มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
สยามศิวิไลซ์ มุมมองผ่านบ่อเกรอะ
มิวเซียมสยามกับประวัติศาสตร์พื้นที่
31 พ.ค. 67 246

ผู้เขียน : ศราวัณ วินทุพราหมณกุล

               หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ทำให้บ้านเมืองดูไม่มีความศิวิไลซ์   นั่นก็คือการขับถ่ายปฏิกูลของคน (การถ่ายหนักและเบา) การไปทุ่ง ไปท่า กลายเป็นปัญหาเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงแรกสร้างเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งชาวสยามขับถ่ายกันตามสะดวก นำมาสู่ปัญหาเรื่องกลิ่น ความสกปรกและโรคระบาด  ดังนั้นในรัชสสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้จัดตั้ง “กรมสุขาภิบาล” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลเรื่องความสะอาดของบ้านเมือง มีการออกกฎระเบียบเรื่องความสะอาดโดยเฉพาะเรื่อง ส้วม ทุกบ้านเรือนต้องมีภาชนะสำหรับรองรับการขับถ่าย บ้านเรือนใดที่ยังไม่พร้อมมีส้วม ทางราชการก็สร้างส้วมสาธารณะกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ให้ใช้เพื่อแก้ปัญหา และฝึกให้ชาวสยามขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง และพัฒนารูปแบบสุขาด้วยชุดความรู้จากตะวันตกและเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าขึ้นตามสมัย

               ในส่วนสำนักงานราชการเช่นตึกกระทรวงพาณิชย์ที่สร้างขึ้นใน ปีพ.ศ. 2463 ก็มีการออกแบบระบบงานสุขาภิบาลตึกเข้าไปด้วย มีการจัดสร้างห้องน้ำที่อยู่ในตึก เพื่อให้สะดวกกับคนทำงานและผู้มาติดต่อกับกระทรวงฯ  โดยสถาปนิกได้วางตำแหน่งของห้องน้ำให้อยู่บริเวณมุขซ้ายและขวาของตึกทั้ง 3 ชั้น แยกออกจากพื้นที่ทำงาน

               จากหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีภายในพื้นที่ของมิวเซียมสยามพบว่าพื้นที่ด้านหน้าของอาคารบริเวณมุขทั้งสองข้าง มีบ่อทรงกลมที่เรียกว่าบ่อเกรอะ ซึ่งเป็นที่ตั้งตรงกันกับตำแหน่งของห้องน้ำ บ่อนี้ก่อด้วยอิฐชนิดเดียวกับตึกเมื่อครั้งแรกสร้าง และพบท่อเหล็กที่เชื่อมกับตึกต่อเข้ากับบ่อเกรอะ ในส่วนการนำส่งน้ำขึ้นไปใช้บนตึกสูงขนาด 3 ชั้นอย่างตึกมิวเซียมสยามนั้นทำอย่างไร สถาปนิกอนุรักษ์ได้มีข้อสันนิษฐานว่าเป็นการนำน้ำสู่ตึกผ่านใช้ระบบปั๊มน้ำจากถังหรือบ่อน้ำเข้าสู่ท่อเหล็กและเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องสุขภัณฑ์  ปัจจุบันท่อเหล็กนี้ถูกสงวนเก็บไว้เพื่อการศึกษาและยังคงติดตั้งอยู่ตำแหน่งเดิมในห้องน้ำชั้น 2 และชั้น 3 ของตึกมิวเซียมสยาม

               จากบ่อเกรอะที่ถูกออกแบบขึ้นพร้อมกับการสร้างตึกกระทรวงพาณิชย์นั้นแสดงให้เห็นถึงการวางแผนงานระบบสุขาภิบาลในอาคารราชการแรกๆ ที่มีห้องน้ำในตึก บ่อเกรอะจึงเป็นหลักฐานสำคัญบ่งชี้ให้เห็นความศิวิไลซ์ของชาวสยามที่ก้าวสู่ภาวะสมัยใหม่อย่างเต็มตัว

 

ภาพที่ 1 การขุดค้นทางโบราณคดี พบบ่อเกรอะ 2 บ่อ บริเวณหน้ามุขตึกฝั่งซ้ายติดถนนเศรษฐการ

  • บ่อเกรอะทรงกลมเป็นบ่อเก่าที่สร้างขึ้นพร้อมการสร้างตึก
  • บ่อเกรอะทรงสี่เหลี่ยมสร้างขึ้นภายหลังเพื่อรองรับการใช้งานของคนทำงานในตึกที่มีจำนวนมากขึ้น

 

ภาพที่ 2 โถสุขภัณฑ์แบบนั่งราบ แท็งก์น้ำสูง เป็นที่นิยมในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 

มีกลไกดึงโซ่ ปล่อยน้ำจากที่สูงเพื่อให้เกิดแรงดันกระแทกน้ำเพื่อผลักสิ่งปฏิกูลลงสู่บ่อเกรอะ

 

 

 

ภาพที่ 3 ท่อน้ำทำจากเหล็กที่เป็นท่อน้ำดั้งเดิม

ปัจจุบันยังคงติดตั้งอยู่ตำแหน่งเดิมในห้องน้ำ 2 และชั้น  3 (ทั้งสองฝั่งซ้ายและขวา)

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ