มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
เรื่องเล่าจากวัตถุ: เล่าเรื่องจากขวดหมึก
มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
16 ก.พ. 67 478

ผู้เขียน : ปัฐยารัช ธรรมวงษา

               จากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่มิวเซียมสยาม ได้พบวัตถุเป็นขวดทรงกระบอกเคลือบสีน้ำตาลชิ้นหนึ่ง ข้างขวดมีรอยประทับเขียนว่า “DOULTON & Co. LIMITED, LAMBETH 18” แต่เดิมใช้เป็นขวดใส่หมึกสำหรับเขียน ผลิตจากโรงงานดอลตัน แอนด์ วัตต์ (Doulton and Watts) เขตแลมเบทซ์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

               การใช้หมึกในการพิมพ์และเขียนนิยมแพร่หลายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 – ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ช่วงเวลานั้นถือเป็นยุคทองของโรงงานผลิตหมึก เนื่องจากอัตราการอ่านออกเขียนได้ในยุโรปและอเมริกาสูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้หมึกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตขวดบรรจุหมึกเจริญรุ่งเรืองขึ้นเช่นกัน ขวดหมึกที่ผลิตมาสู่ท้องตลาดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือขวดแก้ว และขวดดินเผาเนื้อแกร่ง (Stoneware) ขวดแก้วมีข้อดีคือ สามารถมองเห็นสีของหมึกที่อยู่ภายในได้ ส่วนขวดดินเผาสามารถเก็บหมึกให้พ้นแสงได้

                โรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาดอลตัน แอนด์ วัตต์ (Doulton & Watts) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1826 มีผลิตภัณฑ์หลักคือบรรจุภัณฑ์สำหรับของเหลวและสารเคมี โดยเฉพาะขวดบรรจุหมึกซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน โรงงานแห่งนี้ผลิตขวดบรรจุหมึกเป็นจำนวนมหาศาล และยังผลิตสินค้าประเภทอื่นด้วย บรรจุภัณฑ์จากโรงงานแห่งนี้จะถูกเคลือบด้วยเทคนิคการเคลือบด้วยกรดเกลือ ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ทนต่อการกัดกร่อนของกรด ต่อมาในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ความต้องการผลิตภัณฑ์เหล่านี้ลดน้อยลง ประกอบกับกฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับสภาพอากาศในกรุงลอนดอน ซึ่งถูกประกาศในปี ค.ศ. 1952 อุตสาหกรรมผลิตหมึกจึงได้ทยอยปิดตัวลง     

                การค้นพบขวดหมึกดอลตัน แอนด์ วัตต์ สอดคล้องกับประวัติของพื้นที่มิวเซียมสยามที่เคยเป็นวังเก่าที่มีเจ้านายรับราชการ จึงมีความจำเป็นต้องใช้หมึกในการเขียนร่างเอกสารต่าง ๆ และยังสะท้อนถึงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาใช้สอย โดยเฉพาะขวดหมึกที่เป็นสินค้าจากประเทศอังกฤษมายังพื้นที่แห่งนี้

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ