มาม่า 50 ปี ทำไมมาม่าถึงอยู่คู่กับคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน?

Muse Pop Culture

21 ก.ย. 65
5K

คนไทยส่วนใหญ่เรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วๆ ไปว่า “มาม่า” เป็นเหมือน Generic Name ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารยอดนิยมของไทยที่รับประทานกันทั่วบ้านทั่วเมือง โดยเฉพาะช่วงสิ้นเดือนอาจจะเป็นอาหารหลักของใครหลายๆคน หรือจะเป็นอาหารมื้อดึกของเด็กหอทั้งหลาย เรียกได้ว่าเป็นอาหารที่ง่ายและอยู่กับคนไทยมาตลอด แล้วทุกคนรู้ไหมคะว่าที่มาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนี่มาจากไหน?
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกโดย โมโมฟุคุ อันโดะ จากบริษัท นิสชิน ฟูดส์ ประเทศญี่ปุ่น โดยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม และต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนมาก ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนยากลำบาก ชาวญี่ปุ่นต้องเข้าแถวรอรับแจกขนมปังจากรัฐบาล โมะโมะฟุคุ จึงคิดที่จะผลิตอาหารที่ชาวญี่ปุ่นสามารถรับประทานได้ในราคาถูกและอร่อย โดยได้พัฒนากระบวนการผลิตเส้นบะหมี่ ด้วยการทอดและอบแห้งเป็นการถนอมอาหารที่สามารถนำกลับมารับประทานได้อีกครั้งเมื่อเติมน้ำร้อน และวางจำหน่ายครั้งแรกในโลกที่ประเทศญี่ปุ่นเมือวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ภายใต้เครื่องหมายการค้า "ชิกิง ราเมง" (Chikin Ramen)
ส่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเมืองไทย ที่เรียกปนกันไปหมดว่า “มาม่า” นั้น เจ้าแรกที่ทำการผลิตขายตลาดเมืองไทย ไม่ใช่ “มาม่า” แต่เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “ซันวา” ซึ่งมีต้นมาจากแบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของญี่ปุ่นที่ขายไปทั่วโลกในขณะนั้น โดยต้องฉีกซองต้มก่อนกิน ต่อมาก็มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ยำยำ” ที่ฉีกซองแล้วเติมน้ำร้อนทิ้งไว้ 3 นาทีก็กินได้กำเนิดขึ้น โดยเริ่มผลิตครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2514 ตามมาด้วย “ไวไว” ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2515 โดยที่ “มาม่า” มาเป็นอันดับ 4
แต่ชื่อ “มาม่า” ในระยะแรกยังไม่ติดหูของคนไทย เพราะชื่อ “ยำยำ” หรือ “ไวไว” เป็นคำไทยที่จดจำได้ง่ายกว่า ทำให้มาม่ายุคแรกขายไม่ดี ยังไม่ติดตลาดเท่าไหร่ มาม่าจึงมีการปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับ มี ซุปไก่ หมูสับ เป็นรสชาติยอดนิยม และรสต้มยำกุ้ง ที่ผสานกับแจกทอง ที่เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญในช่วง 3 ทศวรรษหลัง ทำให้มาม่ากลายเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งในวงการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจนเป็นชื่อเรียกแทนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย
ที่สำคัญ มาม่า หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีการกล่าวถึงกันว่าเป็น ดัชนี ที่ใช้วัดเศรษฐกิจของประเทศตัวหนึ่งได้อีกด้วย จริงหรือ? สื่อสารมวลชนมักมีการอ้างอิงถึงยอดขายของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่ออธิบายถึงภาวะสังคม เศรษฐกิจ ผ่านการบริโภคอาหาร เช่น เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้บริโภคบางส่วนหันมารัดเข็มขัดจึงเลือกรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น ดันยอดขายให้สินค้ากลุ่มนี้เติบโตสวนกระแส เป็นต้น
แต่ในทางผู้ผลิตอย่างมาม่าเอง กลับไม่เห็นด้วย โดยอธิบายว่ายอดขายมาม่าไม่ใช่ดัชนีผกผันทางเศรษฐกิจอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน และ ดัชนียอดขายของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงเพื่อสะท้อนภาวะเศรษฐกิจภาพรวมได้ เพราะในปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกมากมายในการบริโภคอาหารที่ทำให้ตัวเองอิ่มท้อง ทั้งอาหารสำเร็จรูปและอาหารพร้อมรับประทาน ในราคาที่ใกล้เคียงกัน และยอดขายอาจจะเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้ เช่น การส่งเสริมการตลาดของแบรนด์ต่างๆ การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้เกิดการกักตุนสินค้า หรือการได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการของรัฐทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้า ไม่ใช่แค่เพียงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่ส่งผลต่อทั้งตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับคุณค่าทางอาหาร องค์ประกอบของบะหมี่สำเร็จรูป มีข้าวสาลี มีไข่และเกลือ ส่วนผสมทั้งหมดจะถูกนำมานวดให้เข้ากันด้วยเครื่องจักรแล้วนำมาเข้าเครื่องอัดให้เป็นเส้นเล็ก ๆ และทำให้สุกด้วยน้ำร้อน แล้วนำไปทอดในน้ำมันปาล์มที่มีสารกันหืนอยู่เล็กน้อย ดังนั้น สารอาหารที่ได้จากการกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คือโปรตีนที่มาจากข้าวสาลี ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนของกรดอะมิโนไม่ครบถ้วนเหมือนโปรตีนจากสัตว์ ส่วนสารอาหารที่เหลือเป็นคาร์โบไฮเดรตและไขมัน ดังนั้นในการรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียวในแต่ละมื้อ อาจจะทำให้เกิดการขาดสารอาหารได้
สำหรับในประเทศไทยรสชาติ "มาม่า” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่นิยมจำหน่ายกันมีถึง 48 รส เช่น หมูสับ ต้มยำกุ้ง กะเพราแซบแห้ง แกงเขียวหวานไก่ หมูสับต้มยำน้ำข้น ต้มยำกุ้งน้ำข้น หมูต้มยำ หมูน้ำตก เป็ดพะโล้ เย็นตาโฟ ผัดขี้เมาแห้ง ต้มแซบ เห็ดหอมเจ ต้มยำเจ เย็นตาโฟต้มยำหม้อไฟ เป็นต้น
สรุป มาม่าหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่อยู่คู่กับคนไทยมานานและจะอยู่อีกต่อไป นอกจากรสชาติที่ปรับปรุงเรื่อยๆแล้ว ยังคงตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีวิถีชีวิตเร่งด่วน ต้องการความรวดเร็ว ประหยัดเวลา ซึ่งหลักการพัฒนาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงเน้นเรื่อง ความอร่อย ปลอดภัย สะดวก เก็บได้นาน และประหยัด
ที่มาข้อมูล https://th.wikipedia.org/
ที่มาภาพ
https://www.sanook.com/
https://cooking.kapook.com/
https://www.pptvhd36.com/
#MuseumSiam
#ให้ทุกการเรียนรู้สนุกกว่าที่คิด