Muse Pop Culture
ชื่อนี้พี่ขอ ราชสำนักกรุงเทพจัดให้
Muse Pop Culture
21 ก.ย. 65 3K

ผู้เขียน : Administrator

 

เคยสังเกตบ้างมั้ย เวลาเดินทางไปจังหวัดทางภาคอีสาน
ทำไมชื่อจังหวัด หรือชื่ออำเภอ จึงเว่อร์วังอลังการปานนั้น
ราวกับชื่อเมืองในนิทานของสุนทรภู่ หรือละครจักรๆ วงศ์ๆ อย่างไงอย่างงั้น
ศัพท์ของเทิ่ง สติเฟื่อง เรียก “เริ่ดสะแมนแตน”
แต่ศัพท์ของมิวเซียมสยาม ขอเรียกว่า จะ “ไฉไลไปไหน” เหรอคะ

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
เราขอนำตัวอย่างจาก 3 จังหวัดทางตอนกลางของภาคอีสานมาพูดถึงเป็นกรณีศึกษาในคราวนี้
คือจังหวัด กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม

ชื่อจังหวัด และหลายๆ อำเภอ ในจังหวัดเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เคยเป็นชื่อเมืองมาแล้วทั้งสิ้น
บ้างเป็นหัวเมืองใหญ่ บ้างเป็นเมืองเล็กเมืองน้อยเมืองบริวารมาก่อน
ตั้งแต่สมัยที่เรายังคงปกครองแบบหัวเมืองชั้นเอก ชั้นโท ตรี จัตวา
ก่อนจะยกเลิกไปในสมัยปลาย ร.5 เมื่อมีการปฎิรูประบบราชการใหม่ เปลี่ยนเป็นการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลแทน

กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม แต่เดิมถือเป็นเมืองประเทศราชของสยาม
เป็นเมืองลาว ชายขอบขัณฑสีมา
การตั้งชื่อเมืองให้ใหม่มาจากส่วนกลางคือราชสำนักกรุงเทพ
มักใช้คำศัพท์สูงส่ง ที่มีรากมาจากภาษาสันสกฤต และมีความหมายที่เกี่ยวเนื่องกับชื่อเมืองเดิม หรือทำเลที่ตั้งของเมือง
นามใหม่อันเพริศแพร้ว เป็นการแสดงอำนาจของส่วนกลางที่มีต่อหัวเมืองต่างชาติต่างภาษาอันห่างไกลนั่นเอง
ใช่มั้ยเพคะเสด็จพี่

 

ราชสำนักกรุงเทพจัดให้

จาก “บ้านแก่งสำโรง” สู่ “กาฬสินธุ์”
แต่ดั้งเดิมนั้นเป็นเมืองขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่ “บ้านแก่งสำโรง” ริมลำน้ำปาว
ครั้นถึงปี 2336 เจ้าเมืองได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อ ร.1
จึงสถาปนาเมืองขึ้นใหม่ แยกออกมาจากเมืองท่งศรีภูมิ (หรือเมืองสุวรรณภูมิ ใน จ.ร้อยเอ็ด)
แล้วให้ชื่อใหม่ ไฉไลไปไหน ว่า “กาฬสินธุ์”
แปลว่า “น้ำดำ”
เพราะลำน้ำปาวมีสีคล้ำจากดินก้นแม่น้ำที่เป็นสีดำนั่นเอง

กมลาไสย
ครั้นปี 2409 ในสมัย ร.4 นั้น
ก็มีการตั้งเมืองขึ้นใหม่อีกเมือง แยกออกมาจากกาฬสินธุ์
เมืองแห่งใหม่นี้มีทำเลที่ตั้งบริเวณหนองน้ำ อุดมไปด้วยบัวนานาชนิด
เป็นปากน้ำจุดที่ไหลมาบรรจบกับลำน้ำปาว
ราชสำนักกรุงเทพจึงตั้งชื่อให้อย่างไฉไลไปไหน ว่า “กมลาไสย”
อันแปลว่า ที่อาศัยของดอกบัว หรือบึงบัวนั่นเอง

จาก “บ้านพันลำ” สู่ “สหัสขันธ์”
แต่เดิมที่ตรงนี้เป็นชุมชนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่ “บ้านพันลำ”
ครั้นถึงปี 2410 ในสมัย ร.4
จึงยกขึ้นเป็นเมือง แยกออกมาจากกาฬสินธุ์
ราชสำนักกรุงเทพเปลี่ยนนามใหม่ให้เป็น “สหัสขันธ์”
อันแปลว่า ลำน้ำพันสาย ตามชื่อพื้นเมืองแต่เดิม

 

 

ราชสำนักกรุงเทพจัดให้

จาก “ท่ง” สู่ “สุวรรณภูมิราชบุรินทร์”
ชื่อนี้หาใช่ชื่อสนามบินไม่นะ
แต่เป็นชื่อของเมืองโบราณมาแต่นานแล้ว
เดิมชื่อเมือง “ท่ง” หรือ “ท่งศรีภูมิ”
เป็นหัวเมืองในอาณัติของราชอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์โน่น
ต่อมาในปี 2315 เจ้าเมืองท่งหันมาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตาก
พระเจ้ากรุงธนจึงอวยยศเปลี่ยนนามเป็น “สุวรรณภูมิ”
ถือเป็นเมืองประเทศราชของกรุงธนบุรี
ลุถึงปี 2338 ในสมัย ร.1 เรียกชื่ออย่างไฉไลไปไหนเข้าไปอีกว่า “สุวรรณภูมิราชบุรินทร์”
ให้มันรู้ไปว่าจะเอ้อเอิงเอยกันไปถึงไหน
ปัจจุบัน สุวรรณภูมิ เป็นชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด

เกษตรวิสัย
เมืองใหม่ที่แยกตัวออกมาจากเมืองสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2416 ในสมัย ร.5
ราชสำนักกรุงเทพจึงพระราชทานชื่อเมืองมาว่า “เกษตรวิสัย”
สมัยต่อมา เมื่อเมืองกลายเป็นอำเภอหนึ่งของร้อยเอ็ดแล้ว
เคยใช้ชื่อบ้านๆ ว่า อำเภอ “หนองแวง”
แต่ต่อมาก็กลับมาใช้ “เกษตรวิสัย” ตามเดิม
ด้วยเป็นชื่อที่แต่งตั้งมา และไฉไลไปไหนดี

จาก “บ้านเมืองแสน” สู่ “พนมไพรแดนมฤค”
ในสมัยกรุงธนบุรี เป็นเมืองแถบลุ่มน้ำชี ชื่อว่า “บ้านเมืองแสน”
ขึ้นตรงต่อเมืองสุวรรณภูมิ
ครั้นถึงปี 2421 ในสมัย ร.5 ได้สถาปนาเป็นเมือง
ตั้งชื่อให้คล้องจองกับเมือง “เกษตรวิสัย” ว่า “มโนไพรแดนมฤค”
ต่อมาเปลี่ยนเป็น “พนมไพรแดนมฤค”
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุบให้สั้นเหลือเพียงอำเภอพนมไพร

จาก “บ้านเมืองหงส์” สู่ “จตุรพักตรพิมาน”
แต่เดิมเป็นชุมชนขนาดเล็กชื่อ “บ้านเมืองหงส์”
สังกัดเมืองสุวรรณภูมิ
ต่อมาในปี 2425 ในสมัย ร.5 ได้สถาปนาขึ้นเป็นเมือง
แล้วตั้งลูกเจ้าเมืองสุวรรณภูมิที่ชื่อ ท้าวพรหม หรือท้าวสุพรหม
ขึ้นมาครองเมืองใหม่แห่งนี้ เมืองใหม่จึงมีนามตามชื่อเจ้าเมืองว่า “จตุรพักตรพิมาน”
แปลว่า ที่อยู่ของเทพผู้มีสี่หน้า ซึ่งก็คือพระพรหม หรือท้าวพรหมเจ้าเมืองนั่นเอง

 

 

ราชสำนักกรุงเทพจัดให้

จาก “บ้านลาดกุดยางใหญ่” สู่ “มหาสาลคาม”
ในปี 2402 สมัย ร.4 นั้น เจ้าเมืองร้อยเอ็ดมีใบบอกจะตั้งเมืองใหม่ แยกออกมาจากร้อยเอ็ด
โดยตั้งเมืองตรงตำแหน่งที่ลำน้ำไหลมาสิ้นสุด (ภาษาถิ่นเรียกว่า กุด)
ชาวบ้านเรียกหนองน้ำนี้ว่า กุดยางใหญ่ ด้วยมีต้นยางขนาดใหญ่ขึ้นอยู่
และเรียกเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า “บ้านลาดกุดยางใหญ่”
จวบจนปี 2408 จึงได้พระราชทานชื่อใหม่ยกขึ้นเป็นเมือง “มหาสาลคาม”
มหา แปลว่า ใหญ่ / สาละ คือต้นสาละ หมายถึงต้นยาง / ส่วน คาม นั้นสิ มีปัญหา
เพราะเป็นการแปลจากส่วนกลางแบบบ่เข้าใจความหมายของภาษาลาว
ด้วยเข้าใจไปว่า “กุด” หมายถึง “กุฏิ” ที่แปลว่าเรือนอยู่อาศัย บ่ใช่หนองน้ำไม่
อาลักษณ์ทางกรุงเทพจึงถอดความคำว่า “กุด” ออกมาเป็น “คาม” ที่แปลว่า บ้าน หรือหมู่บ้าน
เมือง “มหาสาลคาม” ของราชสำนักกรุงเทพ จึงหมายถึง หมู่บ้านต้นยางใหญ่
แทนที่จะเป็นหนองน้ำต้นยางใหญ่ตามชื่อดั้งเดิม
ต่อมาเพี้ยนไปเป็น “มหาสารคาม” เช่นในปัจจุบัน

จาก “บ้านหนองแสง” สู่ “วาปีประทุม”
ในปี 2424 สมัย ร.5 ได้ยก “บ้านนาเลา” หรือ “บ้านหนองนาเลา” ขึ้นเป็นเมือง
พอปีถัดไป ได้ย้ายเมืองมาตั้งที่ “บ้านหนองแสง”
ด้วยเป็นที่ที่มีหนองน้ำกว้างลึก มีน้ำอุดมทั้งปี
จึงตั้งชื่อไฉไลไปไหนว่า “วาปีประทุม” ตามลักษณะที่ตั้งของเมือง
วาปี แปลว่า หนองน้ำ หรือบึง
วาปีประทุม จึงแปลว่า บึงบัว นั่นเอง
ชื่อ “วาปีประทุม” นี้ตั้งขึ้นพร้อมกันกับชื่อเมือง “โกสุมพิสัย” เพื่อให้คล้องจองกัน
และมีความหมายเป็นดงดอกไม้เหมือนกัน

จาก “บ้านดงวังท่า” สู่ “โกสุมพิสัย”
เดิมเป็นชุมชนชื่อ “บ้านดงวังท่า” หรือ “บ้านวังท่าหอขวาง”
ต่อมาในราวปี 2424 สมัย ร.5 ได้ตั้งขึ้นเป็นเมือง ให้ชื่อไฉไลไปไหนว่า “โกสุมพิสัย”
แปลว่า ดงดอกไม้
โดยตั้งขึ้นให้คล้องจองกัน เป็น “วาปีประทุม” “โกสุมพิสัย”
เมืองหนึ่ง บึงบัว อีกเมืองหนึ่ง ดงดอกไม้

จาก “บ้านเมืองเสือ” สู่ “พยัคฆภูมิพิสัย”
เมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นในปี 2422 สมัย ร.5 ที่ “บ้านนาข่า”
ต่อมา ถึงปี 2436 จึงย้ายไปตั้งเมืองที่ “บ้านปะหลาน” ซึ่งอยู่ใกล้กับ “บ้านเมืองเสือ”
ราชสำนักจากกรุงเทพจึงตั้งชื่อใหม่ให้เป็น “พยัคฆภูมิพิสัย”
ซึ่งแปลว่า ดินแดนแห่งเสือโคร่ง
เว่อร์วังอลังการดีมั้ยเพคะ???


เครดิตภาพ
iammanussite.com

#MuseumSiam
#ให้ทุกการเรียนรู้สนุกกว่าที่คิด

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ