Muse Pop Culture
ขนมจีน
Muse Pop Culture
21 ก.ย. 65 3K

ผู้เขียน : Administrator

 

 

ซีรีส์ “อาหารไทย ไฉนชื่อเทศ” เดินทางมาถึงวีคที่ 2 แล้ว
ถึงคราวที่เราจะเล่าถึงอาหารจานเส้นที่อยู่คู่สำรับไทยมายาวนานอย่าง “ขนมจีน” บ้าง
ชื่อก็บอกว่า “จีน” มาจากแดนมังกรงั้นหรือ?

เปล่าเลยจร้ะ
คำว่า “ขนมจีน” มาจากภาษามอญว่า ขนํจิน (ခနံစိန်)
อ่านว่า ข-นอม-จิน
ข-นอม แปลว่า เส้น
จิน แปลว่า ทำให้สุก หรือสุก

มีเรื่องเล่าเป็นตำนานแบบขำขันกันว่า
ในงานบุญของชุมชนรามัญ ขณะที่ชาวบ้านกำลังง่วนกับการบีบแป้งขนมจีนให้เป็นเส้นลงหม้อต้มนั้น
ชาวสยามบังเอิญไปได้ยินคนมอญถามกันว่า “ขะนอมจิน?” (เส้นสุกหรือยัง?)
ด้วยฟังไม่ได้ศัพท์ เราจึงจับมากระเดียดเป็นชื่อของอาหารจานนี้ไปเสียเลย

เมื่อพูดถึงมอญแล้ว (ปัจจุบันคือชาติพันธุ์ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา)
จะไม่กล่าวถึงพม่าก็กระไรอยู่ (พม่าคือชาติพันธุ์ทางตอนกลางของประเทศ)
คนพม่าเค้าไม่ได้เรียกขนมจีนว่า ขะนอมจิน แบบพวกมอญนะจ๊ะ
แต่เรียกกันว่า “มนตี” (မုန့်တီ / Mont di)
มีเมนูขนมจีนขึ้นชื่ออย่าง “โมฮิงก่า” หรือ “โมะน์ฮีงก้า”
เป็นเส้นขนมจีน ราดด้วยน้ำยาที่ทำจากปลาป่น กินกับหยวกกล้วยซอย
ถือเป็นอาหารประจำชาติที่มีขายอยู่ทั่วทุกหัวถนนในประเทศ
คนที่เคยไปเที่ยวเมียนมาหลายคนคงรู้จักเมนูนี้ดี

(อธิบายภาพ)
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในกุฏิ วัดบางแคใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม
แสดงบรรยากาศในงานบุญ ที่มีหนุ่มสาวชาวรามัญกำลังโม่ข้าวตำข้าวกัน ภายในหมู่บ้านมอญ
ไม่แน่ ที่เห็นอยู่นั้น อาจเป็น “ขนมจีน” ก็ได้ ที่กำลังสาละวนทำกันอยู่

 

 

เที่ยวทั่วไทยไปกับขนมจีน

ย้อนไปในสมัยอยุธยา
ปรากฏมีคลองชื่อ คลองขนมจีน และคลองน้ำยา อยู่ในเกาะเมืองกรุงศรี
แสดงว่าคนไทยเรารู้จักขนมจีน และใช้คำนี้ มาตั้งแต่อย่างน้อยก็สมัยอยุธยาแล้ว

ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน มาดูซิว่า เรามีเมนูขนมจีนอะไรกันบ้าง ในแต่ละภูมิภาค

ทางเหนือ (ล้านนา) เรียกขนมจีนว่า “ขนมเส้น” หรือ “ข้าวเส้น”
ที่เราคุ้นๆ กัน ก็คือ ขนมเส้นน้ำเงี้ยว
แต่ที่เมืองแป้ แห่ระเบิด มีสำรับเด็ดขึ้นชื่อคือ “ขนมเส้นน้ำย้อย”
เป็นขนมจีนคลุกกับน้ำพริกน้ำย้อย (น้ำพริกแห้งๆ สไตล์น้ำพริกนรก มีหอมเจียว แคบหมู พริกป่น เป็นส่วนผสมหลัก)
ให้บีบมะนาวลงไปสดๆ
ลำแต้ๆ เหน้อ

ทางอีสาน (ลาว) เรียกขนมจีนว่า “ข้าวปุ้น”
กินกับแกงขี้เหล็กลาว ใสๆ ไม่ใส่กะทิ ใส่น้ำปลาร้าปรุงรส
หรือกินข้าวปุ้นกับส้มตำ เรียก “ตำซั่ว”
แซ่บหลาย

ที่เมืองเพชร มีตำรับเด็ด
“ขนมจีนทอดมัน”
เป็นทอดมันปลาอินทรีย์ นวดจนเหนียวหนึบ ใส่ใบกะเพรา แทนถั่วฝักยาว
เหนียวจนไม่อาจปั้นเป็นชิ้นได้ ต้องขยุมแล้วสลัดลงกระทะ
ทอดจนกะเพรากรอบ กินกับน้ำจิ้มใสๆ รสเปรี้ยวหวานนำ

ส่วนทางใต้ ดินแดนคาบสมุทร เรียกขนมจีนว่า “หนมจีน”
นอกจากหนมจีนแกงไตปลาที่เป็นเมนูพื้นฐานแล้ว
ยังมี “หนมจีนน้ำชุบ”
คือเส้นขนมจีน คลุกกินกับน้ำชุบหยำ
เป็นน้ำพริกกะปิใสๆ ขยำกะปิกับกุ้งลวก บีบมะนาว ซอยพริกและหอมแดงใส่
กินเป็นมื้อเบาๆ ชุ่มชื่นใจดีจัง
หรอยแรง

 

 

คำว่า “ขนม” มาจากไหน?

คำว่า “ขนม” ที่ว่ามาจาก “ขะนอม” ในภาษามอญนั้น
สืบสาวราวเรื่องแล้ว มีที่มาซับซ้อนอยู่
ว่ากันว่าเป็นคำที่กร่อนเสียงมาจาก “เข้าหนม” หรือ “ข้าวหนม”

“เข้า” ก็คือ “ข้าว” แปลว่า “ปี” เนื่องจากข้าวปลูกได้ตามฤดูกาลเพียงปีละครั้งเท่านั้น

ส่วน “หนม” มีที่มาจากหลายทฤษฎีด้วยกัน
บ้างบอกว่าแปลว่า “หวาน” (เข้าหนม จึงแปลว่า ข้าวหวาน)
บ้างว่า ภาษาลาวแปลว่า “นวด” (เข้าหนม จึงแปลว่า ข้าวนวด)
บ้างว่าเป็นคำยืมมาจากภาษาเขมร ตรงกับคำว่า នំ ออกเสียงเป็น “นุม” หรือ “น็วม”
แปลว่า “อาหารที่ทำจากแป้ง” (เข้าหนม จึงแปลว่า อาหารที่ทำจากแป้งหรือข้าว)
เพราะถ้าดูส่วนประกอบสำคัญของขนมในถิ่นเราแล้ว ก็จะเห็นว่ามีแป้ง/ข้าว น้ำตาล และมะพร้าว (กะทิ) เป็นวัตถุดิบหลักทั้งสิ้น

มาดูซิว่า เพื่อนบ้านชาวเขมรของเรา เค้าเรียกชื่อขนมแต่ละอย่างกันว่าอย่างไร
“นุมกอง” คือขนมกง
“นุมกฺร๊วก” หรือ “น็วมโกฺรก” คือขนมครก
“นุมโตนต” (นุมตโนต) คือขนมตาล
“นุมออนซอม” คือข้าวต้มมัด
“นุมโก” คือขนมตะโก้ (โก แปลว่ากวน ซึ่งหมายถึงแป้งกวนนั่นเอง)
“นุมจักกจัน” หรือ “จ็อกกจ็อน” คือขนมชั้น
“นุมเตฺรียบ” หรือข้าวเหนียวแก้ว (เตฺรียบ แปลว่ากด)
“นุมแพฺลอาย” คือขนมต้ม (แพฺล ก็คือผล ขนมต้มปั้นเป็นลูกกลมๆ เหมือนลูกผลไม้)
“นุมโปเปีย” คือขนมถั่วแปบ
“นุมปัง” คือขนมปัง มาจากแปง (Pain) ขนมปังฝรั่งเศสนั่นเอง

“นุม” ของเขมร ก็คือ “ขนม” ของไทย

จะเห็นว่า ไม่ว่าจะทฤษฎีใดก็ตาม
“ขนม” ที่กร่อนมาจาก “เข้าหนม” หรือ “ข้าวหนม”
ซึ่งอาจแปลว่า ข้าวหวาน หรือ ข้าวนวด หรืออาหารที่ทำจากแป้ง/ข้าว
ก็เข้าเค้าได้หมด เพราะขนมไทย ล้วนทำจากข้าว หรือทำจากแป้งที่นวด มีรสหวาน ด้วยกันทั้งหมด


เครดิตภาพ
wongnai.com
wongnai.com
วารสารเมืองโบราณ

#MuseumSiam
#ขนมจีน #อาหารไทยไฉนชื่อเทศ
#ให้ทุกการเรียนรู้สนุกกว่าที่คิด

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ