Muse Pop Culture
จากพิธีจองเปรียง สู่ "ลอยกระทง" ในปัจจุบัน
Muse Pop Culture
08 ธ.ค. 66 3K

ผู้เขียน : Administrator

พิธีจองเปรียง เป็นพิธีบูชาไฟถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาในสมัยอยุธยา โดยจะจัดขึ้นในเดือนสิบสองของทุกปี ในช่วงเวลาที่น้ำนองเต็มตลิ่งที่เราคุ้นหูกันนั่นเอง โดยพิธีนี้มีต้นแบบมาจาก ทิวาลี พิธีบูชาไฟของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งว่ากันว่าเป็นพิธีที่สืบเนื่องมาจากบ้านเมืองดั้งเดิม คือเมืองพระนครหลวง หรือ นครธม ในกัมพูชา ตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา
 
ในสมัยอยุธยา พิธีจองเปรียง ลดชุดลอยโคมลงน้ำ ซึ่งอาจเข้าใจได้ว่าเป็นพิธีเดียวกันทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วคือพิธีนี้มี 2 กิจกรรมในคราวเดียวกัน คือ จองเปรียง หรือ ลดชุด โดย จอง มาจากคำเขมรว่า “จง” (อ่าน จอง) แปลว่า ผูก, โยง ในที่นี้หมายถึงดูแลประคับประคองให้มีแสงสว่าง เช่น เลี้ยงไฟไม่ให้ดับ ตรงกับ “ตาม” ในคำว่า “ตามไฟ” (ผู้รู้ภาษามอญว่าจอง แปลว่า เผา) เปรียง มาจากคำเขมรว่า “เปฺรง” (อ่านว่า เปรง) แปลว่า น้ำมัน
 
จองเปรียง จึงหมายถึง ดวงไฟตามประทีปสว่างไสวที่ได้จากการจุดไฟเผาน้ำมัน แล้วชักด้วยสายรอกยกโคมไฟขึ้นไปแขวนตามเสา ระเบียง ชายคา ส่วน ลดชุด หมายถึง ชุดดวงไฟที่ลดขนาดเล็กลง แล้วจัดวางเรียงเป็นแถว โดยจะวางเรียงไว้ที่ช่องที่เจาะไว้ตามผนังกำแพงเมือง หรือกำแพงวัง และจะมีการการลอยโคมในน้ำ หรือเทียบได้กับ ลอยกระทง แบบในปัจจุบันนั่นเอง
 
ย้อนกลับไปในวันลอยกระทง ณ กรุงสุโขทัยโบราณนั้น เป็นพิธีใหญ่ มีการเผาเทียนในตะคัน เล่นไฟประดับพราวพราย จุดพลุ ตะไล ไฟพะเนียงให้อึกกระทึกครึกโครม จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เรียกว่า พระราชพิธีจองเปรียง โดยบรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคมชักแขวน และลอยกันทั่วนคร ข้าราชการและนางสนมกำนัลต่างทำโคม ร้อยด้วยบุปผาชาติเป็นรูปลวดลายวิจิตรพิสดาร เข้าประกวดกัน
 
นางนพมาศ ซึ่งเป็นข้าพระบาทสมเด็จพระร่วง จึงได้ทำโคมเข้าประกวด โดยแต่งโคมให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมทั้งปวง โดยประดับเป็นรูปดอกกระมุท สมเด็จพระร่วงเจ้า พอพระทัยมาก จึงประกาศว่า "แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า กษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงการกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 พระราชพิธีจองเปรียง แล้ว ก็ให้กระทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุท อุทิศสักการะบูชา พระพุทธมหานัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน"
 
พระราชพิธีจองเปรียงนี้ต่อมาภายหลังจึงเรียกว่าลอยกระทงทรงประทีป และถ้าเป็นพิธีของชาวบ้านราษฎรทั่วไปเรียกว่า “ลอยกระทง”
 
ปัจจุบัน ประเพณีลอยกระทง มีการจัดงานกันแทบทุกจังหวัด ถือเป็นงานประจำปีที่สำคัญ ส่วนการลอยโคม ชาวบ้านทางภาคเหนือและภาคอีสานยังนิยมทำกัน ชาวบ้านจะนำกระดาษ มาทำเป็นโคมขนาดใหญ่สีต่างๆ ถ้าลอยตอนกลางวัน จะทำให้โคมลอยโดยใช้ควันไฟ ถ้าเป็นเวลากลางคืน ก็จะใช้คบจุด ที่ปากโคม ให้ควันพุ่งเข้าในโคม ทำให้ลอยไปตามกระแสลมหนาว เวลากลางคืนแลเห็นแสงไฟโคม บนท้องฟ้า พร้อมกับแสงจันทร์และดวงดาวสวยงามมากทีเดียว
 
ขอบคุณภาพประกอบจาก
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา : หนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน
 
#MuseumSiam
#ให้ทุกการเรียนรู้สนุกกว่าที่คิด
#จองเปรียง #วันเพ็ญเดือนสิบสอง #ลอยกระทง #ลอยประทีป #นางนพมาศ
แกลเลอรี่


ย้อนกลับ