เมื่อย่างเข้าฤดูร้อน แสงแดดที่แผดเผาและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย หลายคนคิดถึงอะไรที่หวานๆ เย็นๆ ให้พอรู้สึกสดชื่นขึ้นอย่าง “น้ำแข็งไส” ของหวานทานง่ายที่สันนิษฐานว่าเกิดจากการใช้มีดขูดบนผิวก้อนน้ำแข็งให้แตกเป็นฝอยกินกับน้ำเชื่อม จึงเรียกของหวานชนิดนี้ตามลักษณะการทำว่า น้ำแข็งไส (Shaved ice) ก่อนที่จะมีการพัฒนาเปลี่ยนรูปแบบไปตามกาลเวลา
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อาหารอ้างว่ามีหลักฐานที่เก่าแก่กล่าวถึง เปาปิ่ง (Bao bing แปลว่า 'น้ำแข็งไส) ในประเทศจีนตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 7 และในปี ค.ศ. 1972 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ไปเยือนจีนเป็นครั้งแรกก็มีน้ำแข็งไสในมื้อเย็นเลี้ยงต้อนรับที่เขาร่วมโต๊ะกับประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุง (Mao Zedong) และโจวเอินไหล (Zhou Enlai) แสดงว่าน้ำแข็งไสเป็นเมนูของหวานสำคัญระดับประเทศ
ด้านประเทศญี่ปุ่น พบว่าในหนังสือ The Pillow Book ที่เขียนโดยนางข้าหลวงสมัยเฮอิอัน (Heian ระหว่างปี ค.ศ. 794 – 1185) ได้บันทึกว่าก้อนน้ำแข็งจากช่วงฤดูหนาวจะถูกตัดเก็บเอาไว้ แล้วนำมาขูดให้เป็นเกล็ดฝอยและใส่น้ำเชื่อมเป็นของหวานที่เสิร์ฟให้เฉพาะกับชนชั้นสูงในช่วงฤดูร้อน เรียกว่า คากิโงริ (kakigori) หลังจากนั้นเรื่องราวของน้ำแข็งไสก็ไม่ปรากฏหลักฐานที่ใดอีก จนกระทั่งเมื่อสหรัฐอเมริกาคิดค้นเครื่องทำน้ำแข็งได้สำเร็จช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทำให้อุตสาหกรรมน้ำแข็งทั่วโลกขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ต่อมาช่วงทศวรรษ 1950 เริ่มมีอุปกรณ์ทุ่นแรงเป็นเครื่องไสน้ำแข็งแบบมือหมุน ขูดก้อนน้ำแข็งให้เป็นเกล็ดได้รวดเร็ว ความนิยมทานน้ำแข็งไสในญี่ปุ่นก็ยิ่งแพร่หลายมากขึ้นถึงขนาดกำหนดให้ทุกวันที่ 25 กรกฎาคมเป็น วันคากิโงริ ซึ่งภายหลังญี่ปุ่นเป็นผู้ส่งต่อวัฒนธรรมการกินน้ำแข็งไสนี้ให้กับฟิลิปปินส์ (เรียกว่า Halo-halo) และถ่ายทอดไปยังเกาะฮาวาย รวมถึงสหรัฐอเมริกา (เรียกว่า Snow cone) ด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่มีบันทึกหลักฐานที่แน่ชัดว่าวัฒนธรรมการกินน้ำแข็งไสนั้นแพร่หลายกระจายไปทั่วโลกได้อย่างไร ทุกคนจึงเป็นเจ้าของวัฒนธรรมนี้ร่วมกัน โดยในแต่ละท้องถิ่นได้คิดตั้งชื่อเฉพาะสำหรับเรียกของหวานชนิดนี้ตามภาษาของตัวเอง รวมถึงเครื่องประกอบ และวิธีการกินหลากหลายที่แตกต่างกันไปตามบริบททางวัฒนธรรมการบริโภคในท้องถิ่น ตลอดจนความนิยมของผู้กิน ได้แก่ พัดบิงซู (pat-bingsu เกาหลี) คากิโงริ (kakigori ญี่ปุ่น) เปาปิ่ง (Baobing จีน/ ไต้หวัน) ไอซ์กาจัง (ice kachang มาเลเซีย/ สิงคโปร์/อินโดนีเซีย) ฮาโล-ฮาโล (Halo-halo ฟิลิปปินส์) ราสปาโด้ (raspado เม็กซิโก/นิการากัว) สโนว์ โคน (snow cone ทวีปอเมริกาเหนือ) ปารัฟ กา โกลา (Baraf ka Gola ปากีสถาน) เป็นต้น
แล้วคนไทยเริ่มกินน้ำแข็งไสเมื่อไหร่?
อาจต้องไล่เรียงย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการมีน้ำแข็งในสังคมว่าเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 สยามต้องสั่งน้ำแข็งนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ ต่อมาจึงได้มีการตั้งโรงน้ำแข็งสยามขึ้นในปี พ.ศ. 2448 โดยนายเลิศ เศรษฐบุตร (ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาภักดีนรเศรษฐ) หากแต่ระยะแรกน้ำแข็งยังเป็นของที่มีราคาแพง จึงสันนิษฐานว่าความนิยมบริโภคน้ำแข็งและน้ำแข็งไสน่าจะเริ่มแพร่หลายขึ้นในช่วงหลังปี พ.ศ. 2500 และเริ่มทำน้ำแข็งไสโดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “ม้าไสน้ำแข็ง” ที่ฝังใบมีดไว้ตรงกลางตัวม้าหรือฐานแล้วสไลด์ก้อนน้ำแข็งให้ใบมีดขูดกับก้อนน้ำแข็งแตกเป็นเกล็ดใส่ภาชนะที่รองไว้ด้านล่าง กลายเป็นของแอนทีคหาชมได้ยากไปแล้ว
หากย้อนเวลาถอยหลังไปสัก 40-50 ปี รูปแบบน้ำแข็งไสมักจะนำเกล็ดน้ำแข็งฝอยละเอียดมาอัดแน่นในภาชนะให้เป็นแท่งรูปทรงกรวยแล้วราดด้วยน้ำหวานสีๆ (แดง-เขียว-เหลือง) ปิดท้ายโรยด้วยนมข้นหวาน หรืออีกรูปแบบหนึ่ง คือ ของหวานสไตล์ไทยใส่เครื่องประกอบหลายอย่างและราดด้วยน้ำเชื่อมหรือน้ำแดงน้ำเขียว มีเครื่องหลากหลายให้เลือกใส่ตามใจชอบได้ 3 ชนิด เช่น ขนมปังปอนด์หั่น รวมมิตร มันเชื่อม ลูกตาลเชื่อม ลูกชิด ทับทิมกรอบ เม็ดแมงลัก ข้าวโพด ขนุน ถั่วแดง พุทราเชื่อม ข้าวต้มน้ำวุ้น เผือก เฉาก๊วย แห้ว ซ่าหริ่ม ลอดช่อง แตงไทย ฯลฯ ก็เป็นน้ำแข็งไสที่ได้รับความนิยมมาก รวมถึงรูปแบบอื่นๆ ที่อาจแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นและความนิยมของผู้กิน
หน้าร้อนนี้ คุณกินน้ำแข็งไสหรือยัง?
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/Shave_ice
https://en.wikipedia.org/wiki/Kakig%C5%8Dri
https://www.nytimes.com/.../the-americanization-of-bao...
https://www.thairath.co.th/content/745337