ชาวโรฮีนจาคือ กลุ่มคนที่มีภาษาพูดต่างจากภาษาพม่า โดยคำว่า โรฮีนจา น่าจะมาจากคำว่า “โรฮัง” หรือ Rohang ซึ่งเป็นนามดั้งเดิมที่ใช้เรียกดินแดนยะไข่โบราณ
กลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา
ประเทศเมียนมา มีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่มากมาย ไม่ใช่แค่ พม่า คะฉิ่น ไทใหญ่ ชิน คะยา กะเหรี่ยง มอญ อย่างที่เราคุ้นชื่อกัน แต่มีกลุ่มชาติพันธุ์ราว 135 กลุ่ม โรฮีนจา เป็นกลุ่มหนึ่งในนั้น
ชาวโรฮีนจา มีถิ่นฐานอยู่ในรัฐยะไข่ใกล้พรมแดนบังกลาเทศและอินเดีย เป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม ยะไข่ เป็นรัฐหนึ่งของประเทศพม่า แต่เดิมชื่อรัฐยะไข่ ต่อมาเปลี่ยน เป็นรัฐอาระกัน เมื่อ พ.ศ. 2517
ชาวโรฮีนจาเป็นชนพื้นเมืองที่ตั้งรกรากอยู่บนแผ่นดินยะไข่มานานแล้ว
แม้จะเป็นที่ถกเถียงกันว่า ชาวโรฮีนจาถือกำเนิดขึ้นจากไหนกันแน่ แต่จากข้อมูลด้านประชากรที่บันทึกในช่วงก่อนและหลังจากอังกฤษเข้าปกครองยะไข่ ต่างก็ระบุถึงจำนวนชาวโรฮีนจา 30,000 คน จากประชากรทั้งของยะไข่ที่มีราว 100,000 คน (บันทึกของเจ้าหน้าที่บริษัทอินเดียตะวันออก เมื่อ ค.ศ. 1826 ) ซึ่งสะท้อนว่า พวกเขามีตัวตนมาเนิ่นนานแล้ว
ทำไมพม่าถึงไม่ยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์นี้?
อังกฤษได้นำชาวเบงกาลีจากอินเดียเข้ามาในเมียนมาเพื่อร่วมรบกับอังกฤษต่อต้านญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะเดียวกัน เมียนมาร่วมกับญี่ปุ่นต่อสู้กับอังกฤษเพื่อประกาศเอกราช ดังนั้น โรฮีนจาจึงกลายเป็นอุปสรรคในการกอบกู้เอกราชในเมียนมา นี้จึงเป็นต้นรากสำคัญแห่งปัญหา และในสมัยรัฐบาลนายพลเนวิน โรฮีนจาไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมือง ไม่มีสัญชาติ ไม่มีบัตรประชาชน ไม่ได้สิทธิในการศึกษาและการสาธารณสุข
เบงกาลี (Begali) เป็นคำที่คนพม่าเรียก โรฮีนจา แสดงออกถึงการไม่ยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์นี้ สื่อให้รู้ว่าเป็นชาวบังกลาเทศที่หลบหนีเข้ามาในรัฐยะไข่ ไม่ใช่คนพม่า
โรฮีนจาไม่มีความหมายในภาษาพม่า
ชาวเมียนมา ถือว่า คำว่า โรฮีนจา ไม่มีความหมายในภาษาพม่า ถือว่าคำนี้สร้างขึ้นใหม่ โดยกลุ่มคนที่อยู่ตามเขตชายแดนติดกับบังกลาเทศ ต้องการมีตัวตนจึงเรียกตัวเองว่า โรฮีนจา
จุดเริ่มต้นเกิดจากการขัดแย้ง?
ความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมที่พูดภาษาเบงกาลีกับชาวพุทธในแคว้นยะไข่ (Rakhine State) ได้มีมานับ 10 ปีหรือบางคนอาจกล่าวว่ามีมานับ 100 ปีแล้ว แต่จุดหักเหที่สำคัญคือกฎหมายในพม่าในปีค.ศ. 1982 กำหนดให้ชาวชาติพันธุ์เพียง 8 กลุ่มเท่านั้นที่จะได้สัญชาติพม่า ชาวโรฮีนจาไม่อยู่ใน 8 กลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าว
สถานการณ์โรฮีนจาปัจจุบัน
ชนวนเหตุของความรุนแรงครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮีนจากลุ่มใหม่ก่อเหตุโจมตีด่านและสถานีตำรวจกว่า 20 จุด เป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการปราบปรามของทหารเมียนมา ทำให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ของชาวมุสลิมโรฮีนจาไปสู่บังกลาเทศ ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย และไทย
สถานการณ์ของชาวโรฮีนจา วันนี้ เป็น คนไร้รัฐ แล้ว ยังเป็น "เหยื่อค้ามนุษย์" อีกด้วย
ขอบคุณภาพประกอบจาก
https://www.silpa-mag.com
http://southeastasiaploypaka.blogspot.com
https://www.sac.or.th
http://www.tonklanetwork.org
www.hrdi.or.th
www.thairath.co.th
www.mushroomtravel.com
https://www.isranews.org
https://www.prachachat.net
.
#MuseumSiam
#ให้ทุกการเรียนรู้สนุกกว่าที่คิด