ซิงเจี่ยอยู่อี่ ซิงนี้ฮวกใช้
新正如意 新年發財
ปีหน้าสมใจ ปีใหม่เฟื่องฟู
วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน หรือ “วันตรุษจีน” ปีนี้ ใกล้เข้ามาแล้ว!!!
วันที่ 8 วันจ่าย / 9 วันไหว้ / และ 10 วันเที่ยว
สำหรับกุมาร/กุมารีจีนทั้งหลาย เคยสงสัยมั้ยว่าทำไมต้องมีขนมเนื้อฟูๆ อยู่ในโต๊ะไหว้ด้วย?
ทั้งฝืดคอ ทั้งไม่อร่อย ไหว้เสร็จก็ทิ้งไว้ ไม่ใคร่มีใครอยากกิน
มิวเซียมสยามเลยขอใช้โอกาสนี้ มาช่วยคลายปัญหาคาใจ
ว่า ขนมถ้วยฟู ขนมปุยฝ้าย และขนมสาลี่ มันต่างกันเยี่ยงไร ทำไมจึงนำมาใช้ไหว้กัน
แถมด้วยเรื่องขนมถ้วยฟูแบบไทยๆ คือขนมตาล อีกสักหน่อย
เชิญติดตามกันได้เลยยยยย
สามารถติดตามบทความ Muse Pop Culture ที่ผ่านมาได้ที่
https://www.museumsiam.org/km.php?CID=200&sid=22
เครดิตภาพ
ขนมถ้วยฟู
發粿
ฟู หรือ แฟ่บ ?
ปัง หรือ พัง ?
ขนมถ้วยฟู ที่เราคุ้นกันดีนั้น แท้จริงแล้ว เป็นขนมของคนจีนนะเออ
คนแต้จิ๋ว ซึ่งเป็นประชากรจีนส่วนใหญ่ในไทย เรียกขนมชนิดนี้ว่า “ฮวกก้วย”
ส่วนคนฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นจีนทางจังหวัดภาคใต้ของไทย เรียก “ฮวดโก้ย”
ฮวก หรือฮวด (發) คือ ฟู เจริญงอกงาม ร่ำรวย รุ่งเรือง ปัง ปัง ปัง
ส่วน ก้วย หรือโก้ย (粿) คือ ขนม
คำว่า “ขนมฟู” จึงนอกจากจะแสดงลักษณะทางกายภาพของเนื้อขนม ที่ “นุ่มฟู” แล้ว
ยังสื่อความหมายเป็นนัยให้ครอบครัวมีความเจริญ “เฟื่องฟู” อีกด้วย
ขนมถ้วยฟูจึงมักใช้ในพิธีต่างๆ ของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ
ทั้งตรุษจีน งานแต่ง หรือแม้แต่งานศพ
เรียกได้ว่า งานมงคล งานอวมงคล ใช้ไหว้ได้หมด
ขนมถ้วยฟูทำจากแป้งข้าวเจ้า เนื้อแฉะๆ หนึบๆ หนักๆ แต่ก็ฟูนุ่ม มีรูพรุนทั่ว
เอกลักษณ์ของขนมถ้วยฟูก็คือ มีกลิ่นบูดๆ เปรี้ยวๆ อันเกิดจากการหมักแป้ง
แต่เดิมเค้าใช้แป้งข้าวหมาก (เชื้อหรือยีสต์ธรรมชาติสำหรับใช้หมักแป้ง) หมักไว้ราว 2 วัน
จนเนื้อแป้งขึ้นฟอง เมื่อนำไปนึ่ง เนื้อขนมจะขึ้นฟู จน “หน้าแตก”
หรือที่ชาวจีนเรียกกันว่า “หน้ายิ้ม” หรือออก “ดอกบาน”
ในระหว่างทำขนม จึงมีเคล็ดต่างๆ ห้ามไว้ เช่นห้ามไม่ให้พูดคำไม่เป็นมงคล หรือห้ามเปิดดูซึ้งนึ่ง
เพราะเดี๋ยวขนมจะ “หัวล้าน” เอา
ขนมถ้วยฟู จึงเหมือนขนมเสี่ยงทาย ว่าปีนี้ จะ “ปัง ปุริเย่” (ขนมฟู หน้าแตก ยิ้มบาน)
หรือจะ “ปัง ปิ๊นาศ” (ขนมหัวล้าน) กันแน่ !!!
เครดิตภาพ
cookpad.com
ขนมปุยฝ้าย
卵粿
เค้กไข่นึ่ง
ขนมปุยฝ้าย คลับคล้ายกับขนมถ้วยฟูอยู่
ทั้งคู่ต่าง “หน้าแตก” “ยิ้มหวาน” “ออกดอกบาน” เหมือนกัน
แต่ไม่ใช่ขนมชนิดเดียวกันนะเธอ
ขนมปุยฝ้าย กลับไปคล้ายกับขนมชนิดหนึ่งของจีน
คนแต้จิ๋วในไทย เรียกกันว่า “หนึ่งก้วย”
คำว่า หนึ่ง (卵) คือ ไข่
ส่วน ก้วย (粿) คือ ขนม (นึ่ง)
ขนมหนึ่งก้วยนี้ จริงๆ แล้วก็คือขนมเค้กดีๆ นี่เอง
แต่เป็นเค้กนึ่ง หาใช่เค้กอบไม่ (ด้วยคนจีนถนัดทำอาหารด้วยการนึ่ง)
มีเนื้อละเอียดจากแป้งสาลี (ไม่ใช่แป้งข้าวเจ้าอย่างขนมถ้วยฟู)
ชื่อว่า “ขนมไข่” ก็บอกอยู่แล้วว่าจะต้องมีไข่เป็นส่วนผสม (ต่างจากขนมถ้วยฟูที่ไม่ใส่ไข่)
นำไข่มาตีกับน้ำตาลจนขึ้นฟูด้วยฟองอากาศ ทำให้เนื้อเค้กนุ่มฟู
(ไม่ใช่ฟูด้วยการหมักยีสต์อย่างขนมถ้วยฟู)
สมัยนี้มีการใส่น้ำอัดลม โซดา เพื่อให้เนื้อเค้กฟูก็มี
และยังไม่มีการใส่น้ำมัน หรือกะทิ หรือเนย ในส่วนผสมด้วย เนื้อขนมจึงแห้งร่วน
บรรพบุรุษที่เราไหว้ อย่างอากงอาม่าที่ล่วงลับไปแล้ว กินไปคงบ่น ฝืดคอแย่เลย
ขนมหนึ่งก้วยนี้ อย่าเผลอเอาไปไหว้เจ้าเชียวน้า เพราะเทพไฉ่ซิงเอี้ย หรือไท้ส่วยเอี้ย ต่างเป็นวีแกน ไม่อาจบริโภคเนื้อสัตว์ หรือไข่ต่างๆ ได้จร้า
หนึ่งก้วยของจีน เนื้อจะค่อนข้างแน่น หนาหนัก
ส่วนขนมปุยฝ้ายของเรา เนื้อจะบางเบากว่ามาก
เนื่องจากมีการใช้เทคนิคการทำเค้กสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้
มีการใส่ผงฟู หรือสารเคมีที่ช่วยให้เนื้อเบาฟูนุ่มดั่งปุยของดอกฝ้าย ว่างั้น
แถมยังใส่กลิ่นดอกนมแมวลงไปด้วยเพื่อช่วยดับกลิ่นคาวของไข่
“ขนมปุยฝ้าย” ของเรา จึงเป็นเวอร์ชั่นอัพเดตของขนมไข่ “หนึ่งก้วย” นั่นเอง
เครดิตภาพ
www.sgethai.com
ขนมสาลี่
พี่น้องปุยฝ้าย
ขนมสาลี่ เป็นขนมเค้กนึ่งแบบไทยๆ อีกชนิด ที่พัฒนาต่อยอดมาจากขนมปุยฝ้าย
ต่างมีเนื้อเนียน นุ่มฟู เหมือนกัน
ส่วนผสมเป็นแป้งสาลี น้ำตาลทราย ไข่ไก่ ก็เหมือนกัน
ตีไข่กับน้ำตาล จนขึ้นฟู เหมือนกัน
เนื้อขนมเบา แห้งร่วน ฝืดคอ เพราะไม่ใส่ไขมัน เหมือนกัน
หากแต่ขนมสาลี่จะมีใบหน้าเนียน ไม่ใช่หน้าแตกอย่างเช่นปุยฝ้าย
และมักแต่งหน้าด้วยลูกเกด ทำไมก็ไม่รู้ เหมือนกัน
ไม่ใช่เฉพาะงานไหว้งานตรุษของคนจีนเท่านั้น
แต่ขนมสาลี่ก็มักใช้ในงานบุญ งานเลี้ยงพระ ของเราชาวไทยด้วย
ก็ด้วยถือคติรุ่งเรืองเฟื่องฟู ดังเช่นขนมเนื้อนุ่มฟูทั้งหลายที่กล่าวมา
ขนมสาลี่ถือเป็นขนมของดีของฝากจากเมืองสุพรรณ
กล่าวกันว่า มีการประดิษฐ์คิดค้นสูตรขึ้นเมื่อปี 2485 โดยร้านอาหารจีนแห่งหนึ่ง (ร้านแม่บ๊วย)
ใน อ. บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี
ส่วนชื่อขนมสาลี่นั้น ไม่ได้มีส่วนผสมของผลสาลี่แต่อย่างใดนะฮ้าบ
สันนิษฐานว่า เพราะทำจากแป้งสาลี เลยเพี้ยนมาเป็นสาลี่
หรืออาจเป็นสถานที่ขายแห่งแรก ที่ ต. สาลี ที่กลายมาเป็นสาลี่ ก็เป็นได้
ขนมตาล
ขนมถ้วยฟูแบบไทยๆ
ขนมตาลสีเหลืองอร่าม เนื้อนุ่มฟู หอมกลิ่นลูกตาล
เป็นขนมสามัญประจำบ้านของครอบครัวไทย
จะว่าไป มีความคลับคล้ายกับขนมถ้วยฟู หรือฮวกก้วย/ฮวดโก้ย ของจีน อยู่นะ
ต่างทำจากแป้งข้าวเจ้า เหมือนกัน
ไม่มีไข่ เหมือนกัน (พวกวีแกนยิ้มแล้ว)
อีกเป็นขนมนึ่ง เหมือนกัน
มีความฟูนุ่ม หน้าแตก เหมือนกัน
มีการหมักด้วยยีสต์ เพื่อให้ฟูด้วยฟองอากาศ เหมือนกัน
แล้วต่างกันที่ไหน?
ต่างกันที่สารที่ใช้ในการหมักนี่แหละ
ขนมถ้วยฟู ใช้เชื้อแป้งหมัก หรือยีสต์ตามธรรมชาติ
แต่ขนมตาล ใช้ยีสต์ที่ได้จากเนื้อตาลสุก !!!
ธรรมชาติกว่ามั้ย?
ฟังดูเอ๊ะหรือปล่าว?
รายละเอียดเป็นเช่นไร ติดตามในเธรดต่อไปได้เลยจร้า
เครดิตภาพ
shopee.co.th
ขนมตาล นุ่มฟู
ฟูจากไหน?
ขนมตาลทำจากเนื้อลูกตาลสุก
แล้วอย่างไหนจึงเรียกว่าสุก?
สุกงอมจัดจนหลุดร่วงลงมาตกใต้ต้นเองเลยอะ
เปลือกนอกสีดำ มีใยฝอยๆ เหมือนกาบมะพร้าว
เนื้อข้างในนิ่มแล้ว สีเหลืองอร่าม ได้กลิ่นตาลแรงนัก
เราเอามาปอกเปลือกออก
แล้วยีกาบตาลกับน้ำ ให้ได้เนื้อตาลเขละๆ เละๆ
ค่อยๆ รีดจนเนื้อตาลสีเหลืองๆ หลุดออกมาจากฝอยทั้งหมด
นำเนื้อตาลเปียกๆ ที่ได้ ใส่ในผ้าขาวบาง แล้วรวบมัดให้แน่น
แขวนทิ้งไว้ข้ามคืน โดยปล่อยให้น้ำหยดลงมาจนเนื้อตาลสะเด็ดน้ำ
เรียกกันว่าการ “เกรอะตาล”
พูดง่ายๆ การเกรอะก็คือขบวนการกรอง แยกเนื้อตาล ออกจากน้ำที่มีรสเฝื่อนๆ ฝาดๆ นั่นเอง
การเกรอะตาลข้ามคืนนี้ ถือเป็นนาทีทองที่จะปล่อยให้ยีสต์ในเนื้อตาลได้ทำงาน
เนื้อตาลที่เกรอะแล้วจะหมาดๆ เขละๆ สีเหลืองอร่าม และมีกลิ่นเหมือนเหล้า
แสดงว่าได้ที่ พร้อมสำหรับเป็นหัวเชื้อในการหมักแป้งเพื่อทำขนมตาลต่อไป
ขั้นต่อไปก็คือนำเนื้อตาลที่เกรอะแล้ว ผสมกับแป้งข้าวเจ้า น้ำตาล และกะทิ จนเข้ากัน
ก่อนจะนำไปตากแดดอีกสัก 2 ชม.
ไม่ก็หมักในที่ร่ม เมืองไทยอากาศร้อน ไม่กี่ชั่วโมง ก็น่าจะได้
เนื้อแป้งจะเกิดปฏิกริยา มีฟองอากาศปุดๆ ซึ่งก็คือแก๊สที่ทำให้ขนมฟูนั่นเอง
เสร็จแล้วนำไปนึ่งให้สุก
ขนมตาลจะขึ้นฟูโดยธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งผงฟูเลยจร้า
เพราะเรามียีสต์ตามธรรมชาติจากเนื้อตาลสุกนั่นเอง
ขนมตาลของไทย จึงคลับคล้ายกับขนมถ้วยฟูของจีนอยู่ ด้วยประการฉะนี้
เครดิตภาพ
www.maesalim.com