัติศาสตร์ที่สุด การสอดแทรกสัญลักษณ์ทางศาสนาอย่างมากมายหรือแบบที่สนใจความเป็นมนุษย์มากกว่า การซอกแซกดูเครื่องประกอบฉากหรือความขี้เล่นที่ศิลปินซ่อนไว้ หรือการหาดูจุดสังเกตว่าใครเป็นใครในตัวละคร  ยังไม่พูดถึงว่าใครชอบภาพไหนภาพไหนสวยงามซึ่งก็แล้วแต่จริตของแต่ละบุคคล

 

แหล่งข้อมูล

Louis Inturrisi. The Last Supper, Seen Six Ways. March 23, 1997. The New York Times. https://www.nytimes.com/1997/03/23/travel/the-last-supper-seen-six-ways.html

Meilan Solly. Renaissance Nun’s ‘Last Supper’ Painting Makes Public Debut After 450 Years in Hiding. Smithsonian Magazine. OCTOBER 21, 2019. https://www.smithsonianmag.com/smart-news/renaissance-nuns-last-supper-scene-goes-view-florence-180973374/

AWA เป็นมูลนิธิที่ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.2007 เพื่อค้นหาและอนุรักษ์งานศิลปะของศิลปินหญิงในฟลอเรนซ์ มูลนิธิปิดตัวไปแล้วในปี ค.ศ.2021 แต่ยังเปิดเว็บไซต์ไว้ให้อ่านเนื้อหาและงานที่ทำทั้งหมดได้ ที่นี่ http://advancingwomenartists.org/

 

หมายเหตุ ผู้เขียนตั้งใจไม่เอ่ยถึงภาพในเมืองมิลานที่วาดโดยศิลปินนามอุโฆษในปี ค.ศ.1495-1498

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ