Muse Pop Culture
มิวเซียมสยามจึงใคร่ขอนำเสนอซีรีส์ “ย้ายบ้าน” ที่จะมาไขปริศนาในการอพยพย้ายถิ่นของผู้คน
Muse Pop Culture
21 พ.ค. 64 537

ผู้เขียน : Administrator

 
 
#ย้ายบ้าน! จากกรุ๊ป “ย้ายประเทศ” ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในสื่อสังคมออนไลน์ขณะนี้ มิวเซียมสยามจึงใคร่ขอนำเสนอซีรีส์ “ย้ายบ้าน” ที่จะมาไขปริศนาในการอพยพย้ายถิ่นของผู้คน บางคนย้ายด้วยความสมัครใจ บางคนจำใจย้าย บางคนโดนบังคับ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะย้ายหนี “ภัย” กันทั้งสิ้น ไม่ว่าภัยนั้นจะมาในรูปของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภัยสงคราม ความอดอยากยากแค้น หรือแม้แต่หนีภัยของความจน มีอะไรบ้าง มาดูกัน
 
 
 

#ย้ายเมือง

ย้อนไปในยุคทวารวดี หรือเมื่อประมาณ ๑ พันปีที่แล้ว
รัฐเล็กๆ แห่งหนึ่ง ริมลำน้ำจรเข้สามพัน ที่เรียกกันว่า “เมืองอู่ทอง” ได้ถือกำเนิดขึ้น
ด้วยตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลเดิมที่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน อู่ทองจึงเจริญขึ้นมาจากการค้าสำเภากับต่างประเทศ ไม่ว่าจีน หรืออินเดีย

หลายร้อยปีต่อมา ทะเลถอยร่นออกไป ทำให้ลำน้ำจรเข้สามพันเปลี่ยนทิศทาง แม่น้ำตื้นเขิน อีกตะกอนไหลเข้าไปทับถมเมือง การเดินทางค้าขายกับต่างแดนจึงลำบาก ยากเกินกว่าเทคโนโลยีสมัยนั้น จะแก้ไขได้
เมืองอู่ทองจึงเริ่มเสื่อมถอย ผู้คนเริ่มโยกย้ายและถูกทิ้งร้างไป จนเกิดเมืองสุพรรณบุรีเข้ามาทดแทน

ย้อนมามองกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน เมื่อโลกร้อน ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนอาจท่วมเมืองกรุงในอีกไม่กี่ปีนี้
หรือถึงคราวที่เราจะต้องย้ายเมือง เช่นเดียวกับที่ชาวอู่ทอง เคยย้ายมาแล้ว?

ขอบคุณที่มาของภาพจาก
- พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง

 

 

#เทครัว

“ชาวไทดำ” เป็นชาติพันธุ์กลุ่มไตที่ตั้งบ้านอยู่ที่เมืองแถง (เมืองเดียนเบียนฟูในปัจจุบัน) ในแคว้นสิบสองจุไท ทางตอนเหนือของเวียดนาม

ชาวไทดำถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามยาวนานแล้ว หลายระลอก ทุกครั้งที่มีศึกระหว่างสยาม กับเวียงจันทน์ หรือหลวงพระบาง โดยปักหมุดให้ไปตั้งบ้านที่เขาย้อย เมืองเพชรบุรี ดินแดนแสนไกลจากถิ่นกำเนิด ต้องเดินทางรอนแรมอยู่นานหลายเดือน

นอกจากที่เพชรบุรี ชาวไทดำยังกระจัดกระจายไปปักหลักในอีก 40 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร เป็นอาทิ จนปัจจุบันสืบลูกหลานเป็นคนไทยกันไปหมดแล้ว
หารู้ไม่ว่าชาวไททรงดำเหล่านี้พลัดถิ่นมาไกลในฐานะเชลยศึก จากสงครามระหว่างสยามกับล้านช้างนั่นเอง

ขอบคุณที่มาของภาพจาก
- คุณ jaijainoi | pantip

 

 

#ร่อนเร่

“ชาวกุลา” คือพวกไทยใหญ่ หรือเงี้ยว
ที่อาศัยทางตอนเหนือของพม่า เป็นพ่อค้าวัวต่าง (แบกสินค้าไว้บนหลังวัว) เดินทางรอนแรมค้าขายกับกองคาราวานเดินเท้า จากบ้านนี้ไปบ้านโน้น
ขายวัวควาย งาช้าง เขาสัตว์ สีย้อมผ้า ผ้าไหม
อีกเครื่องทองเหลือง เต้าปูน เครื่องเงิน เครื่องประดับ
ตั้งแต่เชียงใหม่ ตาก ขอนแก่น ยันร้อยเอ็ด โคราช

“ทุ่งกุลาร้องไห้” ที่อยู่ในแถบอิสานใต้ แถวมหาสารคาม สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ยโสธร ก็ได้ชื่อมาจากพ่อค้าเร่ชาวกุลา เหล่านี้นี่เอง
คิดดูสิว่าจะรอนแรมมาค้าขายกันไกลขนาดไหน

“นายฮ้อย” พ่อค้าเร่ไปในถิ่นอิสาน ก็เป็นอีกกลุ่มที่รอนแรมขายสินค้าไปทั่วเช่นกัน แต่นายฮ้อยจะเป็นกลุ่มคนลาว ผู้ไท ส่วย หรือเขมร ไม่ใช่ไทยใหญ่แสนไกลอย่างพวกกุลา

ขอบคุณที่มาของภาพจาก
- ครูมนตรี โคตรคันทา | isangate

 

 

#เสื่อผืนหมอนใบ

ชาวจีนโล้สำเภา ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเผชิญโชคใช้แรงงานในสยาม ด้วยหนีทุพภิกขภัย และความอดอยากในแผ่นดินแม่ เดินทางมาเป็นจีนโพ้นทะเล หรือที่เรียกว่าพวก “หนานหยาง” (นันยาง)

ระลอกใหญ่ก็มาตั้งแต่ราวรัชกาลที่ 5 แล้ว
และเข้ามาระลอกยักษ์ก็เมื่อคราวจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี่เอง
ปี 2493 คือปีสุดท้ายที่รัฐบาลจีนยอมให้อพยพมาได้ อากง อาม่า ของพวกเราหลายคนก็เสื่อผืนหมอนใบมาในระลอกนี้

คนจีนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในสยามมักเป็นพวกแต้จิ๋ว และฮกเกี้ยน เป็นหลัก ด้วยอยู่ทางตอนใต้ของจีน ติดทะเล จึงเดินทางมาสะดวก

เมื่อถึงสยาม บ้างเปิดร้านค้าปลีก เปิดโรงรับจำนำ เป็นหาบเร่ บ้างใช้แรงงาน เป็นจับกัง เป็นเจ๊กลากรถ หรือแม้แต่คนงานเก็บถังขี้ให้กับบริษัท “ออนเหวง”
นานเข้าจึงตั้งรกรากกลายเป็นลูกจีนรักชาติเช่นในปัจจุบัน

ขอบคุณที่มาของภาพจาก
- posttoday
- คุณหรินทร์ สุขวัจน์

 

 

#พลัดถิ่น

เมื่ออินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองแล้วนั้น เกิดความขัดแย้งขึ้นอย่างหนักจนต้องแยกดินแดนออกเป็นอินเดีย (ฮินดู) และปากีสถาน (อิสลาม)

ส่งผลให้ชาวสิกข์ที่อาศัยอยู่ในปากีสถานจำต้องอพยพหนีตายเข้ามายังอินเดีย ทางรัฐปัญจาบ ด้วยเป็นรัฐที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย ติดกับปากีสถาน และเป็นศูนย์กลางของศาสนาสิกข์

ชาวสิกข์ที่อพยพเข้ามาในอินเดียแล้วนั้น ต่างตัดสินใจที่จะไปต่อยังประเทศที่สาม และจำนวนไม่น้อยเลยที่เลือกมาเผชิญโชคในประเทศไทย

จากเดินเท้า ต่อด้วยขี่เกวียน
จากนั่งรถไฟ จับเรือกลไฟ
ข้ามมหาสมุทรมาเทียบท่าที่แหลมมลายู
หมุดหมายในใจก็คือ “พาหุรัด” ในบางกอก
แหล่งพำนักที่ช่วยให้ตั้งตัวได้ในยามสิ้นเนื้อประดาตัว

ครอบครัวชาวสิกข์ต่างอาศัยในซอยประตูเหล็กใหญ่ ซอยประตูเหล็กเล็ก และซอยสาเก ในย่านพาหุรัด หรือ ลิตเติ้ลอินเดีย นั้นเอง เป็นห้องเช่าราคาถูก สภาพแออัด แต่ก็ยังดีกว่าที่ที่จากมา
.
ที่นี่เองที่ชายชาวสิกข์เริ่มแบกผ้าไปขาย ขยัน อดออม จนขยับขยายไปตั้งร้าน หรือย้ายถิ่นฐานต่อตามต่างจังหวัด จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงเห็นร้านขายผ้า และแขกโพกผ้า อยู่ทั่วไทยนั่นเอง

ขอบคุณที่มาของภาพจาก
- Jhutha Sach (Desh Ka Bhavishya) Vol. 2 (Hindi)
- Margaret Bourke-White | The Life Picture Collection/Getty
 
 
 
 
#เสี่ยงโชค

“โรบินฮู้ด” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงฮีโร่ในนิทานฝรั่งที่ปล้นคนรวยมาช่วยคนจนอย่างที่เราฟังตอนเด็กๆ ไม่

แต่หมายถึงหนุ่มสาวชาวไทยที่ลักลอบทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกา ไปเป็นแรงงานเถื่อนผิดกฎหมาย
ด้วยเป็นช่องทางหาเงินที่ง่าย ค่าแรงที่สูง และมีลู่ทางทำกินมากกว่าที่ในบ้านเกิด

โรบินฮู้ดส่วนใหญ่มักเริ่มต้นเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหารไทย ใน แอล เอ หรือลอสแอนเจลิส เมืองที่มีคนไทยพลัดถิ่นอาศัยกันอยู่มาก จนมีย่านที่เรียกกันว่า “ไทยทาวน์” ได้ทิปวันนึง มากว่าค่าแรงในเมืองไทยทั้งเดือนเลยก็ว่าได้

โรบินฮู้ดนักเผชิญโชคชาวไทยเหล่านี้ เดินทางไปตั้งแต่ราวปี 2500 หรือทศวรรษ 1960s แล้ว อันเป็นยุคสงครามเย็นที่ประเทศอเมริกามีอิทธิพลอย่างสูงในประเทศไทย
ในฐานะผู้นำโลก และประเทศแห่งเสรีนิยม

โรบินฮู้ดยุคบุกเบิกในสมัยนั้นมีความใฝ่ฝันจะไปยังดินแดนแห่งนี้ ด้วยต่างได้รับอิทธิพลจากหนังฮอลลิวู้ด ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในพระนคร มี เอลวิส เพรสลี่ นักร้องนักแสดงชื่อก้อง เป็นไอด้อล และมีอเมริกา เป็นดั่งประเทศในฝัน

มีโรบินฮู้ดหลายคนที่ปักหลักอยู่ต่อมาหลายสิบปีจนได้ “บัตรเขียว” หรือ Green Card ที่สามารถอยู่ในอเมริกาได้อย่างถูกกฎหมาย
บางคนเก็บหอมรอมริบจนเป็นเจ้าของกิจการ และคงไม่เห็นโอกาสที่จะทำได้เช่นนี้หากยังทำมาหากินอยู่ที่เมืองไทย

ยุคหลังๆ นี้ก็มีพวก “ผีน้อย” ที่ลักลอบทำงานในเกาหลี ก็เป็นเวอร์ชั่นโรบินฮู้ดในแดนกิมจินั่นเอง

ขอบคุณที่มาของภาพจาก
- Howard Pyle | THE MERRY ADVENTURES OF ROBIN HOOD Classic Novels: New Illustrated
- Adlyartwors Harding | toppng
 
 
 
 
#สมองไหล

ในยุคสงครามเย็น หรือทศวรรษที่ 1960s
ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลเข้าไปมีบทบาทเหนือประเทศต่างๆ ทั่วโลก อยู่ในภาวะขาดแคลนแพทย์อย่างหนัก ด้วยตนเองส่งหมอออกไปประจำยังประเทศต่างๆ ที่ตัวมีภาระสู้รบอยู่ อย่างเช่นเวียดนาม

รัฐบาลอเมริกาจึงมีนโยบายที่จะดึงแพทย์จากประเทศพันธมิตร อย่างฟิลิปปินส์ ไทย และเกาหลี เข้าไปทำงานแทน
ช่วงเวลานี้เองที่มีหมอ พยาบาล รวมไปถึงวิศวกร เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาต่อและประกอบวิชาชีพในอเมริกากันเป็นที่เอิกเกริก

ลองมาดูสถิติกัน
ปี 2504 เมื่อศึกษาจบแล้ว บัณฑิตแพทย์จากศิริราช เลือกไปทำงานที่ต่างประเทศ 8 คน
ปี 2505 ไป 22 คน
ปี 2506 ไป 56 คน
ปี 2507 ไป 70 คน
ปี 2508 ไป 140 คน

และในปี 2508 นี้เอง ซึ่งเป็นปีที่นักเรียนแพทย์รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จบการศึกษา ได้เดินทางไปทำงานที่อเมริกาเกือบทั้งรุ่น คือ 48 คน จากทั้งหมด 50 คน !!!
ทำให้ในปี 2512 พบว่ามีแพทย์ไทยที่ประกอบวิชาชีพในต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 2,165 คน !!!

ในอีกไม่กี่ปีต่อมา บัณฑิตรุ่นแรกๆ ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กว่าครึ่ง ก็ได้เช่าเหมาลำเครื่องบินเพื่อไปศึกษาต่อและทำงานในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย !!!

ด้วยเหตุการณ์สมองไหลดังกล่าวนี่เอง
ในปี 2516 จึงมีกฎบังคับให้หมอจบใหม่ทุกคนออกใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนหมอในชนบท และรั้งหมอเหล่านี้ไว้ ไม่ให้สมองไหลไปอเมริกา ซึ่งข้อบังคับการใช้ทุนก็ยังคงปฏิบัติกันมาจบจวนทุกวันนี้

ขอบคุณที่มาของภาพจาก
- Sabbir Rahman | thefinancialexpress

 

#ย้ายบ้านออนไลน์
.
สื่อโซเชี่ยลมีเดีย มีบทบาทต่อสังคมไทยอย่างมากในปัจจุบัน
โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ดังมีปรากฏการณ์การอพยพออนไลน์ที่น่ากล่าวถึงคือ

1. การอพยพย้ายถิ่นของสมาชิกบัญชีเฟซบุ๊ค “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” ที่โดนรัฐบาลสั่งระงับ ไปยังบัญชีใหม่ที่ชื่อ “ตลาดหลวงสาขาสอง”
สร้างสถิติที่มีผู้อพยพจำนวนมากถึง 500,000 คน ภายใน 24 ชม. ถือได้ว่าเป็นการอพยพย้ายถิ่นฐานทางดิจิตัลครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

2. อีกหนึ่งตัวอย่างก็คือบัญชีเฟซบุ๊ค “ย้ายประเทศกันเถอะ” ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมนี้นี่เอง
ถึงจะเป็นบัญชีน้องใหม่ แต่ก็มีสมาชิกราว 500,000 คน ภายในเวลา 2 วัน เลยนะจ๊ะ

ด้วยคนรุ่นใหม่มองไม่เห็นทางออกสำหรับปัญหาของประเทศ
และไม่อยากฝากอนาคตของตน ในประเทศที่มองไม่เห็นอนาคต คุณภาพชีวิตจะเป็นเช่นไร หากต้องใช้ชีวิตในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเช่นนี้

ความคิดที่จะย้ายบ้านไปอยู่ต่างแดนจึงเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อประเทศบ้านเกิดของตนได้เป็นอย่างดี

ล่าสุดได้มีการเปลี่ยนชื่อแอคเคานต์ไปเป็น “โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย” แล้ว มีสมาชิกแตะ 8 แสนคน !
และรัฐบาลมีความพยายามจะปิดบัญชี ในข้อหายุยงให้เกิดความแตกแยก

ขอบคุณที่มาของภาพจาก
- Chubby Bubbles Girl | knowyourmeme
 
#MuseumSiam
#ให้ทุกการเรียนรู้สนุกกว่าที่คิด
#ย้ายประเทศกันเถอะ
แกลเลอรี่


ย้อนกลับ