Muse Pop Culture
ช้างไทยไปนอก ตอนที่ 1 ช้างบรรณาการ
Muse Pop Culture
08 ธ.ค. 66 868

ผู้เขียน : Administrator

ตามขนบทางการทูตของเราแต่โบราณนั้น
กษัตริย์สยามนิยมส่ง “ช้าง” เป็น “บรรณาการ” ให้กับรัฐที่มีอำนาจเหนือกว่า
ด้วยช้างเป็นของมีค่าคู่ควรกับพระราชาผู้รับ
ทั้งยังเป็นเครื่องแสดงถึงความยิ่งใหญ่ใจกว้างของผู้ให้ และความมั่งคั่งของราชอาณาจักรสยามได้ดีอีกด้วย
การส่งช้างไทยไปนอกเพื่อเป็นของขวัญให้กับกษัตริย์ต่างรัฐ มีหลักฐานปรากฏมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว
เราส่งไปเมืองจีน ไปเมืองปัตตาเวียของพวกดัทช์ รวมถึงไปฝรั่งเศสสุดขอบโลกเลยทีเดียวเชียว
 
 
ช้างไทยไปจีน

ตามหลักฐานที่พบ สยามประเดิมส่งช้างไทยไปเป็นบรรณาการเมื่อปี พ.ศ. 1920
ตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนต้น หรือกว่า 650 ปี มาแล้ว
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ “ขุนหลวงพะงั่ว” ส่งเจ้าสี่ขางางอนไปแดนมังกร เพื่อถวายองค์พระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง แต่หลักฐานไม่ได้ระบุว่าจัดส่งไปด้วยกันกี่เชือก

ต่อมาอีกราว 1 ทศวรรษ คือในปี พ.ศ. 1931
สมเด็จพระราเมศวร แห่งอยุธยา ก็ส่งช้างไทยตัวเป็นๆ ไปเป็นของขวัญลูกพี่ใหญ่อย่างเจ้ากรุงจีนอีกครา
คราวนี้ส่งลงสำเภาไปจำนวนมากถึง 30 เชือกด้วยกัน
 
 
ช้างไทยไปปัตตาเวีย

ลุถึงช่วงอยุธยาตอนปลาย หรือเมื่อเกือบ 400 ปีมาแล้ว
คิงปราสาททองก็ดำเนินนโยบายการทูตผ่านช้างอีกครา
ส่งช้างไทยตัวเป็นๆ ข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงเมืองปัตตาเวีย (หรือในปัจจุบันคือกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนิเซีย)
อันเป็นเมืองท่าสำคัญของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Dutch East India Company หรือที่ในภาษาดัทช์คือ Verenigde Oostindische Compagnie เรียกย่อๆ ว่า VOC เฟโอเซ)
เพื่อเป็นของกำนัลให้กับข้าหลวงใหญ่ชาวดัทช์ ที่ประจำอยู่ที่นั่น
ปี 2176 ส่งไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 4 เชือก
ปี 2190 ส่งไปอีก 5 / 2191 ส่งน้องไปอีก 3 / และ 2194 ส่งไปอีก 6

ครั้นเข้ารัชสมัยคิงนารายณ์ ธรรมเนียมนี้ก็ยังคงอยู่
ปี 2202 ส่งไปอีก 5
และในปี 2208 / 2211 / 2213 / 2214 ราชสำนักสยามก็ยังคงส่งช้างบรรณาการไปปัตตาเวียอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ช้างที่ส่งไปเป็นของขวัญให้พวกดัทช์ที่ปัตตาเวียนี้ กลับเป็นภาระให้กับ VOC เป็นอย่างมาก
การดูแลน้องมีค่าใช้จ่ายที่สูง ต้องจ้างควาญคอยเลี้ยงดู
อีกน้องกินเก่งมาก
แต่กระนั้น ชาวดัทช์ผู้สันทัดในการค้า สบโอกาสนำช้างบรรณาการจากราชสำนักสยามที่ได้มาฟรีๆ นี้ ไปขายทำกำไรต่อที่อินเดีย หรือไม่ก็เอาไปบรรณาการสุลต่านของรัฐแถบนั้นต่อ
เรียกได้ว่า ส่งช้างต่อไม่รอแล้วนะ

เครดิตภาพ
Rijksmuseum
 
 
ช้างไทยไปปารีส

แล้วช้างไทยเคยเดินทางสุดขอบฟ้าไปยังยุโรปมั้ย?
ตอบเลยว่า “เคยจ้ะ”
แต่กว่าจะไปถึงได้นั้น มันมีเรื่องราวซับซ้อนอยู่

ปี 2173 คิงปราสาททอง ส่งลูกช้างไปบรรณาการถึงฮอลแลนด์
เพื่อถวายเจ้าชาย Federik Hendrik
แต่โชคไม่ช่วย เรือสำเภาไฟไหม้ขณะลอยลำนอกชายฝั่งอัฟริกา
ช้างน้อยตายก่อนจะถึงจุดหมาย
พันธกิจที่จะเหยียบแผ่นดินยุโรป จึงไม่สำเร็จ

ลุแผ่นดินคิงนารายณ์
มีมิชชั่นในการส่งช้างไปบรรณาการพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ถึง 3 ครา ด้วยกัน

คราแรก ในปี 2223 ส่งช้างเด็กไป 2 ตัว (ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง)
ลงเครื่องไปพร้อมกับคณะทูตจากสยามชุดแรก
แต่เรืออับปางก่อน ทั้งคนทั้งช้างสู่ขิต ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

คราที่สอง ปี 2228 คราวส่งโกษาปาน เป็นราชทูต
สยามเตรียมช้างน้อยไปด้วย 2 ตัวเช่นกัน เอาไปฝากหลานพระเจ้าหลุยส์ไว้ดูเล่น
แต่แต้มบุญน้องยังน้อย เรือบรรทุกของจนเต็มระวาง ไม่มีที่นั่งเพียงพอสำหรับน้อง
ชวด ไม่ได้แม้แต่ขึ้นเครื่อง อดไปเลยจร่ะ

หนที่สาม ปี 2231 ไม่เข็ดอี๊ก ส่งไปอีก 3 เชือก
แต่วาสนาน้อย คุณช้างทั้งสามสิ้นลมระหว่างรอนแรมจากปัตตาเวีย ไปแหลมกู๊ดโฮป
โชคน้องไม่ดี ไม่เหมือนชื่อแหลมเลย
พันธกิจเหยียบแผ่นดินฝรั่งเศสของช้างไทย จึงไม่เป็นไปตามที่ตั้งไว้ 
 
 
ช้างไทยตายปารีส

พันธกิจช้างไทยไปปารีส มาเสร็จสมบูรณ์ก็เมื่อเกือบ 200 ปีให้หลัง
เมื่อ ร.4 ทรงดำเนินการทูตผ่านช้างตัวเป็นๆ อีกครั้งในปี 2405
โดยส่งน้องไปพระราชทานพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส
คราวนี้ส่งไป 2 เชือกทางเรือเดินสมุทร
น้องเข้าพำนักที่สวนสัตว์แห่งกรุงปารีส กลายเป็นดาวเด่นของที่นั่น

แต่พล็อตเรื่องกลับมาหักมุมเสีย
ด้วยปี 2413 เกิดมีสงครามและปฏิวัติ กรุงปารีสถูกปิดล้อมอยู่หลายเดือน
อาหารขาดแคลน
ช้างบรรณาการจากสยามทั้งคู่จึงถูกยิงทิ้งเพื่อเอาเนื้อมาบริโภค
เป็นเมนูแนะนำของภัตตาคารหรูในปารีสเลยทีเดียว
เรียกได้ว่า ขอชิมเนื้อช้าง ไปพลางก่อน รัยงี้

เครดิตภาพ
www.silpa-mag.com 
คำรณ เพ็ชรประยูร
 
#MuseumSiam
#ให้ทุกการเรียนรู้สนุกกว่าที่คิด
แกลเลอรี่


ย้อนกลับ