มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
เรื่องเล่าจากวัตถุ: ภาชนะยุโรปในตลาดเอเชีย
มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
02 พ.ค. 67 309

ผู้เขียน : ปัฐยารัช ธรรมวงษา

               จากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่มิวเซียมสยามได้พบเศษภาชนะที่นำเข้ามาจากยุโรปหลายชิ้น ภาชนะเหล่านี้มีแหล่งผลิตหลักที่อังกฤษ ฮอลแลนด์ (เนเธอร์แลนด์) และเยอรมนี ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 – 19 ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของการผลิตและส่งออกสินค้าประเภทเครื่องปั้นดินเผาของประเทศเหล่านี้

               ในการผลิตจะมีการประดับตกแต่งลวดลายต่างๆ บนภาชนะ ลวดหลายหลากหลายรูปแบบทำขึ้นเพื่อเอาใจตลาดทางประเทศเอเชีย ส่วนใหญ่เน้นเป็นลวดลายโรแมนติกแบบยุโรป เช่น ดอกไม้ ทิวทัศน์ สถานที่ ซึ่งมักจะมีอิทธิพลลวดลายของเอเชียผสมอยู่ด้วย สินค้าแต่ละชิ้นจะมีชื่อลายซึ่งมาจากภาษาในท้องตลาด หรือมีเรื่องราวของลวดลายที่สะท้อนภาพของภูมิภาคตะวันออก

                ชื่อลายมีทั้งภาษามาเลย์ ภาษาอังกฤษ ชื่อประเทศ และสถานที่โดยเฉพาะในแถบเอเชีย ตัวอย่างเช่น ลาย Ikan China คำว่า Ikan มาจากภาษามาเลย์ที่แปลว่าปลา ส่วนลวดลายของ Ikan China เป็นรูปปลามีหนวดคล้ายมังกร มีลายเมฆและน้ำด้านหลังเป็นแบบจีน ลาย Buah Nanas เป็นลายสับปะรดตามชื่อในภาษามาเลย์ ลาย Ayam-Jantan เป็นลายไก่ตัวผู้ตามชื่อในภาษามาเลย์ ลาย Agra มาจากชื่อเมืองในอินเดีย ลาย Malacca และ Johore ตามชื่อเมืองของมาเลเซียเป็นลายทิวทัศน์ของเมือง บางครั้งลวดลายกับชื่อกลับไม่เชื่อมโยงกัน เช่น ลาย Siam แต่เป็นรูปอาคารจีน ลาย Batavia เป็นชื่อเมืองแต่ปรากฏเป็นรูปเรือสำเภา ลาย Borneo เป็นชื่อเกาะแต่เป็นรูปนกฟินิกซ์และมังกร เป็นต้น   

               ผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบสามมิติได้ที่ collection360.museumsiam.org    

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ