ท่านที่เคยผ่านมาทางมิวเซียมสยาม เคยสงสัยกันไหมว่า แท่งโค้งๆ หน้าตึกมิวเซียมสยาม คืออะไร ทำไมถึงมาตั้งอยู่ตรงนี้ ใครเอามาตั้งไว้ ตั้งแต่เมื่อไร แต่ก็อาจมีบางคนไม่ได้สงสัย ไม่ได้สนใจสิ่งนี้ ไม่เป็นไร เอาเป็นว่าเราอยากบอกก็แล้วกัน
ถ้าเราบอกว่า แท่งโค้งๆ หน้าตึกนั่น มันคือ “รุ้ง” จะมีใครสงสัยหนักเข้าไปอีกไหม
แต่ มันคือประติมากรรม รุ้ง จริงๆ มันคือสัญลักษณ์และตัวนำทางของนิทรรศการภายในตึกมิวเซียมสยาม ซึ่งไม่ใช่นิทรรศการถอดรหัสไทยตอนนี้
เมื่อครั้งที่มิวเซียมสยาม ก่อตั้งขึ้นประมาณปีพ.ศ. 2549-2550 ได้จัดทำนิทรรศการถาวรแรกเรื่อง เรียงความประเทศไทย ว่าด้วยการสืบค้นราก จุดกำเนิดสยามประเทศและกลายมาเป็นประเทศไทย ประกอบด้วยนิทรรศการ 16 ห้อง โดยมี รุ้ง ซึ่งเกิดขึ้นที่ลานด้านหน้าตึกแล้วพาดไปตามแนวยาวของห้องตั้งแต่โถงต้อนรับ เลื้อยไปยังห้องนิทรรศการทุกห้อง ซึ่งในห้องต่างๆ สายรุ้งที่พาดผ่านก็จะทำหน้าที่เล่าเรื่อง เป็นจอรับภาพ เป็นบอร์ดข้อความหรือแปลงร่างกลายเป็นจอทีวี เป็นผนัง ฯลฯ
ประติมากรรมรุ้งขนาดใหญ่ 3 เส้น ขนาดแตกต่างกัน รุ้งแต่ละเส้นสูงประมาณ 2-3 เมตร จัดวางในตำแหน่งต่างกันออกไป ภายในพื้นที่วงเวียนสนามหญ้าด้านหน้าตึก รุ้งแต่ละเส้นจะหุ้มด้วยวัสดุต่างประเภทกันไป เส้นหนึ่งจะหุ้มด้วยทองแดง อีกเส้นหนึ่งหุ้มด้วยสำริด เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้อหายุคสำริด ภายในห้องสุวรรณภูมิ และอีกเส้นจะหุ้มด้วยทองเหลือง ความมันวาวของทองเหลืองที่คล้ายทอง สื่อถึงความรุ่งเรืองในยุคสยามประเทศ
ความหมายของ รุ้ง จึงเป็นเสมือนการเดินทางเพื่อการเรียนรู้และค้นหาประวัติศาสตร์ ประติมากรผู้ออกแบบ คือ อาจารย์จุมพล อุทโยภาส ได้ให้ความหมายไว้จากการตีความเนื้อหาของนิทรรศการ
มาถึงตรงนี้ทุกท่านคงรู้กันแล้วว่า แท่งโค้งๆ นั้นคือรุ้ง จุดเริ่มต้นของการเดินทางเพื่อการเรียนรู้ และสำหรับคนที่ไม่เคยมาเยี่ยมชมมิวเซียมสยาม อาจจะอยากเห็นว่า นิทรรศการเรียงความประเทศไทย เป็นอย่างไร เราเลยอยากเชิญให้ชมนิทรรศการ "เรียงความประเทศไทย" ในแบบ 360องศา คลิกตามลิงก์นี้ได้เลยครับ https://www.museumsiam.org/virtualexhibition/accountofthailand/
ภาพที่ 1 โครงรุ้งจากจุดเริ่มต้นหน้าตึกพาดผ่านเข้าไปภายในห้องของตึกมิวเซียม
ทำหน้าที่เล่าเรื่อง เป็นสื่อ เป็นบอร์ดข้อความ
ภาพที่ 2 รุ้ง ทำหน้าที่เป็นบอร์ดข้อความ ภาพประกอบภายในห้องนิทรรศการ
ภาพที่ 3 รุ้ง เปลี่ยนหน้าที่เป็นโครงจอทีวีขนาดเล็ก สื่อสารเนื้อหาของนิทรรศการเรียงความประเทศไทย