Muse Around The World
เสพศิลป์ในกรุสมบัติ: สำรวจโลกเร้น(ไม่)ลับในการอนุรักษ์ศิลปวัตถุที่เดโปต์ บอยมันส์แวนบอยนิเงิน
Muse Around The World
09 พ.ย. 66 2K
รอตเตอร์ดัม, ประเทศเนเธอร์แลนด์

ผู้เขียน : ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

IN FOCUS

  • Depot (เดโปต์) หรือ Depot Boijmans van Beuningen (DBVB) คลังงานสะสมของพิพิธภัณฑ์บอยมันส์แวนบอยนิเงิน แลนด์มาร์กศิลปะในรอตเตอร์ดัม เมืองท่าสำคัญของเนเธอร์แลนด์ คลังแห่งนี้ดูแลผลงานศิลปกรรมกว่า 150,000 ชิ้น ในระหว่างที่พิพิธภัณฑ์ปรับปรุงและเตรียมเปิดให้บริการอีกครั้ง ค.ศ.2028
  • ด้วยวัตถุประสงค์ในการให้ผู้สนใจเข้าชมการทำงานเบื้องหลังของพิพิธภัณฑ์ศิลป์ “ความโปร่งใส” (transparency) คือแนวคิดในการออกแบบคลัง ผู้ชมจึงสามารถชมความงามของงานสะสมจากส่วนจัดแสดงในโถงกลาง การมองผ่านผนังกระจกห้องคลังแต่ละห้อง และการเข้าไปเยือนในห้องคลัง พร้อมมัคคุเทศก์และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
  • ผู้ชมสามารถสังเกตการทำงานของนักวิทยาศาสตร์อนุรักษ์ นับเป็นเบื้องหลังการทำงานพิพิธภัณฑ์ที่ผู้ชมมักไม่มีโอกาสได้ชมมากนัก เช่น การจัดการเคลื่อนย้ายวัตถุ การซ่อมแซมชิ้นงาน และการเข้ากรอบภาพประเภทภาพถ่าย
  • การนำชมมีบทบาทสำคัญในการสร้างบทสนทนาระหว่างพิพิธภัณฑ์กับผู้ชม สู่ความเข้าใจงานสะสม การอนุรักษ์ และความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ แอปพลิเคชันเชื่อมโยงข้อมูลผลงานศิลปกรรม โดยผู้ชมสามารถ “จัดเก็บ” เป็นคอลเลคชันส่วนตัว เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติม

IN CONTENT

  • เผชิญปัญหา
  • ความโดดเด่นและการใช้พื้นที่
  • การออกแบบประสบการณ์
  • แหล่งข้อมูล
  • Photo Credits

พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้เกิดขึ้นจากการบริจาคงานสะสมของฟรานซ์ บอยมันส์ (Frans Boijmans) ทนายความและนักสะสมที่มีชีวิต ค.ศ. 1767-1847 ให้กับเทศบาลนครรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ นำมาสู่การจัดตั้ง Museum Boijmans (พิพิธภัณฑ์บอยมันส์) เมื่อ ค.ศ. 1849 ต่อมาพิพิธภัณฑ์ได้รับบริจาคงานสะสมของเดเนียล จอร์จ แวนบอยนิเงิน (Daniël George van Beuningen) เจ้าของกิจการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ ภายหลังการเสียชีวิตของเขาเมื่อ ค.ศ. 1958 จึงเปลี่ยนชื่อ Museum Boijmans Van Beuningen (พิพิธภัณฑ์บอยมันส์แวบอยนิเงิน) เพื่อเป็นเกียรติให้กับทั้งสอง

ภาพ 1 อาคารพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นทดแทนอาคารหลังเดิม (1935) และการต่อเติมอาคาร (1972), ©  Museum Boilmans van Beuningen
(ภาพจาก https://storage.boijmans.nl/styles/widget_full_image/uploads/2019/01/10/kMlRL8PziTVq3mH9O76ULIfVyPE8nx0zmFvpAoyb.jpeg)

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ครอบครองผลงานศิลปกรรมกว่า 150,000 ชิ้น ผลงานศิลปกรรมที่มีอายุย้อนไปถึงยุคกลางของยุโรป หลายชิ้นเป็นของศิลปินที่มีชื่อเสียงของโลกเช่นแรมแบรนต์ (1606–1669) ศิลปินเชื้อสายดัชต์ผู้สร้างสรรค์จิตรกรรมที่มีเนื้อหาหลากหลาย เช่น เนื้อหาจากพระคัมภีร์ ทิวทัศน์ และภาพบุคคล รวมถึงผลงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 21 เช่น แวนโก๊ะ (1853-1890) ศิลปินเชื้อสายดัชต์ที่สร้างผลงานกว่า 2,100 ชิ้น อองรี มาติส (1869-1954) ศิลปินเชื้อสายฝรั่งเศสที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติศิลปะ และลุก ทอยมันส์ (1958 - ปัจจุบัน) ศิลปินเชื้อสายเบลเยี่ยมที่ตั้งคำถามกับด้านมืดของประวัติศาสตร์ เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาณานิคม เป็นต้น

เผชิญปัญหา

ในระยะเริ่มแรก พิพิธภัณฑ์ไม่มีระบบจัดการคลังอย่างมีประสิทธิภาพในสกีแลนด์เฮ้าส์ (Schielandshuis) ซึ่งเป็นอาคารหลังเดิม และเกิดอัคคีภัยครั้งใหญ่ ค.ศ. 1864 ในครั้งนั้น ผลงานศิลปกรรมเกิดความสูญเสียถึงสองในสามของผลงานทั้งหมด ต่อมา ค.ศ. 1935 พิพิธภัณฑ์ย้ายสู่งอาคารหลังใหม่ในบริเวณมิวเซียมปาร์ก (Museumpark) และตั้งอยู่ใกล้กับสถาบันทางวัฒนธรรมอีกหลายแห่ง เช่นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

ภาพ 2 อาคารเดโปต์ที่มีผนังเป็นแผนกระจกสะท้อนเงาบริเวณมิวเซียมพาร์กโดยรอบ © WhichMuseum
(ภาพจาก https://image.wmsm.co/618544e543506/depot-boijmans-van-beuningen-rotterdam.jpg?quality=80&width=500&height=312&aspect_ratio=500%3A312)

ในอาคารหลังใหม่ มีการออกแบบคลังจัดเก็บงานในส่วนชั้นล่างสุดของอาคาร ซึ่งมีพื้นที่สำหรับจัดเก็บผลงาน 60 ตารางเมตร จากนั้น มีการต่อขยายคลังเพื่อรองรับกับผลงานศิลปะจำนวนมาก เมื่อค.ศ.1972 อย่างไรก็ดี คลังตั้งอยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำทะเลถึง 6 เมตร นี่เป็นสาเหตุให้พิพิธภัณฑ์เผชิญกับภัยจากน้ำท่วม และพิพิธภัณฑ์ต้องการพื้นที่คลังเพิ่มขึ้นถึง 4,500 เมตร หรือประมาณ 75 เท่า! ของพื้นที่คลังที่ออกแบบไว้เมื่อ 80 ปีก่อน จึงนำมาสู่โครงการจัดสร้างคลังแห่งใหม่

ด้วยความพยายามในการแก้ปัญหาที่รวดเร็วและมูลค่าการลงทุนที่ไม่สูงมากนัก การสร้างอาคารในย่านชานเมืองที่ไกลจากพิพิธภัณฑ์จึงเป็นทางออก แม้จะมีการออกแบบอาคารแล้วเมื่อ ค.ศ. 2010 แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสภาเทศบาลเมือง โครงการดังกล่าวยกเลิกไป ต่อมาศาสตราจารย์ชาเรล เอ็กซ์ (Prof. Sjarel Ex) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์มีแนวคิดในการคงคลังงานสะสมไว้ใจกลางเมือง เพื่ออำนวยประโยชน์ในการทำงาน สาธารณชนควรเห็นความสำคัญของงานสะสมที่เป็นของคนรอตเตอร์ดัมทุกคน และการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการคลังและงานอนุรักษ์ในการรักษามรดกวัฒนธรรม จึงนำมาสู่การสร้าง “เดโปต์” (Depot) ที่ตั้งอยู่ใกล้อาคารหลักของพิพิธภัณฑ์ในมิวเซียมปาร์ก โดยเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 2021

ภาพ 3 การจัดเก็บจิตรกรรมบนแผงตะแกรงเลื่อนสำหรับการทำงานและการให้ความรู้กับสาธารณชน © Ossip van Duivenbode
(ภาพจาก https://d1tm14lrsghf7q.cloudfront.net/public/media/64066/conversions/00TITLE_MVRDV_Depot_Boijmans_Beuningen_Ossip1-cover.jpg)

ความโดดเด่นและการใช้พื้นที่

ด้วยแนวคิดในการสร้างอาคารที่สร้างความตื่นตาตื่นใจและความโปร่งใสในการบริหารจัดการ เดโปต์ได้รับการออกแบบให้มีรูปทรงคล้ายชามหรือกระถางดอกไม้ที่มีฐานสอบเข้าและปลายบานออก โดยมีความสูงถึง 36 เมตรหรือเทียบเท่าอาคาร 7 ชั้น นอกจากนี้ ใช้วัสดุที่เป็นแผ่นสะท้อนเงาติดตั้งเป็นผนังรอบอาคาร รูปแบบสถาปัตยกรรมดังกล่าวสร้างความโดดเด่นให้กับอาคาร แต่ไม่ “ข่ม” อาคารโดยรอบ ด้วยเงาสะท้อนสภาพแวดล้อมบนผนังอาคาร

ภายในอาคาร ประกอบด้วยชั้นพื้นดินอันเป็นทางเข้าอาคารและพื้นที่สำหรับเตรียมการเคลื่อนย้ายวัตถุ และพื้นที่กักกันวัตถุแรกเข้า มีการควบคุมบรรยากาศภายในคลังตามแต่ละประเภทวัตถุใน 5 ลักษณะ โถงกลาง (atrium) ปรากฏบันไดเชื่อมทุกชั้นของอาคารให้พาดซ้อนกันไปมาเหมือนลอยอยู่ในอากาศ รูปแบบนั้นได้รับแรงบันดาลใจจากงานภาพพิมพ์ของจิโอวานิ ปิราเนชิ (Giovanni Piranesi) สถาปนิกเชื้อสายอิตาลีศตวรรษที่ 18 นอกจากนี้ มีลิฟต์ที่แยกเป็นกิจจะลักษณะสำหรับโดยสารและการเคลื่อนย้ายศิลปวัตถุ

ภาพ 4 โถงกลางที่เชื่อมโยงชั้นต่าง ๆ ภายในอาคารและจัดแสดงผลงานศิลปกรรม © Ossip van Duivenbode
(ภาพจาก https://cdnassets.hw.net/dims4/GG/a5e2cfd/2147483647/resize/876x%3E/quality/90/?url=https%3A%2F%2Fcdnassets.hw.net%2F9d%2Fc7%2F184ba74340f1ab0f92b2b8292785%2F67-depot-november-ossip-van-duivenbode.jpg)

ชั้นที่หนึ่ง มีห้องคลังสำหรับวัตถุประเภทอินทรียวัตถุและผสม แบ่งเป็นห้องวัตถุขนาดเล็กและวัตถุขนาดใหญ่ สำนักงาน ห้องปฏิบัติการภาพถ่าย ห้องปฏิบัติการอนุรักษ์วัสดุไม้และโลหะ และห้องเครื่องควบคุมสภาพอากาศภายในอาคาร ชั้นที่สองจัดเก็บจิตรกรรมบนแผงตาข่ายยึดกับรางเลื่อนจำนวน 2,500 ภาพ ส่วนชั้นที่สาม จัดเก็บวัสดุประเภทสิ่งพิมพ์ และมีพื้นที่เช่าจัดเก็บผลงานศิลป์ของเอกชน มีส่วนจัดแสดงขนาดย่อม ชั้นที่สี่ พื้นที่จัดเก็บวัตถุขนาดใหญ่ และเครื่องอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้าย ชั้นที่ห้า เป็นชั้นที่มีระบบควบคุมอุณหภูมิเป็นพิเศษ เพราะจัดเก็บวัสดุภาพถ่ายและสิ่งพิมพ์นาดใหญ่ ชั้นสูงสุดได้รับการออกแบบให้ผู้ชมสามารถออกไปสวนภายนอกอาคารและชมทิวทัศน์เมือง และส่วนอเนกประสงค์อื่น ๆ และร้านอาหารในชื่อ “Rendile” ที่ตั้งเป็นเกียรติให้กับภัณฑารักษ์ศิลปะสมัยใหม่ ที่มีบทบาทระหว่าง ค.ศ.1962 กับ ค.ศ.1978

การออกแบบประสบการณ์

การควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคารได้รับการออกแบบอย่างเป็นมาตรฐาน เพื่อให้อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์คงที่อย่างเหมาะสมกับคลังวัตถุแต่ละประเภท และไม่มีแสงจากภายนอกที่เล็ดลอดเข้าสู่ภายในห้องคลัง ส่วนพื้นที่เชื่อมต่อภายในอาคารมีรูปแบบการสื่อสารในสามลักษณะ

ภาพ 5 ผู้ชมสามารถสังเกตการทำงานของเจ้าหน้าที่ผ่านผนังกระจก ©  Museum Boijmans van Beuningen
(ภาพจาก https://storage.boijmans.nl/styles/widget_gallery_overlay/uploads/2022/07/15/fWw8tc7qcBhC3n4vk7otSjE9lmDaeMDoICzzpzcL.jpg)

หนึ่ง การจัดแสดงผลงานศิลปะแบบนิทรรศการที่ปรากฏทั้งในส่วนต่าง ๆ ของโถงกลาง ด้วยการออกแบบผนังขนาดใหญ่ที่บรรจุผลงานศิลปกรรมไว้ภายในและจัดวางตามความเหมาะสมของพื้นที่ สอง ผนังของห้องคลังในแต่ละห้องมีลักษณะเป็นกระจกที่ผู้ชมสามารถมองเห็นจากโถงกลาง เช่น ห้องคลังจิตรกรรม ณ ชั้นสามของอาคาร ผู้ชมจะเห็นจิตรกรรมที่จัดเก็บตามยุคสมัยและสกุลช่างที่เรียงตามสัดส่วนของภาพบนตะแกรงเลื่อนซ้อนเรียงกัน สาม ในห้องปฏิบัติการอนุรักษ์ และห้องปฏิบัติการภาพถ่าย ผู้ชมสามารถสังเกตการณ์การทำงานของนักวิทยาศาสตร์อนุรักษ์ในการตรวจสภาพวัตถุ การบันทึกการรายงานสภาพ หรือการซ่อมแซมวัตถุ

นอกจากนี้ ผู้ชมสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับผลงานศิลปกรรมและขั้นตอนการทำงานอนุรักษ์จากจอข้อมูล (information screens) ที่ติดตั้งในบริเวณต่าง ๆ ที่ผู้ชมสามารถมองเห็นผลงานศิลปกรรมหรือการทำงานของเจ้าหน้าที่ เนื้อหาของวีดิทัศน์ในแต่ละจอประกอบวีดิโอจำนวน 6-10 เรื่อง ประกอบเนื้อหาใน 3 ลักษณะ หนึ่ง ภาพบุคลากรที่ทำงานในส่วนต่าง ๆ เช่น นายทะเบียน นักอนุรักษ์ ผู้เคลื่อนย้ายผลงาน สอง ความเข้าใจในการเสื่อมสภาพของวัตถุแต่ละประเภท และคำอธิบายถึงการปฏิบัติต่อผลงานศิลปกรรมในการอนุรักษ์ ผู้ชมยังสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน และสแกนคิวอาร์โคดที่แสดงไว้ข้างผลงานศิลปะ สำหรับการเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม และจัดเก็บไว้เป็น “คอลเลกชันส่วนตัว” เพื่อชื่นชมผลงานศิลปกรรมในภายหลัง

สำหรับผู้สนใจเยี่ยมชมภายในห้องคลัง สามารถจองรอบการเยี่ยมชมล่วงหน้า โดยแต่ละกลุ่มรองรับได้สูงสุดจำนวน 15 คน ในการชม มัคคุเทศก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์สร้างบทสนทนากับผู้ชม ด้วยการชี้ชวนให้ผู้ชมนึกสิ่งสะสมที่มีความสำคัญกับตนเอง และเปรียบเทียบกับงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นของทุกคน การแลกเปลี่ยนระหว่างการนำชมนับเป็นการศึกษาที่ช่วยสร้างมความเข้าใจในงานอนุรักษ์และขั้นตอนที่ผสานทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำงาน

เดโปต์ นครรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่งเสริมให้ผู้ชมใช้เวลาไตร่ตรองึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมระหว่างการเยี่ยมชม ศิลปวัตถุของพิพิธภัณฑ์มีความสัมพันธ์กับทุกคน ผู้ชมเห็นประโยชน์ในการลงทุนกับการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม ไม่ใช่เพียงเพื่อความรู้ทางวิชาการหรือสุนทรียภาพจากผลงานศิลปกรรม หากแต่เป็นกระบวนการทำงานของพิพิธภัณฑ์ในทุกขั้นตอนที่ช่วยรักษาให้มรดกคงอยู่และส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป

แหล่งข้อมูล

วีรสุ แซ่แต้. “Depot Boijmans Van Beuningen: คลังจัดเก็บงานศิลปะที่พาผู้ดำดิ่งสู่โลกงานเบื้องหลังของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ.” art4d, 2565. https://art4d.com/2022/10/depot-boijmans-van-beuningen.

Kisters, Sandra. “A New Museum Typology?: The Depot Boijmans Van Beuningen in Rotterdam.” Museum International 73, no. 1–2 (January 2, 2021): 74–85. https://doi.org/10.1080/13500775.2021.1956738.

Loddo, Marzia. “Depot versus Museum: What Is the Future of Art Museum Collections?” In Metamorphosis: The Transformation of Dutch Museums, edited by Job Roos, Dorus Hoebink, and Arjen Kok, 43–49. Delft: TU Delft - Heritage & Architecture, 2019.

Nitzsche, Cato. “Engaging Visitors at Depot Boijmans van Beuningen.” Master Thesis, Delft University of Technology, 2022.

Zaucha, Tomasz. “DEPOT. New Storage Facility at the Museum Boilmans van Beuningen in Rotterdam.” Muzealnictwo 63 (November 16, 2021): 25–35. https://doi.org/10.5604/01.3001.0015.8757.

Photo Credits

ภาพปก   จาก https://www.mvrdv.com/projects/10/depot-boijmans-van-beuningen
© Ossip van Duivenbode

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ