ภาพปก : ภาพทำพิธีเผาศพชูชกในป่าช้า จิตรกรรมฝาผนัง สิมวัดยางทวงวราราม (วัดบ้านยาง) อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม แหล่งที่มาภาพ: https://bit.ly/3KYeCwA
ตอนที่ว่าด้วยสุสานป้อมบางกอก ได้กล่าวว่าวัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนฯ นั้น สร้างในบริเวณที่เคยเป็นสุสานฝังศพทหารที่อยู่ประจำป้อมบางกอกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อสร้างวัดแล้วสุสานหรือป่าช้าซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการจัดการกับผู้เสียชีวิตตามหลักศาสนาไม่ว่าจะฝังหรือเผา จึงมีการขยับป่าช้าไปอยู่ที่ใหม่ แต่จะอยู่ในพื้นที่ของป้อมหรืออยู่บริเวณไหนของเมืองบางกอก?
ตามประวัติวัดโพธิ์สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในบริเวณที่ชานป้อมบางกอกฝั่งตะวันออก หน้าวัดหันไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุถึงเขตวัดพระเชตุพนฯ ว่า หน้าวัดหันไปทางแม่น้ำซึ่งมีหลักฐานคืออุโบสถเก่าวัดโพธารามมีพระประธานหันหน้าลงสู่แม่น้ำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีการสร้างแนวกำแพงพระนครใหม่ วัดโพธารามอยู่ติดพระบรมมหาราชวังทำให้มีการเปลี่ยน
แปลงเขตวัดและเปลี่ยนด้านติดแม่น้ำเป็นหลังวัด ด้านทิศตะวันออกเป็นหน้าวัด...จากพระราชพงศาวดารนี้ไม่ได้ระบุถึงป่าช้าวัด
แต่ในหนังสือ จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ให้ข้อมูลสำคัญกับเรื่องนี้ โดยระบุถึงตำแหน่งของป่าช้าไว้ว่า “. . .เพราะเหตุนั้นวัดโพธารามตั้งอยู่หลังวัดลงแม่น้ำ หน้าวัดหันมาทางตะวันออก ป่าช้าอยู่ต่อหน้าวัดยื่นไปในดอน เป็นที่ยาวรีเหมือนวัดแจ้ง เมื่อเวลาก่อกำแพง จะก่อออกไปให้หมดเขตป่าช้า เมืองจะกว้างเกินกำลังไป จึงก่อกำแพงตัดเอาป่าช้าออกไปไว้นอกเมือง ทั้งวัดแจ้งวัดโพ วัดแจ้งเดี๋ยวนี้ ที่วัดยังคงยาวยื่นเข้าไปในสวนเปนอันมาก ซึ่งเรียกกันว่า ปรก แต่ข้างฝ่ายวัดโพนี้ กลายเปนบ้านเรือนคนไป เพราะเหตุที่ก่อกำแพงพระนครขึ้นใหม่ ขยายกว้างออกไป แนวคลอง
โอ่งอ่างไปออกบางลำภู กำแพงเดิมที่คั่นในระหว่างป่าช้ากับวัดนั้นรื้อเสีย จึงกลายเปนบ้านคนไป เมื่อเวลาประหารชีวิตรพระยาปังกลิมาที่กล่าวไว้ในพงศาวดารว่าประหารชีวิตรที่ป่าช้าวัดโพธาราม นอกกำแพงพระนครฝ่ายตะวันออกนั้น ยังเปนกำแพงเก่าอยู่ ที่ป่าช้าที่ประหารชีวิตรนั้นคือ ที่ห้างแซมสันเดี๋ยวนี้. . .”
ทีนี้เราก็รู้แล้วว่า ป่าช้าวัดโพธิ์ อยู่นอกกำแพงเมืองเก่าธนบุรี ด้านทิศตะวันออกของวัด บริเวณที่เป็นห้างแซมสัน... ปัญหาต่อมา ห้างแซมสัน อยู่ตรงไหน? ต้องไปตามหากันต่อ
ห้างแซมสันหรือ ยอนแซมสัน เป็นห้างที่ค้าขายผ้าฝรั่งและตัดชุดสูทสากลที่มีชื่อเสียง เป็นที่นิยมกันในราชสำนักและวงสังคมชั้นสูงของสยาม สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2449 (ร.ศ.124) ตั้งอยู่ริมถนนอัษฎางค์ เชิงสะพานอุบลรัตน์ ต่อมาห้างยอนแซมสัน ได้ย้ายไปอยู่บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ หัวถนนหลานหลวง (พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวปัจจุบัน)
ปัจจุบัน บริเวณริมถนนอัษฎางค์ เชิงสะพานอุบลรัตน์ ซึ่งในสมัยอยุธยาเคยเป็นป่าช้าของวัดโพธิ์นั้น กลายเป็นย่านที่อยู่อาศัยและย่านการค้าที่รุ่งเรื่องและทันสมัยตามบริบทการเจริญเติบโตของเมือง
ข้อมูลป่าช้าวัดโพธิ์ที่พบ ทำให้คลายความสงสัยเรื่องที่ตั้งของป่าช้าว่าอยู่ในพื้นที่บริเวณไหนของบางกอก ซึ่งไม่ใช่บริเวณที่เคยเป็นป้อมบางกอกตามที่เคยสงสัยกัน
ภาพที่ 1 แผนที่กรุงเทพแสดงที่ตั้งของวัดโพธิ์และพื้นที่เชิงสะพานอุบลรัตน์และถนนอัษฎางค์
ซึ่งเคยเป็นบริเวณของป้าช่าวัดโพธิ์ในสมัยอยุธยาถึงธนบุรี (วงกลมสีเหลือง)
แหล่งที่มาภาพ: หน่วยปฏิบัติการวิจัยแผนที่และเอกสารประวัติศาสตร์ฯ
https://www.silpa-mag.com/history/article_81053
ภาพที่ 2 ตึกซึ่งเคยเป็นห้างยอนแซมสันในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ริมถนนอัษฎางค์ เชิงสะพานอุบลรัตน์ ปัจจุบันยังคงเป็นตึกที่ให้เช่าทำธุรกิจค้าขายและที่อยู่อาศัย
แหล่งที่มาภาพ: ห้างยอนแซมสันแอนด์ซัน (Cr. ภาพจาก คุณ Jaturong Hirankarn)
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เฉพาะตอน พ.ศ. 2310-2363) พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี.2501
สมใจ โพธิ์เขียว. การศึกษาวิเคราะห์โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (วรรณคดีไทย) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2550.