ภาชนะยุโรปที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่มิวเซียมสยาม มีลวดลายหลากหลายที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือลวดลายจากการพิมพ์ลายซึ่งเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบันคือ ลาย Willow Blue เป็นลวดลายที่ได้อิทธิพลจากศิลปวัฒนธรรมจีน แต่ผลิตเพื่อตลาดชาวยุโรป ที่มาของลวดลายนี้ไม่ชัดเจนเพราะมีการกล่าวอ้างจากหลายแหล่ง ด้วยเพราะความนิยมของลวดลาย เกือบทุกโรงงานผลิตเซรามิกจะต้องมีภาชนะลาย Willow Blue นี้เป็นสินค้า
ลาย willow Blue เป็นลวดลายที่เล่าเรื่องถึงโศกนาฏกรรมความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง เรื่องเริ่มต้นจาก Tso Ling พ่อค้าผู้ร่ำรวย มีลูกสาวแสนสวยคนหนึ่งชื่อ Kwang-se (หรือ Koong-se) พ่อตั้งใจให้ลูกแต่งงานกับขุนนาง โดยไม่รู้ว่าลูกสาวได้แอบรัก Chang เสมียนหนุ่มรูปหล่อจิตใจดี ผู้เป็นลูกน้องของพ่อเอง ในคืนก่อนวันแต่งงานทั้งสองได้พากันหนีข้ามทะเลไปที่เกาะแห่งหนึ่งเพื่อสร้างครอบครัวใหม่ แต่พ่อก็ได้ตามไป และพยายามฆ่าคนทั้งสอง สุดท้ายเทพเจ้าได้เห็นใจแก่ความรักของทั้งสอง จึงเสกคู่รักให้กลายเป็นนก 2 ตัวเคียงคู่กัน เรื่องราวในส่วนตอนท้ายบ้างก็ว่าเป็นขุนนางที่ตามไปฆ่าผู้ชาย และผู้หญิงตรอมใจตาย แต่จบลงที่เทพเจ้าเสกให้เป็นนกเหมือนกัน
จากเรื่องราวนี้ปรากฏเป็นลาย Willow Blue บนภาชนะรูปแบบต่างๆ ที่มีรายละเอียดตามท้องเรื่อง เช่น ต้นหลิวแบบจีนซึ่งเป็นที่มาของชื่อลาย Willow (ส่วนคำว่า Blue คือสีครามของหมึกที่นิยมใช้ในช่วงแรก) ต้นสน อาคารทรงจีน รั้วไม้ไผ่ สะพานที่มีคน 3 คนบนสะพาน บางคนตีความว่าเป็น ลูกสาว เสมียน และขุนนาง ในภาพยังมีเรือและนกคู่หันหน้าเข้าหากันอีกด้วย หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมภาชนะที่มีลวดลาย Willow Blue จึงเป็นที่นิยม อาจเป็นเพราะลวดลายนี้มีเรื่องราว มีสัญลักษณ์ต่างๆ ชัดเจน และรายละเอียดที่แปลกแตกต่างไม่ซ้ำใคร ไม่เพียงแต่ในยุโรปเท่านั้น ผู้ผลิตเซรามิกจากหลายประเทศยังได้ใช้ลวดลายนี้และกระจายสินค้าไปทั่วโลก
ผู้ที่สนใจสามารถค้นคว้าข้อมูลวัตถุเพิ่มเติมในรูปแบบสามมิติได้ที่ collection360.museumsiam.org