2 ปีที่ยาวนานแต่เหมือนผ่านมาแค่ชั่วข้ามคืน ตั้งแต่ไวรัสโคโรนาเริ่มต้นแผลงฤทธิ์ในตลาดเมืองอู่ฮั่น ใครจะคาดคิดว่าจนวันนี้คนทั่วโลกต้องกักตัวอยู่ในรั้วบ้าน บ้านกลายเป็นโลกทั้งใบตั้งแต่ลืมตาตื่นจนถึงเวลาเข้านอน บางคนค้นพบกับจังหวะใหม่ๆ ขณะที่อีกหลายคนกดพอสชีวิตไว้โดยลืมว่าเวลายังคงเดิน ในห้วงที่มวลอารมณ์วิ่งวุ่นวนชนฝาบ้าน Muse Latitude จึงอยากชวนคุณสำรวจมิติที่หลากหลายภายในรั้วบ้านเดิม ที่ชีวิตและประสบการณ์ขับเคลื่อนไปพร้อมกับความหมายใหม่ของคำว่าบ้าน
“Green Generation” เผ่าพันธุ์ขยันปลูก
ครั้งหนึ่งการจัดสวนถือเป็นความศิวิไลซ์ที่คงไว้ซึ่งสุนทรียะของผู้มีอันจะกิน อุทยานในพระราชวังของจีน สวนลอยแห่งบาบิโลน สวนในพระราชวังแวร์ซายส์ ล้วนมีไว้เพื่อความรื่นรมย์และแสดงฐานะทางสังคม ย้อนกลับไปสมัยที่มนุษย์เริ่มลงหลักปักฐานจัดแจงอาณาเขต ปลูกพืชพรรณเกษตรเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิต จะเห็นว่ามนุษย์กับพื้นที่สีเขียวผูกพันกันอย่างยาวนานในแง่ใดแง่หนึ่งตลอดมา แต่เมื่อระบบอุตสาหกรรมเข้ามา ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและเรือกสวนไร่นาก็ห่างออกไปเรื่อยๆ แต่ดูเหมือนวิกฤตไวรัสโคโรนากลับกลายเป็นแรงผลักครั้งใหญ่ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกหันมาทวงคืนพื้นที่สีเขียวในบ้านตัวเองอีกครั้ง
กล้วยแดงอินโดในไทยราคาพุ่งทะยานหลักล้าน บอนกระดาษด่าง หน้ากากฟาโรห์ มอนสเตอร่าอัลโบ้ ฯลฯ เปลี่ยนชีวิตคนตกงานและเจ้าของสวนไม้ใบให้มีกินมีใช้ชั่วข้ามคืน
หลังปรากฏการณ์ผักผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ตถูกกวาดเรียบในช่วงล็อกดาวน์ ความมั่นคงทางอาหารเริ่มสั่นคลอน อเมริกันชนจำนวนไม่น้อยจึงหันมาปลูกผลไม้ ดอกไม้ สมุนไพรกินได้ และปลูกผักสวนครัวง่ายๆ หวังพึ่งพาตัวเอง และเมื่อขลุกอยู่แต่ในบ้านเพราะความจำเป็น หลายคนโหยหาชีวิตกลางแจ้งด้วยการชุบชีวิตพื้นที่ร้างไม่กี่ตารางเมตรข้างบ้านให้กลายเป็นสวนขนาดย่อม เป็นวัตถุดิบทำอาหาร สถานที่พักผ่อน เป็นพื้นที่สันทนาเพื่อเติมเต็มความสัมพันธ์ในครอบครัว
สวนเขียวเยียวยาใจ
“ท่ามกลางสถานการณ์ที่กดเราให้เคว้งและกังวลใจ ช่วงเวลาในสวนอาจทำให้จิตใจมีที่ยึดเหนี่ยวและมั่นคงมากขึ้น” โจเอล แฟลกเลอร์ (Joel Flagler) ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาแห่ง Rutgers University อเมริกา บอกกับ Agweek Magazine ไว้ หากเรากำลังหมดไฟ เครียด และเฉื่อยชา เพราะฝังตัวในโลกออนไลน์และนั่งหน้าคอมพ์ตลอดวันในช่วง Work From Home ปลายนิ้วเคาะแป้นพิมพ์สลับกับฉีดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ การลองเปลี่ยนฟีลเอานิ้วจิ้มดินให้เลอะเทอะดูบ้าง อาจช่วยให้ผ่อนคลายและกระตุ้นความสร้างสรรค์
มีงานวิจัยเปรียบเทียบระหว่างการทำสวนกับการอ่านหนังสือในอัมสเตอร์ดัม พบว่าทั้งคู่สามารถลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่เกี่ยวกับระดับความเครียดลงได้ แต่การทำสวนลดระดับความเครียดได้มากกว่าการอ่านหนังสือ ซึ่งคล้ายคลึงกับงานวิจัยที่อังกฤษเผยว่าการทำสวนนอกจากลดความเครียดได้มากกว่าการออกกำลังกายแล้ว การได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ได้ดูแลต้นกล้าและคอยลุ้นให้มันเติบโตยังช่วยกระตุ้นความหวัง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ช่วยลดความเครียด
ไม่เฉพาะบ้านที่มีพื้นที่ คอนโดหรือห้องไซส์เล็กก็ทำสวนจิ๋วแล้วรอรับผลผลิตเป็นรางวัลได้ การปลูกผักในกระถางต้นไม้ขนาดเล็กที่มุมบ้านหรือปลูกผักแนวตั้งก็ดูแลรักษาง่ายสบายตา ไม่ว่าจะข้างบ้าน ดาดฟ้า ระเบียงก็เปลี่ยนเป็นสวนได้ เพียงหยอดความสร้างสรรค์และความพยายามลงไปหน่อย แปลงผักน้อยๆ ก็พร้อมจะงอกงาม
โอกาสทองของสายเขียว
แม้วิกฤตเศรษฐกิจจะกระชากหลายธุรกิจให้ล้มหาย แต่บริษัทผู้ผลิตสินค้าเกษตรทั่วโลกยืนยันว่ายิ่งล็อกดาวน์นานเท่าไหร่ ยอดขายเมล็ดพันธุ์และอุปกรณ์ทำสวนยิ่งพุ่งทะยาน บริษัทขายเมล็ดพันธุ์ในรัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องประกาศปิดทำการเว็บไซต์หลังยอดสั่งซื้อสูงเป็นประวัติการณ์จนทีมหลังบ้านแพ็กไม่ทัน ซึ่งสูงกว่ายอดขายที่เคยได้ถึง 6 เท่า!!
ในปี ค.ศ. 2020 นักออกแบบภูมิทัศน์ต่างได้รับโจทย์คิดพัฒนาพื้นที่นอกอาคาร เช่น สระว่ายน้ำ ห้องครัวกลางแจ้ง พื้นที่ออกกำลังกายให้เชื่อมโยงกับสวนผัก ผลไม้ ดอกไม้ และทำหลักสูตรออนไลน์ Farm in Four Weeks เพื่อสนองตอบลูกค้ารายใหม่ในวันที่คู่แข่งมากขึ้นทุกที เช่นเดียวกับธุรกิจสีเขียวต่างๆ ไม่ว่าจะร้านขายต้นไม้ ขายปุ๋ยไส้เดือน ขายดิน หรืออุปกรณ์ทำปุ๋ย ลากยาวไปถึงวัตถุดิบโฮมเมดส่งตรงจากสวนที่ปลูกเอง ทำเอง ปลอดสารพิษก็ฮอตฮิตในช่วงนี้และกระแสคงไม่ตกไปง่ายๆ นับเป็นโอกาสทองของธุรกิจสายเขียว เมื่อโอกาสมาขึ้นอยู่กับว่าใครจะปรับตัวได้รวดเร็วกว่ากัน
อ้างอิง
http://www.thaicityfarm.com/2020/05/13/วิจัยพบ-ปลูกผัก-ทำสวน-ช่/
https://www.masterclass.com/articles/how-to-start-a-backyard-garden#quiz-0
https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2021/mar/31/gardening-trend-pandemic-here-to-stay
ที่มารูป
รูป Green 1 : https://www.usatoday.com/story/money/2020/04/14/coronavirus-gardening-hobby-and-self-sustainability-create-interest/2923047001/
รูป Green 2 : https://www.firstforwomen.com/posts/home/gardening-for-beginners
รูป Green 3 : SANJERI/GETTY IMAGES
รูป Green 4 : https://krishijagran.com/agripedia/home-gardening-for-beginners/
ยืดได้หดได้ สไตล์บ้านเล็ก
“อยู่บ้านมากขึ้น ใครก็ต้องอยากได้พื้นที่บ้านมากขึ้น” ตรรกะทั่วไปที่หลายคนคาดว่าน่าจะเป็น แต่จากผลสำรวจชาวอเมริกันเกินครึ่งกำลังหันหลังให้บ้านหลังใหญ่ เพื่อมองหาความสุขมินิไซส์ในบ้านจิ๋วหรือในรถบ้านที่ดูแลง่าย ตอบสนองไลฟ์สไตล์ และไม่เป็นภาระจนเกินควร
วิกฤตไวรัสโคโรนาทำให้ผู้คนทั่วโลกพบปัญหาเศรษฐกิจ ว่างงาน กิจการปิดตัว หลังเกิดปรากฏการณ์ ชาวอเมริกันวัยทำงานกลับไปพึ่งพิงบ้านพ่อแม่ชั่วคราวเพื่อเซฟค่าใช้จ่าย หลายคนคิดถึงการลดไซส์บ้านให้เล็กลงเพื่อให้สอดคล้องกับรายรับ เทรนด์การซื้อหรือเช่าบ้านหลังจิ๋วจึงมาแรงสุดๆ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาบ้านหลังแรก หรือแม้แต่คนใกล้เกษียณ บ้านหลังเล็กท่ามกลางความสงบสบายก็เป็นตัวเลือกที่แพร่หลายในอเมริกา
บริษัทรับสร้างบ้านที่ชูเรื่องความมิตรกับสิ่งแวดล้อมในรัฐแคลิฟอร์เนียใต้มียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% จากการว่าจ้างให้สร้างบ้านหลังเล็ก นอกจากใช้อยู่อาศัยจริงจัง ลูกค้าบางคนใช้บ้านจิ๋วเป็นทำโฮมออฟฟิศ ห้องพักผ่อน หรือแม้แต่ห้องรับรองแขกแยกออกมาจากตัวบ้าน ข้อได้เปรียบคือลงทุนน้อย ไม่ต้องทำโครงต่อเติมให้บานปลาย ราคาไม่แพง ฟังก์ชันครบ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเรียบง่าย คือ 4 เหตุผลดึงดูดใจให้คนยุคนี้อยากได้บ้านไซส์กะทัดรัด นอกจากสร้างอยู่เอง นักลงทุนเริ่มสร้างเพื่อปล่อยเช่ารายเดือนหรือระยะสั้นแบบ Airbnb เพื่อตอบรับบรรดานักท่องเที่ยวที่หนีมากักตัว รถบ้านขับเคลื่อน 4 ล้อก็ได้รับความนิยมสูงขึ้น เพราะสามารถเปลี่ยนฟีลลิ่งของการติดอยู่ในบ้าน นำพาบ้านทั้งหลังไปอยู่ริมทะเลสาบ ชมพระอาทิตย์ตกในช่วงเย็น
แม้คุณสมบัติสอดรับกับสถานการณ์ในช่วงนี้ก็ใช่ว่าบ้านหลังเล็กจะไร้จุดอ่อน นักการตลาดออนไลน์วัย 28 ปีที่อาศัยอยู่บนรถบ้านเปิดใจถึงความยากลำบากในช่วงล็อกดาวน์ว่า เธอไม่สามารถกักตุนอาหาร กระดาษชำระ หรือสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ไว้ในบ้าน โรงยิมปิดทำให้เธอไม่มีที่อาบน้ำ ไม่อาจชาร์ตไฟจากสวนสาธารณะหรือที่ตั้งแคมป์ได้ สุดท้ายต้องไปขอจอดรถใกล้บ้านพ่อแม่เพื่อยืมใช้ห้องน้ำ แต่มนุษย์รถบ้านอีกหลายคนก็ไม่ยอมแพ้เพราะเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ เมื่อไม่มีไฟฟ้าใช้ พวกเขาก็เปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เลือกของใช้ซ้ำหมุนเวียนได้ นอกจากช่วยสิ่งแวดล้อมแล้วยังแก้ปัญหาเรื่องการกักตุนของในเนื้อที่จำกัด แม้ปัญหาจะมากมายแต่ไม่อาจหยุดยั้งกระแสความต้องการบ้านหลังเล็กที่ทยอยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะในช่วงโรคระบาดผู้คนเริ่มมีเวลาตั้งหลักและค้นหาว่าอะไรสำคัญในชีวิต และอะไรคือสิ่งที่ไม่จำเป็น
อ้างอิง
https://www.businessinsider.com/survey-reveals-why-tiny-homes-have-become-so-popular-2020-12
https://www.nytimes.com/2021/02/12/realestate/tiny-house-pandemic.html
http://realestate.boston.com/buying/2021/03/24/despite-pandemic-tiny-homes-more-popular/
ที่มารูป
รูป Small House 1 : https://www.businessinsider.com/survey-reveals-why-tiny-homes-have-become-so-popular-2020-12
รูป Small House 2 : https://www.instagram.com/denforourcubs/
รูป Small House 3 : https://www.instagram.com/tinymissdollyonwheels/
รูป Small House 4 : Keri Gailloux
Chef next door มื้ออร่อยที่บ้านเชฟ
ประสบการณ์ “กินข้าวที่บ้านเชฟ” กำลังได้รับความนิยมทั่วเอเชีย แม้คิวยาวเหยียดข้ามเดือน แต่ดูเหมือนยิ่งทำให้อาหารอร่อยและหลายคนรอคอย นึกถึงบรรยากาศผ่อนคลายในมื้ออาหาร ความใส่ใจที่จัดเสิร์ฟมาเพื่อคุณเพียงโต๊ะเดียว กลายเป็นเสน่ห์ให้เชฟมืออาชีพและผู้ที่หลงใหลการทำอาหารเปิดบ้านแบ่งปันความอร่อยภายใต้แนวคิด Private Dinner
กว่าสองปีที่ผ่านมา เราได้เห็นร้านอาหารสไตล์นี้เพิ่มขึ้นทั้งในสิงคโปร์และกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งต้องยกความดีความชอบให้สารคดี Netflix และรายการแข่งขันทำอาหารยอดฮิตที่ทำให้เกิดกระแสความนิยม เมื่อความเฟรนด์ลี่บวกเสน่ห์ปลายจวัก ช่วงวิกฤตโควิดเราจึงได้เห็นวงการอาหารครึกครื้นอีกครั้ง แม้ว่าร้านอาหารชื่อดังในกรุงเทพฯ ปิดตัว แต่กลับเปิดโอกาสให้เชฟว่างงานมากประสบการณ์มีเวลาปลุกปั้นธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง เพียงเปลี่ยนครัวและห้องนั่งเล่นในบ้านให้กลายเป็นร้านอาหารส่วนตัว แม้วิธีเสิร์ฟอาหารโต๊ะเดียวในบ้านไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การระบาดครั้งใหญ่ทำให้แนวทางนี้ต่างไปจากเดิม ในอดีตดินเนอร์แบบ Chef’s table มักเป็นอาหารหรูที่ปรุงด้วยวัตถุดิบหายากและเสิร์ฟพร้อมไวน์ชั้นดี พอเช็กบิลมาเป็นราคาที่คนธรรมดาแทบเอื้อมไม่ถึง แต่ในตอนนี้นอกจากราคาอาหารสมเหตุสมผล เชฟยังเลือกใช้วัตถุดิบดีเข้าถึงง่าย แถมยังคงคุณภาพและความตั้งใจสร้างสรรค์เมนูสดใหม่ไม่ต่างจากเดิม
อารมณ์ควัน (Aromkwan) ร้านปิ้งย่างที่เสิร์ฟโต๊ะเดียวในชั้นล่างบ้านย่านพร้อมพงษ์ มักสร้างประสบการณ์และความทรงจำให้กับลูกค้าที่ไม่อาจทำได้ในร้านแบบดั้งเดิม บางครั้งเชฟจะควักกีตาร์ออกมาเล่นดนตรีสดให้แขกฟังหลังของหวาน
ในมุมมองของลูกค้าจะมีอะไรตื่นเต้นไปกว่าได้ลิ้มรสฝีมือเชฟคนโปรดพร้อมฟังความหลงใหลส่วนตัวของเชฟที่มากกว่าโลกหลังครัว ไม่ว่าจะงานศิลปะ เล่นดนตรี ถ่ายรูป หรือท่องเที่ยว
Keow’s Table ร้านอาหารที่เชฟและครอบครัวเปิดบ้านเพื่อให้บริการในสไตล์กินข้าวที่บ้านเพื่อน ทุกครั้งที่ลูกค้าเข้ามา คุณแม่จะคอยต้อนรับพาไปห้องนั่งเล่น คุณพ่อกับลูกก็ปรุงอาหารเตรียมเสิร์ฟอยู่ในครัว อาหารมีทั้งเมนูที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ เมนูประจำบ้าน และเมนูพิเศษที่ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นอาม่า
Chef Next Door BKK ที่ 2 เชฟรุ่นใหม่เปิดร้านอาหารไทยในบ้านกับการเสิร์ฟเป็นคอร์ส เมนูจะเปลี่ยนไปตามฤดูกาล นอกจากอาหาร ที่นี่ยังเด่นเรื่องเมนูค็อกเทลจิบอร่อยระหว่างมื้อด้วย
Lucky House Cantonese Private Kitchen ร้านของเชฟพื้นบ้านสไตล์กวางตุ้งสุดฮอตในสิงคโปร์ ความพิถีพิถันถูกงัดขึ้นมายั่วน้ำลาย ตั้งแต่ซุปที่เคี่ยวบนเตาถ่านนานกว่า 10 ชั่วโมง อัลมอนด์บดด้วยโม่หินโบราณ เป็ดย่างละลายในปากที่หมักทิ้งไว้ 2 คืน ผักออร์แกนิกที่จัดเสิร์ฟนั้นปลูกไว้ที่สวนหลังบ้านของเชฟ เหล่านี้ชวนให้ท้องกิ่วถ้าไม่ติดที่ต้องเข้าคิวยาวข้ามปี
การเสิร์ฟโต๊ะเดียวทำให้เชฟควบคุมต้นทุนได้ดีและดูแลจัดการได้ง่ายกว่าอีกด้วย เชฟบางคนไม่ได้อยากอุดอู้อยู่แต่ในครัว ตรงกันข้ามการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าแบบใกล้ชิดยิ่งเพิ่มความพิเศษให้กับร้าน ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเปิดร้านอาหารเต็มรูปแบบหรือเป็นช่วงฝึกซ้อมระหว่างรอโควิดจากไป การกินข้าวที่บ้านเชฟต่างเพิ่มประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับทั้งคนกินและตัวเชฟเอง สิ่งที่ดีที่สุดในมื้อคือการได้แบ่งปันแพสชั่นเรื่องอาหารและวัตถุดิบคุณภาพในบรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง เชฟกลายมาเป็นเพื่อนกับลูกค้า และลูกค้าหลายคนก็กลับกลายมาเป็นเพื่อนกันเอง นี่แหละเอกลักษณ์เฉพาะตัวของการกินข้าวที่บ้านเชฟ
อ้างอิง
https://thestandard.co/chef-next-door-bkk/
Youtube : Sauce Channel “Keow’s Table” เชฟเทเบิ้ล พ่อแม่ลูก คิวยาวถึงกลางปีหน้า!!!www.cntraveler.com/story/bangkoks-hottest-tables-have-moved-inside-chefs-homes
www.asiaone.com/lifestyle/chef-next-door-best-private-home-dining-and-drinking-experiences-singapore
ที่มารูป
รูป Chef1 : https://web.facebook.com/ChefNextDoorBKK
รูป Chef2 : https://web.facebook.com/aromkwan
รูป Chef3 : https://aparthoteloportoanselmo.com/private-chef/Hea
รูป Chef4 : https://www.instagram.com/luckyhouse_privatekitchen/
Healing at Home พื้นที่สุขใจในบ้านหลังเดิม
นอกจากพื้นที่ดูแลสุขภาพกาย พื้นที่ดูแลใจก็สำคัญไม่แพ้กัน มุมเล็กๆ ที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยและกระตุ้นความคิดแง่บวก แค่นั้นก็เพียงพอที่จะฝึกปรับความรู้สึก อารมณ์ และจิตใจ แต่รู้ไหมว่านอกจากความสงบ บรรยากาศรอบตัวล้วนช่วยให้การเยียวยาตัวเองทำง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เริ่มต้นจากการมองหาพื้นที่ ควรมีอุณหภูมิที่พอดี ไม่เย็นหรือร้อนเกินไป พื้นที่ระเบียงหรือพื้นที่สงบริมหน้าต่าง พลังงานของธรรมชาติจะช่วยเชื่อมโยงสมาธิได้ดียิ่งขึ้น ควรหาตำแหน่งไกลเครื่องใช้ไฟฟ้าและไร้เสียงจราจรรบกวน ที่สำคัญควรเลี่ยงพื้นที่ที่ใช้ทำงาน เพราะอาจเผลอนึกถึงหน้าที่ที่คั่งค้างอยู่เสมอ
หลังได้พื้นที่ที่เหมาะ ลองวางแผนวิธีดูแลตัวเองที่สนใจ เช่น อ่านหนังสือ ฝึกโยคะ จดไดอารี่ วาดรูป หากสนใจการทำสมาธิ ลองเพิ่มเบาะนั่งเพื่อย้ำเตือนว่าบริเวณนี้คือพื้นที่สมาธิของคุณ อาจเพิ่มรูปภาพของคนในครอบครัวที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ และหนังสือเล่มโปรด แต่ไม่จำเป็นว่าต้องจำกัดพื้นที่ให้มีแค่ฟังก์ชันเดียว ใกล้ๆ กันอาจมีโซฟานั่งสบาย เสื่อโยคะ สมุดปริศนาอักษรไขว้ ลูกกลิ้งนวด ผ้าห่มถ่วงน้ำหนัก เทียนหอม ต้นไม้ในกระถาง เป็นสิ่งที่ช่วยให้คุณผ่อนคลายจัดวางไว้ในบริเวณเดียวกัน
เวลาเราเห็นสีฟ้าอ่อนๆ ฟ้าอมเขียว หรือสีมินต์ มักชวนนึกถึงความผ่อนคลายใต้ฟ้ากว้าง ธรรมชาติ และทะเลสุดลูกหูลูกตา แต่ถ้าอยากรีเฟรชตัวเอง สีโทนแดง ส้ม เหลืองก็เพิ่มพลังงานให้กับวันที่เหนื่อยล้าได้ สีนั้นมีอิทธิพลต่อความรู้สึกและอารมณ์ของเรา ถ้าไม่อาจเปลี่ยนสีห้องได้ ลองหาของชิ้นเล็กๆ ที่มีสีโทนใกล้เคียงมาวางตกแต่งเพื่อช่วยให้จิตใจเบาสบายลง
การใช้แสง แน่นอนว่าแสงธรรมชาติดีที่สุด แต่หากมีข้อจำกัด แนะนำให้ติดหลอดไฟหรือโคมตามมุมต่างๆ ซึ่งจะช่วยกระจายแสงและทำให้พื้นที่อบอุ่นมากกว่าใช้ไฟกลางดวงเดียว สีวอร์มไวท์ช่วยให้เรามีสมาธิมากกว่าแสงสีขาวจ้า สวิตช์ปรับระดับแสงไฟก็มีประโยชน์ในกิจกรรมและเวลาที่ต่างกัน แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่ทุกสิ่งรอบตัวล้วนส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด จานชามที่กองอยู่ในซิงก์ หน้าจอคอมพ์เต็มไปด้วยรูปภาพและไฟล์งานเก่า ห้องนอนที่วางของระเกะระกะ ความยุ่งเหยิงเหล่านี้สะท้อนกลับไปมาทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล และไร้การโฟกัส
การเปลี่ยนแปลงที่ง่ายที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงจากตัวเอง พื้นที่ฮีลลิ่งทำให้เรามีส่วนร่วมในการดูแลตัวเองตามกระบวนการธรรมชาติและสร้างพลังงานบางอย่างให้กับเราได้อย่างน่าประหลาด นอกจากสร้างพื้นที่ดูแลจิตใจแล้ว การรับประทานอาหารปลอดสาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รู้วิธีจัดการความเครียด และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็ช่วยปรับสมดุลชีวิตได้ในวันที่ไม่มีอะไรลื่นไหลอย่างที่เราคิด
อ้างอิง
https://www.psychologytoday.com/us/blog/how-healing-works/202005/5-ways-make-your-home-healing-space
https://www.apartmenttherapy.com/homemade/2021-healthy-home-issue
https://www.apartmenttherapy.com/tennessee-therapist-created-a-joyful-house-with-pink-doors-and-a-rainbow-mural-36946638
https://www.apartmenttherapy.com/ways-to-feel-healthier-at-home-36935413
ที่มารูป
รูป Healthy Home 1 : https://homemydesign.com/wp-content/uploads/2019/10/amazing-indoor-hammock-ideas-for-your-relaxing.jpg
รูป Healthy Home 2 : https://www.thespruce.com/meditation-spaces-that-inspire-4177495
รูป Healthy Home 3 : https://www.badyogi.com/blog/home-yoga-space