ภาพปกโดย น.ส.ชาคริยา รุ่งรัตนกุล นักศึกษาฝึกงานปี 2567
เรื่องที่สอง เหตุการณ์เกิดที่ตึกมิวเซียมสยาม ในปี พ.ศ.2551 ปีแรกที่เปิดให้บริการความรู้สู่สาธารณะ มีการจัดแสดงนิทรรศการถาวร เรื่อง เรียงความประเทศไทย ประกอบด้วย 17 ห้อง แต่ละห้องมีบรรยากาศแสง สี เสียงแตกต่างกันออกไป ทุกเช้าก่อนมิวเซียมสยามเปิดให้บริการ ทีมแม่บ้านจะแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบทำความสะอาดห้องนิทรรศการ เมื่อทำความสะอาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องไล่ปิดประตูหน้าทุกบานเพื่อเตรียมจะเปิดเครื่องปรับอากาศ แม่บ้านที่ทำงานเสร็จแล้ว บางคนก็จะนั่งพักที่ห้องนิทรรศการบ้าง เก้าอี้ที่ระเบียงบ้าง ส่วนแม่บ้านที่ชั้นสามเลือกนั่งพักที่ห้องพุทธิปัญญา (ปัจจุบันคือ ห้องไทยรึเปล่า) เป็นห้องที่มีแสงน้อย ค่อนข้างเงียบ เย็นสบาย และมีเก้าอี้ทรงกลมขนาดใหญ่อยู่กลาง นั่งสบาย และเหมาะกับงีบพัก
ขณะที่แม่บ้านกำลังพักเพลินๆ รู้สึกได้ว่ามีคนเข้ามาในห้อง จึงแอบหรี่ตามอง เห็นเป็นผู้ชายสวมชุดราชปะแตนเดินอยู่ด้านข้างของห้อง ใช้มือตบผ้าม่านเบาๆ เสมือนตรวจสอบความสะอาด แม่บ้านนึกในใจว่าเจ้าหน้าที่มิวเซียมสยามคนนี้มาทำงานเช้าจัง เหตุที่คิดว่าเป็นเจ้าหน้าที่มิวเซียมสยามเพราะเสื้อเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ให้บริการความรู้ในช่วงนั้นมีรูปแบบคล้ายกับเสื้อราชปะแตน แม่บ้านจึงทักทายขึ้นว่า “คุณ วันนี้มาทำงานเช้าจังนะคะ” ชายในชุดราชปะแตนผู้นั้นไม่ได้ตอบคำถาม แต่เดินหายไปในบรรยากาศของห้องที่มืดสลัว ทำให้แม่บ้านมั่นใจว่าชายท่านนี้คงไม่ใช่คนแน่ จึงรีบวิ่งลงไปที่ชั้นหนึ่ง ถามกับเพื่อนๆ เพื่อความแน่ใจว่ามีเจ้าหน้าที่เข้ามาในตึกแล้วหรือไม่ คำตอบคือยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาในตึกเลย เรื่องชายในชุดราชปะแตนส่งผลให้แม่บ้านไม่กล้าขึ้นไปทำความสะอาด เพื่อแก้ปัญหาและคลายความหวาดกลัวจึงให้แม่บ้านรวมตัวช่วยกันทำความสะอาดที่ชั้น 3 เป็นชั้นแรกแล้วค่อยไล่ลงไปที่ชั้น 2 และ 1 หลังจากนั้นแม่บ้านก็ไม่พบเกิดเหตุการณ์นั้นอีก
เรื่องชายในชุดราชปะแตน แม้ว่าแม่บ้านจะไม่พบเจออีกแต่เจ้าหน้าที่ของมิวเซียมสยามบางคนเล่าว่าเคยเจออยู่หลายครั้ง เช่น ช่วงค่ำวันหนึ่งระหว่างที่เจ้าหน้าที่ของมิวเซียมสยามกำลังจัดเตรียมงานอยู่ที่สนามด้านหลังตึก มีความรู้สึกเหมือนถูกจ้องมองอยู่จึงเงยหน้าขึ้นไปมองดูที่หน้าต่างชั้นสองห้องสุดท้ายฝั่งถนนเศรษฐการ มองเห็นชายสวมเสื้อราชปะแตนยืนอยู่ที่ริมหน้าต่างและมองลงมาที่สนาม เจ้าหน้าที่คนนี้คิดว่าเป็นหุ่นสวมเสื้อราชปะแตนที่ใช้ในนิทรรศการมาตั้งไว้จึงเดินขึ้นไปดูที่ห้องนั้นแต่ก็ไม่พบทั้งคนและหุ่น
จากคำบอกเล่าของผู้ที่มีประสบการณ์จึงมีการสืบค้นต่อไปพบว่า การแต่งกายด้วยชุดราชปะแตน มีลักษณะเดียวกันกับเครื่องแบบของข้าราชการพลเรือนในสมัยรัชกาลที่ 5 - รัชกาลที่ 7 ลักษณะเสื้อจะเป็นเสื้อสูทสีขาว คอตั้งสูง กลัดกระดุม 5 เม็ด ใส่คู่กับโจงสีเข้ม สวมถุงเท้ายาวถึงน่องและรองเท้าหุ้มส้น เสื้อแบบนี้มีชื่อเรียก ราชแพทเทิร์น (Raja Pattern) แปลว่า เสื้อแบบหลวง เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) คิดชื่อถวายในหลวงรัชกาลที่ 5 โดยนำคำภาษามคธ คำว่า ราช สนธิกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษ คำว่า แพทเทิร์น (Pattern) ต่อมามีการออกเสียงเพี้ยนเป็น "ราชปะแตน" ตามเสียงอ่านแบบไทย
นอกจากนี้ยังมีการค้นพบภาพถ่ายเก่าเป็นภาพหมู่ของข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ที่ถ่ายในช่วงปีพ.ศ.2465-2468 บรรดาข้าราชการในภาพยังคงสวมใส่เสื้อราชปะแตนและนุ่งโจงสีเข้ม สำหรับชายในชุดราชปะแตน ท่านอาจเป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ในช่วงก่อตั้งกระทรวงก็เป็นได้
โปรดติดตามตอนต่อไปของ Ghost Story เล่าเรื่องผีในมิวเซียมสยาม